ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง(พ.ศ.2552-2561)


ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา

ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552-2561)

มติคณะรัฐมนตรี -- พุธที่ 19 สิงหาคม 2009 15:36:50 น.

         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552-2561) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และเห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ. 2552 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

         ข้อเท็จจริง
         กระทรวงศึกษาธิการเสนอว่า
         1. นับจากที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 10 ปี  ได้มีการประเมินผลการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า หลายเรื่องประสบผลสำเร็จ เช่น การปรับโครงสร้างการบริหาร จัดการให้มีเอกภาพ  มีการจัดระเบียบบริหารราชการแบบเขตพื้นที่การศึกษา จัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ตลอดจนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นต้น   แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอด โดยเฉพาะด้านคุณภาพผู้เรียน ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ที่พบว่ามีสถานศึกษาจำนวนมากยังไม่ได้มาตรฐาน ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ ขาดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งการคิด วิเคราะห์ ใฝ่เรียนรู้และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง คุณธรรม จริยธรรม ในด้านครู คณาจารย์ พบว่ามีปัญหาขาดแคลนครู คณาจารย์ที่มีคุณภาพ มีคุณธรรม ไม่ได้คนเก่ง คนดี และใจรักมาเป็นครู คณาจารย์ ในด้านการบริหารจัดการพบว่า  ยังไม่มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการทั้งสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามเป้าหมาย รวมทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
         2. ในคราวประชุมสภาการศึกษาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552  ได้เห็นชอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป โดยได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เพื่อจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในภาพรวม และให้คณะอนุกรรมการสภาการศึกษา รวม 8 คณะ จัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์และมาตรการในการปฏิรูปการศึกษาเกี่ยวกับ

-  การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

-  การผลิตและพัฒนาครูคณาจารย์

- การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษาและการมีส่วนร่วม  

-  การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

- การผลิตและพัฒนากำลังคน

-  การเงินเพื่อการศึกษา

-  เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา  

-  กฎหมายการศึกษา

-  การเรียนรู้ตลอดชีวิต

- การศึกษานอกระบบ

-  การศึกษาตามอัธยาศัย
         3. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ดำเนินการศึกษาเอกสาร รายงานที่เกี่ยวข้อง และจัดประชุมระดมความคิด ดังนี้    
            3.1 จัดประชุมเสวนาเพื่อรับฟังและระดมความคิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เรื่อง ปฏิรูปประเทศไทย เริ่มด้วยร่วมใจปฏิรูปการศึกษา
            3.2 สำรวจความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมเสวนาในทุกภูมิภาค เพื่อจัดอันดับความสำคัญและแสดงความคิดเห็นในประเด็นปฏิรูป
            3.3 จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาคณะต่างๆ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์และมาตรการปฏิรูปการศึกษา ทั้ง 9 ประเด็นเสนอต่อคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ เพื่อจัดทำข้อเสนอในภาพรวม
            3.4 ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา วิจัย และจัดทำข้อเสนอเชิงลึกในบางประเด็น
            3.5 ประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ทั้งจากการศึกษาเอกสาร รายงาน บทความและ ข้อเสนอแนะทางสื่อสารมวลชน ฯลฯ
            3.6 คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจฯ ได้ศึกษาสังเคราะห์ประเด็นต่างๆ โดยจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองในภาพรวม  ซึ่งที่ประชุมสภาการศึกษาได้ให้ความเห็นชอบและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป  
         4. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ติดตามและประเมินผลการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ปี 2542 พบปัญหาที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขและสานต่อหลาย ๆ ด้าน ได้แก่  
            4.1 ด้านการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน/สถานศึกษา ซึ่งมีสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวนร้อยละ 20.3  จากจำนวน 22,425 แห่ง ที่ต้องได้รับการพัฒนา
            4.2 ด้านการผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ อาจารย์ มีการสูญเสียอัตราครูไปเนื่องจากนโยบายจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐและมาตรการจูงใจให้ครูออกก่อนเกษียณ  ปัญหาครูสอนไม่ตรงตามวุฒิและการขาดแคลนครูในบางพื้นที่  ครูขาดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและขาดความเอาใจใส่
            4.3 ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษาและการส่งเสริมการมีส่วนร่วม รวมทั้งการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาจากส่วนกลางสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ยังไม่มีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การถ่ายโอนสถานศึกษาไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเพียง 381 แห่ง และการศึกษาเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ควร
            4.4 การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับปฐมวัยและประถมศึกษาลดลง แต่ระดับมัธยมศึกษา เด็กที่มีความต้องการพิเศษ และอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น รวมทั้งการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเนื่องจากปัญหาความไม่พร้อมของท้องถิ่นในการจัดการศึกษาปฐมวัย ทำให้เด็กที่เข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับออกกลางคัน เด็กไม่นิยมเรียนอาชีวศึกษาการบริการการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสยังไม่ทั่วถึง เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ไม่มีกลไกที่ชัดเจน  
            4.5 การผลิตและพัฒนากำลังคน ผู้สำเร็จอาชีวศึกษากว่าร้อยละ 70 ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ทำให้ขาดแคลนกำลังคนระดับกลาง  ผู้สำเร็จขาดคุณลักษณะด้านความรู้และทักษะที่จำเป็น การผลิตกำลังคนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เกินความต้องการ  
            4.6 ด้านการเงินเพื่อการศึกษา มีปัญหาความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา กลไกของรัฐไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้ามามีส่วนร่วม  การจัดสรรงบประมาณไม่สัมพันธ์กับผลผลิต และภายใต้กฎระเบียบของทางราชการทำให้สถานศึกษาขาดแรงจูงใจในการพัฒนาด้านๆ  
            4.7 ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ขาดการพัฒนาเนื้อหาผ่านสื่อที่มีคุณภาพ และมีจำนวนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ล้าสมัย
            4.8 ด้านกฎหมายการศึกษากฎหมายการศึกษาบางฉบับ ยังจัดทำไม่แล้วเสร็จ ส่วนกฎหมายการศึกษาที่มีผลใช้บังคับแล้วแต่ไม่สามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้กฎหมายเน้นการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรมากกว่าการปฏิรูปคุณภาพการเรียนการสอน
            4.9 ด้านการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ยังขาด เนื้อหาและวิธีการที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังขาดการปรับปรุงระเบียบที่เอื้ออำนวยให้มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง
         สาระสำคัญของข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
         1. วิสัยทัศน์   คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ
         2. เป้าหมาย  ภายในปี 2561 มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประเด็นหลักสามประการ คือ
            2.1 คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย  พัฒนาผู้เรียน สถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม หลักสูตรและเนื้อหา พัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่งดีและมีใจรักมาเป็นครู คณาจารย์ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
            2.2 โอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้ เพิ่มโอกาสการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพเพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
            2.3 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม ในการบริหารและจัดการศึกษา โดยเพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษาด้วย
         3. กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา มีการปฏิรูปการศึกษาและเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดย
            3.1 พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ที่มีนิสัยใฝ่เรียนรู้  สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม สามารถทำงานเป็นกลุ่มได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร มีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม มีจิตสำนึกและความภูมิใจในความเป็นไทย ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รังเกียจการทุจริตและต่อต้านการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง โดย
                3.1.1 พัฒนาคุณภาพการศึกษาและเรียนรู้  
                3.1.2 ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะ และความรู้ ความสามารถ  
            3.2 พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่  ที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า สามารถดึงดูดคนเก่ง คนดี มีใจรักในวิชาชีพครูมาเป็นครู โดย          
                3.2.1 พัฒนาระบบผลิตครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา          
                3.2.2 การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา          
                3.2.3 การใช้ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา          
            3.3 พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับ/ประเภทให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และพัฒนาแหล่งเรียนรู้อื่นๆ สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์  สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์การกีฬาและนันทนาการ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและมีคุณภาพ
            3.4 พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชนและทุกภาคส่วน มีระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล โดย
                3.4.1 กระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาให้กับสถานศึกษาและเขตพื้นที่ การศึกษา
                3.4.2 พัฒนาระบบบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลให้มีประสิทธิภาพ
                3.4.3 พัฒนาการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ  
                3.4.4 พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคเอกชนและทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษาและเรียนรู้ให้มากขึ้น โดย
                      3.4.4.1 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน  เอกชน  องค์กรเอกชน  องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นในการจัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษาให้มากขึ้น
                      3.4.4.2 ส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เข้ามาร่วมจัดและสนับสนุนการจัดการศึกษามากขึ้น
                3.4.5 พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ
         4. ข้อเสนอกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาตามข้อเสนอดังกล่าว บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงเสนอให้มีกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ดังนี้
            4.1 คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ให้มีคณะกรรมการ 2 คณะเพื่อดำเนินการทางนโยบายและขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานฯ ให้คณะกรรมการทั้ง 2 คณะ มีกรอบเวลาในการดำเนินงาน 5 ปีและให้ยุบเลิกเมื่อสิ้นสุดระยะเวลานี้แล้ว โดยให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ
            4.2 จัดตั้งหน่วยงานและ/หรือปรับบทบาทหน่วยงานเพื่อเป็นกลไกรับรองคุณภาพมาตรฐาน และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ได้แก่
                4.2.1 องค์กรเพื่อรับรองคุณภาพมาตรฐานสถาบันผลิตครู ได้แก่ สถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานระดับชาติ ที่มีการบริหารจัดการอย่างคล่องตัว เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ทำหน้าที่
                      4.2.1.1  ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครู ประกันและรับรองคุณภาพและมาตรฐานสถาบันผลิตและพัฒนาครู
                      4.2.1.2 พัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้
                4.2.2 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ  เป็นหน่วยงานระดับชาติ ที่มีการบริหารจัดการอย่างอิสระ คล่องตัว ไม่อยู่ในระบบราชการ ทำหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ประเมินและให้การรับรองสมรรถนะวิชาชีพตามเกณฑ์มาตรฐานโดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                4.2.3 สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติและกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เป็นหน่วยงานกลาง เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบาย แผน ส่งเสริม และประสานการวิจัย การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อสนับสนุนการผลิต การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
                4.2.4 ปรับบทบาทสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต และให้ดำเนินการจัดให้มีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในทุกพื้นที่ เพื่อเติมเต็มระบบการศึกษาให้รองรับการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง
            4.3 มอบหมายให้หน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ปฏิบัติภารกิจเพิ่มเติมหรือเร่งรัดดำเนินการ ดังนี้
                4.3.1 ให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการประกันการเรียนรู้และรับรองมาตรฐานผู้เรียน โดยประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในชั้นเรียนสุดท้ายของแต่ละช่วงชั้นให้เป็นการวัดผลระดับชาติ เพื่อให้สามารถใช้การวัดประเมินผลที่เป็นมาตรฐาน สามารถเทียบเคียงกันได้ เป็นกลไกในการประกันการเรียนรู้และรับรองมาตรฐานผู้เรียนแต่ละช่วงชั้น
                4.3.2 ให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษา โดยให้มีองค์คณะบุคคลที่มีความรู้ มีความเข้าใจ และประสบการณ์เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ และสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาทางเลือก โดยให้มีองค์คณะบุคคลเพื่อดำเนินการ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักการและแนวทางจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล
                      นอกจากนี้ มีกลไกสนับสนุนที่ต้องพัฒนา/ปรับปรุงคู่ขนานกัน ได้แก่ ระบบการเงินการคลัง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา และการปรับปรุงแก้ไข บังคับใช้กฎหมายการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง
         5. สาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
            5.1 ให้มีคณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง รวม 2 คณะ (ร่างข้อ 4)
            5.2 ให้คณะกรรมการนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง  และให้เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นกรรมการ และเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างข้อ 5 และร่างข้อ 9)
            5.3 ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และให้เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างข้อ 6 และร่างข้อ 10)
            5.4 ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามที่กำหนด และกำหนดหลักเกณฑ์การประชุมของคณะกรรมการ (ร่างข้อ 7 และร่างข้อ 8)
            5.5 ให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างข้อ 11)
            5.6 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การให้ข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างจากส่วนราชการอื่นหรือพนักงานหรือลูกจ้างพนักงานของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐไปช่วยปฏิบัติราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ตลอดจนการให้หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคคล และคณะบุคคลซึ่งมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงาน (ร่างข้อ 12 และร่างข้อ 13)
            5.7 ให้การแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อ 5.1 และ 5.2 แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ (ร่างข้อ 14)
            5.8 ให้ระเบียบนี้ยกเลิกเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ร่างข้อ 15)

         --ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่  18 สิงหาคม 2552 --

ร่วมก๊วนกวนข่าว กันหน่อยนะค่ะ

1.  คุณครูทั้งหลายควรเตรียมตัวเฮกับนโยบายได้เลย  แต่เป็นการเฮแบบใดแล้วแต่ความถนัดของแต่ละท่าน นะเจ้าค่ะ

2.  ยังมีใครหรืออะไรอีกไหมค่ะที่น่า...เตรียมพร้อม    เอ้า!เชิญเว้ามาได้นะเจ้าค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 309959เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2009 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าสนใจว่าจะเป็น NATO หรือ AFTA ครับ

  • NATO = No Action Talk Only
  • AFTA = Action First Talk After

I think so.

Many peopple like that.

Thank you for your comment, JJ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท