เครือข่าย KM เบาหวานและ CoPs เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (๑)


อยากรู้ว่ามีใคร เขาทำอะไร อย่างไรกันบ้าง โครงการหรือแผนงานต่างๆ โดยเฉพาะที่รับการสนับสนุนจาก สสส. เข้าใจและใช้ KM อย่างไร

เมื่อวันที่ ๕-๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ ดิฉันได้รับเชิญให้ไปนำเสนอเรื่องการจัดการความรู้ในการประชุมที่มีหัวข้อน่าสนใจว่า ชุมชนนักปฏิบัติเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน (Community of Practice for Sustainable Health Promotion) จัดโดยโครงการติดตามและประเมินผลภายนอก กลุ่มแผนงานพัฒนาบุคลากรสุขภาพ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) ร่วมกับ เครือข่ายบุคลากรสุขภาพสหวิชาชีพแนวใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง

ทีมผู้จัดการประชุมขอจองวันเอาไว้นานแล้ว ดิฉันตั้งใจจะไปร่วมประชุมทั้ง ๒ วัน ส่วนหนึ่งเพราะอยากรู้ว่ามีใคร เขาทำอะไร อย่างไรกันบ้าง โครงการหรือแผนงานต่างๆ โดยเฉพาะที่รับการสนับสนุนจาก สสส. เข้าใจและใช้ KM อย่างไร

ก่อนหน้าไปประชุมมัวยุ่งกับการจัด KM Workshop ที่ อ.ขนอม (อ่านที่นี่) เมื่อเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ตอนเย็นวันที่ ๔ ก็รู้สึกว่าควรพักผ่อนเสียก่อน เลยเข้านอนเร็วและตั้งนาฬิกาตื่นมาเตรียมการนำเสนอตอน ๐๓ น. ผู้จัดการประชุมมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบห้องประชุมและแจ้งว่าให้เวลาการนำเสนอคนละ ๑๒ นาที

ดิฉันไม่รู้ชัดเจนว่าทีมผู้จัดการประชุมประสงค์จะให้นำเสนองานโครงการไหน แต่ความที่อยากเข้าประชุมจึงเตรียมข้อมูลไป ๓ โครงการ คือ

  • เครือข่าย KM เบาหวาน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยการสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ที่ทำให้ดิฉันรู้จักและเข้าใจ KM เราใช้ KM เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวานผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ
  • แผนงานพัฒนาเครือข่ายพยาบาลศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ระยะที่ ๒.๑ โดยการสนับสนุนของ สสส. ซึ่งดิฉันได้นำประสบการณ์จากเครือข่าย KM เบาหวานมาใช้ แต่ทำงานได้เพียงไม่กี่เดือนในปี ๒๕๕๑ ก็ต้องชะงักไปเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทีมจัดการแผนงานฯ
  • โครงการจัดการความรู้สุขภาวะชุมชน ที่สนับสนุนโดย สสส. มีระยะเวลาทำงาน ๑ ปี ระหว่างตุลาคม ๒๕๕๑-พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ซึ่งดิฉันพยายามใช้ KM เป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายคนทำงานทั้งที่เป็นชาวบ้าน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาชุมชน (NGOs) และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นต่างจากเครือข่าย KM เบาหวาน ไม่รู้ว่าจะมีผลลัพธ์เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

ภายในเวลาของการนำเสนอสั้นๆ ดิฉันจึงเตรียมไปเล่าว่า KM ที่ดิฉันใช้คืออะไร มีเทคนิควิธีการและกิจกรรมอะไรบ้าง ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ดิฉันเตรียมหนังสือ “เรื่องเล่าเบาหวาน” เล่ม ๑ และ ๒ ไปฝาก รศ.อรทัย อาจอ่ำ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ด้วย

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 305113เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทำงานเบาหวานเช่นกัน ครับ ยินดีที่ได้รู้จักครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท