ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

โหราศาสตร์คืออะไร


วิชาพยากรณ์

  โหราศาสตร์คืออะไร

 

       โหราศาสตร์เป็นวิชาพยากรณ์ ที่เนื่องมาจากอำนาจของดวงดาวนพเคราะห์ต่างๆ ที่โคจรอยู่รอบจักรราศี เป็นวิชาที่มีหลักฐานและเหตุผล เป็นวิทยาการที่นับว่าทันสมัยอยู่ตลอดไป และเป็นวิชาที่คงทนถาวรตลอดกาลคู่ไปกับโลก เพราะเป็นเรื่องราวของวิชาที่เกี่ยวกับดวงดาวและโลกมนุษย์ กล่าวถึงอำนาจของดาวที่มีต่อสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก เป็นวิชาการทางนามและรูปแสดงกาลเวลาความส่องสว่าง ความรุ่งโรจน์ ความร้อน ความดึงดูด และพลังงานที่มีต่อพฤติกรรมของคนเราด้วย

       วิชาโหราศาสตร์ จึงเป็นวิชาที่เกี่ยวกับศาสตร์อันลึกซึ่ง เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งและอาจนับเนื่องอยู่ในไสยศาสตร์ เป็นวิชาที่ลึกลับอยู่คู่กับดาราศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาคำนวณ วิถีโคจรและขนาดน้ำหนัก ระยะ ฯลฯ ของดวงดาวในนภากาศ วิชานี้มีมาแต่โบราณสมัย

 

มูลฐานโหราศาสตร์มีความเป็นมาอย่างไร

       เนื่องจากมนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนมีพงศาวดารและก่อนพุทธกาล มนุษย์เพิ่งรู้จักสร้างบ้านเรือนอาศัยรวบรวมขึ้นเป็นหมวดหมู่เป็นประเทศชาติโดยลำดับ เกิดการเชื่อถือเกี่ยวกับพวกเทวดาต่างๆ โดยไร้เหตุผล และมนุษย์สมัยนั้นคงมีเวลาว่างมาก เกิดการซอกแซกซุกซน จึงเกิดการพิจารณาท้องฟ้าขึ้นอย่างละเอียดและเฝ้าดูอย่างเพลิดเพลินก็เห็นเป็นรูปดาวต่างๆ ที่มองเห็น เช่น ดาวไถ ดาวจระเข้ ดาวลูกไก่ ฯลฯ ยิ่งดูนานเข้าดาวรูปต่างๆ เหล่านี้ก็เคลื่อนที่ไป บางทีมองไม่เห็นบนท้องฟ้าหลายๆ เดือน การสังเกตการณ์ทำให้เกิดผลเป็น ๒ ประการ คือ

       ๑.  ทำให้มนุษย์รู้จักกับดาวเป็น ๒ ประเภท คือ รู้จักดาวอยู่กับที่และรู้จักดาวเคลื่อนที่

       ๒.  ทำให้มนุษย์รู้จักกับดาวต่างๆ รวมทั้งอาทิตย์และจันทร์หมุนรอบโลก

       โดยอาศัยความสังเกตจากดวงดาวรู้วิถีของดวงดาวต่างๆ ก็รู้จักกับดาวเคลื่อนที่และดาวอยู่กับที่ดีขึ้นมาก แล้วเทียบให้เป็นนิยายโบราณคดีเกี่ยวกับกำเนิดดาวบ้าง นิยายสมมติให้เป็นสัตว์ต่างๆ บ้าง เป็นยักษ์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง ครั้นแล้วจึงแบ่งแผนผังดาวอยู่กับที่และดาวเคลื่อนที่รอบดลกออกเป็น ๑๒ ส่วน มีชื่อเรียกแผนผังไว้ทุกราศีเพื่อกันลืม เมื่ออาทิตย์เดินมาถึงที่เดิมก็นับเป็นหนึ่งปี การนับ วัน เดือน ปี และการแบ่งฤดูกาลคงเกิดขึ้นตอนนี้เอง

       สมัยดึกดำบรรพ์ต่อมาที่มีพงศาวดารแล้ว แต่ยังไม่มีเครื่องมือพิสูจน์ดาวยังไม่มีกล้องดูดาว แต่ทำให้มนุษย์รู้จักโลกดีขึ้น สืบเนื่องมาจากจันทรุปราคาก็ดี สุริยุปราคาก็ดี ล้วนเป็นสาเหตุที่มนุษย์รู้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด เงาของโลกในดวงจันทร์มีลักษณะกลม มนุษย์จึงเข้าใจว่าโลกกลมและเป็นดาวดวงหนึ่ง และได้รู้จักรูปร่างของจักรวาลแจ่มสว่างยิ่งขึ้น

       หลายร้อยปีผ่านมา ก็พบการติดปฏิทินหรือปูมขึ้นมาซึ่งเป็นเอกสารแสดงการโคจรของดาวภายในระยะปี สมัยนั้นมีปฏิทินเกิดขึ้นจากชายไอยคุปต์ตั้ง ๓๖๘๙ ปีก่อนพุทธกาล มีรูปเครื่องหมายแสดงดาวเคราะห์และอาศัยแสงของดาวเหนือในการเดินทาง

       ในประเทศจีนก็มีการทำปฏิทินขึ้น เมื่อรัชสมัยอึ้งตี่ฮ่องเต้ก่อนพุทธกาล และรู้วิธีคำนวณสุริยคราส จันทรคราส มากกว่า ๓,๐๐๐ ปี

       สมัยต่อมาโหราศาสตร์ได้เจริญขึ้นโดยลำดับมาคู่กับดาราศาสตร์ เมื่อมนุษย์คิดเครื่องหมายใช้แทนคำพูดขึ้นได้ ก็จารึกเหตุการณ์และจดจำไว้รวบรวมร้อยกรองขึ้นเป็นตำรา ในชั้นเดิมก็รวมอยู่ด้วยกันกับดาราศาสตร์ เมื่อการคำนวณเริ่มเจริญขึ้นประกอบกับผู้ใหญ่สมัยโบราณเลื่อมใสทั้งสิ้นปฏิทินจึงเจริญขึ้นรวดเร็ว การนัดหมายทำพิธีทางศาสนาก็อาศัยปฏิทินเหล่านี้

       เมื่อมีเครื่องมือพิเศษดูดาวได้ชัดเจนยิ่งกว่าแต่ก่อน วิชาดาราศาสตร์ก็เจริญขึ้นมาได้พบเห็นดาวเพิ่มเติมขึ้นกว่าเก่า สะดวกแก่การคำนวณขนาดของดวงดาว น้ำหนักแร่ธาตุและแสงสี ระยะของดวงดาวต่างๆ นับว่าเจริญยิ่งขึ้นทวีคูณ เมื่อดาราศาสตร์เจริญขึ้น วิชาโหราศาสตร์ก็มีคนเอาใจใส่มากขึ้นตลอดเวลา พร้อมกับสิ่งแปลกประหลาดหลายประการได้จารึกเป็นตำราทวีขึ้นจนตราบเท่าทุกวัน

 

มูลฐานหลักการพยากรณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร

       เนื่องจากการสังเกตการณ์เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ ฝนตก ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม ลมพายุพัด ฯลฯ สมัยนั้นยังถือเป็นเพราะเทวดาต่างๆ บันดาล ก็เกิดการสนใจกับลักษณะโคจรต่างๆ ที่ถือเป็นเทวดาขึ้น คอยค้นหากันว่า เมื่อไรเทวดาจะทำโทษอีก ก็เกิดหลักพยากรณ์ในขั้นนี้เกี่ยวกับส่วนใหญ่ รวมทั้งสุริยุปราคานั้นเอง จึงเกิดการคำนวณราหูขึ้น เพื่อหาหลักเกณฑ์ต่อไปว่า เมื่อไรราหูจึงจะอมจันทร์อีก

       การพยากรณ์ดาวซึ่งถือเป็นเทวดานั่นเอง ก็มีการสนใจถึงการสังคมของกลุ่มชน ความอดอยาก ความขาดแคลน บางสิ่ง ไฟไหม้ โรคระบาด ข้าวยากหมากแพง การสงคราม การปล้นสะดม ฯลฯ แต่ละเมืองมีความเจริญผิดกัน การสังเกตเกิดเป็นพยากรณ์โดยพิจารณาว่าในขณะที่โรคห่าเกิดขึ้นนั้น ดาวอะไรอยู่ที่ไหน จะได้จำไว้หากดาวนั้นมาอยู่ที่เก่าอีก จะได้ระวังโรคห่าอีก เกิดการอพยพไปตั้งเมืองกันใหม่เป็นต้น หลักการพยากรณ์ในขั้นนี้ก็คงมีว่า เมื่อดาวเคราะห์เคลื่อนที่ไปอยู่ราศีใด เกิดเรื่องอะไร คนเกิดในขณะที่ดาวนั้นอยู่ราศีนั้นมีรูปร่างเป็นอย่างไร มีนิสัยใจคอเป็นอย่างนั้น

       ฉะนั้น จักรราศีซึ่งแบ่งไว้เป็น ๑๒ ส่วน จึงเริ่มซอยออกเป็นตรียางค์ นวางค์ รวมความว่าราศีหนึ่งๆ ซอยออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ และส่วนทั้ง ๓ ส่วนนั้นซอยออกเป็น ๙ ส่วนเล็ก ตกลงว่า ๑๒ ราศี มีส่วนเล็กเท่ากันเป็น ๑๒ x ๙ = ๑๐๘ ส่วน คนที่เกิดส่วนใดก็มีรูปร่างผิดแปลกไป ท่านคงจะได้ยินคำว่า “บ้ามี ๑๐๘ จำพวก” “ทำพระด้วยเกสรดอกไม้ ๑๐๘” “นะ ๑๐๘” ฯลฯ นั่นแหละชี้ให้เห็นว่ามาจากการแบ่งราศีนี่เอง หลักสังเกตการณ์เกิดนี้โดยมากคงจะถือเอาดวงอาทิตย์เป็นหลัก เวลาเด็กเกิดมาอาทิตย์อยู่ที่ใดในจักรราศีใด

       ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มมีนาฬิกาต่างๆ ใช้กันแพร่หลาย ก็พากันแปลกใจว่าบางทีกลางวันมาก บางทีกลางวันน้อย ไม่เหมือนกัน บางทีพระอาทิตย์อ้อมไปทางเหนือบ้าง บางทีก็อ้อมไป ทางใต้บ้าง คนสมัยนั้นคงไม่รู้ว่าโลกเอียงแกนเข้าหาดวงอาทิตย์จึงเป็นเช่นนั้น ด้วยจากการมองจากโลกไปยังดาวฤกษ์ที่อยู่กับที่ และเห็นว่ามันเดินนี่เอง ก็เกิดการจดเวลาของวันอันแท้จริงขึ้น โดยถือเอาดาวฤกษ์หมู่หนึ่ง เช่น ดาวไถหมุนไปตกและขึ้นมาอยู่ที่เดิมรอบหนึ่ง เป็น ๑ วัน ส่วนเวลาที่แตกต่างไป สำหรับกลางวันและกลางคืนนั้น ก็เฉลี่ยให้แก่ราศีต่างๆ ตามความเป็นจริงที่มองเห็น จึงเกิดอันโตนาที อันโตนาที คือ จุดเวลาที่ผ่านตามราศีหนึ่งๆ ตามความเข้าใจของคนสมัยก่อนจะเข้าใจอย่างไรนั้น เราจะเห็นแจ้งชัดหากทำรูปและดวงอาทิตย์จำลองขึ้นหมุนดู

       อันโตนาทีที่เกิดขึ้น เพราะความเอียงของแกนโลกประกอบกับแนวโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์นั้นเอง และเพราะอาศัยอันโตนาทีนี่เองเป็นทางบอกแก่คนโบราณว่า พอดวงดาวนั้นตรงศีรษะในเวลากลางคืนและจะเป็นเวลากี่ทุ่มกี่ยาม

       เมื่อความรู้อันโตนาทีเจริญขึ้น นักสังเกตการณ์ก็เข้าใจถึงจุดที่ผ่านไปตามราศีต่างๆ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การวางดวงกำเนิดจึงอุบัติขึ้น ณ จุดเวลาที่เด็กหายใจ ถือเอาว่าเทวดา (ดาวเคราะห์) ที่ชุมุนมกัน ณ จุดเวลานั้นแหละ คือตัวเด็กที่เกิด ณ จุดนั้น จะดีหรือร้ายก็ดูตำแหน่งของเทวดา (ดาวเคราะห์) หมู่นั้น ก็เชื่อเหมาเอาทำนองนี้เอง แม้จะพลาดจากความเป็นจริงไปบ้าง แต่ก็นับว่าขึ้นอยู่กับทฤษฎีที่ถูกต้องไม่น้อย

       การสังเกตการณ์ต่อมา ก็เป็นไปตามของบุคคลหลายชั่วคนชั่วอายุนั่นเอง ก็ได้เกิดการพยากรณ์เกี่ยวกับลัคนากำเนิดขึ้นอย่างมากมาย การสังเกตเช่นคนหนึ่งถูกฆ่าตาย โหรก็เอามาพิจารณาดูว่า ขณะนั้นดาวเคราะห์อะไรอยู่ที่ไหน ให้โทษอย่างไร ก็บันทึกไว้ทำอย่างนี้หลายๆ ครั้งก็เกิดกฎเกณฑ์ขึ้น การค้นคว้านี้เชื่อว่าในปัจจุบันก็มีผู้กระทำอยู่มากมาย กฎเกณฑ์นับวันจะรัดกุมยิ่งขึ้น

       สมัยก่อนมีการเหลื่อมล้ำ ถือความสูงสุดและต่ำสุดแห่งอำนาจวาสนาของบุคคลนี่เอง ข้าทาสหรือไร่ นา วัว ควาย เป็นหลัก (สมัยต่อมาเรียกศักดินา) สังเกตว่าคนที่มีมากๆ นั้น มีดาวอะไรอยู่ที่ไหน พิจารณากันนานๆ ก็ได้หลักและจดไว้ คือดาวดวงเกษตร เป็นต้น ซึ่งใครมีดาวดวงอย่างนี้ ก็หมายถึงวาสนา มีทรัพย์สมบัติ ที่ดิน ข้าทาสบริวารมากกว่าคนอื่นๆ (ที่มาแห่งดาวเกษตร) อันแปลว่าดวงเขตของดาวเคราะห์ต่างๆ ซึ่งตรงกับลำดับดวงดาวจากดวงอาทิตย์ คือ ๑ ๔ ๖ ๓ ๕ ๗ อาทิตย์ พุธ ศุกร์ อังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ แล้วแบ่งเป็นกลางวันกลางคืนนับ จึงเห็นว่าทฤษฎีนี้อธิบายดวงมาตรฐานอื่นๆ เช่น มหาอุจ มหาจักร ราชาโชค ฯลฯ และดวงมาตรฐานอื่นๆ เช่นกัน ได้พิจารณาระหว่างความดี กับความชั่ว เป็นส่วนรวม ไม่จำกัดลัคนากำเนิดจะอยู่ที่ไหน ดวงมาตรฐานจึงบ่งถึงอิทธิพลของดาวเคราะห์ที่บันดาลในด้าน ดี-ชั่ว ตามตำแหน่งในราศีต่างๆ ไว้เพื่อเปรียบเทียบ

       โหราศาสตร์เจริญขึ้นตามลำดับเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์และเหตุผลที่ดีเลิศ เป็นศิลปะศาสตร์ที่มีผลมากจนผู้รู้ในครั้งก่อนหวงแหนวิชานี้กันยิ่งนัก เพราะกลัวผู้อื่นจะสามารถหยั่งรู้เหมือนตน หลักการที่ง่ายๆ กับพูดวกวนเวียนเสียให้เป็นการยากมากขึ้น ตำราที่เขียนกันไว้จนเต็มไปด้วยข้อความห้วนๆ ใครจะซักถามนอกลู่นอกทางไม่ได้

       การสร้างปฏิทิน โดยอาศัยคัมภีร์สุริยยาตรนั้น ความจริงหลักการมาจากการสังเกตโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ แล้วก็ทำต่อกันมานับเป็นจำนวนพันๆ ชีวิต ได้กฎเกณฑ์ในการโคจรขึ้น โหรก็ได้ร้อยกรองต่อๆ กันมาจนเป็นตำราที่ดีเลิศที่สุด ละเอียดที่สุด อันเป็นงานชิ้นโบว์แดงแห่งโหราศาสตร์ทีเดียว

       การสังเกตโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ใช้จำนวนเลข ๘๐๐ เป็นหลักการคำนวณและเลข ๘๐๐ นี้ ความจริงมิได้หมายความว่าสังเกตกันถึง ๘๐๐ ปี เป็นเพียงกล่าวกันว่าในระยะ ๘๐๐ ปี ดาวเคราะห์ย่อมจะโคจรไปอยู่ในที่เดียวกัน หรือถ้าหากผูกดวงชาตาในวันเดือนเดียวกันระยะห่างกัน ๘๐๐ ปี จะได้ดวงชาตาเหมือนกัน แต่ถ้าจะเอา ๒๙๒๒๐๗ ตั้ง แล้วเอา ๘๐๐ หาร จะรู้กำลังในปีเดียวก็จะได้ลัพธ์ ๓๖๕ เท่ากับวันในปีหนึ่งโดยตรง กับยังมีเศษอีก ๒๕๘๗๕ ใน ส่วน ๑๐๐๐๐๐ ของวัน

       ฉะนั้น จึงใช้เกณฑ์ ๒๙๒๒๐๗ ถือว่าเป็นกำลังวันในรอบ ๘๐๐ ปี ยังมีเศษอีก ๓๗๓ เป็นหลักเกณฑ์แห่งการคำนวณ

 

โหราศาสตร์เกิดขึ้น ณ ที่ใด และใครคิดวิชานี้ขึ้นได้

       ศาสตราจารย์คนแรกที่คิดวิชานี้ขึ้นได้นั้นไม่มีใครรู้จัก เพราะนานเกินควรแก่การคาดคะเน แต่เชื่อว่าเกิดขึ้นในทวีปอาเซียแห่งหนึ่งใดก่อนเป็นเวลา ๕๐๐๐ ปีมาแล้ว และแพร่หลายไปตามประเทศน้อยใหญ่ เช่น ไอยคุปต์ กัลเดีย เปอร์เซีย ธิเบธ จีน ญี่ปุ่น พม่า มอญ เขมร ไทย ฯลฯ

       โหราศาสตร์เจริญรุ่งเรืองมากในแถบบิโลเนีย สมัยกัลเดียครอบครอง ที่ปรากฏว่าเป็นผู้แบ่งจักรวาลออกเป็น ๑๒ ราศีนั้น สมัยนั้นก็ยังกล่าวว่าอาจารย์เดิมเป็นเทวดาก่อนท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นปลานำคัมภีร์ดาวมาให้ (น่าจะเป็นพวกเสมไมต์หรือกุสไสท์ผู้รู้วิชาดาวมาทางเรือ กล่าวกันว่าขึ้นที่อ่าวเปอร์เซียเป็นครูคนแรกที่สอนวิชาดาวให้กับพวกกัลเดีย)

       ชาวกรีกโบราณเป็นผู้นำโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ จากทวีปอาเซียไปแพร่หลายในทวีปยุโรปอีกต่อหนึ่ง

 

โหราศาสตร์เกิดแต่บูรพาจารย์คนเดียว

       มูลกำเนิดของโหราศาสตร์ เกิดแต่บูรพาจารย์คนเดียวกันคือทุกชาติทุกภาษาได้แบ่งจักรวาลขอบฟ้าเป็น ๑๒ ราศี มีเครื่องหมายประจำราศีเหมือนกันหมดทุกราศี เช่น ราศีเมษ สมมุติให้เป็นแพะ ราศีพฤษภ เป็นแพะ กรกฎเป็นปู และมีนเป็นปลา เช่นนี้เป็นต้น พิสูจน์ให้เห็นว่าโหราศาสตร์มาจากแหล่งที่เดียวกัน ชาติใหญ่ๆ ที่มีอารยธรรม และมีอำนาจมาแต่โบราณกาลล้วนแล้วแต่ชำนาญทางโหราศาสตร์มาแล้วทั้งนั้น ศาสตราจารย์พยากรณ์ในสมัยโบราณทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองและศาสนามากในคราวบ้านเมืองใดเกิดคับขันหรือจะมีศาสนาใดเกิดขึ้น อาจารย์ย่อมรู้ล่วงหน้าก่อนพระศาสนาใดจะกำเนิด เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู โมหมัด ก็ดี ก่อนที่จะประสูติและกำเนิดโหราจารย์ได้คิดเห็นพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว...

 

คำสำคัญ (Tags): #ชิวิตมนุย์
หมายเลขบันทึก: 311254เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2009 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ ครู ท.มาเรียนรู้ตำราวิชาโหร จากอาจารย์ ในชั่วโมงวิกาล เป็นอาหารสมอง

  • ขอบคุณครับคุณวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--
  • ที่แวะมาเยี่ยม  มาทักทาย
  • โชคดีมีสุขนะครับ

สวัสดีค่ะ คุณ ท.ณเมืองกาฬ ... แวะมาเยี่ยมทักทายค่ะ ... ทราบว่ากำลังทำผลงานทางวิชาการ ครู คศ.4 เป็นกำลังใจให้ประสบผลสำเร็จนะคะ ... สู้ ๆ ค่ะ ...

  • ขอบคุณครับคุณVij
  • ที่แวะมาเยี่ยม มาทักทาย
  • พร้อมทั้งกำลังใจ    
  • ก็คงต้องสู้ แหละครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท