บันทึกไว้ในบล็อก : R&D : R (หา) ปัญหาให้เจอ แล้วทำให้ D (ดี) ขึ้น


ผมได้รับการขอร้องจากผู้ใหญ่ที่นับถือท่านหนึ่งครับ ขอให้ช่วยเขียนโครงการทางการศึกษาสัก 1 โครงการ ด้วยความเกรงใจก็รับปากท่านไว้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียนให้สักที นี่ก็ใกล้เวลาที่จะต้องส่ง "ต้นฉบับ" แล้วแต่ผมก็ยังไม่ได้เริ่มอะไรเลย (ฮิๆ ชักจะคล้ายใครบ้างคนเข้าแล้วซิเรา...)

คืนนี้เลยค้นหาบันทึกและเอกสารเก่าๆ สมัยอยู่โรงเรียน ก็ไปเจอเอาบันทึกหนึ่ง เป็นบันทึกผลการดำเนินงานที่ผมเรียกว่า R&D มาใช้ในโรงเรียน  จุดเริ่มในการนำ R&D มาใช้ก็สืบเนื่องจากประมาณปี 2536 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม "โครงการสัมมนาการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การบริหารการศึกษา และคุณภาพชีวิต"  ณ โรงแรมมายการ์เด้น จังหวัดปัตตานี จัดโดยสำนักงานศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา 2 หรือที่เรียกกันติดปากขณะนั้นคือ "เขตการศึกษา 2 ยะลา" รู้สึกผมจะเป็นคนเดียวที่เข้าร่วมจากโรงเรียนเอกชน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จะมาจากโรงเรียนรัฐบาล

ผู้ร่วมอภิปรายในวันนั้นที่เท่าที่จำได้ก็มีอาจารย์ ดร.กมล สุดประเสริฐ อาจารย์ ดร.สงบ ลักษณะ อาจารย์ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ รศ.ดร.ไพศาล หวังพานิช และอาจารย์ชัยพจน์ รักงาม  อภิปรายเสร็จก็มีนำเสนอผลงานวิจัย 11 เรื่องด้วยกัน ยอมรับว่า ณ ขณะนั้นผมฟังการนำเสนองานวิจัยไปก็งงไปด้วย แต่ก็อยู่ฟังจนจบสิ้นกระบวนความ

หลังจากนั้นสี่หรือห้าปีเห็นจะได้ (นานน่าดู)  ผมก็ฟื้นความจำจากการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนั้นคิดรูปแบบและวิธีการพัฒนาการเรียนการสอนที่ผมเรียกเอาเท่ไว้ว่า R&D ผมบอกครูว่า R ก็คือ "หา" ในที่นี้คือ R (หา) ปัญหา หาอุปสรรคของการจัดการเรียนการ สอนส่วน D ก็ตามตัวเลยครับ คือเมื่อหาปัญหาเจอแล้วก็ทำให้มัน D (ดี) ขึ้น

สิ่งที่พบเมื่อนำกระบวนการ R&D มาใช้เท่าที่บันทึกไว้ก็คือ

  • ก่อนนำR&Dมาใช้ครูยึดและสอนตามแผนการสอน คือถึงเวลาก็สอนตามแผนที่วางไว้ จากวันเป็นเดือน เป็นเทอม และจบปีในที่สุด แต่หลังจากนำนำR&Dมาใช้ครูจะปรับแผนการสอนให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก
  • ก่อนนำR&Dมาใช้ครูไม่ได้เอางานที่ให้เด็กทำ เช่น แบบฝึกหัดในห้องเรียน การบ้าน การสอบจุดประสงค์ หรือ สอบ ป.02 หรือการสอบประจำเดือนมาพิจารณาและคิดย้อนกลับเพื่อประเมินคุณภาพการสอนของตนเอง และผลจากการสอนของตนที่เกิดในตัวเด็กจริงๆ และไม่ได้กำหนด เกณฑ์มาตรฐานว่า ก่อนที่จะสอนบทเรียนถัดไปนั้นนักเรียนจะต้องผ่านการทดสอบเนื้อหาที่เรียนไปคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่? แต่หลังจากนำนำR&Dมาใช้ครูจะสอนบทใหม่หลังจากที่มีผลการประเมินจากแบบฝึกหัด การบ้าน และผลการสอบป.02 ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
  • ก่อนนำR&Dมาใช้ครูแยกนักเรียนเป็นกลุ่ม อ่อน ปานกลาง และเก่งก็จริง แต่ไม่ได้เจาะลึกสาเหตุที่ทำให้เด็กเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มอ่อนหรือปานกลาง แต่หลังจากนำนำR&Dมาใช้ครูจะช่วยดูแลนักเรียนกลุ่มอ่อนให้สามารถพัฒนาเป็นนักเรียนกลุ่มปานกลาง และนักเรียนกลุ่มปานกลางให้สามารถพัฒนาเป็นกลุ่มเก่ง
  • ก่อนนำR&Dมาใช้ฝ่ายวิชาการและผู้บริหารเข้าเยี่ยมชั้นเรียนขณะครูสอน มุ่งดูแต่การสอนของครู พบว่าครูเตรียมการสอนอย่างดี มีสื่อการสอนพร้อมก็พอใจแล้ว คือดูแต่ครูผู้สอนแต่ลืมดูผู้ถูกสอน(นักเรียน) ว่าที่เห็นว่าครูสอนดีมีสื่อพร้อมนั้น จริงๆแล้วเกิดผลกับนักเรียนจริงๆแค่ใหน? อย่างไร? และนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มอ่อนนั้น พัฒนาไปอยู่ในกลุ่มปานกลางหรือไม่ และนักเรียนกลุ่มปานกลางพัฒนาเป็นกลุ่มเก่งร้อยละเท่าไหร่? แต่หลังจากนำนำR&Dมาใช้ฝ่ายวิชาการและผู้บริหารจะดูที่ผลการสอนที่ปรากฏในตัวนักเรียน และพัฒนาการในตัวนักเรียน
  • ก่อนนำR&Dมาใช้ ครู ฝ่ายวิชาการ ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และแม้แต่เด็กนักเรียนเองทราบว่า นักเรียนมีผลการเรียนต่ำก็หลังจากสอบปลายภาคไปแล้ว (5 เดือนผ่านไป) ซึ่งการรู้ผลสัมฤิทธิ์ ณ ปลายเทอมถือว่าเป็นการรู้ที่สายเกินแก้แล้ว แต่หลังจากนำR&Dมาใช้ครูจะให้ความสำคัญกับผลงานต่างๆที่ให้นักเรียนทำ ทั้งแบบฝึกหัด การบ้าน และผลการสอบป.02 หากเด็กทำไม่ได้ ทำไม่ถูกต้องจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ครูต้องสอนใหม่ และประเมินใหม่
  • ก่อนนำR&Dมาใช้ครูจะเตรียมและสอนตามแผนการสอนชุดเดียวสำหรับเด็กทุกคนทุกลุ่ม แต่หลังจากนำR&D ครูจะเตรียมแผนการสอนที่สอดคล้องกับกลุ่มเด็กในแต่ละวิชา
  • ก่อนนำR&Dมาใช้ครูแค่บ่นกับนักเรียนที่ไม่รับผิดชอบไม่ส่งแบบฝึกหัด ไม่ส่งการบ้าน หรือไม่ส่งชิ้นงานที่มอบหมายให้ทำ แต่ไม่ได้สำรวจสาเหตุที่นักเรียนไม่ส่งว่า อาจจะมาจากนักเรียน "ไม่่เข้าใจ" หรือขาด "ทักษะ" ที่เหมาะสมซึ่งอาจจะเป็นผลโดยตรงจากการสอนของครูเอง แต่หลังจากนำR&D มาใช้ เมื่อนักเรียนไม่ส่งงาน ครูจะหาสาเหตุ และช่วยนักเรียนโดยประสานใกล้ชิดกับผู้ปกครองในฐานะที่เป็นผู้ช่วยของครูประจำบ้าน

ง่วงแล้วครับ บันทึกแค่นี้ก่อนครับ

หมายเลขบันทึก: 308759เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2009 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท