ท.ณเมืองกาฬ
นาย ทรงศักดิ์ พิราบขาว ภูเก้าแก้ว

เที่ยวภูหินร่องกล้า กับครู ท.


อนุสรณ์สถานการต่อสู้ของคนไทยที่ต่างเพียงอุดมการณ์

 

 

 

  ภูหินร่องกล้า 
    

  

       อนุสรณ์การประหัตประหารของคนไทยที่ต่างกันเพียงอุดมการณ์ ธรรมชาติรังสรรค์
เอิบอิ่มบนร่องรอยของอดีตที่รอการมาเยือน

     ในราวปี พ.ศ. 2511 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ใช้ภูหินร่องกล้าเป็นฐานที่มั่นเพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมินิสต์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในภาคเหนือ เมื่อรัฐบาลทราบข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ จึงได้ส่งกำลังทั้งทหาร ตำรวจ และ อาสาสมัคร เข้าทำการปราบปราม ซึ่งได้กระทำหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ยุทธการภูขวาง" ในปี 2515 และในการต่อสู้ครั้งนี้ ทำให้รัฐบาล สูญเสียกำลังเป็นจำนวนมาก เนื่องจากฝ่าย ผกค. มีความชำนาญพื้นที่และมีชัยภูมิที่ดีกว่า

      หลังจากฝ่าวิกฤติยุทธการภูขวางไปได้ ฝ่าย ผกค ได้มวลชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนเป็นนิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่ลี้ภัยทางการเมืองจากเหตุนองเลือด 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อออกไปอีก รัฐบาลจึงได้เปลี่ยนการสู้รบใหม่ โดยใช้การเมืองนำการทหารผ่านนโยบาย 66/2523 เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคฯ ที่หลงผิดเข้ามอบตัว นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชน ที่หลบหนีเข้าป่า ต่างทยอยเข้ามอบตัวจนหมดสิ้นในปี 2525 นับเป็นภาวะปิดฉากการสู้รบตลอดจนระยะเวลาอันยาวนาน เกือบ 15 ปี ลงอย่างสิ้นเชิง

     ณ ดินแดนที่จะได้สัมผัสต่อไปนี้ จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้ ชัยชนะ ความเจ็บปวดและความตาย ผสานกับความงาม ความเยือกเย็นและความลงตัวธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดคือเรื่องราวเส้นทาง ชื่อโลกที่สาม

 

                   บ้านพักของ ผกค. ที่เหลือไว้เป็นอนุสรณ์

                       ที่โรงเรียนการเมืองการทหาร

กังหันน้ำ

                  กังหันน้ำ ครกตำข้าวของ ผกค.

                 ออกแบบโดย อดีตนักศึกษาวิศวกรรมมข. ที่เข้าป่าร่วมขบวนการ ผกค.

 

 Img_7914

              

        คุก  ที่ขังนักโทษ ที่สำนักอำนาจรัฐ(ภาพนี้เป็นนักโทษจำลอง  ครู ท. คนนั่ง)

                   

Img_7901  

                       

              ครู ท.สาธิตการยิงเครื่องบินศัตรูสมัย 30 กว่า ปีที่แล้ว

 

Img_7851

                         

                ครูท. ที่บ้านพักหมอยัว แซ่ลีในอดีต

  

    แขกที่ไม่ได้รับเชิญ ที่ชอบมาเยี่ยมยามวิกาลที่นั่น

 

 

อนุสรณ์สถานบนลานดอกไม้

     อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า มีพื้นที่ครอบคลุมรอยต่อสองจังหวัด คือ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ภูหินร่องกล้าเป็นแหล่งกำเนิดของประวัติศาสตร์การ สู้รบอันยาวนานเป็นวีรกรรมของนักรบไทย ความขัดแย้งของลัทธิและแนวความคิดที่นำไปสู่ความสูญเสียเลือด ชีวิตและน้ำตา ภาพประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ตลอดจนสภาพสิ่งก่อสร้างในอดีตจะถูกบันทึกเก็บรักษาไว้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงผลของการใช้กำลังเข้าประหัตประหาร ทำให้เกิดความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองความแตกแยก ความสามัคคีของคนในชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 191,875 ไร่ หรือ 307 ตารางกิโลเมตร

    ในปี พ.ศ. 2511-2525 เทือกเขาหินร่องกล้านี้เคยเป็นฐานที่มั่นใหญ่ในการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นผลเกิดปัญหาความมั่นคงทางการเมืองขึ้น ในกลางปี พ.ศ. 2515 ทางราชการทหารจึงได้เปิดยุทธการภูขวาง โดยจัดกองพลผสมจากกองทัพภาคที่ 1, 2, 3 กรมการบินศูนย์สงครามพิเศษทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน เข้าปฏิบัติเพื่อยึดภูหินร่องกล้า ทว่าไม่สำเร็จเพราะสภาพพื้นที่ไม่อำนวยเนื่องจากภูหินร่องกล้าตั้งอยู่กลางเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนเป็นป่ารกทึบ

    ต่อมากองบัญชาการทหารบก ได้เปลี่ยนแผนยุทธการในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยใช้นโยบายที่ 66/2523 และคำสั่งที่ 65/2525 กองทัพภาคที่ 3 และทหารหน่วยผสม พลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 3 (พตท. 33) ซึ่งนำโดย พันเอกไพโรจน์ จันทร์อุไร ผู้อำนวยการ พตท.33 ได้นำนโยบายใหม่นี้เข้าปฏิบัติการจนประสบความสำเร็จได้รับชัยชนะ โดยไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่น้อย บรรดาชาวบ้านและมวลชนของ ผกค. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขา เผ่าม้ง (แม้ว) ได้กลับใจไม่ให้ความร่วมมือกับ ผกค. และเข้ามอบตัวกับทางราชการส่วนแกนนำได้ละทิ้งฐานที่มั่นไป จากนั้น พตท. 33 จึงได้เริ่มพัฒนาพื้นที่แห่งนี้โดยการตัดถนนผ่านใจกลางภูหินร่องกล้า ต่อมา พตท. 33 ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ สร 4001(301)/324 ลงวันที่ 10 มกราคม 2526 ให้กองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พิจารณาร่วมและประสานกับกรมป่าไม้เพื่อพิจารณา จัดตั้งบริเวณภูหินร่องกล้าเป็นอุทยานแห่งชาติ

    กรมป่าไม้ได้มีคำสั่ง ที่ 196/2526 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526 ให้นายชุมพล สุขเกษม นักวิชาการป่าไม้ 5 นายไมตรี อนุกูลเรืองกิจ เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 นายมาโนช การพนักงาน นายช่างโยธา 3 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลบริเวณภูหินร่องกล้าผลการสำรวจสรุปได้ว่า เป็นพื้นที่ๆ สภาพภูมิประเทศและทิวทัศน์สวยงาม เป็นป่าต้นน้ำลำธารและมีลักษณะทางธรรมชาติ ที่เป็นจุดเด่นหลายแห่ง เช่น ลานหินแตก ลานหินปุ่ม ประกอบกับเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของการสู้รบระหว่างกองทัพแห่งชาติกับคอมมิวนิสต์ มีความเหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้

    กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เป็นผลให้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1 /2526 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2526 เห็น สมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าภูหินร่องกล้าให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนด บริเวณป่าภูหินร่องกล้าท้องที่ตำบลบ่อโพธิ์ ตำบลเนินเพิ่ม ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และตำบลกกสะท้อน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 96 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 48 ของประเทศ

ลักณะภูมิประเทศ

   สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยยอดภูเขาที่สำคัญคือ ภูหมันขาว ภูแผงม้า ภูขี้เถ้า ภูลมโล ภูหินร่องกล้า โดยมีภูหมันขาวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1 ,820 เมตรจากระดับน้ำทะเล เทือกเขาเหล่านี้จะมีความสูงลดหลั่นลงไปจากด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก และ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยลำน้ำไซ ห้วยน้ำขมึน ห้วยออมสิงห์ ห้วยเหมือดโดน และห้วยหลวงใหญ่

ลักษณะภูมิอากาศ

   ภูหินร่องกล้ามีสภาพภูมิอากาศคล้ายภูกระดึงและภูหลวงเนื่องจากมีความสูงไล่เลี่ยกันอากาศจะหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวอุณหภูมิจะต่ำมากประมาณ 0-4oC มีหมอกคลุมทั่วบริเวณ ส่วนฤดูร้อนอากาศจะเย็นสบายฝนตกชุกในฤดูฝน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี ประมาณ 18-25oC

พืชพรรณและสัตว์ป่า

   อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ 3 ชนิด คือ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าสนเขา ป่าเต็งรัง เป็นป่าที่ขึ้นในพื้นที่ระดับต่ำบริเวณเชิงเขา พื้นที่เป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และค่อนข้างแห้งแล้ง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง พยอม เหียง ตะคร้อ พลวง ฯลฯ

  ป่าดิบเขา จะขึ้นในบริเวณเขาสูง ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก อากาศชื้น เป็นป่ารกทึบ พันธุ์ไม้ที่พบเห็นทั่วไป ได้แก่ ก่อเดือย ก่อหัวหมู อบเชย ทะโล้ ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่าง ได้แก่ หวาย ปาล์มชนิดต่างๆ

  ป่าสนเขา เป็นป่าบนที่ราบหลังภู มีสนสองใบและสนสามใบขึ้นปะปนกัน ส่วนใหญ่เป็นสนสองใบ บางแห่งอยู่รวมกันเป็นป่าสนกว้างใหญ่

    นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้ป่าดอกไม้ป่าหลายชนิดขึ้นอยู่ตามลานหิน เช่น ม้าวิ่ง เอื้องตาหิน เอื้องคำหิน เอื้องสายสามสี ช้องนางคลี่ เหง้าน้ำทิพย์ กุหลาบขาว กุหลาบแดง ฟองหิน รวมทั้งมอส เฟิน ไลเคนล์ และตะไคร่ชนิดต่างๆ ซึ่งในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาวดอกไม้ป่าเหล่านี้จะออกดอกบานสะพรั่งมีสีสันงดงาม

   ในอดีตภูหินร่องกล้า เคยมีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เสือ กวางป่า เก้ง กระจง นกชนิดต่าง ๆ ครั้นต่อมาเมื่อกลายเป็นแหล่งอาศัยของคนจำนวนมาก และยังเคยเป็นสมรภูมิแห่งการสู้รบมาก่อน สัตว์ป่าต่างๆ จึงถูกล่าเป็นอาหาร ในปัจจุบันเหตุการณ์ต่าง ๆ สงบลง จึงมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น เสือ เก้ง กระจง หมี และนกหลายชนิดเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น

แหล่งท่องเที่ยว

    โรงเรียนการเมืองการทหาร
    อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 6 กิโลเมตร มีสภาพเป็นป่ารกทึบหนาแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ในอดีตเคยเป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาตามแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในบริเวณโรงเรียนการเมืองการทหาร จะประกอบไปด้วยบ้านฝ่ายพลเรือน ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายสื่อสาร และสถานพยาบาล ส่วนเหล่านี้มีทั้งหมด 31 หลัง เป็นบ้านหลังเล็กๆ กระจายอยู่อย่างเป็นระเบียบ ภายในบ้านแต่ละหลังจะมีแคร่สำหรับนอน และโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือทำด้วยไม้กระดานอย่างหยาบๆ เศษข้าวของกระจายอยู่เกลื่อน บางหลังเริ่มผุพังเพราะถูกปล่อยให้ร้างหลังจากมวลชนเข้ามอบตัวแล้ว นอกจากนี้บริเวณตอนกลางของโรงเรียนการเมืองการทหาร มีรถแทรกเตอร์จอดอยู่ 1 คัน ซึ่ง ผกค. ทำการยึดจากบริษัท พิฆเนตร แล้วเผาทิ้งไว้
กิจกรรม – ขี่จักรยานศึกษาธรรมชาติ – ชมประวัติศาสตร์ – ชมพรรณไม้ – เดินป่าศึกษาธรรมชาติ

   สำนักอำนาจรัฐ
    อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ดำเนินการปกครอง มีการพิจารณาและลงโทษผู้กระทำผิดหรือละเมิดต่อกฎลัทธิมีคุกสำหรับขังผู้กระทำความผิด มีสถานที่ทอผ้าและโรงซ่อมเครื่องจักรกล
กิจกรรม – ชมประวัติศาสตร์ – ชมพรรณไม้ – เดินป่าศึกษาธรรมชาติ

  หมู่บ้านมวลชน
   เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มมวลชนมีอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านดาวแดง หมู่บ้านดาวชัย แต่ละหมู่บ้านมีบ้านประมาณ 40-50 หลัง เรียงรายอยู่ในป่ารกริมทางที่ตัดมาจากอำเภอหล่มสักลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ ไม่ยกพื้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้บ้านแต่ละหลังจะมีหลุมหลบภัยทางอากาศอยู่ด้วย
กิจกรรม – ชมประวัติศาสตร์

  กังหันน้ำ
   อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร ใช้หล่อเลี้ยงคนหลายพันคนบนภูหินร่องกล้า สร้างขึ้นโดยนักศึกษาโดยใช้พลังน้ำขับเคลื่อนกังหันเพื่อหมุนแกนครกกระเดื่องตำข้าวซึ่งเปรียบเสมือนโรงสีข้าวของ ผกค.
กิจกรรม – ชมประวัติศาสตร์ – เที่ยวน้ำตก

โรงพยาบาล
  อยู่ห่างจากสำนักอำนาจรัฐ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นโรงพยาบาลกลางป่าที่มีอุปกรณ์ในการรักษาคนป่วยเกือบครบถ้วน มีห้องปรุงยา ห้องพักฟื้น และยาชนิดต่าง ๆ เป็นอันมาก
กิจกรรม – ชมประวัติศาสตร์

ลานหินแตก
  อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นหินที่มีรอยแตกเป็นแนวเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบพอให้รากต้นหญ้าชอนไชไปได้เท่านั้น บางรอยกว้างพอคนก้าวข้ามได้ และบางรอยกว้างมากจนไม่สามารถกระโดดข้ามได้ ความลึกของร่องหินแตกเหล่านั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการโก่งตัวหรือเคลื่อนตัวของผิวโลกจึงทำให้พื้นหินนั้นแตกเป็นแนวนอกจากนี้บริเวณหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอส ไลเคนส์ ตะไคร่ เฟิน และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ
กิจกรรม – ชมทิวทัศน์ – ชมประวัติศาสตร์ – ชมพรรณไม้ – เดินป่าศึกษาธรรมชาติ – เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา

ลานหินปุ่ม
    อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผาลักษณะเป็นลานหินผุดขึ้นเป็นปุ่มไล่เลี่ยกัน คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหินทางเคมีและฟิสิกส์ ในอดีตบริเวณนี้ใช้เป็นที่พักฟื้นของคนไข้เนื่องจากอยู่บนหน้าผา จึงมีลมพัดเย็นสบายเหมาะแก่การนั่งพักผ่อน
กิจกรรม – ชมทิวทัศน์ – ชมพรรณไม้ – เดินป่าศึกษาธรรมชาติ – เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา

ผาชูธง
  อยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 600 เมตร เป็นหน้าผาสูงชันสามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ดวงอาทิตย์ตกดินจะสวยงามไม่แพ้จุดชมทิวทัศน์อื่นๆ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ที่ ผกค.จะขึ้นไปชูธงแดง (ฆ้อนเคียว) ทุกครั้งที่รบชนะทหารของรัฐบาล
กิจกรรม – ชมทิวทัศน์ – ชมประวัติศาสตร์ – เดินป่าศึกษาธรรมชาติ

น้ำตกหมันแดง
  เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 32 ชั้น ปัจจุบันยังไม่มีทางรถเข้าถึง การเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวยังน้ำตกในขณะนี้ ทำได้โดยการเดินเท้าเท่านั้น
กิจกรรม – ชมพรรณไม้ – เดินป่าระยะไกล – เดินป่าศึกษาธรรมชาติ – เที่ยวน้ำตก

น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร
   เป็นน้ำตกฝาแฝด 2 แห่ง ที่อยู่ติด ๆ กัน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ บนถนนภูหินร่องกล้าประมาณ 4 กิโลเมตร ก่อนถึงโรงเรียนการเมืองการทหารประมาณ 1 กิโลเมตร จากถนนสายใหญ่ จะต้องเดินตัดลงไปบนทางเท้าที่พึ่งทำขึ้นใหม่เป็นระยะทางประมาณ 800 เมตร ตัวน้ำตกไม่สูงใหญ่นัก แต่สภาพแวดล้อมโดยรอบมีลักษณะเป็นป่าบริสุทธิ์อันงดงามมาก
กิจกรรม – ขี่จักรยานศึกษาธรรมชาติ – เดินป่าศึกษาธรรมชาติ – เที่ยวน้ำตก

น้ำตกศรีพัชรินทร์
  ตั้งอยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติบริเวณเชิงเขาประมาณ 4-5 กิโลเมตร ปัจจุบันยังไม่มีทางรถเข้าถึง
กิจกรรม – ขี่จักรยานศึกษาธรรมชาติ – ชมพรรณไม้ – เที่ยวน้ำตก

น้ำตกผาลาดและน้ำตกตาดฟ้า
   ตั้งอยู่บริเวณเชิงภูหินร่องกล้าโดยแยกซ้ายจาก หมู่บ้านห้วยน้ำไซต่อไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการพลังงานไฟฟ้าห้วยขมึน อันเป็นที่ตั้งของน้ำตกแก่งลาด ขึ้นเขาต่อไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร มีทางเดินแยกซ้ายลงไปน้ำตกตาดฟ้าหรือน้ำตกด่านกอซองเป็นน้ำตกชั้นเดียวขนาดใหญ่ที่สวยงาม

คำสำคัญ (Tags): #สงคราม
หมายเลขบันทึก: 308081เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2009 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ครู ท.ช่างไปเที่ยวนะนี่

น่ากลัวออก...ไปแดนซ์ที่บ้านพี่ป่ะ

http://gotoknow.org/blog/0609045-2009-1/308027

โทรหาด่วนด้วยมีเรื่องอยากถาม 0872109930 (เบอร์อื่นยกเลิกการใช้แล้ว เหลือเบอร์เดิมๆเบอร์เดียว)

  • ขอบคุณครับ พี่ครู  ป 1.
  • ไปดูแล้วก็ธรรมดาพี่
  • ครู ท. ไม่กลัวหรอกครับ
  • ได้เลยครับ คุณ มนัสนันท์
  • มีเรื่องอะไรน๊า....เพื่อนเรา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท