ลอยกระทงไม่หลงกัน


เพราะไม่ค่อยได้มองย้อนกลับไปที่ต้นตอของประเพณีหรือสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างใคร่ครวญสักเท่าไหร่กระมัง จึงรู้สึกว่ามันขาด "มนต์ขลัง" บางอย่างไป...

 

คำถามสามัญที่มักถามกันในช่วงเทศกาลลอยกระทงว่า

"วันนี้จะไปลอยกระทงที่ไหน กับใครรึเปล่า?"

คงจะทะลุทะลวงเข้าไปสะกิดต่อมเอ๊ะ (!?) ของพี่ชายคนหนึ่ง (ชื่อพี่คุง)
จึงทำให้พี่เค้าเปรยขึ้นมาอย่างเรียบๆ ในบริบทนั้นว่า

"เดี๋ยวนี้คนเค้ามองลอยกระทงเป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กันเยอะเนอะ
ไม่ค่อยได้มองเป็นเรื่องประเพณี
หรือว่าเป็นการขอขมาแม่คงคาอย่างสมัยก่อนสักเท่าไหร่เลย"

ในตอนนั้น ผมฟังแล้วก็คิดตามนะ
แล้วก็เชื่อว่า ...ในใจผมก็แอบเห็นคล้อยตามไปด้วยเล็กน้อย

...

ตอนเดินกลับจากออฟฟิศ
ผ่านวัดน้อย (ซอยรามคำแหง 23) ซึ่งประดับประดาไปด้วยธง และไฟสีสันสดใส
ผมก็ได้ยินเสียงโฆษก (หรือมรรคทายกนี่แหละ) บรรยายเกี่ยวกับประเพณีวันลอยกระทง ทั้งความเป็นมา ความเชื่อ เรื่องอานิสงส์ของการทำบุญ ฯลฯ ฟังแล้วก็ชื่นฉ่ำใจยังไงบอกไม่ถูก
ไม่รู้ว่าคนอื่นๆ ในบริเวณนั้นรู้สึกเหมือนผมบ้างหรือเปล่า

ผมเดินผ่านร้านรวงต่างๆ จนกระทั่งมาถึงที่หอพักของผม (ซอยรามคำแหง 29)
ประโยคที่พี่คุงเปรยเอาไว้ตอนที่อยู่ออฟฟิศ (ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น) แวบขึ้นมาในหัว
ทำให้ผมได้ทบทวนอีกครั้ง
ทว่า ในตอนนี้ ผมเริ่มมีความเห็นแย้งขึ้นมาซะแล้ว...

ปัจจุบันเราไม่ได้มองลอยกระทงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ความรักหนุ่มสาว" อย่างเดียวหรอก
เนื่องจาก
บางคนก็มองเป็น "ธุรกิจ"
บางคนก็มองเป็น "โอกาสเมา"
บางคนก็มองเป็น "งาน" (เช่น ตำรวจ หน่วยรักษาความปลอดภัย)
บางคนก็มองเป็นเรื่อง "เศรษฐกิจของประเทศ" หรือ "การส่งเสริมการท่องเที่ยว"
ฯลฯ

สรุปว่า
เราจะมองลอยกระทงเป็นเรื่องอะไร ก็คงขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราเป็น และกระแสที่สังคมรอบข้างเราพัดพาเราไป หลายประการนี้รวมๆ กันมากกว่า


แต่เพราะไม่ค่อยได้มองย้อนกลับไปที่ต้นตอของประเพณีหรือสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างใคร่ครวญสักเท่าไหร่กระมัง จึงรู้สึกว่ามันขาด "มนต์ขลัง" บางอย่างไป...


เอาล่ะ
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว
เพื่อไม่ให้เกิดการ "ลอยกระทงหลงวัฒน์ (หมายถึง วัฒนธรรม)" กันจนเกินไป
(อันนี้พูดรวมตัวผมเองเข้าไปด้วยนะครับ แหะๆ)
ผมจึงออกไปท่องหาข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงมาฝากกันครับ


...
ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าประเพณีลอยกระทงนั้นเริ่มขึ้นเมื่อใด
แต่คาดคะเนกันว่า น่าจะเริ่มขึ้นเมื่อสมัยกรุงสุโขทัยโดยมีนางนพมาศ
หรือท้าวศรีจุฬารัตน์
พระสนมเอกแห่งพระร่วงเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิด (ขีดเส้นใต้ไว้ด้วย เผื่อออกข้อสอบ อิอิ)
โดยจัดขึ้นในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบสองของทุกปี

มีบันทึกในหนังสือนางนพมาศ (ประมาณพ.ศ.๑๘๐๐) ว่า
"ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่างๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้ป็นลวดลาย..."
เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงมีพระราชโองการฯให้จัดพิธีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี

ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระราชพิธีนี้จึงได้ถือปฏิบัติเป็นประจำจนกระทั่งบัดนี้...


ในด้านวัตถุประสงค์ของการลอยกระทงนั้น พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ได้รวบรวมข้อมูลและสรุปออกมาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
๑. เพื่อขอขมาแม่คงคา
เพราะเราได้อาศัยน้ำของท่านในการดื่มและใช้ อีกทั้งยังปล่อยสิ่งปฏิกูลลงไปด้วย

๒. เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระบาท ประดิษฐานไว้บนหาดทรายที่แม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย

๓.
เพื่อลอยทุกข์โศกโรคภัย และสิ่งไม่ดี
ซึ่งคล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์

๔.
เพื่อบูชาพระอุปคุต
ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพแก่พระอุปคุตอย่างสูง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มากสามารถปราบพญามารได้


ทั้งนี้
ต้องขอขอบพระคุณเว็บไซต์ http://www.patongbeachthailand.com/thai/21_13/352.shtml (และเว็บอื่นๆ อีกนิดหน่อย) สำหรับข้อมูลอันทรงคุณค่านี้ครับ


สิ่งดีๆ ที่ปฏิบัติตามต่อกันจนกระทั่งสืบทอดเป็นประเพณีนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่ดี
แต่ถ้าหาก เราได้รู้จักความเป็นมาของประเพณีนั้นๆ มากยิ่งขึ้น
เชื่อว่าน่าจะช่วยรักษา "มนต์ขลัง" ของประเพณีทั้งหลายเอาไว้ได้,
และคงทำให้เราสืบทอดสิ่งดีๆ เหล่านั้นได้อย่างเต็มภาคภูมิจริงๆ


สุดท้าย
สำหรับการลอยกระทงที่ผ่านมานี้

...ขอให้คำอธิษฐานของทุกท่านเป็นจริงนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #ลอยกระทง
หมายเลขบันทึก: 311155เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2009 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ลอยกระทงปีนี้มีโอกาสไปเยือนเมืองกรุงเก่า เห็นวิถีที่เปลี่ยน พร้อมกับเสียงพุล เสียงประทัดระเบิด ราวอยู่ในสงคราม

นอนอยู่ในโรงเเรม ปิดห้องมิดชิด ได้ยินเสียงจนสั่นสะเทือน..

ผมมองว่าน่ากลัวมากขึ้นนะครับ สำหรับเทศกาลลอยกระทง

ไม่ว่าลอยกระทงจะหมายความไปถึงนัยยะอย่างไรก็เเล้วแต่ในสังคม เด็กน้อยที่ริมตลิ่งโรงเเรมที่อยุธยา เขายังลอยคอ ดำผุดดำว่าย หาเงินในกระทงอยู่... นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า เป็นเสน่ห์ของ เดือนเพ็ญเดือน ๑๒

ยินดีที่ได้รู้จักครับ...

ผมเคยไปอบรม ซาเทียร์ ที่เสมอฯ มาไม่นานมานี้ :)

          ย้อนรอยเข้ามาอ่านลอยกระทงในยุคโลกาภิวัฒน์ค่ะ  เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป  สรรพสิ่งในโลกเปลี่ยนตาม  โดยเฉพาะความคิด  จิตใจยิ่งเปลี่ยนไปไกลเลย ...

          ผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย  พยายามจัดงานลอยกระทงย้อนยุค  รำวงย้อนยุค  แต่งกายย้อนยุค  ก็ยังมิวายมีเด็กสาว ๆ สวมสายเดี่ยวเอวลอย กางเกงสั้นจู๋  เดินเที่ยว ถนนสายวัฒนธรรม เฮ้ย.... 

          เราผู้เกิดร่วมยุคกัน  แต่ต่างวัยก็ควรที่จะเตือนลูกหลานให้รักษ์ความเป็นไทยด้วย  อย่าให้เกินงามเน๊าะ..

                          ( กระทงเมืองลำปางค่ะ)

                    

                    

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท