แสนปราชญ์
พระอาจารย์ แสนปราชญ์ ฐิตสัทโธ เสาศิริ

หลักการและวิธีการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวทางสติปัฏฐาน สรุปจากนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา


หลักการและวิธีการปฎิบัติสติปัฏฐาน(วิปัสสนา) จากวิทยานิพนธ์ดีเด่น มจร.

     สติปัฏฐาน  แปลว่า  ที่ตั้งของสติบ้าง  การที่สติเข้าไปตั้งอยู่  คือมีสติกำกับอยู่บ้าง  ว่าโดยหลักการก็คือ  การใช้สติ  หรือ  วิธีปฏิบัติเพื่อใช้สติให้บังเกิดผลดีที่สุด   การเจริญสติปัฏฐานนี้  เป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่นิยมกันมาก  และยกย่องนับถือกันอย่างสูง  ถือว่ามีพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนาในตัว  สติปัฏฐาน (รวมทั้งวิปัสสนาด้วย) ไม่ใช่หลักการที่จำกัดว่าจะต้องปลีกตัวหลบลี้ไปนั่งปฏิบัติอยู่นอกสังคม  หรือจำเพาะในกาลเวลาตอนใดตอนหนึ่ง  โดยเหตุนี้จึงมีปราชญ์หลายท่านสนับสนุนให้นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันทั่วไป  ว่าโดยสาระสำคัญแล้วหลักของสติปัฏฐาน ๔  บอกให้ทราบว่า  ชีวิตของเรานี้มีจุดที่ควรใช้สติคอยกำกับดูแลทั้งหมดเพียง ๔ แห่งเท่านั้นเอง  คือ  (๑) ร่างกายและพฤติกรรมของมัน  (๒) เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ต่าง ๆ  (๓) ภาวะจิตที่เป็นไปต่าง ๆ  (๔)  ความคิดนึกไตร่ตรอง   ถ้าดำเนินชีวิตโดยมีสติคุ้มครอง ณ จุดทั้งสี่นี้แล้ว  ก็จะช่วยให้เป็นอยู่อย่างปลอดภัย  ไร้ทุกข์  มีความสุขผ่องใส และเป็นปฏิปทานำไปสู่ความรู้แจ้งอริยสัจธรรม[1]  องค์ประกอบ  หรือหัวใจสติปัฏฐาน ๔  นั้น  คือ  อาตาปี  สมฺปชาโน  สติมา  ซึ่งมีหน้าที่  คือ  อาตาปี  (วิริยะ) ทำหน้าที่เพียรพยายาม   ตั้งใจใส่เอาใจใส่  มีโยนิโสมนสิการตามกำหนดสภาวการต่าง ๆ  สติมา (สติ)  ทำหน้าที่กำหนดไม่ให้คลาดเคลื่อนจากปัจจุบันอารมณ์  ไม่เผลอเรอหลงลืม  และมีสมาธิเป็นองค์ประกอบร่วมด้วย  สมฺปชาโน  (สัมปชัญญะ)  ทำหน้าที่กำหนดรู้การเกิดดับของรูปนามสังขาร  มีความรู้ความเข้าใจสภาวการนั้นตามความเป็นจริง เห็นอนิจจัง ทุกขัง[2]  อนัตตา  สรุปรวมเป็นองค์ประกอบ ๔ ประการ  คือ  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา  ทำหน้าที่กำหนดปัจจุบันอารมณ์  การกำหนดแต่ละครั้งเป็นการกัดกร่อนบั่นทอนกิเลสที่เกาะกุมจิตใจทีละนิดทีละน้อย  เรียกว่า “กร่อนทีละนิดกัดทีละหน่อย”  กิเลสจะค่อย ๆ เบาบางจางไปในที่สุด  องค์ประกอบทั้ง ๔ นี้  เกิดขึ้นพร้อมกันและดับไปพร้อมกัน[3]  การเจริญสติปัฏฐาน  คือ  การมีสติจดจ่ออย่างต่อเนื่องตามรู้เท่าทันอาการต่าง ๆ  ที่กำลังเกิดอยู่ในกายกับจิตตามความเป็นจริง  รู้เท่าทันปัจจุบันอารมณ์ได้โดยละเอียดไม่ขาดช่วง  ไม่ลืมกำหนดรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เมื่อมีรูปกระทบที่ตา  มีเสียงกระทบที่หู  มีกลิ่นกระทบที่จมูก  มีรสกระทบที่ลิ้น  มีสัมผัสกระทบที่กาย  มีความคิดเกิดที่ใจ  ก็สามารถตามรู้เท่าทันปัจจุบันอารมณ์นั้น ๆ ได้  เพื่อก่อให้เกิดวิปัสสนาปัญญาที่รู้แจ้งไตรลักษณ์  ได้แก่อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ผู้ที่ต้องการรู้แจ้งไตรลักษณ์ต้องมีธรรมที่สนับสนุน ๔ อย่าง  คือ  วิริยะ  สติ  สมาธิ  และปัญญา  และจะได้รับผลของการเจริญสติปัฏฐาน  คือกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกคืออุปาทานขันธ์ได้[4] 

     ในการปฏิบัติกัมมัฏฐานหรือสติปัฏฐานให้มีสรณะและศีลเป็นพื้นฐาน  เบื้องต้นให้ระลึกถึงสรณะทั้ง ๓  สำรวมกายวาจาให้เป็นศีล และเลือกข้อกัมมัฏฐาน  คือเลือกข้อปฏิบัติที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิ  เมื่อได้ข้อกัมมัฏฐาน  ให้เริ่มปฏิบัติโดยทำวิตก  คือการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ  หายใจเข้ารู้  หายใจออกรู้  และทำวิจาร  คือการคอยประคองจิตให้ตั้งในอารมณ์ของสมาธินั้น  หายใจเข้าก็ให้อยู่กับลมหายใจเข้า  หายใจออกก็ให้อยู่กับลมหายใจออก  หากว่าจิตออกไปเมื่อใดก็นำเข้ามาตั้งไว้ใหม่คอยประคองไว้ใหม่  หน้าที่ของผู้ปฏิบัติต้องให้จิตเข้ามาตั้งและดำรงอยู่อย่างนี้  จะทำให้จิตรวมกันตั้งอยู่ได้ดีไม่ต้องคอยจับอารมณ์  ตอนนี้เรียกว่า  อุเบกขา  คือการเพ่งดูเข้ามาข้างในจิตซึ่งสงบตั้งมั่น  รู้เห็นอยู่ที่จิตสงบตั้งมั่น  ดูอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร  ใช้อุเบกขารักษาจิตไว้ในกัมมัฏฐาน  ชั้นของสมาธิจะขึ้นไปเอง  ลมหายใจจะละเอียด  กายสังขารปรากฏและสงบเป็นกายานุปัสสนา  เมื่อจิตรู้กายสังขารแล้วจะเกิดปีติปราโมทย์  ให้กำหนดรู้ทั่วถึงปิตีให้รู้ทั่วถึงสุข  รู้ทั่วถึงจิตตสังขารและระงับจิตตสังขาร ขั้นนี้เป็นเวทนานุปัสสนา ขั้นต่อไปเป็นจิตตานุปัสสนา  ให้คอยห้ามจิตไม่ให้ติด  ไม่ให้พะวักพะวง  เมื่อมีนิมิตหรือวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น  คอยเปลื้องจิตและนำจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิต่อไป  จะทำให้เป็นจิตควรแก่งาน  นำมาปฏิบัติธรรมานุปัสสนาต่อ  โดยเริ่มจากการพิจารณารูปธรรมนามธรรมว่าไม่เที่ยงคือ  อนิจจานุปัสสนา  เมื่อได้อนิจจานุปัสสนาก็ได้วิราคะคือความสิ้นติดใจยินดีต่อกันไป  ให้กำหนดดูวิราคะว่าเป็นอย่างนี้เกิดขึ้นในจิต  เมื่อเกิดวิราคะแล้วนิโรธะความดับก็จะบังเกิดขึ้นติดต่อกันไปเอง  เป็นความดับทุกข์  จิตจึงเป็นจิตที่พ้นทุกข์  เป็นจิตที่ปลอดโปร่งจากทุกข์ทั้งหมด  ให้กำหนดดูนิโรธะต่อให้มากขึ้น  อาจจะเห็นสิ่งที่สละไม่ยึดถือนั้นโผล่ขึ้นมาอีก  ต้องตัดใจสละออกไป  แล้วก็แล่นออกไปไม่พะวงลังเลใจ  ในชั้นธรรมานุปัสสนานี้  เป็นการปฏิบัติละอภิชฌาคือความยินดี  โทมนัสคือความยินร้ายด้วยปัญญา  เป็นยอดของสติปัฏฐาน  ก็เป็นอันว่าสิ้นธุระของ  สติปัฏฐาน[5]

     การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในทางพระพุทธศาสนานั้น  มีหลายวิธีด้วยกันแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท  มีความเชื่อและยอมรับแนวการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตามที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแบ่งเป็น ๒ วิธี  คือ  สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน  และในมหาสติปัฏฐานสูตรมีกัมมัฏฐาน  ๒๑ วิธี  สำหรับให้ผู้ปฏิบัติได้กำหนดมีทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน  การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวสติปัฏฐาน  จิตจะมีสมาธิเกิดขึ้นมาเองได้โดยไม่ต้องกังวลกับสมถกัมมัฏฐาน  ใช้ได้กับบุคคลทุกจริต  และสามารถสำรวจผลการปฏิบัติได้จากโสฬสญาณ (ญาณ ๑๖)  ซึ่งเป็นเครื่องวัดถึงความเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัติ[6]  หัวข้อใหญ่ในการปฏิบัติโดยสรุปแล้ว ประกอบด้วยสิ่งที่ถูกกำหนดคืออารมณ์  อาการของการกำหนด  และผลที่เกิดขึ้น  อารมณ์สำหรับกำหนดมี ๒ อย่าง คือ  ลมหายใจและอิริยาบถ  ส่วนอาการของการกำหนดแจกได้ ๑๐ ประการ  คือ   (๑) กำหนดโดยความเป็นอารมณ์  (๒) กำหนดนามรูป  (๓) กำหนดอาการเกิด-ดับ  (๔) กำหนดโดยความเป็นของไม่เที่ยง  (๕) กำหนดโดยความเป็นทุกข์  (๖) กำหนดโดยความเป็นอนัตตา (๗) กำหนดเป็นวิราคะ-จางคาย  (๘) กำหนดเป็นนิโรธะ-ความดับ  (๙) กำหนดความเป็นปฏินิสสัคคะ-สละคืน  (๑๐) กำหนดความเป็นสุญญตา-หมดแล้ว  ตัวตนว่างจากสิ่งทั้งปวง  ส่วนผลที่เกิดขึ้นท่านอธิบายว่า  เกิดจากของแต่ละสิ่งที่ถูกกำหนด  และอาการกำหนด ๑๐ อาการ  จะเกิดญาณตั้งร้อยตั้งพันตั้งหมื่นตั้งแสนก็ได้  แล้วแต่จะเอาอะไรมากำหนด  การกำหนดเป็นญาณทุกชนิด  แต่สงเคราะห์ให้สั้นเข้า  ก็เหลือแค่ธัมมัฏฐิติญาณ  กับนิพพานญาณ   ผลที่เกิดขึ้นหรือญาณนี้มีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  ต้องสังเกตศึกษาจึงจะเห็นก็มี    เห็นได้ตรง ๆ  ก็มี[7]  

     การที่จะปฏิบัติได้ถูกต้องจะต้องศึกษาให้รู้เข้าใจจากคัมภีร์ที่บันทึกรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้รับการถ่ายทอดนำสืบกันมาโดยพระสาวกทั้งหลาย  และคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคที่พระสารีบุตรแสดงไว้ได้รับการยอมรับว่า  เป็นคัมภีร์เล่มแรกสำหรับผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน  พระสารีบุตรผู้แต่งคัมภีร์นี้ได้อธิบายความด้วยนัยและอรรถอย่างวิจิตรลึกซึ้งรวม ๓๐ เรื่อง หรือ  ๓๐ กถา  ในแต่ละกถามีเป้าหมายตรงกัน  คือเพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้แตกฉานในอรรถในธรรม  ในนิรุตติ  และในปฏิภาณ  วิธีการอธิบายของท่านคือ  บทที่เป็นพุทธวจนะหรือภาษิตของพระอานนท์ท่านจะอ้างที่มาไว้ด้วย  ส่วนที่เป็นของท่านจะไม่อ้างไว้  ต่อจากนั้นท่านจะอธิบายขยายความในส่วนที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงอธิบายไว้  ทั้งด้านอรรถและพยัญชนะได้อย่างผสมกลมกลืนสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง  เมื่อผู้ปฏิบัติศึกษาเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแล้ว  ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติของตนซึ่งมีความมั่นใจว่าจะไม่ผิดจากหลักการและยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญแพร่หลายยิ่งขึ้นไป[8]

     เนื้อหาที่กล่าวมาเป็นเพียงการสรุปจาก  “วิทยานิพนธ์การศึกษาเชิงวิเคราะห์  สติปัฏฐานกถาในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค”  ซึ่งถูกคัดเลือกตัดสินให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น  ๒๕๕๑  ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ผู้วิจัยมีซีดีในรูปแบบ word  และ pdf  พร้อมหนังสือเก็บเพชรจากวิทยานิพนธ์ดีเด่น  จำนวนจำกัดเพื่อแจกฟรี  หรือผู้ใดสงสัยการปฏิบัติ  หรือครูบาอาจารย์ท่านใดที่ต้องการจะแนะนำเสริมเติมแต่งให้สมบูรณ์สามารถติดต่อผู้วิจัยได้ที่  ๐๘๓๑๒๕๖๓๗๕    


            [1] พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พุทธธรรม  ฉบับปรับปรุงและขยายความ.

            [2] สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์  ในภาษาไทยบางทีใช้อย่างภาษาพูดว่า  ทุกขัง, อ้างใน  พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พุทธธรรม  ฉบับปรับปรุงและขยายความ, หน้า ๗๐.

            [3] พระภัททันตะ  อาสภเถระ,  การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน  ตามหลักสติปัฏฐาน ๔, (ชลบุรี : สำนักวิปัสสนามูลนิธิวิเวกอาศรม, ๒๕๔๑).

            [4] พระคันธสาราภิวงศ์, การเจริญสติปัฏฐาน, (ลำปาง : จิตวัฒนาการพิมพ์, ๒๕๔๑).

            [5] สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญสุวฑฺฒโน), การปฏิบัติกรรมฐาน, (กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒).

            [6] พระศรีวรญาณ (วิ) (บุญชิต  ญาณสํวโร ป.ธ. ๙ ), “หลักการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ในพระไตรปิฎก  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”, หน้า  ๓๐๑-๓๒๐.

            [7] พุทธทาสภิกขุ, วิธีฝึกสมาธิวิปัสสนา  ฉบับสมบูรณ์, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ สุนทรสาส์น, ๒๕๔๕). 

            [8] เสนาะ  ผดุงฉัตร, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์อานาปานัสสติกถา  ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค”.

หมายเลขบันทึก: 305937เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท