ปัจจัยเสี่ยงหวัด2009


อ.ดร.แอนน์ ชูแชท แห่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) กล่าวว่า คนที่ตายจากไข้หวัดใหญ่ H1N1, ไข้หวัดหมู, หรือหวัด 2009 ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีโรคอื่นเป็นพื้นฐาน เช่น หอบหืด ฯลฯ [ Reuters ]

เด็กๆ ที่เป็นโรคเลือดจางพันธุกรรมชนิด sickle cell ซึ่งพบบ่อยในคนผิวดำ (อาฟริกัน-อเมริกัน) ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากหวัด 2009 เพิ่มเช่นกัน

...

CDC ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ใหญ่ 1,400 ราย เด็ก 500 รายที่เป็นคนไข้ในจากหวัด 2009 ใน 10 รัฐพบว่า

คนที่ป่วยหนักที่สุดและตายมากที่สุดมีอายุต่ำกว่า 65 ปี (แสดงว่า พวกเราส่วนใหญ่นี้รอดยากทั้งนั้น) ในจำนวนนี้พวกที่เสี่ยงมากหน่อย คือ วัยรุ่นกับคนอายุน้อย (ตรงนี้อาจทำให้หลายๆ คนโล่งใจขึ้นมาทันที!)

...

คนไข้ผู้ใหญ่ที่อาการหนัก 55% หรือกว่าครึ่งหนึ่ง มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน ที่พบบ่อยได้แก่ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เอดส์ ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหลังปลูกถ่ายอวัยวะ

6% ของคนไข้อาการหนักตั้งครรภ์ กลไกที่เป็นไปได้ คือ การตั้งครรภ์ทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง เพื่อไม่ให้ภูมิต้านทานโรคของแม่ไปทำลายลูก (ทางชีววิทยาถือว่า ลูกเป็นสิ่งแปลกปลอมขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายคน)

...

กลไกต่อไป คือ ปอดของคนที่ตั้งครรภ์ได้รับแรงกดดันจากช่องท้อง (จากลูก + น้ำคร่ำ + รก + มดลูกที่โตขึ้น)

เด็กที่อาการหนักเกือบทั้งหมดมีโรคอยู่ก่อน เช่น หอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคระบบประสาท-สมอง โรคระบบประสาท-กล้ามเนื้อ โรคเลือดจางซิคเคิลเซลล์ (พบในคนผิวดำ) ฯลฯ

...

โรคที่พบบ่อยในเด็กอาการหนักสหรัฐฯ คือ โรคเลือดจางซิคเคิลเซลล์ ซึ่งพบมากถึง 5.8%

คนไข้หนักอีก 45% หรือเกือบครึ่งไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน เพราะฉะนั้นทุกคนไม่ควรประมาทหวัด 2009 จนเกินไป ขอให้ร่วมมือกันล้างก๊อก-ล้างมือด้วยสบู่ (ถ้าไม่ล้างก๊อกจะติดเชื้อจากก๊อกน้ำ), ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์, หลีกเลี่ยงการเข้าไปในห้องที่อากาศถ่ายเทไม่ดี โดยเฉพาะห้องแอร์, และไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดเสี่ยงเสียชีวิตจากหวัด 2009

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 ติดตามบล็อกของเราได้ทางทวิตเตอร์ > [ Twitter ]

ที่มา                                                                      

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 14 ตุลาคม 2552.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 305844เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท