ความตาย


ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างตระหนักรู้

ในชีวิตสัมผัสกับบางส่วนของความตายเสมอ  แต่ไม่ใช่เรื่องความตายสดๆ  เป็นความตายแห้งๆ ในอดีต  เพราะมีอาชีพที่เกี่ยวกับการสืบค้นเรื่องราวในอดีต  ขุดค้นโครงกระดูก   จึงเป็นส่วนหนึ่งของความเคยชินที่ทำเสมอ..จนลืมมอง "ความเป็น" ของ "ความตาย"

  

"ความตาย"

 

ความจริงเรื่องความตายเป็นเรื่องที่สนใจมานานแล้ว ในวิชาชีพมีวิชาเฉพาะคือเรื่องการปลงศพ  หรือโบราณคดีความตาย  ดังนั้นจึงค่อนข้างจะคุ้นเคยกับซากของความตาย  เวลาที่ขุดค้น  ทำงานกับโครงกระดูก ค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องของ "โลงไม้"ในแม่ฮ่องสอน  พยายามจะสืบค้นการปลงศพของคนโบราณ  ความเชื่อเกี่ยวกับความตายในอดีตเป็นอย่างไร  ไม่กลัวผี.. (เพราะมักเป็นคำถามที่ถูกถามเสมอ)

ในความเคยชินของการศึกษา "ความตาย"ที่ตายแล้ว ทำให้ลืมไปว่า "ความตาย" ใน"ความเป็น" นั้นเป็นอย่างไร 

จนกระทั่งเมื่อจะต้องเผชิญหน้าความตายของแม่  ของกัลยาณมิตร  เพื่อน  ซึ่งร่วงเหมือนใบไม้ร่วงในช่วงไม่กี่ปี  กี่เดือน  ทำให้ความตายกลายเป็นเรื่องส่วนตัว  ทำให้เริ่มคิดว่าจะนำประสบการณ์ในฐานะของผู้ที่ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง  กระบวนการสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง  การผลักไสความหดหู่และความเศร้าควรจะทำอย่างไร 

เพราะมีเพื่อนโทรมาถามว่า  มีเพื่อนเขาที่คุณแม่กำลังป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย  และอีกคนมีคุณพ่อกลายเป็นมนุษย์ผัก  ได้เห็นความทุกข์ใจของเพื่อน  ทำให้รู้สึกว่าอยากเขียนบันทึกที่แบ่งปันทัศนะและประสบการณ์ของตัวเองแม้ว้าไม่เคยได้ไปร่วมกิจกรรมของเครือข่ายพุทธิกา หรือจิตอาสา  เพราะเราอาจจะไม่ได้อยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนๆ

 

เข้าใจ  ให้กำลังใจ  บอกที่พึ่ง

สำหรับผู้ที่ดูแลผู้ป่วย  สิ่งที่สำคัญอยากได้รับคือความเข้าใจอารมณ์ที่ว้าวุ่น  สับสน  ความเสียใจ  รับไม่ได้กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น  เป็นสิ่งแรกที่เกิดขึ้นกับญาติทุกคน  หากมีคนรับฟังอารมณ์และให้กำลังใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดา  เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน  เราควรจะใช้เวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดสร้างความทรงจำที่ดีระหว่างเรากับคนที่เรารัก  แทนการฟูมฟาย  และให้ข้อแนะนำว่ามีที่ไหนบ้างที่จะเป็นที่พึ่งได้  เช่น group support  กิจกรรมที่เป็นประโยชน์และแนะนำ    เพื่อให้ค่อยๆ ยอมรับความจริงที่จะเกิดขึ้น

  

เพื่อนร่วมงานที่เข้าใจ

ช่วงเวลาที่ต้องดูแลผู้ป่วย  เป็นช่วงที่คนดูแลต้องการกำลังใจมากที่สุด  และต้องการเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจ ว่าการทำงานอาจจะไม่เต็มร้อย หดหู่  ขาดความกระตือรือร้น  ถ้ามีเพื่อนร่วมงานที่เข้าก็จะช่วยลดความกดดันจากที่ทำงาน

 

ป่วยเรื้อรัง  กับ ใจหดหู่ 

การป่วยเรื้อรังของแม่ทำให้บั่นทอนจิตใจของตัวเองมาก  ความคิดสร้างสรรค์  พลังในทางบวกแทบจะหมดไปจากตัวเองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน   เป็นเวลาหลายเดือนมากที่ไม่มีความก้าวหน้าทางวิชาการใดๆ ในงาน  เพราะสมองไม่ทำงานอย่างที่ควรเป็น  

แต่ระหว่างการเฝ้าแม่  พบกับคนตายที่ออกจากห้องผู้ป่วยทั้งวัน  ทั้งเช้า-เย็น  เห็นคนตายต่อหน้าที่อยู่ข้างเตียงแม่  จนกลัวว่าแม่จะกลัว  แต่แม่  ซึ่งเป็นพยาบาลเก่าบอกว่าไม่กลัว  เฉยๆ  ทำให้ใจชื้นขึ้น  และเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับบรรดาญาติผู้ป่วยที่พบกันทุกวัน  คุยกัน ปรับทุกข์กัน  ให้กำลังใจกัน  ฝากให้ดูคนป่วยให้กับกันและกัน  ส่งข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราไม่อยู่  ทำให้เกิด support groups โดยไม่รู้ตัว ทำให้การมองโลกเปลี่ยนไป  เพราะการเริ่มเข้าใจถึงการแก่-เจ็บ  เริ่มเข้าใจเห็นใจเพื่อนมนุษย์คนอื่น  เริ่มเข้าใจว่าญาติคนป่วยหรือคนเฝ้าไข้ก็ต้องการกำลังใจเช่นกัน   

 

ความสุขที่สร้างได้บนเตียง

ระหว่างที่แม่นอนในห้อง RCU พบว่า การอ่านหนังสือให้แม่ฟังเป็นเรื่องที่แม่ชอบที่สุด  พลอยทำให้นึกว่า ความจริงสิ่งที่ช่วยคนป่วยให้สร้างสุขได้คือการได้ฟังเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือของท่านป. ปยุตโต ที่พูดถึงเรื่องกายป่วย  แต่ใจไม่ป่วย  การอ่านหนังสือและอัดเทปเพื่อให้แม่ฟัง  ปรากฏว่าช่วยคลายความเครียดจากการนอนในโรงพยาบาลนานๆ  ซึ่งตอนหลังทราบว่าที่แม่นอนไม่หลับในตอนกลางคืนก็เพราะว่าแม่กลัวว่าเมื่อนอนแล้วเกิดเสียชีวิตจะไม่ได้เจอลูกและพ่ออีก  นี่เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่ไม่เคยคิดมาก่อน  จนกระทั่งใช้เวลากับแม่มากขึ้น  เอาใจใส่กับอารมณ์และความรู้สึกของเขามากขึ้นทำให้เข้าใจถึงความกังวลของเขา---นี่เป็นประสบการณ์ที่เล่าให้กับเพื่อนฟังว่าอาจจะต้องให้เพื่อนเขาเอาใจใส่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ  แต่มีความสำคัญและมีความหมายต่อผู้ป่วยมาก

 

 คำพูดที่ไพเราะจากหมอและพยาบาลคือยารักษาชั้นดี

ประสบการณ์อีกเรื่องที่สำคัญคือ  คำพูดที่ไพเราะจากหมอและพยาบาล  คือยารักษาคนไข้ชั้นเยี่ยมและกำลังใจของญาติผู้ป่วยที่ดีที่สุด  หลายครั้งที่บรรดาแพทย์อินเทิรน์และอาจารย์แพทย์พูดภาษาคนไม่เป็น  ซึ่งสร้างปฎิกริยาหลายอย่างให้กับผู้ได้รับฟังคำพูดที่จากแบบมะนาวไม่มีน้ำ  ทำให้นึกเปรียบเทียบว่า แพทย์อาจจะมองผู้ป่วย  หรือความตายเป็นเรื่องปกติ  จนลืมไปว่าเขาเป็นคนที่มีชีวิตจิตใจ  หากเขาเป็นพ่อแม่พี่น้องลูกของท่านล่ะ  ท่านจะพูดอย่างไรกับเขา  แบบเดียวกับที่เราเคยมองโครงกระดูกที่เป็นวัตถุศึกษาฉันใดฉันนั้น

จากไปโดยไม่ห่วง

เพราะได้ดูแลแม่เป็นเวลานาน  ได้เรียนรู้จากหนังสือกองโตโรงพยาบาล  และร้านหนังสือ  คุยกับเพื่อนที่เป็นหมอ  พยาบาลที่คุ้นเคยว่าทำอย่างไรที่จะมีกิจกรรมในการช่วยให้คนป่วยและญาติได้ความรู้ในการเตรียมตัวเตรียมใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น  เพราะจะช่วยทำให้กระบวนการรักษา  ดูแลง่ายขึ้นกระมัง  ไม่ได้ติดตามว่ามีกิจกรรมอะไรต่อจากนั้น  หลังจากที่แม่จากไป 

เมื่อต้องเผชิญกับการจากไปของแม่จริงๆ  ทำให้ชีวิตว่างเปล่า  ไม่เคยชิน  แต่ก็ปรับตัวได้เร็วเพราะมีงานที่จะต้องทำอยู่ตรงหน้า ระหว่างนั้นก็ทำให้กลับมาทบทวน การปลงศพ  พิธีกรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบว่านั่นคือการแสดงความรัก  รำลึกถึงคนที่เรารัก  การปฎิบัติต่อแม่ในงานศพก็เต็มไปด้วยความรักผูกพันจากครอบครัว-ญาติมิตร-เพื่อนฝูง  เช่นเดียวกับกัลาณมิตร-เพื่อน-พี่ที่จากไป  ทำให้ฉุกคิดว่าเวลาที่เรานำเอาซากโครงกระดูกขึ้นมาจากตำแหน่งเดิม  เรามัวแต่นึกถึง out put ที่เป็น scientific  จนลืมนึกถึง "ความเป็นมนุษย์"  เรารู้สึกเฉยมากเมื่อเก็บกระดูกจากหลุมขุดค้น  เดินข้ามไปข้ามมาราวกับเป็นวัตถุศึกษาอย่างหนึ่ง

ความตายของกัลยาณมิตร  เพื่อน  พี่  ในช่วงเวลาคล้อยหลังแม่ไม่นาน  ช่วยกระตุกต่อมสำนึกให้กลับมามอง "ความตาย" ในฐานะของ "คนเป็น"  2 อย่างคือ สำหรับเรื่องคนเป็น  ทำด้วยการบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับแม่  พูดถึงเรื่องความตายอย่างปกติธรรมดา  เพื่อบอกเพื่อนของเพื่อนว่า "ไม่เป็นไรที่เขาจะรู้สึกแย่ในตอนแรก  ทำใจไม่ได้  แต่หากเขาต้องการจะทำให้ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เหลืออยู่มีความหมาย  เขาก็จำเป็นต้องเรียนรู้ในการเผชิญกับความจริงและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขสุดท้าย  เพื่อจะได้ไม่เสียใจภายหลัง"

สำหรับความตายของอดีต   ความตายที่กลายเป็นเรื่อง "ส่วนตัว"  ทำให้โครงกระดูกจากการขุดค้นกลับมามีชีวิตและได้เตือนตัวเองว่าจะต้องปฏิบัติต่อโครงกระดูกด้วยความเคารพในฐานะที่เขาเป็นบุคคลที่มีผู้ที่รักผูกพันเช่นเดียวกับเรา  มีการบรรจงฝังศพที่ตั้งใจ...โครงกระดูกจึงไม่ใช่เพียงวัตถุศึกษาหรือวิจัย!

...เพียงเพราะ "เพื่อน" ถามคำถามว่าจะช่วยทำให้ "เพื่อนของเขา" เตรียมตัวกับแม่ที่กำลังจะจากไป  ทำให้ได้กลับทบทวนตัวเอง/เจริญสติอย่างตระหนักรู้อีกครั้ง...

หมายเลขบันทึก: 310479เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 00:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท