แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ IT ในงานสุขภาวะชุมชน (๒)


แจกหัวใจให้คนละดวง ทีมละสี ให้เขียนชื่อตนเองชื่อทีม ความคาดหวัง และเรื่องราวดีๆ ที่เตรียมมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน

ตอนที่

วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๒
เราเริ่มกิจกรรมช้าไปประมาณ ๒๐ นาที รอผู้เข้าประชุมที่ยังมาไม่ถึง ปรากฏว่ามีผู้ที่แจ้งชื่อแล้วมาไม่ได้เหลือผู้เข้าประชุม ๒๓ คน ดิฉันเริ่มประชุมด้วยการแนะนำว่ากิจกรรม ๒ วันนี้ว่าเราจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยการใช้เทคนิคการฟังอย่างลึก การเล่าเรื่อง สุนทรียสนทนา และการซักถามด้วยความชื่นชม

หลังจากนั้นแจกหัวใจให้คนละดวง ทีมละสี ให้เขียนชื่อตนเองชื่อทีม ความคาดหวัง และเรื่องราวดีๆ ที่เตรียมมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ให้ทุกคนได้พูด BAR กันจนครบ ก่อนพัก รับประทานอาหารว่าง

ดิฉัน อาจารย์อุไร จเรประพาฬ และคุณจริยวัตร จอมคำจากทีมดับบ้านดับเมือง ที่ผ่านเวที KM ของเราหลายรอบช่วยกันจัดผู้เข้าประชุมเข้ากลุ่มย่อย โดยอาศัยหัวใจ BAR ได้ ๓ กลุ่ม

เวลา ๑๐.๔๐ น. เริ่มการนำเสนอโปรแกรมที่แต่ละทีมใช้งานอยู่ ได้อาจารย์พวงรัตน์ จินพล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการศึกษา (เอส เทค) ช่วยทำหน้าที่จับเวลาและยกป้ายคอยเตือนผู้นำเสนอ ดิฉันจดบันทึกข้อมูลที่นำเสนอได้บ้าง ไม่สมบูรณ์ และบางส่วนอาจจะยังไม่ถูกต้องนัก

ระบบฐานข้อมูลสถานีอนามัย (HCIS)
คุณอารมณ์ ชูรัตน์ จากสถานีอนามัยบ้านหัวคู นำเสนอระบบฐานข้อมูล HCIS ที่ใช้สำหรับบริหารงานฐานข้อมูลระดับตำบลสำหรับสถานีอนามัย จากเดิมที่ต้องเขียนด้วยมือ ตอนนี้ก็ทำงานผ่านระบบนี้ทั้งหมด ถูกพัฒนามาจาก Microsoft Access 97 ทำงานภายใต้ระบบปฏิบัติการ Window 95 หรือ version ที่สูงกว่า มีข้อมูล ๑๓ แฟ้ม บอกด้วยว่าใช้ได้กับคอมพิวเตอร์รุ่นใด คุณสมบัติเป็นอย่างไร

โปรแกรมนี้มาจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีลิขสิทธิ์ ให้สถานีอนามัยใช้ ผู้ใช้งานจะมี code สำหรับการเข้าไปปฏิบัติงาน ส่งข้อมูลด้วยเลข ID ของประชาชน คุณอารมณ์แสดงการใช้โปรแกรมเมนูต่างๆ เช่น เมนูการให้บริการการรักษา เมนูการบริการการป้องกัน ฯลฯ ในแฟ้มข้อมูลครอบครัว จะมีแผนที่บ้าน ผังเครือญาติ สิทธิ ฯลฯ ในการให้บริการ เมื่อใช้โปรแกรมนี้ไม่ต้องใช้ปฏิทินในการนับวันนัด นับยา โปรแกรมจะคำนวณให้เสร็จ และยังสามารถออกรายงานได้

โปรแกรม FAP
เป็นตัวลูกของ HCIS อาจารย์อุไร จเรประพาฬ พัฒนาขึ้นเพราะต้องการข้อมูลในชุมชนเพิ่ม เชื่อมกับข้อมูล HCIS ด้านการบริการ เล่าเส้นทางการพัฒนาที่เริ่มต้นด้วยต้องการข้อมูลเพื่อใช้สอนนักศึกษาพยาบาล มีการศึกษาและวิจัยพัฒนา version ใหม่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการนำใช้มี ๙ ขั้นตอน มีการเชื่อมกับ Google Earth

พัฒนาด้วย Microsoft Access คนเก็บข้อมูลควรเป็นผู้บันทึกข้อมูลเอง บันทึกข้อมูลได้ทั้งแบบรายบุคคล รายครอบครัว และชุมชน ผู้บริหาร (อบต.) สามารถใช้ประโยชน์ในการทำแผนทำนโยบาย ชาวบ้านก็ได้รู้ข้อมูลของตนเอง

โปรแกรมขอนหาด
คุณดำรงชัย ทองนุ่น นำเสนอโปรแกรมขอนหาด ว่าเอาไปใช้ในการบริหารจัดการ เอาข้อมูลทะเบียนราฎร์มาลง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลครอบครัว ข้อมูลกลุ่มอาชีพ ฯลฯ เล่าการทำงานกับ อบต.เชียรใหญ่ สามารถประมวลข้อมูลประชากรทั้งตำบล เช่น ประชากรวัย ๓ ปี เพื่อดูเรื่องการศึกษา ประชากร ๖๐ ปี ขึ้นไป อาชีพ เครื่องจักรกลการเกษตร ข้อมูลเหล่านี้ท้องที่เอามาใช้วางแผนและให้การสนับสนุนได้

โปรแกรมนี้ใช้ค้นหาข้อมูลประชากรเป็นรายคนได้ ค้นหาข้อมูลผู้พิการ การใช้ปุ๋ย (บอกได้ว่ามีกี่ครัวเรือนที่ใช้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยอะไรบ้าง ปีละเท่าไหร่) ทุนการผลิต (ต้นทุนภาคการเกษตร) การนำเสนอข้อมูลต่างๆ แสดงเป็นกราฟได้ ต่อมานำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้ามาใช้ ทำให้มองเห็นว่าบ้านเรามีถนนกี่สาย ครัวเรือนในหมู่บ้านเป็นอย่างไร ครัวเรือนผู้นำ คณะกรรมการ สมาชิกกลุ่ม อยู่ตรงไหนกันบ้าง ผังการประปาเป็นอย่างไร แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอยู่ตรงไหน การใช้ประโยชน์ที่ดิน (แปลงนา สวน) เป็นอย่างไร เมื่อเอาไปให้ชาวบ้านเห็น เขาจะรู้จักวางแผนของตนเอง

คุณดำรงชัยนำเสนออย่างกระชับใช้เวลาเพียง ๙ นาที จึงมีเวลาให้ผู้ฟังซักถาม ทำให้ได้รู้เพิ่มเติมว่าแหล่งข้อมูลสำคัญของโปรแกรมนี้คือทะเบียนราษฎร์ การสำรวจข้อมูล และการจัดเวที มีการผนวกกับโปรแกรมบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้วิเคราะห์ต้นทุน งบกำไร-ขาดทุนได้ด้วย

โปรแกรมฐานข้อมูลภาษี
อาจเรียกได้ว่าเป็นลูกของขอนหาด นายช่างแมวผู้พัฒนาเคยอบรมโปรแกรมขอนหาดเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๑ โดยบังเอิญ เอามาปรับปรุงต่อยอด แล้วเขียนโปรแกรมแผนที่ภาษี มีการเพิ่มฟิวที่ดินใช้สำหรับเรื่องภาษีและทรัพย์สิน กลุ่มผู้ใช้คือ อบต.มีแบบสำรวจแล้วนำเข้าข้อมูล ฝ่ายที่นำข้อมูลไปใช้คือฝ่ายจัดเก็บของ อบต. ประชาชน ผู้ซื้อที่ดิน (ใช้บ่อย ดูทำเลทอง)

เราเห็นหน้าตาของโปรแกรม มีรูปภาพด้วย แต่ไม่โชว์เหมือนของ FAP แสดงได้ว่ามีค่าภาษีเท่าไหร่ มีการจ่ายหรือยัง ข้อมูลโรงเรือน ป้ายและใบอนุญาตต่างๆ เอาไปใช้ในการตั้งกลุ่มวิสาหกิจเฉพาะกิจได้ เชื่อมกับ Map Window GIS ไม่ได้ใช้ Google Earth เวลาชาวบ้านไปจ่ายเงิน บอกข้อมูลก็จะ key หาได้ บอกได้ถึงเลขโฉนด ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ พื้นที่น้ำท่วม เส้นทางระบายน้ำก็ดูได้ (เอาไปทำแผนที่ยุทธศาสตร์) โปรแกรมนี้ คาดว่าจะเริ่มใช้จริงในปี ๒๕๕๓ มีต้นทุนพัฒนาเพียงประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท

ได้เวลา ๑๒.๐๐ น. เราจึงหยุดพัก รับประทานอาหารกลางวันกันก่อน

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 308508เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2009 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • แวะมาบอกอาจารย์ว่า
  • ตอนนี้ HCIS ได้พัฒนาไปสู่ JHCIS แทนแล้วนะคะ
  • ไม่มีลิขสิทธิ์เหมือนเดิม
  • เปลี่ยนจากฐานเดิม access 97
  • ไปใช้ mySQL แทน
  • เพื่อให้รองรับอะไรอีกหลายด้าน
  • ที่ access 97 มีข้อจำกัด
  • JHCIS สามารถนำเข้าข้อมูลจาก HCIS ได้ด้วยค่ะ

สุดยอดโปรแกรมขอนหาด นวัตกรรมใหม่เพื่อการพัฒนาของภาคประชาชน สู้สู้นะครับอาจารย์....ศิษย์ 5 จังหวัดชายแดนใต้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท