ระลึกถึงความตาย


ระลึกถึงความตาย และวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องต่อความตาย

วามตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ

ในทางพุทธศาสนานั้น  ท่านให้หาโอกาสทุกอย่างที่จะกระทำสิ่งที่ดีงาม  คือเมื่อมีเหตุการณ์อันน่าพึงใจก็ตาม ไม่น่าพึงใจก็ตาม เกิดขึ้น  พุทธศาสนิกชนจะได้ใช้โอกาสนี้ ทำให้เกิดเป็นประโยชน์เป็นกุศลมากยิ่ง  ๆ ขึ้นไป สำหรับในกรณีนี้ ความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ  จัดว่าเป็นส่วนอนิฏฐารมณ์ เป็นการพลัดพรากจากกัน  แต่ว่าวิสัยของพุทธศาสนิกชนแล้ว  แม้จะประสบกับสิ่งที่เป็นอารมณ์อันไม่น่าพึงใจ  มีเหตุการณ์อันทำให้เกิดความทุกข์ความโศกเศร้า  แต่ก็ใช้เหตุการณ์ที่โศกเศร้านี้แหละทำสิ่งที่เป็นกุศล  เป็นคุณประโยชน์ยิ่งขึ้นทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น  ตนเองก็ได้บำเพ็ญกุศลทำความดีในทานศีลภาวนามากยิ่งขึ้น  ได้ช่วยบำเพ็ญประโยชน์บำรุงพระศาสนา จัดพิธีต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์  ที่จะช่วยให้ท่านผู้มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลได้รับความเจริญงอกงาม  ฝึกฝนอบรมสติปัญญาของตนเอง ดังเช่นที่ได้มีพระธรรมเทศนาเช่นนี้  ก็นับได้ว่าเป็นการนำเอาโอกาสหรือเหตุการณ์นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง

ดูความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

ที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ  อันนี้ก็เป็นการกล่าวตามวิสัยของปุถุชนทั้งหลาย คือมนุษย์นั้น  ย่อมวัดสิ่งทั้งหลายไปตามความถูกใจไม่ถูกใจของตนเอง  ความตายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ เราก็ไม่ชอบ ส่วนสิ่งใดที่เราถูกใจ  เราก็ชอบ เราก็อยากให้เกิดให้มีขึ้น  แต่ถ้ากล่าวตามเหตุผลที่แท้จริงแล้ว  เรื่องความตายนี้ท่านก็จัดอยู่ในคติของธรรมดา  คือเป็นเรื่องธรรมดาอย่างหนึ่ง มีเกิดก็ต้องมีตาย  คือเกิดมาแล้วก็ต้องตาย หรือที่ตายก็เพราะได้เกิดมาแล้ว  ความเกิดกับความตายนั้นเป็นของคู่กัน  จะเลือกเอาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้  และเป็นไปตามกระบวนการเหตุผลหรือเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีเกิดก็มีดับ  หรือว่าสิ่งทั้งหลายมีความเกิดในเบื้องต้น  มีความเปลี่ยนแปลงแตกสลายไปในที่สุด  แต่กระนั้นก็ตามมนุษย์ทั้งหลายก็ย่อมปรารถนาในส่วนที่ตนถูกใจ  อยากจะเลือกเอาอย่างเดียว คือตามปรกติจะชอบพูดถึงความเกิด  เมื่อมีความเกิดขึ้นก็มักจะกล่าวหรือยินดีพูดถึงด้วยความชอบใจ  มีความลิงโลดตื่นเต้นกันต่าง ๆ  แต่ส่วนความตายนั้นไม่อยากพูดถึงไม่อยากฟังตลอดจนแม้แต่นึกถึงก็ไม่อยาก  อันนี้ตรงข้ามกับในทางธรรม

ความตายเป็นเครื่องเตือนสติแก่มนุษย์

ในทางธรรมนั้นท่านกลับชอบพูดถึงความตาย  ท่านไม่ชอบพูดถึงความเกิดที่คนทั้งหลายชอบหรือปรารถนา  เพราะว่าความตายท่านพูดขึ้นมาแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติแก่มนุษย์ทั้งหลาย  ให้ได้ความคิดในธรรมะ แม้ในโอกาสใดท่านจะพูดถึงความเกิดบ้าง  ท่านก็จะพูดในแง่ที่สัมพันธ์กับความตาย  เป็นเครื่องเตือนสติเช่นเดียวกัน บางครั้งท่นถึงกับพูดว่า  ถ้าจะกลัวตายก็ควรจะกลัวเกิด เพราะว่าในเมื่อเกิดขึ้นมาก็ต้องตาย  ในเมื่อไม่อยากตายก็ต้องไม่อยากเกิด  การที่พูดอย่างนี้ก็เป็นวิธีการของท่าน  ในการที่จะให้เป็นอนุสติเตือนใจมนุษย์ทั้งหลาย  เพื่อจะให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เพราะว่ามนุษย์ทั้งหลาย  เมื่อนึกถึงความเกิดแล้วก็มีความดีใจ ก็อาจจะเกิดความมัวเมาประมาท  แทนที่จะคิดเร่งขวนขวายในการทำกิจหน้าที่ความดีงามต่าง ๆ  ก็อาจจะหันไปเพลิดเพลินสนุกสนาน หาแต่ความสุขความปรนเปรอตนเอง  และก้ไม่อยากนึกถึงความตาย เพราะจิตใจสลดหดหู่  และทำให้เกิดความท้อแท้ อันนี้ในทางธรรมถือเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้อง  ทางหลักธรรมท่านจึงสอนให้ระลึกถึงความตาย  ทั้งนี้ก็เป็นการพูดทวนกระแสจิตของมนุษย์  แต่มุ่งเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์นั่นเอง มุ่งจะให้ยอมรับความจริง  และเผชิญหน้าความจริง  และแนะวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องคือมิใช่กล่าวเพียงระลึกถึงความตาย  แต่ท่านให้ระลึกถึงความตายแล้วแนะวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความตายด้วย

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความตาย

มนุษย์ปุถุชนนึกถึงความตายอย่างไม่ถูกต้องอย่างไร  และในทางพระศาสนาสอนหรือแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร  มนุษย์นึกถึงความตายอย่างไม่ถูกต้องคือ มีความหวาดหวั่นพรั่นกลัว  มีความสลดหดหู่ท้อแท้ หรือจะขยายให้พิสดารต่อไปอีก  ก็สัมพันธ์กับบุคคลที่ตายนั้นที่ตนระลึกถึง  ถ้าหากระลึกถึงความตายของบุคคลที่ตนเกลียดชัดหรือไม่พอใจ  บุคคลที่เป็นศัตรู มนุษย์ก็จะมีความดีใจ  แต่ถ้าหากว่าบุคคลที่ตายนั้นไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง เป็นบุคคลทั่ว ๆ  ไป ก็จะระลึกถึงด้วยความเฉย หรือถ้าจะระลึกถึงตัวความตายนั้น  ก็จะมีความหวาดหวั่นพรั่นใจหวาดเสียวหรือมีความสลดหดหู่ท้อแท้  รวมความว่า  จิตมนุษย์ไม่สามารถตั้งอยู่ในความดีงามที่แท้จริงได้  แต่เอนเอียงไปในด้านต่าง ๆ ถึงแม้ถ้าไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่น  นึกถึงความตายของตนเอง ก็จะมีความหวาดกลัว ความหดหู่ท้อแท้  ดังได้กล่าวมาแล้ว

ระลึกถึงความตายจิตไม่ประมาท

ส่วนในทางพระศาสนานั้น  ท่านสอนให้ระลึกถึงความตายเพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจตนเอง  ว่าความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต มันจะต้องเกิดมีขึ้น  เป็นเรื่องสืบต่อไปจากความเกิด  ในเมื่อมันเป็นเรื่องธรรมดาก็ไม่ต้องไปกลัว แต่มีข้อที่น่าพิจารณาว่า  ความตายนั้นซึ่งเป็นของแน่นอน แต่จะมาถึงเมื่อไรไม่แน่  ชีวิตของคนเราอาจจะสั้นหรืออาจจะยาวไม่มีเครื่องกำหนดให้มองเห็นได้ชัดเจน  เพราะฉะนั้น จึงความใช้เป็นเครื่องเร่งเร้าตนเองให้มีความไม่ประมาท  กล่าวคือ ชีวิตนี้มีกิจหน้าที่อะไร ก็ควรเร่งรัดจัดทำ  ชีวิตของตนจะมีค่าและความดีงามอย่างไร  ก็ควรเร่งขวนขวายประกอบกรรมที่จะให้เป็นอย่างนั้น  ให้ชีวิตของตนมีคุณค่า ให้อยู่อย่างมีประโยชน์  และตายไปก็มีคุณค่าเหลือทิ้งไว้ เป็นประโยชน์แก่คนอื่นภายหลังด้วย  อันนี้เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา สำหรับให้ระลึกถึงความตาย

พิจารณาความตายเพื่อให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต

ส่วนในอีกขั้นหนึ่งซึ่งเป็นขั้นสูงขึ้นไป  ท่านก็สอนให้พิจารณาถึงความตายนั้น  ในฐานะเป็นคติธรรมดาดังได้กล่าวแล้ว แต่ความหมายของคติธรรมดา  คือให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต ว่ามีการเริ่มต้นและสิ้นสุด  เพื่อจิตใจจะได้ไม่ถูกครอบงำบีบคั้น ด้วยความทุกข์จากความพลัดพราก  จากการที่นึกถึงความตายของตนเอง เป็นต้น  คือรู้เท่าทันความเป็นไปของธรรมดา  แล้วก็มีจิตใจสบายดำรงอยู่ในปกติได้เสมอ  รำลึกถึงความตายด้วยความไม่หวาดหวั่น และเป็นอยู่ด้วยปัญญา  คือการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้และเข้าใจธรรมดานั้น หมายความว่า  อยู่ด้วยความรู้เหตุผล อะไรเป็นสิ่งควรทำก็กระทำไป  อะไรเป็นสิ่งที่เป็นปัญหา ควรแก้ไข ก็กระทำไปตามเหตุปัจจัย  อันนี้ก็เป็นคำสอนขั้นสูงขึ้นไปในทางพระศาสนา

ขั้นตอนการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเรื่องความตาย

สรุปว่าท่าทีการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเรื่องความตายนี้  แสดงถึงความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของมนุษย์เป็น ๓ ขั้นด้วยกัน คือ

ขั้นที่ ๑ มนุษย์ทั่วไป  ท่านว่าเป็นมนุษย์ที่ยังมิได้สดับ คือยังไม่มีการศึกษา  ก็จะระลึกถึงความตายด้วยความหวาดหวั่นพรั่นกลัว เศร้าหดหู่ท้อแท้  ระย่อท้อถอย

ขั้นที่ ๒ สูงขึ้นไป เป็นอริยสาวกผู้มีการศึกษา  ได้สดับแล้ว ก็ระลึกถึงความตายโดยเป็นอนุสติ  สำหรับตักเตือนใจไม่ให้ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติ ประกอบหน้าที่  คุณงามความดีให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ มีคุณค่า

ขั้นที่ ๓ คือให้รู้เท่าทันความตาย  ซึ่งมีคติเนื่องในธรรมดา จะได้มีชีวิตที่ปราศจากความทุกข์  ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นกลัวต่อ ความพลัดพรากเป็นต้น  มีใจปลอดโปร่งโล่งสบาย และเป็นอยู่ด้วยปัญญาที่กระทำการไปตามเหตุผล  ด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยเรื่องท่าทีปฏิบัติเช่นนี้ มิใช่เฉพาะต่อความตายเท่านั้น  แม้แต่เรื่องทั่ว ๆ ไป มนุษย์ก็จะปฏิบัติด้วยท่าที ๓ ประการเหล่านี้  แต่ข้อสังเกตน่าจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ในประการที่ ๒  ซึ่งในที่นี้กล่าวถึงคำสอนในทางพระศาสนา  ว่าให้มนุษย์ขวนขวายเร่งกระทำการต่าง ๆ โดยนำเอาการระลึกถึงความตายนั้นมาเป็นเครื่องเร่งเร้า มนุษย์ทั่วไป ในการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น  ก็อาศัยสิ่งต่าง ๆ เป็นเครื่องเร่งเร้าตัวเองในการกระทำการต่าง ๆ  อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเครื่องเร่งเร้าของมนุษย์นั้นมิใช่เป็นเรื่องคุณธรรมหรืออนุสติ  อย่างเช่นในทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ หรือมีบ้างก็ปนกันไปกับเครื่องเร้าอย่างอื่น เครื่องเร้าอย่างอื่นที่มีอยู่มาก  เป็นไปโดยปกติธรรมดานี้มีอะไร  เครื่องเร่งเร้าโดยทั่วไปนั้นก็ได้แก่สิ่งบีบคั้น  คือความทุกข์และกิเลสที่อยู่ภายในจิตใจ คือมนุษย์นั้น  ที่จะกระทำการต่าง ๆ มีความพยายามอะไรโดยมากนั้น  ต้องมีเครื่องเร่งเร้าขึ้นมา  แต่เครื่องเร่งเร้านั้นคือเครื่องบีบคั้นนั้นเอง  คือมนุษย์ถูกบีบคั้นก็ดิ้นรนขวนขวายทำการต่าง ๆ  โดยมากไม่สามารถกระทำการต่าง ๆ  เพียงด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยปัญญารู้เหตุรู้ผลเท่านั้น  แต่ต้องอาศัยสิ่งบีบคั้นเข้ามาเช่น มีความกลัว  หรือมีปัญหาเข้ามาเร่งรัดตนเอง โดยเฉพาะก็คือเรื่องกิเลสภายในจิตใจ  กิเลสก็คือความโลภ ความอยากได้  ก็เป็นเครื่องเร่งเร้าบีบคั้นในใจให้กระทำการต่าง ๆ หรือเพราะโทสะ  ความโกรธ ความชิงชัง ความต้องการทำลาย ความขัดเคือง ความขัดแย้ง อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นเหตุเร่งเร้าบีบคั้นในใจ  ให้กระทำการเพียรพยายามดิ้น ขวนขวายและโมหะแสดงออกมาในรูปของความกลัว  ความหวาดระแวงเป็นต้น ก็เป็นเครื่องบีบคั้น  ทำให้ดินรนขวนขวายทำการต่าง ๆ

ชนิดแห่งความประมาท

อันนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ที่เป็นไปโดยมาก  แต่ถ้าหากว่าไม่มีกิเลสมาเป็นเครื่องเร่งเร้า  ไม่มีเครื่องบีบคั้นมาบีบรัดตนเองแล้ว  มนุษย์ก็มักจะตกอยู่ในความนิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ขวนขวายกระทำการต่าง ๆ  การที่อยู่ในความนิ่งเฉย ไม่ประกอบกิจที่ควรทำ  ไม่ละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกระทำนี้ คือลักษณะที่ท่านเรียกว่าความประมาท  รวมความว่าเพราะอำนาจกิเลส จึงทำให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวายทำการต่าง ๆ  แต่ในเมื่อไม่มีกิเลสที่บีบคั้น มนุษย์ก็ตกอยู่ในความประมาท  ซึ่งก็คืออยู่ในอำนาจของกิเลสเช่นเดียวกัน  แต่กิเลสในที่นี้หมายถึงความติดในความสุข  ความเพลิดเพลินที่มีอยู่สบายแล้วก็เลยไม่ดิ้นรนกระทำการที่ควรทำ  เพราะฉะนั้นตกลงว่า ถ้าเป็นปุถุชนโดยสมบูรณ์แล้วก็จะอยู่ด้วยกิเลส  ทำการขวนขวายต่าง ๆ ก็ด้วยกิเลส อยู่เฉย ๆ ก็ด้วยกิเลส  ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ความประมาท นี้เป็นขั้นหนึ่ง

เพียรพยายามด้วยคุณธรรม

ในทางธรรมะต้องการให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวายด้วยอำนาจ  คุณธรรมให้พยายามนำคุณธรรมเข้ามาแทน  เข้ามาเป็นเครื่องเร่งเร้ากระตุ้น เช่น เอาความสำนึก เอาศรัทธา  ความกรุณาอย่างเช่น การระลึกถึงความตายที่ท่านเรียกว่ามรณานุสติ  เป็นต้น มาเป็นเครื่องกระตุ้นเร่งเร้าใจให้ขวนขวายกระทำการต่าง ๆ  มิใช่กระทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ และแม้ไม่มีความทุกข์  ไม่มีกิเลสเข้ามาบีบคั้น ก็ให้สามารถขวนขวายทำสิ่งที่ดีงาม  อันเป็นการกระทำได้ด้วยคุณธรรมของตนเอง คือมีความไม่ประมาทได้เสมอ  เพราะฉะนั้นลักษณะที่ต่างกันในการขวนขวายกระทำความเพียรของปุถุชนกับการปฏิบัติตามคำสอนในทางพระศาสนาก็คือ  ฝ่ายหนึ่งนั้นดิ้นรนขวนขวายด้วยอำนาจของกิเลส ส่วนในทางธรรม  ให้ดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามด้วยอำนาจคุณธรรม นี้เป็นขั้นสอง  คืออาศัยการกระตุ้นเตือนเร่งเร้า

คติเกี่ยวกับการรู้เท่าทันธรรมดา

สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือขั้นรู้เท่าทันธรรมดา  เรื่องคติเกี่ยวกับการรู้เท่าทันธรรมดานี้  เมื่อนำมาสั่งสอนแก่มนุษย์ก็ก่อปัญหาขึ้นได้อีก คือมนุษย์นั้น  พอจะเห็น พอจะเชื่อ เข้าใจเรื่องความเป็นไปตามธรรมดาได้  พอมองเห็นธรรมดาก็ปรับใจตนเองได้ ใจก็สบาย  ที่เคยมีความทุกข์อะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ เช่น  ความพลัดพรากจากคนหรือของซึ่งเป็นที่รัก  ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ปรารถนาแล้วไม่สมหวังต่าง ๆ  ที่เคยทำให้ตนเองมีความทุกข์  เป็นเครื่องบีบคั้นให้ดิ้นรนขวนขวายพยายามนั้น  พอได้รับคำสอนทางพระศาสนาให้รู้เท่าทันธรรมดาแล้วก็เลยเชื่อ  มองเห็นตามก็เลยปรับใจได้ สบายใจ  พอสบายใจก็เรียกว่าทุกข์น้อยลงหรือหมดทุกข์  แต่ปัญหาของมนุษย์ก็ตามมาอีก มนุษย์จะไม่ได้อยู่เพียงนั้น  พอปรับใจได้ แล้วสบายใจก็หยุด ไม่ดิ้นรนขวนขวายที่จะกระทำกิจที่ควรทำ  กลับอยู่นิ่งเฉยเสีย ปัญหาที่แท้จริงก็ไม่ได้แก้ไข  ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงก็มิได้ขวนขวายจะศึกษาให้รู้และเข้าใจ  เพื่อจะแก้ไขให้เรียบร้อย ตกลงก็เกิดเป็นโทษได้อีก เพราะฉะนั้น  เรื่องของมนุษย์แล้ว แม้ได้รับคำสอนในทางธรรม  ก็เป็นปัญหาเกิดขึ้นได้เหมือนกัน  ถ้าไม่รู้จักคอยฝึกพยายามที่จะดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ

การปรับตัวเอง

การปรับมี ๒ อย่าง คือ ปรับภายนอก กับปรับภายในปรับภายนอก หมายความว่า  สิ่งทั้งหลายที่เกิดเป็นปัญหาวุ่นวายภายนอก  แล้วเราจัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ให้สงบลงได้ก็เรียกว่าปรับภายนอกอีกอย่างหนึ่งคือ  ใจของตนเองที่วุ่นวายเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ปรับใจของตนเองได้ด้วยความรู้ความเห็นธรรมดา เรียกว่าการปรับใจหรือการปรับภายใจมนุษย์ทั่วไปจะมุ่งไปที่การปรับภายนอก อะไร ๆ  ก็พยายามจะไปแก้ภายนอกให้เข้ากับที่ตนเองต้องการ  เสร็จแล้วระหว่างนั้นก็เกิดความทุกข์ ความเดือนร้อนมาก  เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามใจตัวเอง ที่นี้  พอได้รับคำสอนทางธรรมก็รู้จักหันเข้ามาปรับภายใน คือปรับใจของตนเองได้ ข้างนอกจะเป็นอย่างไรใจก็พอมีความสุข  แต่ว่าหากไม่รู้จักความพอดีสมดุล ก็เกิดปัญหาได้ทั้งสองอย่าง คือปรับแต่ภายนอกภายในไม่ปรับก็มีความทุกข์มาก ถ้าปรับแต่ภายในใจ  พอมีความสุข ส่วนข้างนอกไม่ได้แก้ไขให้เรียบร้อยก็เกิดปัญหาต่อไป เรื่องของปุถุชนก็มักจะวนเวียนอยู่สองประการนี้  นี่คือเรื่องของการปรับ เพราะฉะนั้น  จะต้องหาความพอดีในระหว่างการปรับสองอย่าง ถ้ากล่าวโดยทั่วไปก็ต้องปรับทั้งสอง

การเฉยของมนุษย์

เรื่องความเฉย ได้กล่าวว่า บุคคลเมื่อปรับใจตนเองได้  หรือสิ่งต่าง ๆ เป็นไปโดยเรียบร้อยไม่วุ่นวายก็เฉย  ความนิ่งเฉยนี้ในทางพระศาสนากล่าวโดยย่อ

มีสองอย่าง อย่างหนึ่งคือ เฉยโดยไม่รู้ เฉยโง่ ๆ ท่านเรียกว่า  อัญญาณุเบกขา คือเฉยเรื่อยเปื่อย เฉยไม่รู้เรื่อง  เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว คือไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็นิ่งเฉย  หรือว่าเฉยโดยไม่เรียนรู้เรื่องราวที่เป็นไป  ไม่ได้เกิดจากความรู้ความเข้าใจ อันนี้เป็นความเฉยที่เกิดจากโมหะ  หาใช้คุณธรรมไม่ เป็นอุเบกขาขนิดหนึ่ง แต่เป็นอกุศลเรียกว่า  อัญญาณุเบกขา อย่างที่สอง  เป็นการเฉยอย่างถูกต้องตามหลักธรรมเป็นโสภณเจตสิก  คือความเฉยที่เกิดจากความรู้ หมายความว่ารู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร  ควรจะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร ก็เลยเฉยไว้ ไม่ตื่นเต้น โวยวาย  รอทำไปตามลำดับจังหวะขั้นตอน อันนี้เป็นความเฉยที่ถูกต้องในทางธรรมะมนุษย์โดยมากมักจะเฉยแบบที่หนึ่ง คือเฉยไม่รู้เรื่อง  เฉยด้วยโมหะหรืออัญญาณุเบกขา เฉยด้วยความไม่รู้ก็เกิดโทษ  ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจ แยกได้ระหว่างเรื่องการปรับสองอย่าง  และการเฉยสองอย่างนี้  ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เกี่ยวด้วยความประมาทและความไม่ประมาท  กล่าวคือเมื่อปรับภายในได้ แต่ว่าไม่ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำต่อไป  ก็เฉยโดยไม่รู้หรือไม่หาความรู้  ไม่ใช่เฉยที่เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็กลายเป็นความประมาท เรื่องประมาทเช่นนี้ไม่เฉพาะปุถุชนเท่านั้น  แม้แต่พระอริยะบุคคลท่านก็กล่าวว่ายังประมาทได้  ตราบใดที่ยังเป็นอริยบุคคลเบื้องต้น คือไม่บรรลุอรหัตตผล พระโสดาบัน  พระสกิทาคามี เหล่านี้ล้วนประมาทได้ทั้งสิ้น  มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่ประมาท  ท่านใช้คำว่าพระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่สามารถจะประมาทได้

การเพลิดเพลินในความสุขคือความประมาท

พระโสดาบันนั้น ท่านแสดงตัวอย่างไว้ว่า  เมื่อได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงแล้ว เกิดความพอใจ  เคยมีความทุกข์มากมายก็ไม่มีความทุกข์  หรือทุกข์เหลือน้อยเหลือเกินแล้ว มีความสุขสบายเกิดขึ้นมาก  ก็มีความพอใจว่าเราได้เพียรพยายามปฏิบัติธรรมมาได้บรรลุผลสำเร็จเพียงนี้  มีคุณธรรมในตนแล้วอย่างนี้ ๆ ได้ละกิเลสแล้วอย่างนี้ ๆ  ได้ประกอบด้วยธรรมวิเศษอย่างนี้ ๆ  ก็มีความพอใจเป็นเหตุให้หยุดเฉยอยู่สบาย ๆ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า  นี้เป็นผู้ประมาทแล้ว  เพราะไม่ขวนขวายเร่งรัดตนเองในการทำความเพียรเพื่อคุณธรรมเบื้องสูงยิ่งขึ้นไป  ส่วนพระอรหันต์เป็นผู้ไม่อาจประมาทเพราะอะไร  เพราะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาและไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ประมาท  ได้กล่าวแล้วว่าคนที่ประมาทนั้นเพราะยังมีกิเลส  คือจะด้วยปรับใจตนเองได้  หรือด้วยเหตุการณ์ทั้งหลายยังไม่บีบคั้นก็ตาม  ก็มีกิเลสเป็นเหตุให้ติดในความสุข เพลินในความสบาย  การที่เพลินติดในความสุขนั่นแหละ เป็นลักษณะของกิเลส คือเกิดจากกิเลส  และเป็นตัวที่เรียกว่าความประมาท

ส่วนพระอรหันต์นั้นเป็นอยู่ด้วยปัญญา  รู้เท่าทันธรรมดาและกระทำการด้วยความรู้เท่าทันธรรมดานั้น  ขั้นที่หนึ่ง ในใจของท่านเองก็ปรับได้ มีความสุขในทุกสถานการณ์  ขั้นที่สอง  การปฏิบัติดำเนินชีวิตของท่านก็คือปฏิบัติไปด้วยความรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร  อะไรเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยอะไร อะไรจะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่  ถ้าเป็นปัญหาก็ศึกษาหาเหตุปัจจัยและแก้ไขเสีย  ก็ทำให้การปรับภายนอกดำเนินไปได้ หรือรู้จนกระทั่งว่า  สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปไม่ได้ ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน  นี้ก็เป็นเครื่องวัดความแตกต่างเป็นขั้น ๆ  ตั้งแต่ปุถุชนขึ้นมาถึงอริยบุคคล แล้วกระทั่งเป็นพระอรหันต์

ที่นี้ กลับมากล่าวถึงด้านมนุษย์ต่อไป  สำหรับมนุษย์นั้นเป็นอันว่า  ต้องอาศัยสิ่งบีบคั้นเร่งเร้ามาช่วยให้ดิ้นรนขวนขวายกระทำการต่าง ๆ  แต่เพราะเหตุว่ามนุษย์โดยทั่วไปนั้น  คอยอาศัยเครื่องเร่งเร้าบีบคั้นที่เป็นอกุศล โดยอาศัยความทุกข์บ้าง  โดยอาศัยกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงบ้าง  ในทางพระศาสนาเห็นว่าเป็นโทษ  จึงได้แนะนำในทางที่จะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น  คือนำเอาคุณธรรมมาเป็นเครื่องเร่งเร้าตนเอง  เอาศรัทธามาเป็นเครื่องเร่งเร้าบ้าง  เอามรณสติมาเป็นเครื่องเร่งเร้าบ้าง  ก็ทำให้มนุษย์อยู่ด้วยความดีงอกงามมากขึ้น กระทำสิ่งที่ดีงาม  และกระทำการที่เป็นประโยชน์ต่อกันมากขึ้น

ปรับปรุงตนเองให้เจริญคุณธรรมเสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรจะระลึกไว้ว่า   ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องใช้วิธีเร่งเร้าบีบคั้นด้วยความทุกข์เป็นต้น  แม้ตลอดด้วยคุณธรรมดังที่กล่าวมาเป็นเครื่องมากระตุ้นตนให้ขวนขวายทำการต่าง  ๆ ตราบนั้นโลกมนุษย์ก็ยังไม่มีความปลอดภัย หมายความว่า  มนุษย์ยังไม่สามารถเป็นผู้อยู่ด้วยปัญญาบริสุทธิ์อย่างแท้จริง  การที่ต้องอาศัยสิ่งเร่งเร้ามาเร่งรัดกระตุ้นตนเองให้กระทำการต่าง ๆ  นั้น ย่อม

(๑) มีโอกาสที่จะเกิดความประมาทอยู่เสมอ หมายความว่า  ขาดเครื่องกระตุ้นเร่งเร้ามาเมื่อไร ก็จะตกอยู่ในความประมาทอีก

() การประกอบกรรมทำการต่าง ๆ  ของมนุษย์ที่อยู่ด้วยเครื่องกระตุ้นเร่งเร้าเช่นนั้น   จะมีความไม่พอดีอยู่เสมอ มากเกินไปบ้าง น้อยเกินไปบ้าง  ไม่พอดีที่จะแก้ปัญหา เพราะทำด้วยแรงแต่ขาดความรู้  หรือทำตามความแรงไม่ทำตามความรู้ เพราะฉะนั้น  ก็จะก่อให้เกิดปัญหาแก่ตนเองบ้าง แก่ผู้อื่นบ้าง อยู่เรื่อยไป

ทางพระศาสนาจึงต้องให้มนุษย์ฝึกฝนตนเองให้เจริญงอกงามขึ้นไปในคุณธรรมอยู่เสมอ  คือ จะต้องให้พยายามเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา  คือเป็นอยู่ด้วยรู้เข้าใจธรรมดา  ความรู้เท่าทันธรรมดาแล้วประมาทหรือไม่นี้แหละ  เป็นเครื่องวัดอย่างหนึ่งว่า บุคคลนั้นได้บรรลุคุณธรรมสูงแค่ไหน  กล่าวง่าย ๆ ว่า ตามใดที่แม้จะได้รู้เข้าใจธรรมะ  รู้เข้าใจธรรมดาดีแล้ว แต่ยังมีความประมาทอยู่  อันนี้แสดงว่ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง  อย่างน้อยก็คือยังไม่ได้บรรลุอรหัตตผล  อาจได้เป็นอริยบุคคลก็เป็นในชั้นต้น ๆ ย้ำความว่าคนหมดกิเลสแล้ว  รู้เท่าทันธรรมดาและทำการด้วยความรู้เท่าทันธรรมดาแล้ว  แต่ทำการด้วยเอาตัวสบายเป็นเกณฑ์ ถ้าตัวสบายแล้ว  ก็ไม่ขวนขวายไม่คิดทำ ส่วนคนหมดกิเลสรู้เท่าทันธรรมดา สบายใจแล้ว  แต่ถ้าปัญหายังมีก็จะกระทำ มีอะไรควรทำก็ทำเรื่อยไป

อยู่ด้วยการรู้เท่าทันธรรมดาของชีวิต

รวมความว่าพระศาสนานั้น สอนมนุษย์ให้ฝึกตนเอง  ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปเสมอ  เจริญจากขั้นต้นให้ผ่านพ้นความเป็นปุถุชนที่มีแต่ความสลดหดหู่ท้อแท้ใจ  มาสู่ความเร่งเร้าตนเองให้ขวนขวายทำความดีต่าง ๆ  ด้วยอาศัยคุณธรรมนำมาเป็นอนุสติเครื่องเตือนใจตนเอง  และเจริญถึงขั้นสูงสุดก็คือ ให้อยู่ด้วยความรู้เท่าทันธรรมดา  และทำการด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดานั้นตามเหตุตามปัจจัย  ซึ่งในวิธีการทั้งหมดนั้น สำหรับมนุษย์ปุถุชนได้เน้นในประการที่สอง  ซึ่งอยู่ในขั้นท่ามกลาง คือ การใช้คุณธรรมมาเป็นเครื่องเร่งเร้า  แต่ในกรณีมรณสตินี้ ทำให้เห็นว่า ท่านใช้ทั้งสองประกอบกันคือ  ประการหนึ่งก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณารู้เท่าทันธรรมดาด้วย  ที่ว่าให้รู้ว่าความตายเป็นของธรรมดา เป็นของคู่กับความเกิด  เกิดแล้วก็ต้องมีดับ เมื่อเข้าใจแล้วก็ทำใจให้สบาย หายจากทุกข์ได้  แต่พร้อมกันนั้นก็ใช้วิธีเร่งเร้าด้วยคุณธรรมด้วยว่า ให้ระลึกไว้ว่า  ความตายนั้นเป็นของแน่นอน แต่จะมาถึงวันใดไม่แน่นอน

เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้  ให้เร่งขวนขวายทำกิจหน้าที่ ความดีต่าง ๆ  อันนี้คือหลักที่เราเรียกว่ามรณสติ ซึ่งมรณสติเช่นนี้  ก็มาเข้ากับแนวทางปฏิบัติที่อาตมภาพได้ยกคำสอนในพระไตรปิฎกมาตั้งเป็นนิกเขปบท  คือบทหัวข้อสำหรับอธิบายไว้  ที่ท่านเตือนให้ระลึกถึงความตายและของชีวิตและมีความไม่ประมาท  ดังพระบาลีว่า

น เหว ติฏ ฺ นาสีนํ สยานํ น ปตฺถคุ ํ แปลความว่า  อายุสังขารจะพลอยประมาทไปกับมนุษย์ทั้งหลายที่ยืน เดิน นั่ง  นอนอยู่ก็หาไม่ หมายความว่า มนุษย์ทั้งหลายนี้อาจจะมีความประมาท ยืน  เดิน นั่ง นอน ไม่ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำอยู่ ปล่อยเวลาผ่านไป  แต่ในเวลานั้น ให้เข้าใจเถิดว่า  อายุสังขารของเราหาได้ประมาทตามเราไปด้วยไม่  คืออายุสังขารของเราเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง  มีความทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ และมีความเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของเรา  มันเป็นอยู่ตลอดเวลา ก็เปลี่ยนแปลงของมันไปไม่หยุดยั้ง  เมื่ออายุสังขารเปลี่ยนแปลงไปไปอยู่ในคติธรรมดาอย่างนี้ตลอดเวลา  เราจึงไม่ควรประมาท ไม่ควรนิ่งเฉย ท่านจึงกล่าวต่อไปอีกว่า

ตสฺมา อิธ ชีวิตเสเส

กิจฺจกโร สิยา นโร น จ มชฺเชติ

แปลความว่า เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้  คนเราควรกระทำกินหน้าที่ของตนและไม่พึงประมาท  อันนี้คือการที่จะนำเอาความรู้เท่าทันธรรมดานั้น  

มาใช้ในทางที่เป็นกุศล เป็นประโยชน์

ทางพระศาสนานั้น กล่าวถึงคติธรรมในทำนองเช่นนี้  ไม่เฉพาะความตายเท่านั้น ได้กล่าวแล้วว่า  ความตายเป็นของคู่กับความเกิด  และพระศาสนานั้นไม่กล่าวถึงความเกิดมากนัก  ถ้ากล่าวก็มักจะกล่าวในทางที่เตือนสติมนุษย์อีกว่า  ความเกิดนั้นนำมาหรือนำไปสู่ความตาย  ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความขวนขวายไม่ประมาทเช่นเดียวกัน  คือถ้าหากพระพุทธศาสนาจะกล่าวถึงความเกิดในทำนองเดียวกับที่สนองความต้องการของมนุษย์  ก็จะเป็นเครื่องยั่วยุมนุษย์ให้มีความมัวเมาประมาทยิ่งขึ้น  เพราะฉะนั้น ท่านไม่พยายามที่จะสนองความต้องการนี้  แต่ท่านกล่าวในทางตรงข้าม  เพื่อจะเร่งเร้าให้เป็นไปในกระแสที่ไหลไปสู่คุณธรรม  และท่านก็จะให้คติเพิ่มต่อไปอีก อย่างพุทธพจน์ในพระธรรมบทคาถาหนึ่ง  ที่กล่าวถึงมนุษย์ที่เกิดมา ก็กล่าวถึงในทำนองที่ว่า  ให้ขวนขวายในการบำเพ็ญกุศลกรรมอีก ดังบาลีว่า

ยถาปิ ปุปผราสิมฺหา      กยิรา มาลาคุเฬ พหู

หมายเลขบันทึก: 307525เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2009 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

บันทึกอันมีคุณค่านี้ยาวมากเลยค่ะ ยังอ่านไม่จบ

ไว้ได้แวะมาใหม่นะคะ

 

ความตายเริ่มคืบคลานมาสู่เราทุกคนตั้งแต่เราเกิดแล้ว..สำคัญว่าตายอย่างไร..ตายแบบมีสติ..หรือหลงตาย..จึงควรเริ่มฝึกการตายแบบมีสติทุกขณะ..ด้วยความไม่ประมาท..นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท