มหาวิทยาลัยอุปสาลา สวีเดน: สำนักตักศิลาของนักวิจัยรางวัลโนเบล


มหาวิทยาลัยอุปปสาลา คือสำนักตักศิลาของนักวิจัยรางวัลโนเบล เพราะสร้างนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกจำนวนมาก

 

ข่าวคราวเกี่ยวกับรางวัลโนเบล  ซึ่งเพิ่งจะมีผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัล  ทำให้นึกได้ว่าเคยเขียนเกี่ยวกับรางวัลโนเบลหลายปีมาแล้ว  ก็เลยถือโอกาสปัดฝุ่นแล้วนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ที่ไม่เคยอ่านมาก่อนได้อ่าน  บทความนี้เคยติดพิมพ์ให้จุดประกายของกรุงเทพธุรกิจมาแล้ว 

สวีเดนเป็นประเทศที่ได้มีโอกาสได้เดินทางไปหลายครั้งค่ะ  จึงจะเขียนเล่าถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้ประสบมาเป็นตอนๆ ไป

มหาวิทยาลัยอุปปสาลา สวีเดน: สำนักตักศิลาของนักวิจัยรางวัลโนเบล

เวลาที่ถามถึง “สวีเดน”  คนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะกรุงสต๊อกโฮม  ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองศูนย์กลางแฟชั่น  และการออกแบบ   รวมทั้งนึกถึงอากาศที่หนาวเย็น  ซึ่งมีส่วนที่ทำให้คนสวีดิชเป็นค่อนที่ค่อนข้างเงียบและสงวนท่าที่เมื่อเทียบกับคนยุโรปใต้

 

แต่ท่านรู้หรือไม่ว่านอกเหนือจากสต๊อกโฮมแล้วก็ยังมีเมืองอีกหลายเมืองที่น่าสนใจ   มีกลิ่นไอของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยาวนาน   เมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่อยากให้ท่านได้รู้จัก  คือเมืองอุปปสาลา  (Uppsala)

 

ผู้เขียนมีภารกิจที่ภาควิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์โบราณ  มหาวิทยาลัยอุปปสาลา (Uppsala University) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา  ซึ่งการมาเยือนสวีเดนครั้งล่าสุดนี้  เป็นครั้งที่โหดร้ายที่สุดสำหรับคนที่มาจากป่าเขตร้อน  (โดยเฉพาะจากกรุงเทพฯ เมืองที่ไม่มีฤดูกาล)  เพราะเป็นช่วงที่หิมะตกเป็นครั้งแรกในรอบปี  และอากาศหนาวเย็นถึงลบสิบกว่าองศาเซลเซียสเกือบทุกวัน  ผู้เขียนจำเป็นต้องทนความหนาวเหน็บของสแกนดิเนเวียอยู่หลายวัน  และมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองนี้มาเป็นของฝาก

 

เมื่อเสร็จหน้าที่การงาน ก็มีโอกาสได้ย่ำหิมะชมเมือง  รู้จักซอกซอยต่างๆ ของเมืองมากขึ้น ที่นี่คน  สวีดิชไปไหนมาไหนด้วยการเดินและขี่จักรยานเป็นหลัก  ครั้งนี้เป็นการมาเยือนเมืองอุปปสาลาครั้งที่สอง  จึงตั้งใจอยากจะเดินและเรียนรู้เกี่ยวกับผู้คนและวัฒนธรรมสวีดิชให้มากขึ้น  การเดินจึงทำให้เห็นความมีเสน่ห์และความงดงามของเมืองมหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างที่ไม่เห็นมาก่อน

 

มาดูรู้จักเมืองอุปปสาลากันสักหน่อย

อุปปสาลาเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่อันดับสี่ของประเทศสวีเดน  มีประชากรประมาณ ๑๙๐,๐๐๐ คนความมีเสน่ห์ของเมืองอยู่ที่ความเก่าแก่  เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต และเป็นเมืองมหาวิทยาลัยศูนย์รวมของศิลปะวิทยาการในยุโรป  เดิมมีเมืองอุปปสาลาเก่า ที่เรียกว่า กัมลา อุปปสาลา (Gamla Uppsala) ซึ่งมีร่องรอยการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยไวกิ้ง

 

บริเวณเมืองเก่ามีแหล่งโบราณคดีที่เป็นเนินดินใหญ่ๆ สามเนิน   ซึ่งเป็นที่ฝังศพของกษัตริย์เมื่อประมาณ ๑๕๐๐ ปีมาแล้ว  ตั้งแต่คริสศตวรรษที่ ๑๓  อุปปสาลาได้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางศาสนาของสวีเดน  ปัจจุบันเมืองโบราณกัมลา  อุปปสาลามีการจัดการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของสวีเดน  มีศูนย์การเรียนรู้  พื้นที่สำหรับสันทนาการ  และกิจกรรมสำหรับเยาวชน  ครอบครัวในช่วงฤดูร้อน  ฤดูใบไม้ผลิ

 

ต่อมามีการขยายเมืองไปจากบริเวณเมืองเก่า  ไปยังบริเวณที่เป็นเมืองอุปปสาลาในปัจจุบัน   เมืองนี้มีมหาวิทยาลัย ๒ แห่งคือ มหาวิทยาลัยอุปปสาลา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (The Swedish University of Agricultural Science)

 

สัญลักษณ์ที่สำคัญของบริเวณเมืองใหม่คือมหาวิหาร (Domkyrkan) และปราสาท (Slottet)  ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของเมือง  ทำให้ผู้เขียนไม่หลงทิศเวลาเดินไปไหนมาไหนภายในเมือง  ส่วนใจกลางเมืองจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจ  มีห้างร้านต่างๆ มากมายตลอดสองข้างทาง  ช่วงที่ไปก็มีการประดับประดาไฟเตรียมรับเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังมาเยือน

 

มหาวิทยาลัยอุปปสาลา: สำนักตักสิลาแห่งนักวิจัยรางวัลโนเบล

เมืองอุปปสาลาใหม่เป็นเมืองมหาวิทยาลัย  สร้างขึ้นในปีค.ศ. ๑๔๗๗  (หรือประมาณพ.ศ. ๒๐๒๐  สมัยอยุธยาตอนกลาง  ซึ่งคนไทยยังไม่เกิดมหาวิทยาลัยเลย)  เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในแถบ      แสกนดิเนเวีย   อาคารต่างๆ ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยก็เป็นโบราณสถานแทบทั้งสิ้น  หากมีการสร้างใหม่ก็จะสร้างให้กลมกลืน  ไม่ให้แปลกแยกกัน

 

ความน่าสนใจของพันธกิจของมหาวิทยาลัย  คือให้ความสนใจกับการวิจัยค้นคว้า  ในด้านศิลปะและสังคมศาสตร์  การแเพทย์และเภสัชกรรม  และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนี้มีชื่อเสียงอย่างมากเมื่อมีนักวิทยาศาสตร์ถึง ๘ คน  ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ ได้แก่ การแพทย์นิวเคลียร์ฟิสิกส์  เคมี และสันติภาพ  ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๑๑-๑๙๘๑  ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจปนความฉงนให้กับผู้เขียน  เพราะได้มีโอกาสมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมของการเรียนและสร้างสรรค์ความรู้

 

ในที่นี้  ขอเสริมประวัติของรางวัลโนเบลหน่อย  เพราะมีที่มาจากประเทศวีเดน  คือเมื่อประมาณ ค.ศ. ๑๘๖๐  อัลเฟรด  โนเบล   (Alfred Nobel) ชาวสวีเดน  ได้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ขึ้น  และเขาสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งจากการขายอุปกรณ์เกี่ยวกับวัตถุระเบิด  ต่อมาเมื่อประมาณ ค.ศ. ๑๘๙๓  เขาได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยอุปสารา  โนเบลไม่มีบุตรธิดา  และเขาเริ่มตระหนักว่าสิ่งที่เขาได้สร้างมาตลอดชีวิตนั้นเป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติ  เขาจึงบริจาคเงินตั้งมูลนิธิและให้เงินรางวัลกับนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยหรือบุคคลที่ทำงานเสียสละเพื่อดำรงสันติภาพของโลก  และมีผลงานดีเด่น ๕ สาขาได้แก่ฟิสิกส์  เคมี  แพทย์ วรรณกรรม  และสันติภาพ

 

เมื่อได้ทราบประวัติของมหาวิทยาลัย  ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดที่นี่มีดีอย่างไร  จึงเป็นสถาบันหรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสำนักตักสิลาของแสกนดิเนเวียน  ที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกในอดีต เช่น Anders Celsius  ผู้คิดค้นระบบการวัดอุณหภูมิหรือเทอร์โมมิเตอร์ที่เราท่านใช้กันอยู่ในปัจจุบัน, Carl von Linnaeus หรือสะกดชื่อตามภาษาสวีดิชว่า Carolo Linne ผู้คิดค้นระบบการจัดจำแนกวงศ์และชนิดของพืชและสัตว์ เป็นต้น และนักวิจัย/นักคิดที่ได้รับรางวัลโนเบลหลายคน  ซึ่งนักโบราณคดีก็ใช้หลักของการจัดจำแนกที่มีต้นเค้ามาจากงานอมตะของลินเนียสมาเใช้ในการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี

 

เมื่อได้สนทนากับกัลยาณมิตรซึ่งสอนอยู่ที่นี่  ก็ได้ทราบว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์และนักศึกษาทำงานวิจัยคิดค้นสิ่งประดิษฐ์  หรือแนวคิดทฤษฏี หรือวิธีวิทยาที่เป็นงานบุกเบิกซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์แก่สังคมและวงวิชาการได้  โดยการวิจัยสหวิทยาการแบบองค์รวม (หรือบูรณาการ)  และมีจารีตที่ยึดมั่นในหลักการสันติภาพและมนุษยธรรม

 

ปัจจุบันมีนักศึกษาจากทั่วโลกมาเล่าเรียนที่นี่  มีนักศึกษาจำนวน ๓๖,๐๐๐ คน  มีการเรียนการสอนตั้งแต่ปริญญาตรี  จนถึงปริญญาเอก  มีภาควิชาต่างๆ ประมาณ ๑๐๐ กว่าภาควิชา

 

นอกจากนี้  ที่น่าทึ่งคือเมืองเล็กแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ถึง  ๑๐ แห่ง  ได้แก่พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย  พิพิธภัณฑ์ชีววิทยา  สวนพฤกษศาสตร์  บ้านของศิลปินชื่อ Bror Hjorth  พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง  พิพิธภัณฑ์วิวัฒนาการ  ศูนย์ประวัติศาสตร์เมืองโบราณกัมลา อุปปสาลา  พิพิธภัณฑ์ของสินเนียส  บ้านฤดูร้อนของลินเนียสที่แฮมมาร์บี  และสวนพฤกษศาสตร์ของลินเนียส

 

หากจะย้อนมาเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย  เท่าที่ทราบก็มีเพียงมหาวิทยาลัยมหิดลที่เดียวซึ่งเน้นเรื่องการวิจัย และนี่ก็ยังคงเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล  ผู้เขียนเห็นว่าหากเราต้องการให้ประเทศไทยพึ่งตนเองได้  และต้องการก้าวเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเอเซีย   ก็จำเป็นต้องสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยทั้งระบบ  นับตั้งแต่การเรียนการสอน    เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรทั้งอาจารย์และนักศึกษาให้คิดเป็น  ทำเป็น  (ทั้งที่ความจริงประเทศไทยก็มีนักคิด  นักวิทยาศาสตร์  นักวิจัยที่มีความสามารถอยู่จำนวนมาก  แต่ก็ล้วนเป็นความสามารถเฉพาะบุคคล)  ที่สำคัญเราต้องเชื่อมั่นในความสามารถของคนไทยด้วยกันเอง  และทุกมหาวิทยาลัยควรจะมีพิพิธภัณฑ์ประจำมหาวิทยาลัย  เพื่อแสดงผลงานของคณาจารย์  นักศึกษา และวัฒนธรรมชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย

 

ที่ผู้เขียนเล่ามาเสียยืดยาว  ก็เพราะหลงเสน่ห์เมืองอุปปสาลาในฐานะของเมืองประวัติศาสตร์  ศูนย์กลางวิทยาการทั้งศิลปวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์  ประทับใจในการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เรียบง่าย  สบายๆ  ทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งใดรวยแค่ไหน  ก็ล้วนแต่ขี่จักรยานหรือเดินมาทำงานหากอากาศอำนวย  น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มีเวลาในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ 

 

เมื่อจบการเดินทาง...ก็รู้สึกตัวเองว่าความร้อนในร่างกายก็เพิ่มปริมาณขึ้นท่ามกลางหิมะและอากาศที่หนาวเหน็บ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอิ่มเอิบกับเรื่องราวที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเมืองนี้   หรือว่าเพราะรู้ว่าจะต้องกลับมาเผชิญมลพิษต่อในกรุงเทพเมืองฟ้าอมรกันแน่!

 

 

หมายเลขบันทึก: 306785เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2009 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท