อบรมนักบริหารมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ(นบก.) รุ่นที่13 (14)


บริหารวิชาการ

การบริหาร:การบริหารงานวิชาการอุดมศึกษา

วิทยากร : ผศ. ดร. สุดารัตน์  สารสว่าง

วันที่ 8 ตุลาคม 2552 เวลา 13.00-16.30 น

สรุปองค์ความรู้โดย

            1.นายชุบศร ทัศนขนิษฐากุล มหาวิทยาลัยขอนแก่น

            2.นางกัญญา ตั้งเกียรติกำจาย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

            3.นางสาวราวดี ปฏิบัติวงศ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

สรุปสาระสำคัญ

ภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา มี  4 ด้าน ได้แก่  ผลิตบัณฑิต  วิจัย  บริการทางวิชาการ และทะนุบำรุงศิลปะ และวัฒนธรรม  โดยงานทางด้านวิชาการถือว่าเป็นหัวใจของสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากเป็นจุดมุ่งหมายหลักของสถานศึกษา ที่จะสร้างผู้เรียนให้มีคุณภาพ มีความรู้ มีจริยธรรม และคุณสมบัติตามที่ต้องการ เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมต่อไป

ขอบข่ายของงานวิชาการ

             เป็นงานบริหารหลักสูตรการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ  มีขอบข่ายครอบคลุม ตั้งแต่การวางแผนเกี่ยวกับงานวิชาการ การจัดดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียนการสอน การจัดบริการการสอน การวัด ติดดามผลและประเมินผล รวมถึงสื่อการสอน  การดำเนินงานวิชาการจะต้องเป็นไปตามหลักสูตร และระเบียบพิธีการของการเรียนการสอน ได้แก่

  • การปรับปรุงหลักสูตร โดยต้องเตรียมล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน
  • การวางแผนเกี่ยวกับงานวิชาการ เช่นการบริการของห้องสมุดแก่อาจารย์
  • การจัดเนื้อหาวิชาการให้ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของสังคม โดยสอบถามจากผู้ใช้นักศึกษา
  • การจัดดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียนการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
  • การเพิ่มวิชาใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริงกับผู้เรียน
  • การจัดบริการการสอน  การจัดตารางสอน  การจัดชั้นเรียน

หลักการบริหารงานวิชาการ

                        หลักแห่งประสิทธิภาพ หมายถึง การได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยไม่เพิ่มการลงทุน คือ นักศึกษาสามารถสำเร็จการศึกษาตามกำหนดของหลักสูตร โดยไม่ลาออกกลางคัน เรียนเกินเวลา และช้ากว่ากำหนด

หลักแห่งประสิทธิผล หมายถึง ผลผลิตได้ตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ คือ นักศึกษามีคุณภาพตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรมีคุณภาพตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร มีความรู้ความสามารถ  มีทักษะสูง พร้อมทำงานได้

ความท้าทายปัจจุบันต่อการอุดมศึกษาไทย

  • ระบบ TQF การประกันคุณภาพ
  • ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
  • การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย
  • นโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการอุดมศึกษา
  • การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย
  • การเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค           (Education Hub)
  • ความเป็นเลิศทางวิชาการ และได้บัณฑิตที่มีคุณธรรม เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
  • ผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด
  • การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา (กองทุน กยส)
  • การแก้ปัญหาบัณฑิตตกงาน

กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ  (National Qualification Framework of Higher Education NQF)

 เป็นการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ที่คาดหวังของบัณฑิตทุกระดับในอุดมศึกษา เพื่อประกันมาตรฐานผลการเรียนรู้ของบัณฑิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ และระหว่างประเทศ   เป็นกรอบอ้างอิงในการประกันคุณภาพการศึกษา และเทียบเคียงการเทียบโอนนักศึกษาระหว่างสถาบัน   ประกอบด้วย

มาตรฐานคุณวุฒิ     การกำหนดคุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับ

มาตรฐานผลการเรียนรู้ของบัณฑิตแต่ละระดับ 5 ด้าน

  • ด้านคุณธรรม ได้แก่ ประพฤติดี ปรับชีวิตได้อย่างเหมาะสมท่ามกลางความขัดแย้ง มีหลักคิดเชิงคุณธรรมทั้งส่วนตัว และสังคม
  • ด้านความรู้ ได้แก่ ความรู้บนพื้นฐานข้อเท็จจริง  นำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง  เข้าใจหลักการแนวคิด ทฤษฎี
  • ด้านทักษะเชาวน์ปัญญา ได้แก่ สามารถวิเคราะห์สถานการณ์  สามารถประยุกต์ความรู้ แนวคิด หลักการใช้คิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
  • ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความรับผิดชอบ ได้แก่ สามารถทำงานเป็นทีม มีภาวะผู้นำ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม  สามารถวางแผนและรับผิดชอบในการเรียนรู้ของตน
  • ด้านทักษะการวิเคราะห์และการสื่อสารได้แก่ สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถใช้เทคนิคพื้นฐาน

วิธีการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย

            มีการเปลี่ยนแปลงจากการบรรยายอย่างเดียวในชั้นเรียนไปสู่ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่อาจารย์และนักศึกษาได้ร่วมกันวางแผนการเรียนรู้  การแสวงหาแหล่งข้อมูลและแหล่งเรียนรู้  การทำงานเป็นทีมหรือการใช้กระบวนการกลุ่ม  การเผชิญสถานการณ์และกรณีปัญหา  การค้นคว้าทดลองและพิสูจน์โจทย์ที่ท้าทาย  การเรียนรู้จากสถานการณ์จำลอง หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง  การค้นพบความรู้ได้จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสื่อสารสนเทศมากมายทั่วโลก 

มีการบูรณาการ จากการฟัง บรรยาย การทดลอง  การลงมือปฏิบัติ การค้นพบคำตอบ  เป็นการเชื่อมโยงบทเรียนกับสภาพจริงของธรรมชาติและชุมชน    ป็นการผสมผสานศาสตร์ต่างๆ นำไปสู่การประยุกต์ใช้ที่ได้ผล  เรียนรู้จากการเรียนรู้ รู้คิด รู้ทำ  และรู้ทบทวนผลการเรียนรู้ เช่นนี้ สืบต่อไปตลอดชีวิต

แนวโน้มการอุดมศึกษา

  • ภารกิจ 4 ด้าน จะบูรณาการกันมากขึ้น
  • สถาบันอุดมศึกษาไร้พรหมแดนเพิ่มขึ้น
  • ชุมชน  ประเทศ  และโลก เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย
  • เครือข่ายทุกรูปแบบเพิ่มพูนศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษา
  • สถาบันอุดมศึกษาเพื่อปวงชน  เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพิ่มขึ้น

สิ่งที่ต้องปรับ

ด้านหลักสูตร สัดส่วนภาคปฏิบัติ  ภาคสนามในแต่ละรายวิชาเพิ่มขึ้น  รายวิชาประเภท discipline - based  ลดลง    รายวิชาประเภท project - based , problem - based , independent study , seminar , workshop  เพิ่มขึ้น      รายวิชาบูรณาการมากขึ้น    เชื่อมโยงกับโลกของงานและชุมชนมากขึ้น      

 

ด้านการเรียนการสอน  การค้นคว้า การอ่าน การเขียนการสรุปความ การนำเสนอ การแสดงความคิดเห็น  การตั้งคำถาม  การเขียนโครงการ    การลงมือปฏิบัติจริง  การฝึกภาคสนาม  การฝึกงาน  ทักษะการใช้ภาษา  ทั้งไทยและอังกฤษ  และคอมพิวเตอร์   การฝึกคิดและวิเคราะห์  การริเริ่มสร้างสรรค์  การเปิดโลกทัศน์ โดยผู้รู้ที่หลากหลาย

ด้านกิจกรรมนอกหลักสูตร  การเสริมสร้างสุขภาพกายและจิต  การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  การพัฒนาบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์  การเพิ่มพูนสุนทรีย์ทางศิลปะและดนตรี  การเพิ่มพูนทักษะการสื่อสาร  การเพิ่มพูนทักษะผู้นำ  เป็นต้น

ด้านการวัดและประเมินผล   ไม่ใช่วัดด้วยการสอบวัดความรู้ทางวิชาการอย่างเดียว  แต่วัดให้สอดคล้องกับกิจกรรม ได้แก่ วัดผลของงานเช่น รายงาน  การนำเสนอ  การสรุป   วัดทักษะพื้นฐานวิชาชีพและวิชาการตามเกณฑ์มาตรฐานของวิชา   วัดสมรรถนะ (Competency) ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้  เช่น  ความสามารถในการใช้ภาษา  คอมพิวเตอร์  ความรู้พื้นฐาน  ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล  ความสามารถในการใช้เหตุผล เป็นต้น

ด้านคณาจารย์  ขยายคำจำกัดความให้กว้างกว่าคณาจารย์ประจำ   มีคณาจารย์มากมายหลายรูปแบบในแหล่งความรู้ต่าง ๆ   ปรับบทบาทเป็น facilitator และกัลยาณมิตร   บูรณาการภารกิจ 4 ด้าน   วิจัยและพัฒนาควบคู่ไปกับบทบาทใหม่ สร้างองค์ความรู้และสื่อด้านภูมิปัญญาไทยมากขึ้น เป็นตัวอย่างของบัณฑิตที่พึงประสงค์ให้แก่ศิษย์

ด้านการบริหารจัดการ  การปฏิรูปหลักสูตร  การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนและการวัดผล  การปฏิรูประบบที่เกี่ยวข้อง เช่น  ห้องสมุด  ตำแหน่งทางวิชาการ   ตารางสอน  การวิจัย  การบริการวิชาการ  การเทียบโอนหน่วยกิต  Demand - Side Management  มากขึ้น   

ด้านการพัฒนาเครือข่าย สร้างเครือข่ายสถาบัน ภาคเอกชน และชุมชน  เพื่อระดมทรัพยากรบุคคลทั้งในและนอกสถาบัน  ระดมทรัพยากรทางกายภาพ  เชื่อมโยงใกล้ชิดกับกลุ่มชุมชนและท้องถิ่น  พัฒนาภูมิภาค  ชุมชน  สถาบันให้เข้มแข็ง  เปิดโลกกว้างให้แก่นักศึกษาและบุคลากร  บัณฑิตพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  ผลงานองค์ความรู้เพิ่มขึ้น

ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้    อุปสรรคของฝ่ายบริหาร และคณาจารย์ คือ หลักสูตรที่ต้องปรับปรุงทุก 4-5 ปี     การทำวิจัย ทำผลงานวิชาการ บริการวิชาการให้สังคม  ความไม่พร้อมของห้องเรียน อุปกรณ์สื่อการสอน

การลงทะเบียน ตารางเรียนสับสน  ยังไม่มีการพัฒนาผู้เรียนให้พร้อมและมีความสุข อาจารย์ต้องทำงานบริหารและธุรการไม่มีเวลาเพิ่มพูนความรู้    บุคลากรสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ มีบทบาทในการดำเนินงานเพื่อเอื้อให้งานการสอนของคณาจารย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยอำนวยความสะดวกในการจัดทำและใช้สื่อการสอน การจัดสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ การจัดหาวัสดุทางการศึกษา เช่น การจัดห้องสมุด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของทั้งคณาจารย์และผู้เรียน  การอำนวยความสะดวกในงานที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน เช่นการลงทะเบียน การจัดตารางเรียน การพัฒนาผู้เรียน โดยใช้มาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาในมาตรฐานที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนเป็นแนวทางในการประกันคุณภาพงาน การสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ กับคณาจารย์จะนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ มีความรู้ มีจริยธรรม และคุณสมบัติตามที่ต้องการ

แนวทางการประยุกต์ใช้

            ทราบและเข้าใจบทบาทของงานสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ ต่องานบริหารวิชาการ ในการที่จะเอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินงานตามกรอบมาตรฐานอุดมศึกษาแห่งชาติ ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ  และแนวโน้มที่ต้องปรับเปลี่ยนของงานบริหารวิชาการ  

สามารถนำความรู้ที่ได้ไปสู่การปรับรูปแบบวิธีทำงานที่ต้องเชื่อมโยงและบูรณการมากขึ้นระหว่างคณาจารย์  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานศึกษาต่างๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับภาคเอกชน และชุมชน

สามารถวิเคราะห์ปัญหาการบริหารงานวิชาการในด้านหลักๆ เช่น ด้านหลักสูตรและการสอน  ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ด้านอุปกรณ์ สื่อการสอน  ด้านการพัฒนาผู้เรียน และบุคลากร  ด้านบริการ  ให้ได้สาเหตุที่แท้จริง และวางแผนพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสร้างระบบประกันคุณภาพงานในภารกิจหลักดังกล่าว

หมายเลขบันทึก: 305422เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 07:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครบถ้วนจริงๆค่ะพี่เพียว

หนูขออนุญาตแนะนำให้ นบก.รุ่น 14 ติดตามนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท