สังคม วัฒนธรรมและผู้คนของวัฒนธรรมโลงไม้


คนโบราณในวัฒนธรรมโลงไม้มีลักษณะคล้ายกับคนปัจจุบันและนิยมปลงศพบนยอดเขา

 

หลังจากเล่าเรื่องวัฒนธรรมโลงไม้มาพอสมควรแล้ว  คราวนี้ขอเล่าต่อในเรื่องของลักษณะทางกายภาพของคน  สังคมและวัฒนธรรมของคนยุคนี้ว่าเป็นอย่างไร            เราไขปริศนาเรื่องราวของเขาได้มากน้อยเพียงใด...

 

คน  สังคม  และวัฒนธรรม "โลงไม้" ที่ปางมะผ้า

 

สำหรับคนในสมัยวัฒนธรรมโลงไม้สามารถสรุปคร่าว ๆ จากงานวิจัยโดยนักมานุษยวิทยากายภาพนัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ได้ว่าฟันของคนในสมัยนี้มีลักษณะเป็นแบบ shovel shape บริเวณระหว่างเบ้าตาทั้งสองข้างกว้างมาก และโหนกแก้มผายออก ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นคุณสมบัติเด่นของมองโกลอยด์ แต่ก็ยังมีลักษณะบางประการที่พบเป็นส่วนน้อยในกลุ่มมองโกลอยด์ที่เป็นคนไทย-จีนปัจจุบัน คือ พบว่ากะโหลกของคนในวัฒนธรรมโลงไม้ส่วนตรงกึ่งกลางกะโหลกเป็นสันนูนขึ้นมา และรูปร่างกะโหลกแคบและยาว  

                                สังคมและวัฒนธรรม 

ระดับของสังคม

 น่าจะเป็นสังคมระดับชนเผ่า และอยู่กันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ มีผู้อาวุโสเป็นผู้นำทางสังคมและความเชื่อ มีการตั้งถิ่นฐานถาวร ใช้พื้นที่หลากหลายสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องการดำรงชีพและความเชื่อของชุมชน

การวิเคราะห์รูปแบบหัวโลงที่พบทำให้ตอบข้อสมมติฐานได้ว่า รูปแบบหัวโลงที่มีความหลากหลายนั้นบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และความแตกต่างของหัวโลง รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้ง ขนาดของโลง แสดงว่าเป็นสังคมที่น่าจะมีชนชั้นที่ยังไม่ซับซ้อนเท่ากับสังคมระดับรัฐ    

การตั้งถิ่นฐาน 

พบรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานประเภทเดียวคือสุสาน   ปัจจุบันยังไม่สามารถจะยืนยันรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของวัฒนธรรมโลงไม้ได้ว่ามีประเภทใดบ้าง   โดยเฉพาะแหล่งที่อยู่อาศัยหรือหมู่บ้าน   ซึ่งสันนิษฐานเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยในภาคเหนือ  พบว่าส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบริมน้ำ  ที่ราบหุบเขา  สันเขา  เป็นต้น  การใช้พื้นที่ภายในถ้ำหรือเพิงผาจะไม่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยถาวร  แต่ใช้เป็นที่ฝังศพหรือพื้นที่ประกอบพิธีกรรมของครอบครัว  และชุมชน

เครื่องมือเครื่องใช้ 

คนในวัฒนธรรมโลงไม้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับป่าและงานช่างไม้เป็นอย่างดี    เพราะหลักฐานของการแกะสลักหัวโลงไม้  การคัดเลือกขนาดของต้นไม้เพื่อกานไม้ก่อนที่จะนำมาทำเป็นโลง    ส่วนเสาที่รองรับโลงไม่มีการเตรียมการก่อน  เพราะขนาดของเสามีความแตกต่างกัน  คงจะหาไม้ทำเสาทันทีที่โลงถูกนำมายังสุสานแล้ว  จึงตัดไม้บริเวณใกล้เคียงและตกแต่งให้เหมาะสมกับพื้นที่  ดังนั้นไม้จึงมีขนาดไม่เท่ากันตามลักษณะของถ้ำหรือเพิงผา   การคัดเลือกไม้ทั้งทำเป็นโลงและเสา  ส่วนใหญ่ทำจากไม้สัก

ผลการวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดค้นและสำรวจด้วยวิธีศิลาวรรณนา  แสดงถึงระดับของเทคโนโลยีการผลิตระดับท้องถิ่น   เนื้อของภาชนะส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินหยาบ  และละเอียดปานกลาง  โดยวัตถุดิบน่าจะนำมาจากลำน้ำใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดี  และเชิงเขา   ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบมีการทาน้ำดิน รมควันที่ผิวอีกครั้งหนึ่ง  รูปแบบภาชนะดินเผาไม่มีความหลากหลาย  ได้แก่ หม้อ  ชาม  ถ้วย  ขนาดเล็ก-กลาง  นอกจากเศษภาชนะดินเผาที่พบแล้วยังพบเครื่องประดับประเภทลูกปัดแก้ว ลูกปัดดินเผา หอยเบี้ยด้วย  ซึ่งเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมจากต่างถิ่น  เพราะไม่มีวัตถุดิบท้องถิ่น  สันนิษฐานว่ามีการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่มีสิ่งของเหล่านี้โดยการแลกเปลี่ยน   

สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในวัฒนธรรมโลงไม้  ไม่มีหลักฐานทางโบราณวัตถุที่ชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดำรงชีพแต่การพบแกลบข้าวในเนื้อภาชนะดินเผา  ทำให้สันนิษฐานว่าอาจจะมีการเพาะปลูกแล้ว  ชุมชนในวัฒนธรรมโลงไม้อาจจะมีการติดต่อกันเองภายในชุมชน  โดยพิจารณาจากผลการวิเคราะห์ภาชนะดินเผาด้วยวิธีศิลาวรรณนา  และนอกชุมชน  เพราะพบหลักฐานของเครื่องประดับประเภทลูกปัดแก้ว  หอยเบี้ย  เครื่องมือเหล็ก   เป็นต้น   ในขณะนี้ยังไม่พบแหล่งโบราณคดีที่เป็นแหล่งผลิตเลย

 อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่พบหลักฐานในส่วนของพื้นที่อยู่อาศัยหรือการดำรงชีวิตของคนในวัฒนธรรมโลงไม้  แต่จากการศึกษาร่องรอยของกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจปรากฏให้เห็นบนกระดูกในชิ้นส่วนกระดูกจากแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมโลงไม้หลายแหล่ง พบร่องรอยที่สะท้อนถึงรูปแบบการดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากคนในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายและโฮโลซีนตอนต้นอย่างค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ มีรอยเกาะของกล้ามเนื้อปรากฏให้เห็นเด่นชัดที่กระดูกแขนและนิ้วมือหลายชิ้น ซึ่งน่าจะบ่งชี้ได้ว่าสังคมในยุคนี้มีการแบ่งงานหรือหน้าที่กันทำอย่างชัดเจนแล้ว และคงจะมีผู้ชำนาญการในการทำกิจกรรมหรือการผลิตสิ่งของต่างๆ เช่น การตัดไม้เพื่อทำโลงไม้ การตีเหล็ก หรือการผลิตภาชนะดินเผา เป็นต้น จึงปรากฏร่องรอยเหล่านี้บนกระดูกอย่างเด่นชัด โดย เฉพาะในกระดูกแขนและนิ้วมือ

ส่วนเรื่องของความเชื่อนั้น   

มีความเชื่อหลังความตาย  และการสร้างสัญลักษณ์ตัวแทน  ซึ่งในที่นี้หัวโลงอาจจะหมายถึงตัวแทนของเครือญาติที่อยู่ในสายตระกูลเดียวกัน   นอกจากนี้ยังคำนึงถึงการเลือกตำแหน่งสถานที่ที่ใช้ในการฝังศพ   การฝังศพนั้นอาจเป็นการฝังศพครั้งที่ 2  เนื่องจากได้ทำการเก็บตัวอย่างคราบและเศษไม้ของโลงไม้ไปทดสอบหาไมโตรคอนเดรียล ดีเอ็นเอ (Mitochondrial DNA) ที่อาจหลงเหลืออยู่ หากเคยมีการฝังศพสดก็ควรจะต้องมีร่องรอยของคราบเลือดและน้ำเหลืองติดอยู่ที่ผิวด้านในของโลงไม้ ผลจากการทดลองปรากฏว่าไม่พบหลักฐานดีเอ็นเอ จึงสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำศพในวัฒนธรรมโลงไม้น่าจะเป็นการฝังศพครั้งที่ 2 (secondary burial) ซึ่งเป็นการเอากระดูกจากการฝังครั้งแรกมาจัดเก็บและฝังใหม่  นอกจากนี้ มีการเซ่นไหว้ศพด้วยการใส่ข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายลงไปด้วย  เช่นเครื่องประดับ  เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ประเภทสิ่ว  ขวาน  หม้อและชามขนาดเล็ก-ปานกลาง 

ค้นคว้าต่อได้ที่ห้องสมุดอิเล็กโทรนิกส์ของสกว. หาคำว่า "โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า  จังหวัดฮ่องสอน ระยะที่หนึ่ง และระยะที่สอง"

 

หมายเลขบันทึก: 308184เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2009 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท