คำถามจากนักกิจกรรมบำบัดทางเด็กออทิสติก


ขอบคุณนักกิจกรรมบำบัดจากหน่วยงานแห่งหนึ่งที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษาออทิสติกที่น่าสนใจและอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจครับ

From: นักกิจกรรมบำบัด
To: ดร.ป๊อป 
Subject: คำถามเกี่ยวกับเด็กออครับ
Date: Fri, 30 Oct 2009 17:33:56 +0700
 พี่ป๊อบครับ
 ตอนนี้ผมทำกับเด็ก เอลดี สมาธิสั้น และออ
 สำหรับตอนนี้ผมมีคำถามเกี่ยวกับเด็กออที่อยากรบกวนให้พี่ช่วยชี้แนะด้วยนะครับ
 
 พี่พอจะทราบวิธีการที่จะควบคุมพฤติกรรมเด็กออขณะทำกิจกรรมกับเราไหมครับ
 
 เอบีเอ นั้นผมไม่สามารถใช้กับเด็กออได้เลยครับ (อาจยังไม่เข้าใจดี)
 ที่ผมทำเมื่อเด็กไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คือ เป็นการพูดขู่หรืองดของเล่นบ้างอ้างนู่น อ้างนี่บ้าง
 เด็กบางครั้งก็เหมือนรู้ และมีการตอบสนองในทิศทางที่เราพอใจ เเต่บางราย นอนกลิ้งเล่นที่พื้นเลย ไม่สนใจแถมยังมีการทวนคำพูดเรา
 สุดท้ายวิธีก็ตกอยู่ที่ เข้าหาดึงตัวลุกนั่ง พูดโน้มน้าว หลอกล่อครับ เด็กจึงยอมทำ
 ผู้ปกครองเห็นว่า ผมครูไม่ดุ ใจดีเกินไปบ้าง ตามใจเด็ก หรือเอาใจเด็กมากไปบ้าง และการไม่สามารถควบคุมเด็กนี้ทำให้ผมเสียความมั่นใจเหมือนกันครับ
 
 มีคนเเนะนำผมว่า เราควรใฃ้โทนเสียงเข้ม บางคนบอกว่าใช้ขนมล่อ แต่เด็กออไม่เหมือนเด็กปกติ
 ที่ผมจะสามารถพูดคุย วางเงื่อนไขได้นะครับ
 
 ในเด็กปกติการปรับพฤติกรรมผมประเมินตัวเองว่าใช้ได้พอใช้ครับ เนื่องจากตัวเด็กด้วยที่สามารถรับรู้และเข้าใจได้ดี
 
 พี่พอจะทราบวิธีการที่จะควบคุมพฤติกรรมเด็กออขณะทำกิจกรรมกับเราไหมครับ
 ด้วยการที่ผมเป็นคนใจอ่อนง่าย และไม่มีความเห็นที่จะใช้กำลังในการปรับพฤติกรรมเด็ก การตวาดยังเป็นเรื่องยากสำหรับผมเลยครับ
 ผมเห็นว่า น่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้
 
 พี่ป๊อบช่วยชี้แนะด้วยนะครับ

RE: คำถามเกี่ยวกับเด็กออครับ‏
จาก:  ดร.ป๊อป
ส่งเมื่อ: 31 ตุลาคม 2552 15:24:03
ถึง: นักกิจกรรมบำบัด
ยินดีครับนักกิจกรรมบำบัด
 
โดยปกติแล้ว การปรับพฤติกรรมในทางกิจกรรมบำบัด จะใช้ได้ผลเมื่อเด็กไม่แสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมและจำเป็นต้องใช้ในการทำกิจกรรม เช่น เด็กร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ เด็กสนใจเล่นมากกว่าเรียนทำกิจกรรม เป็นต้น
 
แต่ต้องประเมินให้ชัดเจนว่า เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจริงๆ เพราะบางครั้งเด็กอาจยังไม่คุ้นเคยกับผู้บำบัด และการเลี้ยงดูของพ่อแม่อาจไม่ส่งเสริมทักษะการทำกิจกรรมของเด็ก เช่น ตามใจหรือดุมากจนเกินไป
 
โดยเทคนิคการปรับพฤติกรรม เรานิยมใช้การเสริมแรงทางบวกภายหลังการชวนเด็กทำกิจกรรม การสาธิตทำกิจกรรมให้เด็กดู การแสดงบทบาทเล่นกับเด็ก การช่วยเด็กทำกิจกรรมด้วยการช่วยจับทำ (physical prompt มากกว่า Verbal prompt) การให้ผุ้ปกครองมีส่วนร่วมฝึกกับผู้บำบัดด้วย ทั้งนี้คอยสังเกตและปรับเปลี่ยนรูปแบบคำชม สิ่งที่เด็กอยากทำ หรือการกอดแสดงความรักและเข้าใจเด็ก หากเด็กยังแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เราอาจใช้เวลานอก (Time out) คือ สื่อสารกับเด็กด้วยคำพูดที่เด็กสบตาและฟังผู้บำบัดว่า ให้ทำในสิ่งที่เด็กอยากทำไม่เกิน 5 นาที แล้วเราค่อยมาทำกิจกรรมกันต่อ ทดลองแบบนี้อีก 3-5 ครั้ง แล้วแต่ช่วงความสนใจและความอดทนของเด็ก ที่สำคัญควรจัดกิจกรรมที่หลากหลายและมีตัวเลือกให้เด็กด้วย หรือการใช้เวลาอย่างมีเงื่อนไข (Timing condition) เช่น สื่อสารกับเด็กว่า ถ้าทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เราจะให้เด็กนั่งที่พรมหรือมุมห้องนานกี่นาที (อายุ 1 ปี ให้นั่งรอนาน  
 
น้องลองแนะนำให้ผู้ปกครองนำเทคนิคที่น้องใช้แล้วได้ผล ไปฝึกต่อที่บ้านและโรงเรียน หากไม่ดีขึ้นหลังฝึกครั้งแรกจนครบ 1 สัปดาห์ แนะนำให้น้องประเมินสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้งว่า อะไรทำให้น้องแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม แล้ววิเคราะห์จัดลำดับความสำคัญของปัญหาว่าจะใช้กิจกรรมบำบัดเพื่อพัฒนาความสามารถอะไร คิดว่ากิจกรรมบำบัดจะช่วยลดพฤติกรรมโดยเน้นเทคนิคอื่นๆ ไหม เช่น การทำกิจกรรมด้วยการประสมประสานการรับความรู้สึก หรือ การฝึกทักษะการทำกิจกรรมอย่างซ้ำๆ 
 
 
เราไม่นิยมใช้เงื่อนไขที่บังคับเด็กทำกิจกรรมด้วยคำสั่ง ลงโทษ หรือเสียงดุ เพราะเป็นการเสริมแรงทางลบ  หากจำเป็นต้องใช้ควรทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาคลินิกและผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมบำบัดอื่นๆ ด้วย หากเด็กมีปัญหาหลักที่พฤติกรรมจริงๆ
 
พี่อยากให้กำลังใจน้องครับ พยายามอดทนและมั่นใจในสิ่งที่น้องทำ อย่ากังวลความคิดเห็นของผู้ปกครองและผู้อื่นๆ ที่อาจแสดงออกมาด้วยความไม่เข้าใจ น้องควรแสดงเหตุผลในการฝึกเด็กแล้วสื่อสารกับผู้ปกครองและผู้อื่นๆ ให้ชัดเจน เพราะเราคือนักกิจกรรมบำบัด และมีความรู้ในการประเมินและจัดสื่อการรักษาที่มีเหตุผล หากผู้อื่นแนะนำอะไรมา น้องก็ลองเปิดใจรับฟังและวิเคราะห์ด้วยเหตุผลว่าดีหรือไม่ หากคิดว่าดี...ก็อาจแนะนำให้ผู้ที่แนะนำมาลองร่วมฝึกเด็กกับน้องก็ได้ครับ เพราะเราสามารถพิสูจน์วิธีการต่างๆ จากผู้อื่นได้ หากวิธีการนั้นไม่เป็นอันตรายหรือทำให้กิจกรรมการรักษาของน้องแย่ลง
 
โชคดีครับ
พี่ป๊อป
From: นักกิจกรรมบำบัด
To: ดร.ป๊อป
Subject: คำถามเกี่ยวกับเด็กออครับ
Date: Mon, 2 Nov 2009 13:36:22 +0700

ขอบคุณครับพี่ป๊อบ
ผมได้คำตอบเยอะเลย
แต่บางอย่างผมก็ยังรู้สึกยากสำหรับผมอยู่โดยเฉพาะที่จะเอาไปปรับกันเด็กออทิสติก
เหมือนที่พี่ป๊อบยกตัวอย่างไว้เลยครับที่ว่า "...พฤติกรรมเด็กที่ไม่เหมาะ เช่น เด็กสนใจเล่นมากกว่าเรียน..." 
พฤติกรรมที่เป็นปัญหาของน้องต่อผมคือลักษณะเช่นนี้ครับ 
 
ผมไม่สามารถวางเงื่อนไขได้โดยการพูดหรือการสื่อสารได้เลยครับ
- น้องมีลักษณะสนใจเล่นบ่อยครั้ง อยู้ในโลกตัวเองบางครั้ง เดินไป-มา ผู้ต้องจูง-จับ-พา มาทำกิจกรรม
- กิจกรรมจับคู่รูปภาพกับช่องไม้ น้องเเสดงลักษณะลองผิดลองถูกกับของเล่นนะครับ (ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดี  พี่ป๊อบว่าอย่างไรครับ)
- ผมถามผู้ปกครองว่า น้องชอบอะไรเป็นพิเศษไหม ? เผื่อผมจะได้นำมาเป็นสิ่งจูงใจหรือวางเงื่อนไข ผู้ปกครองบอกว่าไม่มี
- น้องปฏิบัติตามคำสั่งอย่างง่ายได้นะครับ เช่น หยิบ, ปล่อย, วาง, ใส่, มาทางนี้...เป็นต้น แต่ผมต้องยืนประกบ+พูดย้ำ+ชี้มือ+แตะตัวน้อง น้องจึงทำตาม (ซึ่งผมรู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน)
- น้องมีปัญหา Tactile ครับ ชอบเอามือถู ปัด ลูบ ต่าง ๆ นา ๆ และไม่ทำกิจกรรม
- แม่บอกว่าน้องกินได้แต่นมแพะ และก็ขนมช๊อกโก้แลตหรืออะไรสักอย่างครับ ทานข้าวไม่ได้
 
ถ้าเป็นแบบนี้ผมควรปรับอย่างไรครับ ?
 
ขอบคุณครับ
RE: คำถามเกี่ยวกับด็กออครับ‏
จาก:  ดร.ป๊อป
ส่งเมื่อ: 3 พฤศจิกายน 2552 10:12:31
ถึง: นักกิจกรรมบำบัด
สวัสดีครับนักกิจกรรมบำบัด
 
จากข้อมูลที่ให้มา พี่ขอแนะนำดังนี้
 
1. เด็กสนใจเล่นและอยู่ในโลกของตัวเอง ประเมินว่า เด็กมีพัฒนาการเล่นคนเดียว และชอบเล่นซ้ำๆเดิมๆ ทำให้ "อยู่ว่าง" และรับรู้ความรู้สึกภายในตัวเองมากเกินไป
บทบาทนักกิจกรรมบำบัด ได้แก่
ก. ประเมินเด็กว่า สนใจเล่นอะไร อย่างไร เวลานานเท่าไร และเหมาะสมตามการพัฒนาความสามารถทางการเล่นของเด็กหรือไม่
จากนั้นวิเคราะห์ว่า ปัญหาคืออะไร ความสามารถคืออะไร จะพัฒนาทักษะการเล่นอย่างไร
ข. วางแผนการบำบัดด้วยการแบ่งขั้นตอนการเล่นที่มีเป้าหมาย เพิ่มการรับความรู้สึกระหว่างตนเองและคนที่เล่นด้วย (ผู้ปกครอง และนักกิจกรรมบำบัด) และใช้เทคนิคการเล่นไปกับเด็กด้วยความสนุกสนาน และแบ่งช่วงเวลาการเล่นสลับกับการพักผ่อน อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเน้นการใช้จับเด็กทำตามบ้าง ปล่อยเด็กทำเองบ้าง แต่ไม่เน้นการออกคำสั่ง เพราะเด็กเรียนรู้จากการมองมากกว่าการฟัง
 
2. เด็กสนใจเล่นจับคู่ภาพกับช่องไม้ ประเมินว่า เด็กมีความสามารถรับรู้จับคู่ได้ เห็นด้วยกับสัญญาณความสามารถครับ!
แนะนำว่า นักกิจกรรมบำบัดต้องประเมินการรับรู้เพิ่มเติมว่า รับรู้การมองเห็นพื้นฐานเรื่องรูปทรง ทิศทาง มิติสัมพันธ์ เป็นอย่างไร หากพบว่าเด็กต้องพัฒนาด้านใด ก็ควรจัดกิจกรรมในรูปแบบการเล่นหรือปรับจากกิจกรรมเดิมให้ลำดับยากหรือท้าทายขึ้นครับ
 
3. การที่ผู้ปกครองบอกว่า ไม่มี ประเมินว่า ผู้ปกครองยังไม่มีโอกาสได้สำรวจความสามารถของเด็ก และสนใจเฉพาะแก้ไขปัญหาของเด็กอย่างเดียว
แนะนำว่า นักกิจกรรมบำบัดต้องให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในเรื่อง ความสำคัญของการสำรวจกิจกรรมที่เด็กทำได้และสนใจ เพื่อนำมาใช้เป็นสื่อช่วยพัฒนาความสามารถเพิ่มขึ้น และชี้เจ้งว่า ปัญหาต่างๆ มีเหตุและผลของการฝึกกิจกรรมบำบัด มิใช่ตั้งใจแก้ไขปัญหาทั้งหมดจนไม่รู้ว่าจะดีขึ้นทุกอย่างจริงหรือไม่ ล่าสุดผู้ปกครองต้องทำกิจกรรมให้เด็กดูบ่อยๆ (ลองอ่านจากบันทึกเรื่องเซลล์กระจกเงาที่
http://gotoknow.org/blog/otpop/307527)
 
4. เด็กฟังและทำตามคำสั่งอย่างง่ายได้ แต่ต้องมีคนประกบ พูด ชี้มือ แตะตัว ประเมินว่า เด็กมีความสามารถในการทำกิจกรรมพร้อมการสื่อสารกับคนอื่นได้ แต่ต้องช่วยมากเกินไป
แนะนำว่า นักกิจกรรมบำบัดต้องปรับลำดับความยากของกิจกรรม เช่น ช่วยด้วยการสื่อสารจากง่ายไปยาก (แตะตัว/จับเด็กให้ทำตาม, ทำให้ดูแล้วรอให้เด็กทำตาม, ชี้มือและให้คำสั่งแล้วรอให้เด็กทำตาม, ให้คำสั่งแล้วรอให้เด็กทำตาม, และไม่ใช้คำสั่งแต่ลองให้เด็กสำรวจหยิบของมาเล่นเอง) ที่สำคัญต้องใจเย็นๆ และสอนผู้ปกครองให้ฝึกพร้อมสื่อสารไปในทิศทางเดียวกับนักกิจกรรมบำบัด
 
5. เด็กมีภาวะสัมผัสของร่างกายไม่เหมาะสม แนะนำว่า นักกิจกรรมบำบัดประเมินความสามารถในการรับรู้สัมผัสจากผิวสัมผัสหยาบไปละเอียด แล้วพิจารณาว่าเด็กชอบ/ไม่ชอบสัมผัสใด จากนั้นให้การกระตุ้นสัมผัสผ่านกิจกรรมการเล่น จากผิวสัมผัสที่คุ้นเคยแล้วค่อยๆปรับใช้ผิวสัมผัสอื่นๆ ที่ละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป (อาจเช็คภาวะการรับความรู้สึกอื่นๆ ถ้ามีโอกาส)
 
6. การไม่ทานข้าว แต่ชอบทานอาหารบางอย่าง ประเมินว่า เด็กมีภาวะสัมผัสในช่องปากไม่เหมาะสม แต่นักกิจกรรมบำบัดต้องประเมินให้ชัดเจนว่า ไวหรือช้ากว่าปกติ แล้วค่อยๆ ปรับผิวสัมผัสของอาหารที่คุ้นเคยพร้อมเทคนิด ลดหรือเพิ่มสัมผัสในช่องปาก
 
หวังว่าข้อมูลคงเป็นประโยชน์สำหรับน้องนะครับ
พี่ป๊อป
 
ปล. ขออนุญาตนำข้อมูลไปบันทึกไว้ใน Blog เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนครับ
หมายเลขบันทึก: 310578เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 02:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ข้อมูลเป็นประโยชน์มากครับ

ขอบคุณครับ

ภู

ผมเป็นครูสอนนร.ออทิสติก และอยากหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการปรับพฤติกรรม, ABA, และSensory Integration ครับ

ภู

ยินดีที่ได้รู้จักครับคุณภู หากต้องการข้อมูลทางกิจกรรมบำบัด ยินดี ลปรร เสมอครับผม

hi..dr.pop ดิฉันมีลูกชาย5ปีเป็นออทีสติกกลุ่มใจมากลูกไม่พูด/ไม่สบตา/ไม่นิ่ง/ไม่ทำตามสั่ง/อารมณ์ร้ายตอนนี้ทานยาอยู่ มีวิธีที่จะเริ่มฝึกลูกอย่างไร

วิธีการฝึกมีหลายลักษณะ ขึ้ยอยู่กับการประเมินของนักกิจกรรมบำบัดว่าเด็กมีความสามารถและปัญหาในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตด้านใดและอย่างไร เช่น ด้านพฤติกรรมจากระบบการประมวลความรู้สึกที่บกพร่อง ด้านพฤติกรรมจากระบบการควบคุมตนเอง ด้านพฤติกรรมจากระบบการเรียนรู้และฝึกทักษะชีวิต เป็นต้น

คุณแอนสามารถนำลูกมารับการประเมินทางกิจกรรมบำบัด โดยติดต่อ คุณจิรา 08-69162881 คลินิกกิจกรรมบำบัด ชั้น 6 อาคารคณะกายภาพบำบัด เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า

ในช่วงที่แม่ตั้งครรภ์ เราจะทราบได้มั๊ยคะว่าเด็กในท้องจะเป็นออทิสติกหรือไม่เป็น

ค่อนข้างยากในการตรวจสอบว่าเด็กในครรภ์จะมีลักษณะออทิสติก กว่าจะทราบได้ เด็กอาจต้องมีพัฒนาการในช่วง 6-12 เดือนแรกหลังคลอดครับ เพราะออทิสติกมีหลายรูปแบบที่มีปัญหาจิตสังคม แต่พัฒนาการทางร่างกายปกติครับ

ขอบคุณคุณไม่แสดงตนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท