อำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑: ข้อสังเกตบางประการ


เราคงต้องมาพิจารณาว่าการที่มาตรา ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ ที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการที่จะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้าที่เสนอขายนั้นจะเป็นเหตุที่จะถือได้หรือไม่ว่าผู้บริโภคถูกโต้แย้งสิทธิหรือมีกฎหมายรับรองสิทธิทางศาลหากเกิดกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาชักชวนให้ซื้อสินค้าหรือรับริการที่เป็นความเท็จหรือเกินความจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗ ????

อำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑: ข้อสังเกตบางประการ[1]  

               

                ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ นั้นมีเหตุผลในการออกพระราชบัญญัติในส่วนท้ายพระราชบัญญัติ ดังนี้ “เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้นในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องของคุณภาพสินค้าหรือบริการตลอดจนเทคนิคการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งยังขาดอำนาจต่อรองในการเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ ทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ นอกจากนี้ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น กระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภคที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตนเอง อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจนบางครั้งนำไปสู่การใช้วิธีการที่รุนแรงและก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรให้มีระบบวิธีพิจารณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็ว ประหยัดและมีประสิทธิภาพ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

                จากหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ มุ่งเน้นที่จะให้ความคุ้มครองแก่ตัว “ผู้บริโภค” จากการบริโภคสินค้าหรือบริการของ “ผู้ประกอบธุรกิจ”[2] ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ระมัดระวังการผลิตสินค้าหรือการให้บริการแก่ผู้บริโภคเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตัวผู้บริโภค ส่วนบุคคลใดหรือผู้ใดนั้นจะถือว่าเป็น “ผู้บริโภค” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑[3] ได้กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในที่นี้ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ นั้น “ผู้บริโภค” ได้แก่ “ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม”[4] และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ได้แก่ “ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย” [5]

                ดังนั้น โดยสรุปแล้วตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ผู้ที่จะเป็นโจทก์และ/หรือจำเลยในคดีผู้บริโภคได้นั้นต้องมีสถานะเป็น “ผู้บริโภค” และ/หรือ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ เท่านั้น

                 อนึ่ง และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคในการฟ้องคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ดังนั้นมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ จึงกำหนดให้หน่วยงานบางหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคสามารถที่จะฟ้องคดีผู้บริโภคแทนผู้บริโภคได้[6] เช่น คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

                แต่อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ นั้นมิได้หมายความว่า “ผู้บริโภค” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” จะสามารถทำการฟ้องคดีผู้บริโภคหรือมี “อำนาจฟ้องคดี” นั้นได้เสมอแม้ว่า “ผู้บริโภค” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” นั้นจะเป็นผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ กำหนดไว้ก็ตาม ทั้งนี้เพราะมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ กำหนดให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลมในระหว่างที่ยังไม่มีข้อกำหนดกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคซึ่งต้องออกมาโดยประธานศาลฎีกา[7] ซึ่งในปัจจุบันนี้ประธานศาลฎีกาได้ออก “ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภคพ.ศ. ๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒” แต่ในข้อกำหนดดังกล่าวนั้นมิได้มีเรื่อง “อำนาจในการฟ้องคดี” กำหนดไว้ นั้นอาจหมายความว่า การฟ้องคดีผู้บริโภคหรืออำนาจในการฟ้องคดีผู้บริโภคต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗  นั่นเอง ซึ่งในที่นี้ ก็คือ มาตรา ๕๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗  ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วย “อำนาจฟ้องคดีแพ่งทั่วไป” ซึ่งตามมาตรา ๕๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗ นั้น บุคคลที่จะฟ้องคดีแพ่งได้นั้นต้องมีการโต้แย้งสิทธิหรือมีกฎหมายรับรองสิทธิทางศาลศาลได้ บุคคลนั้นจึงจะมีอำนาจฟ้องคดี[8]

                ปัญหาที่เราต้องมาพิจารณา ก็คือ “ผู้บริโภค” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ นั้นเมื่อใดผู้บริโภคจึงจะสามารถฟ้องคดีผู้บริโภคหรือมีอำนาจในการฟ้องคดีผู้บริโภคได้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ กล่าวคือ “ผู้บริโภค” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ เมื่อใดจึงจะถือได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิหรือมีกฎหมายรับรองสิทธิทางศาลได้ ซึ่งหากเราพิจารณาความหมายของ “ผู้บริโภค” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ แล้วเราจะพบว่า “ผู้บริโภค” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ สามารถที่จะแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

                (๑) ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ

                (๒) ผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ

                (๓) ผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

                ผู้บริโภคทั้ง ๓ ประเภทดังกล่าวนั้นหากจะพิจารณาแล้วเราจะพบว่าผู้บริโภคประเภทที่ ๑ และประเภทที่ ๓ คือ ผู้บริโภคที่ได้ใช้หรือได้รับบริการในตัวสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจแล้ว กรณีผู้บริโภคเหล่านี้จึงอาจไม่มีข้อสงสัยในการฟ้องคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริโภคเหล่านี้ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อตัวสินค้าหรือบริการนั้นจากการใช้หรือได้รับบริการ ดังนั้นการเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิตามที่มาตรา ๕๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗ จึงน่าจะเป็นการที่ถูกต้องด้วยเหตุผลแล้ว

                อนึ่ง การที่ผู้บริโภคประเภทที่ ๑ และ ๓ ตกลงที่จะใช้สินค้าหรือรับบริการเพื่อนำมาบริโภคแม้จะยังไม่ได้ใช้สินค้าหรือรับบริการ แต่หากเกิดความเสียหายขึ้น เช่น ผู้ประกอบธุรกิจส่งมอบสินค้าหรือบริการไม่ครบถ้วน กรณีนี้ก็น่าจะถือว่าผู้บริโภคเหล่านี้มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อตัวสินค้าหรือบริการนั้นเช่นกัน

                กลับกัน แต่หากเป็นผู้บริโภคในกรณีประเภทที่ ๒ นั้นจะเห็นได้ว่าในกรณีนี้ผู้บริโภคดังกล่าวนั้นยังไม่ได้ใช้หรือได้รับบริการในตัวสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจเหมือนอย่างในกรณีผู้บริโภคประเภทที่ ๑ และประเภทที่ ๓ ดังนั้นปัญหาที่เราต้องพิจารณาก็คือผู้บริโภคประเภทนี้จะสามารถฟ้องคดีผู้บริโภคหรือมีอำนาจในการฟ้องคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ได้หรือไม่หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้บริโภคประเภทนี้จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิหรือมีกฎหมายรับรองสิทธิทางศาลซึ่งเป็นเหตุของการฟ้องคดีผู้บริโภคได้  ทั้งนี้เพราะอย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ยังไม่มีข้อกำหนดกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคในส่วนของ “อำนาจในการฟ้องคดีผู้บริโภค” จึงต้องนำมาตรา ๕๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                ยกตัวอย่างเช่น : ถ้าผู้บริโภคในประเภทที่ ๒ นี้ต้องการยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจในศาลเพื่อให้ระงับการโฆษณาข้อความสินค้าหรือบริการ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาชักชวนให้ซื้อสินค้าหรือรับริการที่เป็นความเท็จหรือเกินความจริงโดยที่ผู้บริโภคประเภทนี้ยังมิได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการนั้นๆโดยอ้างว่าตนเองมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒[9] การที่ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาชักชวนให้ซื้อสินค้าหรือรับริการที่เป็นความเท็จหรือเกินความจริงนั้นเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของตนเองซึ่งเป็นผู้บริโภคถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายที่ผู้บริโภคมีอยู่ตามกฎหมายตามที่มาตรา ๕๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗ ได้กำหนดรับรองไว้แล้วนั่นเอง

                ดังนี้ เราคงต้องมาพิจารณาว่าการที่มาตรา ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ ที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการที่จะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้าที่เสนอขายนั้นจะเป็นเหตุที่จะถือได้หรือไม่ว่าผู้บริโภคถูกโต้แย้งสิทธิหรือมีกฎหมายรับรองสิทธิทางศาลหากเกิดกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาชักชวนให้ซื้อสินค้าหรือรับริการที่เป็นความเท็จหรือเกินความจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗ ????

 

 


[1] อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุลและอาจารย์สิทธิพร ภู่นริศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

[2] แต่อย่างไรก็ตาม “ผู้ประกอบธุรกิจ” สามารถเป็นโจทก์ฟ้อง “ผู้บริโภค” ได้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ ได้เช่นกัน

[3] พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑

                มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

“ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และให้หมายความรวมถึงผู้เสียหายตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคและให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบการตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย

[4] อ้างแล้ว.

[5] อ้างแล้ว.

[6] พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑

                มาตรา ๑๙ให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีผู้บริโภคแทนผู้บริโภคได้โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการฟ้องและการดำเนินคดีแทนตามกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลม...

[7] พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑

                มาตรา ๗  กระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามมาตรา ๖ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

[8] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.๒๔๗๗

                มาตรา ๕๕  เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

[9]พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒

                 มาตรา ๔  ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความคุ้มครองดังต่อไปนี้

             (๑) สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ

             (๒) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ

             (๓) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ

             (๓ ทวิ) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา

             (๔) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ หรือพระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้

หมายเลขบันทึก: 309211เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2009 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ยังไม่มีเวลาไว้คราวหน้านะคะ

ขอบคุณค่ะ พยามหาเวลาว่างมาเขียน Blog ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท