ขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วม


ถ้าคุณคิดว่าทุกอย่างดีแล้ว งานนี้!! ไม่ต้องมา

       เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา สภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นำทีมโดยประธานสภา อาจารย์ปิยะ วัตถพาณิชย์ ได้จัดให้มีการระดมความคิดเห็นจากบุคลากรทุกกลุ่มในองค์กร ซึ่งน่าจะประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชา (ผู้บริหารระดับสูง) ผู้บริหารระดับกลาง (กลุ่มงานต่าง ๆ) และผู้ปฏิบัติ (คนงาน ผู้ทำงานระดับล่าง) แนวทางการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เพื่อที่สภาคณาจารย์ฯ จะได้รวบรวมและนำเสนอต่อผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัย ต่อไป

       คัตเอาท์นี้น่าจะ เป็นแรงจูงใจที่กระตุ้น เพื่อก่อให้เกิดการกระทำของพลังในบุคคลส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมและวิธีการในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักที่ต้องการ เพราะแรงจูงใจมีผลต่อกระบวนการทำงานของคนในทิศทางแห่งประสิทธิภาพและสัมฤทธ์ตามเป้าหมายที่ต้องการน่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีของการบริหารงานของมหาวิทยาลัยแบบมีส่วนร่วม

       ประเด็นในการสัมมนาระดมความคิดเห็น แนวทางการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

  1. ด้านการบริหารงานบุคคล
  2. ด้านหลักสูตรและวิชาการ
  3. ด้านอาคารสถานที่
  4. ด้านงบประมาณ
  5. ด้านกิจการนักศึกษา
  6. ด้านบริหารมหาวิทยาลัย
  7. งานสิทธิประโยชน์
  8. ด้านอื่น ๆ

       การมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กรนั้นจะทำให้ระบบการบริหารราชการในองค์กรนั้นเป็นระบบเปิด (Open Governance) โดยผู้เกี่ยวข้องในส่วนต่าง ๆ มีโอกาสเข้าร่วมใน 5 มิติ คือ

  1. ร่วมคิดและเสนอความเห็น
  2. ร่วมตัดสินใจ
  3. ร่วมดำเนินการ
  4. ร่วมรับประโยชน์
  5. ร่วมติดตามผลการดำเนินงาน

       การมีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานหรือในระดับประเทศให้ความสำคัญ และกำลังดำเนินการในหลายรูปแบบ ทั้งนี้ต้องเป็นการมีส่วนร่วมทั้ง 5 มิติ อย่าเป็นแบบร่วมลงคะแนนเพื่อให้เห็นว่ามีส่วนร่วมเท่านั้น 

       สรุปว่าอย่าไปบริหารจัดการแทนเขา แต่สนับสนุนให้พวกเขาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ปัญหา และได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เขาทำอย่างแท้จริงเพราะความสำเร็จของการมีส่วนร่วมมันประกอบไปด้วย

       ** องค์กรต้องมีคณะทำงานเพื่อการนี้อย่างเป็นรูปธรรมและประสานการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและวิเคราะห์สถานภาพแห่งภารกิจ ประกอบยุทธศาสตร์การบริหารและงบประมาณอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดกระบวนงานที่เหมาะสมสำหรับการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมที่ดี

       ** ช่องทางของการเข้าถึง ซึ่งข้อมูลและข่าวสารใด ๆ ต้องปรากฏอย่างชัดเจนและมีหลายช่องทางที่จัดกระทำได้ และต้องมีการประชาสัมพันธ์ทิศทางการเข้าหาหรือเข้าถึงอย่างเป็นรูปธรรมโดยต่อเนื่องพร้อมทั้งแสดงผลจากการมีส่วนร่วมด้วยความน่าเชื่อถือ เชิงผลแห่งการกระทำจริง และสร้างศรัทธาความเชื่อมั่น

‏        ** องค์กรต้องเปิดโอกาสเพื่อการเข้ามาเป็นส่วนร่วมในคณะทำงานหรือคณะกรรมการหรือกลุ่มใด ๆ อย่างกว้างขวางทั้งภาคเอกชน , ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียตามภารกิจนั้น ๆ ทั้งนี้จะเป็นการเข้ามาทั้งทางตรง และทางอ้อมก็ได้ โดยปราศจากการปิดกั้น

       ** องค์กรต้องฟังความเห็น, ข้อเสนอ, ข้อมูล หรือแนวทางการตัดสินใจของประชาชน หรือ แนวปฏิบัติให้มากที่สุดทั้งนี้ต้องจัดกระทำโดยปราศจากอคติหรือบนเงื่อนไขแห่งความขัดแย้ง อันรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถชี้แจง หรือประกอบเหตุผลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางในเวทีที่สามารถกำหนดได้

       ** องค์กรต้องรวบรวมผลแห่งความมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมบทสรุปทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้งเพื่อประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าความเห็นเหล่านั้น อาจจะนำไปสู่การตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจของผู้บริหารขององค์กร หรือของรัฐก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจต่อประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียให้มองเห็นความจริงใจและเป็นช่องทางต่อการนำเสนอหรือติดตามผลในลำดับต่าง ๆ

บรรณานุกรม

พรพิมล รัตนพิทักษ์. 2548. ประชุมสัมมนา “เครือข่ายและการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาระบบราชการ” 6 กันยายน 2548  ณ โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่

อิ่มร่อน โต๊ะตาเหยะ. 2552. “การบริหารแบบมีส่วนร่วม” [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://portal.in.th/inno-emron/pages/771/

คำสำคัญ (Tags): #การมีส่วนร่วม
หมายเลขบันทึก: 313318เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2009 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท