แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ IT ในงานสุขภาวะชุมชน (๑)


ต้องเข้าประชุมตรงเวลาและอยู่ร่วมกิจกรรมได้ตลอดการประชุม

เตรียมการ
สืบเนื่องจากตลาดนัดความรู้สุขภาวะชุมชน ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน – ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ กลุ่มที่ทำงาน IT จากหลายพื้นที่มีความสนใจอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น เราจึงวางแผนจะจัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนต่อจากนั้น ก่อนหน้านี้เรามีกิจกรรมในเรื่องแผนสุขภาพชุมชนไปแล้ว ๒ ครั้ง

กว่าจะได้เวลาที่เหมาะสม ก็ล่วงมาจนถึงวันที่ ๑๖ – ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ ห้องประชุมภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไม่ว่าง จึงต้องไปจัดกิจกรรม ณ ห้องบุษราคัม โรงแรมแกรนด์ปาร์ค อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช อาจารย์อุไร จเรประพาฬประสานทีม IT ในพื้นที่ต่างๆ มีผู้สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยน ๗ ทีม แจ้งรายชื่อมาล่วงหน้าจำนวน ๒๙ คน ดิฉันได้ปรับกำหนดการและกิจกรรมที่อาจารย์อุไรร่างเอาไว้ใหม่ให้เป็นไปตามแนวทาง KM ให้มากขึ้น

เริ่มตั้งแต่การส่งข่าวถึงผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมว่าเรามีกติกาดังนี้
o ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องเข้าประชุมตรงเวลาและอยู่ร่วมกิจกรรมได้ตลอดการประชุม (ขีดเส้นใต้ข้อความทั้งหมดไปด้วย เพราะไม่ประสงค์ให้มาเล่าเรื่องของตัวเสร็จแล้วก็ไป ไม่ได้เรียนรู้จากเพื่อน)
o แต่ละทีมต้องมีการประชุมปรึกษาหารือกันก่อน แล้วสรุปว่าเรื่องที่ทีมของตนเองทำได้ดีอยู่แล้วที่ทีมอื่นสามารถขอมาเรียนรู้ได้มีอะไรบ้าง ประเด็นที่ต้องการเรียนรู้จากทีมอื่นเพื่อนำมาใช้ทำงานของตนให้ดียิ่งขึ้นมีอะไรบ้าง ระบุออกมาเป็นประเด็นย่อยๆ ให้ชัดเจน
o ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเป็น “คนหน้างาน” หรือคนทำงานที่ใช้ IT ในงานสุขภาวะชุมชนตัวจริง
o ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเตรียมตัวมาเล่าเรื่องการทำงานของตนเองที่ได้ผลดี ประสบความสำเร็จ หรือที่ตนเองภาคภูมิใจ ไม่ใช่เล่าการทำงานทั้งหมดหรือขั้นตอนการทำงาน หากมีแบบฟอร์มหรืออุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน รูปภาพเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้นำมาแสดงด้วย

เราบอกลักษณะของกิจกรรมไปด้วยว่า
o เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ความรู้ปฏิบัติ” หรือความรู้ที่เกิดจากการทำงานของตน ไม่ใช่ “ความรู้ทฤษฎีหรือหลักวิชา”
o ผู้ร่วมกิจกรรมเล่าเรื่องการทำงานที่ได้ผลดีของตนเองแบบ “เรื่องเล่าเร้าพลัง” เล่าว่าการทำงานที่ได้ผลดีหรือความสำเร็จนั้นคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไร เพราะเหตุใดจึงทำเช่นนั้น ผลที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไร ต้องคิดทบทวนเรื่องราวที่จะเล่ามาอย่างดี เล่าให้กระชับและตรงประเด็น
o ผู้ที่ขอเรียนรู้ต้องเตรียมเล่าเรื่องการทำงานของตนในประเด็นดังกล่าวว่าทำอยู่อย่างไรและต้องการพัฒนาอะไรให้ดีขึ้น
o ขณะที่มีผู้เล่าเรื่องการทำงานของตน ผู้อื่นต้องใช้เทคนิค “การฟังอย่างลึก” ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ แขวนความคิดของตนเองเอาไว้ ไม่คิดแย้ง มีสมาธิติดตามสิ่งที่เพื่อนเล่าด้วยความตั้งใจ หากมีคำถามหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมให้ใช้คำพูดเชิงบวกและการซักถามเชิงชื่นชม

ในการประชุมวันแรกเพื่อให้ทุกทีมได้ “รู้เขา รู้เรา” ในภาพรวม เราจึงจัดให้แต่ละทีมนำเสนอโปรแกรม IT ของตนเองทีมละ ๑๒ นาที โดยกำหนดขอบเขตของการนำเสนอดังนี้
o เป็นโปรแกรม IT สำหรับใช้ในงานอะไร
o มีต้นคิดมาจากไหน เอามาปรับหรือดัดแปลงบ้างหรือไม่ อย่างไรบ้าง
o เวลาเอามาใช้  ใครเป็นคนใช้บ้าง ใช้อย่างไร
o หน้าตาของโปรแกรมเป็นอย่างไร

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 307256เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2009 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท