นักวิชาการ : งานภาควิชาการและภาคประชาสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ


ในทุกสงคราม คนที่ตาย ต่างเป็นคนธรรมดา : ผู้มีอำนาจ ไม่เคยลิ้มรสความยากลำบาก

ผมอึดอัดใจกับ ความอ่อนแอของระบบของประเทศไทย ในยุคนี้ พอๆ กับอ่อนใจในความด้อยความสามารถของตนเอง ที่ต้องเรียกตัวเองว่าป็น "ครู" แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้คำตอบกับสังคมได้ 
      ผมเองแม้จะไม่ทราบตื้นลึกหนาบางของการเมืองไทยมาก เพราะกำลังศึกษา และพยายามหาข้อมูลที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ที่สุดมาอ่าน อยู่ แต่ก็คิดว่าการใช้วิจารณญาน ของตนเอง เหตุผลและความหวังดีต่อประเทศมาตัดสินคงไม่น่าจะทำให้อะไรผิด ว่าที่จริง ผมก็เป็นแค่เสียงหนึ่ง และไม่ใช่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองด้วย ก็ขอใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยไม่กระทบสิทธิ์คนอื่นออกไปให้เต็มที่  

ที่แน่ๆ สถานการณ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอยู่โดยเฉพาะกัมพูชานั้นไม่ดีแน่ ผมเองหวงแหนอธิปไตยของชาติของประเทศ ร้อยเปอร์เซ็นต์ และก็เข้าใจความอ่อนไหวเรื่องประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างดีโดยเฉพาะเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร แต่อย่างไรก็ตามผมก็ไม่สนับสนุนให้เราทำสงครามกัน เพราะคนที่ตายคนแรกในสงครามนั้น ไม่ใช่ผู้นำประเทศ  เป็นคนธรรมดาๆ คนที่มีความรัก  ความโกรธ มีครอบครัว มีพี่น้อง มีญาติ มีคนรัก  ไม่ว่าจะเป็นทหารทั้งของฝ่ายไทย หรือกัมพูชาก็ตาม ทหารเราต่างถูกปลูกฝังให้รูจักความรักชาติ หน้าที่ ความเสียสละ ผม ไม่นับคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นทหารที่ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองว่าเป็น "ทหาร"นะครับ

ผมเห็นว่าภาควิชาการของไทย โดยปราศจากอคติ ควรสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนในทั้งสองประเทศ ว่าที่จริง ไม่ใช่เฉพาะไทยกับกัมพูชา แต่เป็นไทยกับลาว ไทยกับพม่า และไทยกับเวียดนาม ควรเน้นการสอนเรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์ โดยปราศจากอคติทางเชื้อชาติ ศาสนาและลัทธิการเมือง และโดยปราศจากการแทรกสอดของนักการเมืองของทั้งสองประเทศ ในปัจจุบัน นักการเมืองในทั้งสองประเทศมีฐานะไม่ต่างจากคนคอยยุยงให้ประชาชน แตกกัน เพื่อมาสนับสนุนฐานเสียงของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการยุงยงให้ประชานชนในประเทศของตนเกลียดกับประชาชนประเทศอื่นโดยไม่มีเหตุ และการยุยงให้ประชาชนในอีกประเทศทะเลาะกัน หรือการยุยงให้ ประชาชนของเราแตกกันเพื่อเป็นฐานเสียงให้ฝ่ายของตน

ผมคิดว่าเราไม่สามารถไว้วางใจนักการเมืองให้ทำหน้าที่นี้ต่อไปโดยไม่มีการควบคุมตรวจสอบได้อีกแล้ว นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไม การประชุมอาเซียนครั้งนี้ มีคนมาประท้วงว่าผู้นำชาติอาเซียนละเลยความสำคัญของภาคประชาสังคม ผมคิดว่าการสร้างภาคประชาชน ประชาสังคมให้เข้มแข็ง และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้มีการรับรูอย่างเสรีและปราศจากการบิดเบือน คงเป็นคำตอบในระยะยาวของสังคมของเราทั้งหลายประเทศในอาเซียน และเหตุการณ์ในบ้านเมืองเราคงเป็นเครื่องสอนเราให้รู้จัก ความเลวร้ายของสังคมปัจจุบันและสอนให้เราเข้มแข็งพอที่จะรับมือมันไหว และปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคตอันยาวไกล

นักวิชาการควรนำเสนอสิ่งที่ดีกว่า เพื่อให้เราพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และสอนให้นิสิตนักศึกษา และประชาชน เห็นโทษของการอยู่ในระบบที่เลวร้ายอย่างในปัจจุบัน จนกว่าประชาชนของเราโดยเฉพาะ ไทย กัมพูชา และพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมด้านการเมืองและตรวจสอบนักการเมืองอย่างในประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆ

 

ผมในฐานะคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เกิดมาในโลก ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดดลบันดาลให้ประเทศชาติ ทุกประเทศเจริญรุ่งเรืองสืบไป และคนในทุกๆประเทศอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สงบ สันติ สืบไป

หมายเลขบันทึก: 308303เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2009 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับอาจารเบญนะครับ

เทอมนี้ทำโปรเจคจบแล้วครับ

เบญเองคิดถึงอาจารมาก

ยิ่งสถานการไทยกับกัมพูชาเบญสงสัยไม่รู้จะถามใคร

ก็คิดว่ามีแต่อาจารที่เบญจะถามและเบญจะสามารถเข้าใจได้

ด้วยความเคารพ

นะครับ

1เบญจะถามว่าหากประชาชนเข้มแข็งแต่ต่อต้านเหมือนมอบเสื้อแดงและเสื้อเหลือง

มันจะแก้ไขยังไงครับ

2แล้วการเรียกทูตกลับทั้งของไทยและเขมร อาจารคิดว่าอีกนานมั้ยครับที่จะมีสัมพันที่ดีเหมือนเดิม

3และการก่อตั้งรัฐปัตตานีอาจารมีความคิดเห็นอย่างไรครับ

4จและอาจารคิดว่าทางออกของรัฐบาลในตอนนี้ควรทำอย่างไรครับ

ด้วยความเคารพ

เบญรบกวนอาจารมากไปนิดหนึ่งนะครับ

ส่วนหนึ่งเบญอยาหรู้

และเพราะหากรุ่นน้องที่รู้จักเค้าถามมาเบญก็จะได้ตอบเค้าได้

เคารพและคิดถึงอาจารเสมอ

สวัสดีครับเบญ ในความเห็นส่วนตัวของครูนะ ครูขอตอบเบญเป็นข้อ อย่างนี้นะครับ

1.คำว่า สร้างภาคประชาชนให้เข้มแข็งของครูไม่ได้หมายความถึงการจัดตั้งม๊อบ แต่เป็นการสร้างคุณภาพ และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในทางการเมืองให้กับประชาชนไทยทั้งหมด ให้คนไทย เราเป็นคนที่มีวิจารณาญาณในการรับฟังข่าวสารต่างๆเอง ไม่ถูกจูงจมูกไปง่ายๆ ด้วยสื่อต่างๆ  และรู้จักคิดเป็นเหตุเป็นผล ไม่เอาอารมณ์ ยอมรับความแตกต่างของคนแต่ละคน และมีเครือข่ายการทำงานภาคสังคมเพื่อตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองอย่างเป็นอิสระ และควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ด้วย เพื่อเป็นการปรับปรุง และพัฒนากลไกการบริหารงานของภาครัฐให้ดีขึ้นไป นอกจากนี้เราจะต้องมีระบบกลไกการลงโทษทางสังคมกับนักการเมือง และข้าราชการที่ทุจริตอย่าง เข้มแข็งและจริงจัง ทั้งหมดนี้จะเป็นจริงได้ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง และต้องมีความรู้ รวมทั้งไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของเงินแต่เพียงอย่างเดียว จนลืมความถูกต้อง

ครูไม่ได้ว่าใครนะ เพราะปัจจุบันสังคมไทย ใครมีเงินมีอำนาจ คนนั้นเป็นใหญ่ ทำอะไรก็ไม่ถูกลงโทษ แม้จะเป็นความผิด  ครูจำได้ว่าครูไปที่อินเดีย แล้วถูกคนขัดรองเท้าที่อินเดียโกงบนรถไฟ ปรากฎว่า พอผู้โดยสารชาวอินเดียคนอื่นๆ ทราบเรื่องเท่านั้นแหละ รีบพากันชี้หน้าด่าเจ้าคนขัดรองเท้า จนแทบจะหาที่ยืนไม่ได้เลย เห็นได้ชัดว่าการลงโทษทางสังคมของเค้าแรงมากๆ นี่นักการเมืองไทย ทำอะไรที่มันผิด แต่มีเงินจ้างคนเก่งมาแก้คดีให้ หรือซื้อผู้พิพากษา ก็เลยไม่โดนลงโทษ อย่างนี้ใช้ไม่ได้

ครูไม่ได้บอกว่าคนในสังคมต้องเห็นไปในแนวทางเดียวกันนะครับ อาจจะมีการไม่เห็นด้วยกันก็ได้ แต่การไม่เห็นด้วยกันนั้นจะต้องมีการแสดงออกที่เป็นไปด้วยความสงบและชอบด้วยกฎหมาย และคนเป็นรัฐบาลจะไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ต้องคอยปราม ถ้าไม่ปรามและยังใช้สื่อในมือภาครัฐเป็นอุปกรณ์โฆษณาชวนเชื่อให้คนทะเลาะกัน เหมือนยุคอดีตนายกสมัคร ครูก็ว่าไม่ถูก ถ้าจะให้เสื้อแดงใช้สื่อรัฐ เสื้อเหลืองก็ต้องใช้สื่อรัฐได้เช่นกัน นี่เป็นการเอาสื่อของรัฐที่เกิดจากเงินภาษีของคนทั้งชาติไปสนับสนุนให้คนทะเลาะกัน ทำอย่างนี้ใช้ได้ที่ไหน แต่เสื้อเหลืองก็ทำไม่ถูกที่ไปปิดสนามบินรวมถึงยึดทำเนียบรัฐบาล

 แต่ถ้าดูประวัติศาสตร์ฝรั่ง ก็จะเห็นปรากฏการณ์อย่างนี้เหมือนกัน ช่วงหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส และจะเป็นไปจนกว่าสังคมไทยจะได้ตระหนักถึงเรื่องว่า 'สิทธิ' ของคนแต่ละคนอยู่ตรงไหน และใช้ได้แค่ไหน เมื่อสังคมเราได้บทเรียนรวมกันนั่นแหละ เราจะรู้จักการอยู่รวมกันบนการยอมรับความแตกต่าง และไม่มีระบบอำนาจนิยม และมีการยังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึง ที่เมืองไทยต่างกับเมืองนอก คือการบังคับใช้กฎหมายครับ ที่นี่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และมาตรฐานคุณธรรมของคนสูงมาก ไม่ได้หมายความว่าคนเป็นคนดีทุกคนนะครับ แต่ระบบควบคุมทางสัมคมเข้มมาก วิจารณ์เจนไม่มีที่ยืนแหละ ไม่เหมือนผู้มีเงินและมีอำนาจในบ้านเรา ใช้เงินกับอำนาจปิดปากมันทุกคนทุกอย่าง เรื่องอย่างนี้จะว่าผู้มีเงินและมีอำนาจอย่างเดียวก็ไม่ครบ ต้องบอกว่าสังคมไทยไปยอมรับสิ่งเหล่านี้จนเป็นสิ่งที่รับได้ในสังคมแล้ว จะเห็นได้ว่า เรายอมรับกันได้ว่า 'ถ้านักการเมืองโกงกิน แต่บ้านเมืองเจริญขึ้น เราก็บอกว่า เรารับกันได้ เพราะไม่เห็นมีใครไม่กิน' นักการเมือง เค้าก็เอาตรรกะ นี้แหละมาอ้างครับ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว มันเป็นไปได้ยังไง เรื่องโกงกินมันเป็นเรื่องผิดในตัวเองอยู่แล้ว Mala Inse แล้วภาคสังคมเราก็รับฟังโดยรู้ว่ามันผิด แต่รับได้ เพราะกลายเป็นความผิดปกติเป็นเรื่องธรรมชาติของสังคมไทย เราคิดเองไม่เป็น เราเชื่อโดยไม่คิด นี่เองเป็นภาวะที่ครูบอกว่าภาคประชาชนเราอ่อนแอครับ ไม่รู้ตอบคำถามเราบ้างไหม

2.ครูตอบไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ ไทยเขมรอีกนานไหมจะดีเหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับรัฐบาลทั้งสองฝ่าย และประชาชนของทั้งสองฝ่ายครับว่า เราเกลียดกันจริงไหม มายาคดิที่ครอบพวกเราอยู่ เราสลัดออกได้หมดหรือยัง เราภูมิใจว่าไทยไม่เคนเป็นเมืองขึ้นใคร แต่ปัจจุบันเราพึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย มันต่างกับการเป็นเมืองขึ้นตรงไหน คนเขมรก็เป็นคน คนไทยก็เป็นคนเหมือนกันนี่แหละครับ มีความคิดเหมือนๆ กัน มีรัก มีโลภ มีโกรธเหมือนอย่างที่เรามี ถ้าเราเปิดหัวใจเข้าหากันแล้วคงไม่มีปัญหา แต่พวกเราถูกมายาคดิที่สังคมทั้งสองฝ่ายสร้างขึ้นปิดกั้นเราไว้ เราคนไทย ก็ดูถูกเค้า เอาเปรียบเขา(ถ้ามีโอกาส) แล้วเราก็มานั่งงเองว่าทำไมเค้าเกลียดเรา เรื่องนี้ต้องถามนักธุรกิจที่ไปลงทุนครับ และพวกพ่อค้าไม้แถวชายแดนรวมทั้ง ข้าราชการบางคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน พอทำเค้าไม่พอใจแล้ว พอมีข่าวลือที่นักการเมืองฝ่ายเค้าปล่อยมาเพื่อสร้างฐานเสียง มันก็จุดความไม่พอใจติดจนกลายเป็นปมขัดแย้งในใจระหว่างคนทั้งสองรัฐ และก็อ้างว่าเป็นชาตินิยม โดยลืมคิดไปว่าตินิยมต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ครูไม่ได้บอกว่าคนเค้าเป็นคนดีเต็มร้อยนะครับ เค้าก็เป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างพวกเรา ด้วยเหตุนี้ครูถึงบอกว่า หน้าที่ของนักวิชาการต้องสร้างแนวความคิดว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมขึ้นให้ได้ ครับ เรานักวิชาการทั้งของสองประเทศต้องร่วมมือกันครับ

ครูต้อง ส่งงานEssay วันพรุ่งนี้ ครูตอบเบญแค่นี้ก่อนนะ แต่นี่เป็นเพียงความเห็นของครูนะครับ ไว้ว่างๆ จะมาเล่าหลักกฎหมายให้ฟัง ถ้าในส่วนของเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้เบญไปอ่านหนังสือของ ดร สุเทพ  อัตถากรที่ครูเคยแนะนำในชั้นเรียน และอ่านเรื่องแนวทางการปฏิบัติทางการทูตในหนังสือ เรื่อง 'เนาแขมร์' และ 'ปลอกเปลือกนักการทูต' ครับ ไว้ว่างๆ จะมาเขียนใหม่ครับ

 

ขอบคุณที่คิดถึงครับ

 

รักและปรารถนาดี

ฝากถึงเบญอีกครั้งครับ ลองอ่านข่าวนี้ดูครับ เป็นบทวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ไทย กัมพูชา

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pol02261152&sectionid=0133&day=2009-11-26

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01p0109231152&sectionid=0101&selday=2009-11-23

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท