022 Priority Watch List บัญชีดำของอเมริกา


โดย อนล นาครทรรพ

 
 

    ชาวต่างชาติส่วนใหญ่อาจจะไม่ใส่ใจกับข่าวสถานการณ์การเมืองในเมืองไทยมากนัก แต่อย่างน้อยที่สุด บรรดาเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคงได้เห็นผลพวงที่เกิดขึ้นในทันที กับการที่สำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ ประกาศให้ไทยยังคงเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301

    ภาพที่ปรากฏเป็นข่าวคือการปะทะกันชนิดเลือดตกยางออกระหว่างกลุ่มเจ้าหน้าที่ (ภายใต้การควบคุมของกระทรวงพาณิชย์) กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดพัฒน์พงษ์ แหล่งค้าขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่เก่าแก่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

    สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่หาซื้อได้ตามท้องถนน เช่น ดีวีดีหนัง วีดีโอเกม ซีดีเพลง ฯลฯ เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคคุ้นเคย และดูไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่สำนักงานการค้าสหรัฐฯ จะหยิบยกเหตุผลนี้มาเป็นข้ออ้างในการใส่ชื่อประเทศที่ละเลยการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาไว้ในรายชื่อ ประเทศที่ถูกจับตามอง

    ในปีนี้แม้แต่เพื่อนบ้านของสหรัฐฯ อย่างแคนาดาก็ถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List) โดยเป็นแรงกดดันมาจากกลุ่มผู้ผลิตเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์หรือกลุ่มผลประโยชน์จากซิลิกอนวัลเลย์ ที่มีศูนย์รวมอยู่ในสหรัฐฯ ถึงแม้จะมีสาขาอยู่ทั่วโลก เช่น ในอินเดียหรือยุโรปตะวันตกก็ตาม

    กลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิงหรือกลุ่มผลประโยชน์จากฮอลลีวูด ก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีรากฐานอยู่ในสหรัฐฯ เกือบจะทั้งหมด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้คนกลุ่มนี้สูญเสียรายได้มหาศาล ยกตัวอย่างเช่น การก็อปปี้แผ่นซีดีหรือดีวีดี ทำได้ง่ายมากในยุคนี้ และการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยวิธีนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ดังนั้น กลุ่มทุนจากฮอลลีวูดจึงต้องการมีบทบาทอย่างสูงทางการเมืองเพื่อปกป้องไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของอุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ

    นอกจากปัญหาแผ่นผี ซีดีเถื่อนแล้ว ปัญหาการลักลอบขโมยสัญญาณเคเบิ้ลทีวีและสัญญาณดาวเทียมก็เป็นเหตุผลที่สำนักงานตัวแทนสหรัฐฯ หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงขบวนการการผลิตหนังสือละเมิดลิขสิทธิ์ ที่มีการกล่าวหาว่ามีการละเมิดกันอย่างแพร่หลายทั้งในภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษา

    ทั้งนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์จากซิลิกอนวัลเลย์และฮอลลีวูด มีอิทธิพลและบทบาทอย่างสูงในการกดดันนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในด้านทรัพย์สินทางปัญญา แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ามีกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลสูงกว่าสองกลุ่มที่กล่าวมาอย่างมาก แต่พยายามซ่อนตัวอยู่หลักฉากมากกว่าที่จะออกมาเคลื่อนไหวให้เป็นข่าว นั่นคือกลุ่มล็อบบี้ที่เป็นที่รู้จักกันในนาม “บิ๊กฟาร์มา” หรือ กลุ่มเภสัชกรรมหรือพ่อค้ายานั่นเอง

    หากพิจารณาจากความเป็นจริงที่ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นชาติอุตสาหกรรมที่มั่งคั่งชาติเดียวในโลกที่รัฐบาลไม่ให้การดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยระบบประกันสุขภาพ ก็จะเป็นที่ประจักษ์ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ในสหรัฐฯ นั้นมีอิทธิพลหรือเป็นอุปสรรคต่อการออกกฎหมายดูแลทุกข์สุขของประชาชนชาวอเมริกันขนาดไหน สหรัฐฯ เป็นประเทศที่รวบรวมทรัพยากรไว้เหลือเฟือ แต่เป็นประเทศที่มีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์มากมายที่มีนโยบายปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่ไม่มีประกันสุขภาพโดยการปฏิเสธการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่การเชิญหรือบังคับออกนอกเขตรักษาพยาบาล หรือโดยการโยนความรับผิดชอบไปมา

    มีชาวอเมริกันไม่น้อยที่ต้องพิการอย่างถาวรโดยไม่จำเป็นหรือเสียชีวิตจากการกระทำอย่างไร้จริยธรรมของโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าประกัน ค่าใช้จ่ายที่แพงลิบลิ่วเมื่อเทียบกับประเทศที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันเป็นตัวบ่งชี้อีกตัวหนึ่งของอำนาจของอุตสาหกรรมการแพทย์และเภสัชกรรม ในสหรัฐฯ หากประชาชนของสหรัฐฯ เองยังโดนกระทำเช่นนี้ และมีประชาชนอเมริกันเองมากมายที่ยินยอมที่จะกระทำต่อเพื่อนร่วมชาติเช่นนั้น ชาติอื่นๆ จะหวังอะไรกับกลุ่มการค้าจากสหรัฐอเมริกา

    เป็นที่ทราบกันดีว่า การที่ประเทศไทยขึ้นไปอยู่บนบัญชีดำ 301 ของสหรัฐฯ ก็เพราะการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งผู้ที่ออกมาต่อสู้เพื่อมนุษยธรรมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและกล้าหาญและเป็นธรรมในหลักการ นอกจากนั้นยังได้รับการรับรองจากปฏิญญาโดฮา (เรื่องละเมิดอื่นๆ ที่สำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ ยกมาเป็นเหตุผลนั้น เป็นเรื่องที่มีมาต่อเนื่องยาวนานในท้องตลาดจึงต้องถือว่าเป็นเหตุผลรอง แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นที่รัฐบาลต้องดูแลตามกฎหมาย)

    “ไอพีดับเบิลยู” (Intellectual Property Watch: IPW) องค์การสื่อที่ติดตามประเด็นข่าวเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะ รายงานว่า มีกลุ่มองค์กรเพื่อสังคมอย่างเช่น เคอีไอ อ๊อกซ์แฟมอเมริกา และสภาเพื่อประชาธิปไตยและการค้า ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า บัญชีดำ 301 ล่าสุดของสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ เป็นผลงานสืบเนื่องจากรัฐบาลรีพับลิกันของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช ที่มีพฤติกรรมชอบลงโทษบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่เปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงยาราคาถูก แม้ว่าจะอยู่ในกรอบขององค์การการค้าโลกที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าก็ตาม

    งานนี้คนที่รับเคราะห์ไปเต็มๆ จากรายงาน 301 ของสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ ก็คือบรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยที่หาเช้ากินค่ำ ถ้าต่อจากนี้ไปสหรัฐฯ ยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้สัญญากับประชาชนของเขาและชาวโลกไว้ โดยการลุกขึ้นมากำหนดวาระการเจรจาเพื่อลดอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ผู้ผลิตและค้ายาที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีศักยภาพ ที่จะนำมาซึ่งการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตคนค่อนโลก ผู้ที่จะต้องรับเคราะห์อย่างต่อเนื่องจากการกดดันทางการค้าของสหรัฐฯ ก็คงหนีไม่พ้นบรรดาพ่อค้าแม่ขายรายเดิมๆ ที่ดูเหมือนมีหน้าที่รับกรรมอย่างเดียว

    แต่เมื่อมองในภาพรวม ชาวอเมริกันเองยังต้องจ่ายราคาเพื่อการได้มาด้วยการค้าเสรี และดูเหมือนจะจ่ายแพงกว่าชาวโลกเสียด้วย

ที่มา http://www.rsunews.net/Did%20you%20know/PriorityWatchList/DYNpage.htm

คำสำคัญ (Tags): #priority watch list
หมายเลขบันทึก: 308290เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2009 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท