สิงห์หน้าวัด


วัดเป็นสถานที่มาสู่ของคนดีมีศีลธรรม ตรงประตูจึงมีสิงห์เฝ้า ถ้าคนชั่วเข้ามาสิงห์ก็จะกัด, สติ-สัมปชัญญะ จึงเป็น สิงห์ ทั้งสองตัว ที่คอยจะจ่องจับข้าศึกศัตรูทั้งหลาย อันเป็นสิ่งที่มักโจมตีสมภารในวัด คือ ใจ นั่นเอง

          พุทธศาสนิกชนพุทธบริษัททั้งหลายหัวข้อเรื่องข้อนี้ อาจจะแปลกไป สักหน่อย  ลองติดตามเรื่องราวดูว่าท่านผู้เขียนมีจุดประสงค์อย่างไร...?

          “สิงห์”  เป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งซึ่งจะมีอาศัยอยู่ในป่าสูงๆ,  ในทางภาคเหนือของประเทศไทย  ถ้าเราได้มีโอกาสไปเที่ยวชม  เราจะได้เห็นว่าตามวัดวาอารามต่างๆ  ในทางภาคเหนือนั้น  เราจะเห็นรูปปั้นของสิงโตอยู่ที่บริเวณประตูหน้าวัด  เมื่อวัดไปถูกสร้างอยู่ที่ใด  เขาก็มักจะสร้างกำแพงกั้นบริเวณระหว่างวัดกับบ้านอันเป็นแบบอย่างที่ดี  อีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นระเบียบแบบหนึ่งของไทยเดิมและรั้วบ้าน เป็นสิ่งแสดงฐานะและความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้าน  คือถ้ารั้วบ้านเรียบร้อยก็แสดงว่า  เจ้าของบ้านเป็นคนขยันเอาใจใส่ต่อบ้านเรือน  แต่ถ้ารั้วบ้านเป็นไปตามเรื่องตามราว  ก็แสดงว่า  เจ้าของบ้านไม่เอาถ่านเสียเลย  รั้วยังแสดงถึงฐานะของสมบัติด้วยคือ  ถ้าเป็นคนจนก็มีรั้วธรรมดา  ถ้าร่ำรวยหน่อย  รั้วก็ดีขึ้นสวยขึ้น

          สำหรับวัดเป็นที่อยู่ของสงฆ์  ชาวพุทธทางภาคเหนือได้เอาใจใส่บำรุงศาสนาเป็นพิเศษคอยดูแล  และซ่อมแซมเสนาสนะตลอดถึงบริเวณให้เรียบร้อยอยู่เสมอ  แม้ที่ผมผ่านมาบางวัดมีพระอยู่เพียงรูปเดียว  เขาก็พากันทำกุฏิหลังใหญ่ให้อยู่  เป็นการแสดงออกของความเชื่อส่วนหนึ่งเหมือนกัน  ทุกวัดที่มีกำแพงและมีประตูเข้าประตูออก  ที่ประตูมีเสาร์สองข้าง  เสาร์บนก็ทำเป็นรูปสิงโตยืนอ้าปากเห็นเขี้ยวเลยที่เดียว  ถ้าวัดเล็กสิงโตก็เล็ก  ถ้าวัดใหญ่สิงโตก็ใหญ่  เช่น วัดพระสิงห์  ที่จังหวัดเชียงใหม่  นอกจากสิงห์หน้าวัดแล้ว  หน้าพระวิหารก็มีอีกสองตัว  บางวัดที่มีบันไดแถมที่เชิงบันไดยังมีอีกสองตัว  อันประเพณีทำสิงห์ไว้หน้าวัดนี้  เป็นธรรมเนียมที่เราได้รับมาจากพม่า  ในสมัยที่พม่าเข้าครอบครองเชียงใหม่  เขาได้นำธรรมเนียมการสร้างสิงห์  การสร้างเจดีย์  การสร้างวัดไว้ด้วย  มันเป็นรูปแบบของพม่า  พม่าปกครองพวกเราเขาก็ฝากลวดลายไว้  และเราก็ยังคงรับศิลปะอันนั้นไว้

          ผมเองเมื่อเห็นสิงห์หน้าวัดก็เกิดความคิดขึ้นว่า  ทำไมเหตุไฉนจึงลงทุนทำสัตว์ตัวนี้ไว้ที่ประตูวัด  คนโบราณเขาทำอะไรเขาก็มีเหตุผลของเขาเหมือนกัน  ไม่ใช่แต่ทำๆ ไป  ตามที่เขาว่ามา  ผู้ที่เป็นต้นคิดคงมุ่งเป็นคติเตือนใจบ้างจึงทำไว้  แต่คนชั้นเราๆ  ผู้ที่ไม่คิดถึงเหตุผลเห็นวัดอื่นเขามีสิงห์ก็อยากมีบ้าง  ว่ามันมีเหตุมีความหมายอย่างไร  สิงโตเป็นสัตว์ป่าที่มีอยู่ในป่าสูงๆ  โดยเฉพาะในอินเดียมีมากมันเป็นสัตว์ที่ตัวเล็กกว่าช้าง  แต่ช้างก็ต้องกลัวมัน  เขาจึงเรียกมันว่า  “เจ้าแห่งป่า”  เป็นสัตว์ที่มีอำนาจมากเป็นที่ยำเกรงของสัตว์อื่นทั่วไป  เพียงแต่ได้ยินเสียงร้องของมัน  พวกสัตว์ทั้งหลายก็หัวสั่นเสียแล้ว  เพราะสิงห์มีอำนาจมากทางราชการจึงนำมาใช้เป็นตราของกระทรวงมหาดไทย  อันเป็นกระทรวงปกครองคนทั้งประเทศ

          ทีนี้เราลองเอามาเปรียบเทียบกับธรรมะของพระพุทธเจ้า  ธรรมะของพระพุทธเจ้าย่อมกังวานไปทั่วทุกสารทิศ  เหมือนเสียงร้องของพญาราชสีห์  แผดเสียงไปทั่วทุกสารทิศนั้น  พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นองค์ศาสดาของพระพุทธศาสนาเราเปรียบเทียบการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้าว่า  เป็นเช่น  การเปล่งสีหนาท  พระธรรมที่บันลือออกไปแล้วสามารถปราบหมู่มารให้พินาศพ่ายแพ้ไป  พระพุทธองค์ทรงเป็นพระธรรมราชาเป็นเจ้าแห่งธรรมมีอำนาจมากในทางเมตตากรุณาและเป็นผู้เอาปัญญาชนะหมู่มารได้ด้วยความดีของพระองค์  ในพระบาลีท่านแสดงเปรียบเทียบไว้ว่า 

          ภิกษุทั้งหลายพญาสัตว์ชื่อว่าสีหะ  ออกจากถ้ำในเวลาเย็น  เหยียดเท้าแล้วเหลียวดูทิศทั้ง  ๔  โดยรอบคอบแล้วบันลือสีหนาท  ครั้นแล้วเที่ยวไปเพื่อแสวงหาอาหาร 

          บรรดาสัตว์เดรัจฉานเหล่าใดได้สินเสียงนั้นกลัวสะดุ้งเหี่ยวใจ  พวกที่อาศัยอยู่ในน้ำก็ลงน้ำ  พวกที่อาศัยอยู่ในรูก็พากันวิ่งเข้ารู  พวกที่อาศัยอยู่ในป่าก็พากันวิ่งเข้าป่า  เหล่าช้างของพระราชาในบ้านและนิคมและเมืองหลวงที่ถูกล่ามโซ่ไว้อย่างแน่นหนาก็พากันกลัวกระชากโซ่  และเชือกให้ขาดแล้วถ่ายมูตรและกรีสพากันวิ่งหนีไปทางโน้นทางนี้  ภิกษุทั้งหลายพญาราชสีห์มีศักดิ์มากกว่าสัตว์เดรัจฉานอย่างนี้แล...ฯ

          ที่นี้เรื่องสิงห์หน้าวัด  มันมีความเกี่ยวข้องกับเราผู้เป็นมนุษย์อย่างไร ก็เราทุกคนต่างก็เกลียดทุกข์รักสุขด้วยกันทั้งนั้น  แต่ความทุกข์และความสุขมันจะเกิดขึ้นแก่เรา  พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราทำกันอย่างไร...?  ท่านสอนให้ละธรรมดำเสีย  เอาแต่ธรรมขาวเข้ามาปฏิบัติ

          พระพุทธองค์ทรงตรัสเตือนไว้ว่า  จงละธรรมดำเสีย  จงยังธรรมขาวให้เจริญ”  ธรรมฝ่ายดำคือธรรมอะไรเล่า..?  ธรรมดำนั้นท่านหมายเอาอกุศลทุกชนิด  เช่น ความโลภ  อยากได้ของคนอื่น  ความโกรธ  คิดเบียดเบียนเขา  และโมหะ  ความหลงงมงายนี้เป็นต้น  เรียกว่า  ธรรมดำ  ส่วน อโลภะ  อโทสะ  อโมหะ  นี้เป็น  ธรรมขาว   อีกประการหนึ่ง  การฆ่าสัตว์  การลักทรัพย์  การประพฤติผิดในกาม  การพูดโกหก  การพูดคำส่อเสียด  การพูดคำเหลวไหล  และการพูดคำหยาบต่างๆ  เป็นธรรมฝ่ายดำเป็นสิ่งที่เราจะต้องละ  สิ่งที่ตรงกันข้ามเป็นธรรมฝ่ายดีเป็นส่วนที่ควรเจริญให้เกิดมีขึ้นในตน  เราจงมองตัวเราเสมอๆ  ให้เราทราบว่าตัวเรานั้นมีธรรมดำหรือธรรมขาว  เราส่วนมากส่องกระจกดูตัววันละหลายๆ ครั้ง  แต่..ส่วนมากมองดูแต่สวยหรือไม่สวยเท่านั้นเอง  มุ่งกายเป็นสำคัญ  หาได้มองในแง่ปฏิบัติธรรมะไม่  จงมองโดยเอากระจกธรรมะ  แล้วจะเห็นตัวท่านเองว่าขาวหรือดำได้อย่างชัดเจน  ถ้าขาวแล้วก็เพียงแต่อย่าให้ดำเข้ามาเปรอะเปื้อน  ให้มีความขาวอยู่เสมอ  ท่านรักษาใจของท่านอย่างนั้น  ถ้าใจของท่านมีธรรมดำแล้ว  จงรีบเอาออกทันที  โดยเอาธรรมะเป็นสิ่งขัดเกลาให้ธรรมดำมืดนั้นหายไปจากใจของท่าน  ชีวิตของเราทั้งหลายคือการต่อสู้  ในการต่อสู้เราต้องเป็นคนกล้า  คนกล้าย่อมเอาชนะหมู่มิตรได้  แต่คนเขลาย่อมพ่ายแพ้เสมอ  ผู้กล้าย่อมยืนหยัดต่อสู้นานาภัยได้ทุกชนิดไม่ว่ามันจะใหญ่โตขนาดไหน  มุ่งรุดหน้าไปสู่ความสำเร็จอย่างไม่ถอยหลัง  ก็ความสำเร็จจะมีขึ้นได้เพราะอาศัยธรรม  ๔  ประการ คือ

                    ๑.  ฉันทะ   มีความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น 

                   ๒.  วิริยะ    มีความเพียรประกอบในสิ่งนั้น 

                   ๓.  จิตตะ    มีความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ  และ

                   ๔.  วิมังสา  การหมั่นตริตรองพิจารณาค้นคว้าหาเหตุผลในสิ่งนั้น

          ไม่ว่าท่านจะมีอาชีพในรูปแบบใด  ถ้าหมั่นดำเนินตามธรรมทั้ง  ๔ ประการนี้เสมอแล้ว  เป็นอันหวังความสำเร็จได้  คนใจสิงห์ต้องมีอิทธิบาท ๔ นี้ด้วยเสมอ  ถ้าขาดหลักธรรม  ๔ ข้อนี้แล้ว  ในขณะนั้น  สิงห์ก็จะกลายเป็นแมวไปเมื่อนั้น

          การอยู่ด้วยกันเป็นหมู่คณะ  เป็นความจำเป็นต้องมีกฎมีเกณฑ์สำหรับหมู่  เพื่อให้ทุกคนดำเนินชีวิตประจำวันไปในแนวทางเดียวกัน  หมู่ใดไม่มีระเบียบ และสมาชิกทำตามใจชอบ   ความเรียบร้อยไม่เกิดในชุมชน  พุทธภาษิตมีอยู่ว่า “ชุมชนใดไม่มีความเรียบร้อย  ชุมชนนั้นก็มิใช่ชุมชน”  กลายเป็นซ่องของนักเลงไป  อันพวกนักเลงนั้นไม่อาจจะคบกันได้นานนัก  เพราะว่า  ความเป็นมิตรแท้ย่อมหาไม่ได้ในหมู่คนพาล  ฉะนั้นคนที่รวมกันเป็นครอบครัว  เป็นหมู่คณะ  บ้าน  ตำบล  เป็นเมือง  และประเทศ  ในทุกหมู่ต้องมีขนบธรรมเนียมของหมู่  ขนบธรรมเนียมนั้นๆ  โดยสากลนิยมก็คือ  ศีล  วัด...เป็นหลักศาสนา  ศีล...เป็นเหตุให้คนอยู่กันอย่างสงบได้เป็นอย่างดี  เช่น  ถ้าทุกคนเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้ว  ความปลอดภัยแห่งชีวิตจะมีขึ้น  ถ้าทุกคนเว้นจากการลักขโมย  ความปลอดภัยในทรัพย์ก็จะดีขึ้น  ถ้าทุกคนสำรวมในกามความสำส่อนในกามารมณ์ก็จักหายไป  ศีลธรรมในทางวาจาก็จะสมบูรณ์ขึ้น  บรรดาเหตุการณ์ร้ายต่างๆ  ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นย่อมมีมูลฐานมาจากการดื่มสุรามากที่สุด  ถ้าเราหวังความสุขความเจริญ  แก่ตนอันงาม  เพราะฉะนั้น  จึงควรงดเว้นจากความชั่วอันที่กล่าวมาแล้ว  เมื่อมีศีลแล้วก็มีเครื่องประดับอันงาม  เพราะไก่งามเพราะขน  คนจะงามเพราะมีศีลอยู่ในใจของตน

          ในเรื่องการงาน  สิงห์มันเป็นสัตว์ย่อมหาอาหารไปโดยลำพัง  พอได้อาหารสิ่งใด  ก็กินในสิ่งนั้น  ไม่เลือกว่าจะดีหรือเลว  อย่างใดในข้อนี้  เรานำมาปฏิบัติตามแบบอย่างธรรมชาติของสิงห์ได้  ๒  ประการ คือ 

                              ๑.    ต้องอย่าเลือกงาน

                              ๒.  ต้องมีความเป็นอยู่ง่ายๆ

        ในข้อที่หนึ่งนั้น  ชาวไทยมีปมเขื่องอยู่เสมอ  จักทำงานจะต้องงานที่ดีๆ  ประเภทว่าความรู้ต่ำ  แต่ความทะเยอทะยานสูง  อยากจะทำงานดีๆ มีเงินเดือนสูงๆ  มีเกียรติชอบเป็นนายคนไม่ชอบเป็นคนใช้ใครๆ  เห็นงานบางอย่างเป็นงานต่ำต้อยน้อยหน้าแล้วก็ไม่ยอมทำงาน  ยอมทนเดินเตะฝุ่นเข้ากระสอบอยู่ได้  ไม่ยอมทำงานอะไรเป็นอย่างนี้ก็เนื่องมาจากการเข้าใจผิดทั้งนั้น  ถ้าไม่มีส่วนย่อยช่วยส่วนใหญ่จะมาจากไหน  ผู้ไม่ตั้งต้นนั้น  จะไม่ไปสู่จุดหมายปลายทาง  ในเรื่องศาสนาท่านสอนเรื่องการทำงานไว้ว่า  ทุกคนจักต้องทำงานจักอยู่เฉยๆ  โดยไม่ต้องทำอะไรเลยนั้นไม่ได้  เพราะทุกคนเป็นหนี้ธรรมชาติที่เราเก็บเกี่ยวผลมาจากมัน  เมื่อเราได้ผลแล้วเราต้องตอบแทนมันบ้าง  ใครไม่ทำงานตอบแทน คนนั้นไม่ใช่สาธุชน  คนที่ไม่ทำงานจึงเป็นคนที่เอาเปรียบมนุษย์ใช้ไม่ได้  ในการเช่นเดียวกัน  งานทุกอย่างที่สุจริตเป็นงานมีเกียรติทุกอย่าง  งานที่ไร้เกียรติก็มีแต่งานที่ทุจริตเท่านั้น  ฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายมาทำงานที่สุจริตกันเถิดอย่ามาถือตัวถือตนกันอยู่เลย  เพราะการถือตัวเป็นความชั่วอีกอย่างหนึ่ง  พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำลายมันเสีย  เมื่อเราได้งานแบบหนึ่งตามที่กล่าวมาแล้ว  จงทำไปโดยลำดับให้สำเร็จเรียบร้อยอย่าคิดว่างานนี้ง่ายทำก่อนงานนี้ยากทำทีหลัง  งานนี้เป็นงานอำนวยผลให้เรามากและเป็นงานของพักพวกกันต้องทำก่อน  งานนี้มิได้อะไรไม่ใช่เป็นงานของพักพวกกันทำทีหลังก็ได้  การประพฤติปฏิบัติงานในรูปนี้เรียกว่า ไม่ยุติธรรม  อยุติธรรมเข้าอยู่ในที่ใดที่นั้นมีแต่ถอยหลัง  ยุติธรรมมีอยู่ในที่ใด  ที่นั้นมีแต่ความเจริญ

          ส่วนข้อที่สอง  ที่ว่าต้องเป็นงานง่ายนั้น  หมายถึง  การครองชีวิตง่ายๆ  อันเป็นหลักสำคัญประการที่  ๑  ในทางพระพุทธศาสนา  ชาวพุทธต้องไม่พิถีพิถันในเรื่องการอยู่การกินเกินไป  มุ่งแต่ประโยชน์ในสิ่งนั้นเป็นประมาณตัวอย่างในเรื่องอาหาร  อาหารมีสองชนิดคือ  อาหารที่จำเป็นอย่างหนึ่ง  อาหารที่ไม่จำเป็นอย่างหนึ่ง  อาหารที่จำเป็นนั้นขาดไม่ได้  ต้องกิน เช่น  ข้าว  น้ำ เป็นต้น  เป็นสิ่งที่จำเป็น  ส่วนอาหารที่ไม่จำเป็น  เช่น สุรา  ผงขาว  กัญชา  ยาบ้า ฯลฯ  เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นแม้ขาดไปเราก็สามารถจะเป็นอยู่ได้  เช่น เหล้าที่เราชอบดื่มกันเป็นบ้าเป็นหลังนี้มันไม่จำเป็นแก่ชีวิตของเราเลย  แต่ทำไมคนเราถึงไม่ชอบมัน  คนกินเหล้าเขาไม่เรียกว่าคน  ควรจะเรียกว่าผีดีกว่า  เพราะว่ามันลดความเป็นคนลงทุกเป๊กทีเดียว  เป็นการทำลายตัวเองแท้ๆ  บุหรี่ก็เป็นของที่ฟุ่มเฟือยโดยมิใช่เหตุ  เรางดสูบบุหรี่ก็มิเห็นจะลำบากอะไร  เราไม่เอามือล้วงกระเป๋าเงินออกไปซื้อก็เลิกได้หรือใครเอามายื่นให้เราไม่เอามือไปจับมาสูบมันก็เลิกไดเท่านั้นเองจริงไหม  แต่เห็นทีไรมนุษย์เราส่วนมากยิ่งเป็นพี่ไทยละก็  ไม่ว่าวันอะไรเมามันลูกเดียว  หรือ  (ม.ต.ล.ว.)  กินอาหารประเภทนี้มันเป็นอาหารไม่จำเป็นไปเลย  แม้ในอาหารที่จำเป็นก็ต้องเป็นอาหารที่รู้จักกินเหมือนกัน  อย่ากินเพื่อสนุก  เพื่อความเมามัน  หรือเพื่ออะไรอื่นๆ  จงกินแต่พออยู่ได้ในโลกก็พอแล้ว  และจงนึกว่าเรากินอาหารกินคุณค่าของอาหารมิใช่กินสีของอาหาร  และมิใช่กินรสของอาหาร  คนกินอาหารไม่มีเรื่องยุ่ง  แต่ถ้ากินรสแล้วยุ่งมากในบางคราว  บางคนกินเหมือนแมว  คือกินพลางบ่นพลางจนน่ารำคาญ  นั้นเขาติดรสชาติอาหารอันความอร่อยของอาหารนั้นอร่อยเพียงลิ้นเท่านั้นพอกินลงไปแล้วก็หมดรสบ่นว่าอาหารดีหรือไม่ดีทั้งหมด  เวลาถ่ายออกมาแล้วก็มีราคาเท่ากันหมด  ชาวพุทธจึงถือว่าหลักการกินอาหารมิใช่การกินรสอาหาร  กินอาหารที่ทำง่ายๆ  และไม่ทำลายคุณค่าของมันอย่างหนึ่งที่ควรรู้จักกินให้มันเป็นเวลาอย่าตามใจปากให้มากนัก  อย่ากินเพราะความอยากมันบังคับให้กิน  ถ้าเรากินเพราะถูกความอยากบังคับเราก็อยากจะกินอย่างทาสเท่านั้น  ชาวพุทธคือผู้ที่ไม่เป็นทาสของใครๆ  ฉะนั้นต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ไว้ด้วย  เพราะถ้าเราไม่รู้จักกินแล้วมันทำให้เราล่มจมได้เหมือนกัน

          นี่เป็นข้อเตือนใจท่านทั้งหลาย  อันเกิดความคิดในเรื่องสิงโต  ข้อความที่กล่าวมาแล้วนั้น  อาจจะพูดในด้านนอกไปหน่อยลองขยับอีกนิดชิดเข้ามาอีกหน่อย 

            สิงห์ที่อยู่หน้าวัด  ทำท่าเหมือนจะตะครุบสัตว์ไว้ในอุ้งมือหรืออ้าปากก็ดีมันมีความหมายในทางปฏิบัติได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน  ง่ายๆ  ก็หมายความว่า 

          วัดเป็นสถานที่ของคนดีมีศีลธรรม  ตรงประตูจึงมีสิงห์เฝ้า  ถ้าคนชั่วเข้ามาสิงห์ก็จะกัด 

          ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยได้ว่า  สิงห์นั้นเป็นรูปปั้นมันจะกัดได้หรือ..?  ครับไม่ขอเลี่ยง  มันกัดใครไม่ได้....แต่มัน..เป็นเครื่องเตือนใจเท่านั้น  เราต้องเอาเขามาในร่างกาย  วัดตัวของเราเอง  ตัวเรานี้เป็นวัดใหญ่ที่มีทั้งความดีและชั่วผ่านเข้ามาอยู่เสมอ  ใจเป็นสมภารเจ้าวัด  คนโบราณจึงพูดไว้เป็นสำนวนว่า  เจ้าวัดอย่าให้อาหาร  เมื่อใจเป็นเจ้าวัดอยู่ข้างในแล้วประตูทางเข้าไปหาใจนั้นมีมาก  มันมีอยู่ห้าทาง   เรียกว่า  ทวารทั้ง ๕  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ทั้ง ๕ นี้เป็นทางนำสิ่งต่างๆ เข้าไปสู่ใจ  และนำเข้าไปทั้งความดีและความชั่ว  ถ้านำสิ่งที่ดีเข้าไปใจก็เป็นสุขสบายเพลินไปกับสิ่งนั้นๆ  ถ้านำสิ่งร้ายเข้าไปก็เป็นใจที่เดือดร้อน  การที่ใจเป็นสุขบ้าง  ทุกข์บ้างนั้น  เป็นเพราะข้าศึกอารมณ์ไหลเข้ามาถึงใจได้  จึงจะต้องสร้างกำแพงกั้นไว้เป็นเครื่องกั้นสักสามชั้นจึงจักพอ  กำแพงชั้นนอกได้แก่  ศีล  กั้นข้าศึกหยาบๆ  ไว้เป็นเบื้องต้น  กำแพงชั้นแรกหมายถึงศีล  ศีลเป็นเครื่องชำระกิเลสอย่างหยาบได้แล้ว  แต่ฐานะของเราว่ายังเล็ดลอดเข้าไปได้จึงต้องสร้างกำแพงอีกชั้นหนึ่ง  เป็นกำแพงละเอียดหน่อย  เรียกว่า  สมาธิ  สมาธิสำหรับไว้กั้นกิเลสอย่างกลางไว้ได้  ถึงอย่างนั้นกิเลสอย่างละเอียดก็ยังรั่วไหลได้จึงต้องสร้างกำแพงอีกชั้นหนึ่ง  ให้ชื่อว่ากำแพง  ปัญญา   เป็นประการสุดท้ายที่จักป้องกันการโจมตีของข้าศึกได้แน่  ถึงมีกำแพงถึงสามชั้นแล้วก็ดี  แต่ประตูทั้งสามชั้นของกำแพงยังเปิดอยู่เสมอจะต้องมีผู้เฝ้าประตูจึงต้องสร้างสิงห์เฝ้าประตูทั้งสามไว้ด้วย  เพราะกำแพงจะหนาจะสูงเท่าใดถ้าไม่มีการเฝ้าให้ดีแล้ว  ข้าศึกจักเล็ดลอดเข้ามาได้เสมอ  จึงจำเป็นต้องมีผู้เฝ้านั้นก็คือ  สิงห์  อันได้แก่  สติ-สัมปชัญญะนั่นเอง  ศีลจะดีเพราะมีสติ-สัมปชัญญะ   สมาธิ  ปัญญาก็เช่นเดียวกัน  คนรักษาศีลขาดธรรมะสองข้อนี้แล้ว  ศีลก็ไม่เรียบร้อย  เมื่อศีลไม่ดี  สมาธิก็เกิดขึ้นไม่ได้  เมื่อสมาธิไม่เกิด  ปัญญาก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน  สติ-สัมปชัญญะจึงเป็นธรรมสำหรับกำกับซึ่ง ศีล  สมาธิ ปัญญา   ทำให้มีความรู้เท่าทันทุกอย่างตามความเป็นจริง  จิตย่อมฉลาดหลุดพ้นจากความชั่วทั้งหลาย  ฉะนั้น  สติ-สัมปชัญญะ  จึงเป็นราชสีห์ทั้งสองตัว  ที่คอยจะจ่องจับข้าศึกศัตรูทั้งหลาย  อันเป็นสิ่งที่มักโจมตีสมภารในวัด  คือ  ใจ  นั่นเอง

          ฉะนั้น  ท่านสาธุชนทั้งหลาย  จงจำไว้ในใจให้ดีเถิดว่า  สิงห์ทั้งสองตัวนั้นเป็นรูปของสัตว์ที่มีอำนาจ  แต่ในที่นี้คือ  สติ-สัมปชัญญะ  ที่คอยคุมจิตใจของตนให้คิดให้นึกไปในทางที่ดีอยู่เสมอ  ในทางพุทธศาสนาของเราจึงสอนให้คนอบรมจิตคือให้มีสติมั่น  เพราะบุคคลมีสติมั่นแล้วย่อมสามารถขยี้ขย้ำศัตรูร้ายให้พ้นจากใจลงได้เสมอ  ใจของตนก็จะสงบเรียบร้อยเพราะไม่มีข้าศึกมารบกวน  ถ้าท่านสร้างสิงห์ในตัวท่านนั้น  ลงทุนน้อยได้กำไลงาม  ไม่หนักอกหนักใจ  ทำให้มีอยู่แล้วก็สบายใจได้แล้วทุกสิ่งที่เป็นทางให้เกิดทุกข์ก็จักเหือดหายไป  เพราะรู้เหตุทันต่อเหตุผล    ว่าอะไรดีอะไรไม่ดีแล้วท่านจำไปทางไหนก็จะเป็นผู้มีอำนาจเหมือนพญาราชสีห์ไปทางไหนสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ต่างก็พากันกลัวอำนาจท่านผู้มีสิงห์อยู่ในใจก็เหมือนกับศัตรูทั้งหลาย  (ความชั่วทั้งหลาย)  จะพากันหลีกไปเกรงอำนาจของสิงห์คือสติสัมปชัญญะของท่าน

          การที่กล่าวเรื่องสิงห์หน้าวัดมาพอสมควร  ท่านทั้งหลายคงทราบแล้วว่า  สิงห์นั้นหมายถึง อะไร...?  ในจุดประสงค์ของท่านผู้เขียนจึงขอให้ท่านทุกคนผู้รักความสุขเกลียดความทุกข์  จงมีสิงห์ คือ สติ-สัมปชัญญะ  ไว้คอยกั้นความชั่วที่จะเข้ามาสู่ใจของท่านทั้งหลาย  โดยทั่วกันทุกท่านทุกคน  เทอญ...ฯ

 

          “แว่นส่องธรรม

                                 อันโลกนี้    มีธรรม            ค้ำจุนอยู่

                             คนไม่รู้          ก็ไม่รู้ธรรม       อยู่ที่ไหน

                             แต่คนรู้          เขารู้ว่าธรรม     อยู่ที่ใด

                             หาแว่นใจ       ส่องดู            จะรู้เอง...ฯ

หมายเลขบันทึก: 307752เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับสำหรับความรู้เรื่องสิงห์ ทำให้ทราบที่มาที่ไป ว่าทำไมต้องมีด้วย

แล้วแต่ว่า ที่บ้านเมืองไทยเราไม่มีสิงห์นะครับ แล้วมาจากที่แห่งใด หรือว่าเคยมีแต่สูญพันธ์ไปแล้ว น่าคิดนาครับ ถ้าจะจินตนาการแล้ว คนสมัยก่อนเคยไปแอฟริกากันเหรอครับ อันนี้ก็น่าคิดนะครับ ผมว่ามันต้องมีที่มาที่ไปแน่แน่เลย หรือว่าอารยธรรมนี้มาจากอินเดีย แล้วที่อินเดียนี่สมัยพุทธกาลก็มีสิงห์ด้วยหรอ...แค่แปลกใจน่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท