Site Visit: หลายเรื่องดี ที่ตำบลวังอ่าง (๑)


ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มทำเรื่องดีๆ หลายกลุ่ม

จากเวที KM Workshop ที่ขนอมอีกเช่นกัน เราพบว่า ผญบ.อนันต์ แก้วรักษ์ และประธานสภา อบต.สมพงค์ ปานเอียดได้มาเล่าให้รู้ว่าตำบลวังอ่างมีเรื่องราวดีๆ หลายเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรปลอดสารเคมี สมุนไพร ธนาคารต้นไม้.............เราอยากไปเห็นของจริง จึงนัดหมายกันตั้งแต่วันที่ ๔ ตุลาคม ได้วันที่เหมาะแก่การเดินทางคือวันจันทร์ที่ ๑๙ ตุลาคม หลังกลับจากท่าฉาง (อ่านที่นี่)

ดิฉันออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในเวลา ๐๖.๓๐ น. คราวนี้ไปกับแหม่มเพียง ๒ คน ไปถึงที่ทำการ อบต.วังอ่าง ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๘.๑๕ น. ก่อนเวลาที่นัดหมายไว้คือ ๐๙ น. ที่ทำการ อบต. อยู่ลึกเข้าไปจากถนนใหญ่พอสมควร ด้านหน้ามีสนามหญ้าใหญ่เหมือนสนามฟุตบอล ตอนที่ไปถึงมีเจ้าหน้าที่กำลังเช็ดกระจกอยู่ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี

เจ้าหน้าที่ อบต. ทยอยเดินทางมาทำงาน ทุกคนทักทายแขกแปลกหน้าด้วยสีหน้าแบบ “รับแขก” แสดงถึงอัธยาศัยที่ดี หนุ่มนิติกรยกเก้าอี้มานั่งคุยกับเรา ตอบคำถามของเราด้วยความเต็มใจ จนประธานสภาฯ สมพงค์และทีมมาถึง เราจึงแยกมาคุยกันในห้องประชุมที่จัดแบบเรียบง่าย

ตำบลวังอ่างมี ๙ หมู่บ้าน พื้นที่เป็นเชิงเขา มีเขตอุทยานแห่งชาติ อบต.วังอ่าง ได้เข้าร่วมกองทุน สปสช. มีสถานีอนามัย ๑ แห่ง ประชากรประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าคน มีคณะทำงานสุขภาวะชุมชน ๑๐ กว่าคน แต่ละหมู่บ้านทำคนละประเด็น มีการพบ (ประชุม) กันทุกเดือนในวันที่ ๒๘ เมื่อก่อนประชุมกันที่ สอ. แต่เดี๋ยวนี้ย้ายที่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ พาไปดูงานด้วย ถ้าประชุมกันที่ สอ. ชาวบ้านจะไม่รู้ว่าเราทำอะไร เมื่อไปตามหมู่บ้านเขาจะเห็นและรู้ว่าทำงานจริง

ประธานสภาฯ สมพงค์เล่าจากที่ได้ไปดูงานที่ชะแล้ในโครงการของเรา จะเอาความรู้มาทำเรื่องป่าต้นน้ำ จะออกข้อบัญญัติตำบล แต่จะเน้นการขับเคลื่อนด้วยท้องถิ่น เดิมมีกติกาชุมชนใช้อยู่แล้ว คณะทำงานฯ บ่นให้เราฟังเรื่องปัญหาขาดน้ำ มีอ่างเก็บน้ำ แต่ไม่ได้ใช้น้ำนั้น น้ำผ่านไปยังพื้นที่อื่น น้ำที่ใช้ก็มีคราบปูน หมู่ ๙ หมู่ ๕ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของปากพนัง ยังมีป่าที่อุดมสมบูรณ์

ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มทำเรื่องดีๆ หลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มเกษตรอินทรีย์/ชีวภาพ กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร ธนาคารอาหารปลอดภัย ฯลฯ มีชาวบ้านเคยไปอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พอกลับมาก็ลงมือทำเลย

ประธานสภา อบต.สมพงค์ คุณอ้อย พยาบาลประจำ สอ. และคณะพาดิฉันเยี่ยมชมพื้นที่ต่างๆ เริ่มจากละแวกบ้าน ผญบ.อนันต์ที่ใช้ชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีการทำสวน เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงผึ้ง เราได้ผลไม้ น้ำผึ้ง ผัก น้ำส้มควันไม้ ใส่ท้ายรถตู้แถมมาด้วย

 

สวนของ ผญบ.อนันต์ ขวา นาข้าวที่ปลูกโดยการหยอดหลุม

 

หมูหลุมของ ผญบ.อนันต์

 

เพื่อนบ้านของ ผญบ.อนันต์ ทำสวน เลี้ยงผึ้ง เลี้ยงปลา ซ้าย วิธีปลูกพริกที่ย้ายที่ได้หากน้ำท่วม

 

บ้านนี้ปลูกพริกไว้เยอะมาก มีเด็กนักเรียนมาทำการทดลองใช้น้ำหมักหลายชนิดในการป้องกันโรคของพริก เจ้าของบ้านยังหนุ่มเคยเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์ ทำผ่าตัดไปแล้ว เดี๋ยวนี้เลิกใช้สารเคมีเด็ดขาด

 

กลุ่มแปรรูปสมุนไพร

เรารับประทานอาหารกลางวันที่จุดนี้ มีอาหารพื้นบ้านคือแกงเลียงยอดขี้เหล็กใส่น้ำใบย่านางและปลาย่าง อร่อยดี ไม่มีรสขมเลย ต้มไก่ น้ำพริกมะขาม แกงเผ็ด ขนมเป็นข้าวต้มมัด

เราได้พบและคุยกับกลุ่มเยาวชนของตำบลด้วย แรกๆ เยาวชนดูเขินๆ แต่ใช้เวลาไม่นานก็สามารถพูดคุยได้อย่างเป็นกันเอง

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 310229เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท