คนไทยแต่งน้อยลง-หย่ามากขึ้น


เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์คุณภาพ ฉบับ 10 ตุลาคม 2552 ตีพิมพ์เรื่อง "ชายนิสัยห่วยซวยแล้ว 'หญิงยุคใหม่' " ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ขอความกรุณาแวะไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ 'เดลินิวส์' และภาพกราฟเปรียบเทียบจากท่านอาจารย์ 'micropohling' & 'swivel.com by micropohling' กันครับ

...

[ บทความคัดลอกจาก "เดลินิวส์" & กราฟจาก 'micropohling & swivel.com' ]

 [micropohling]

ภาพที่ 1: กราฟเปรียบเทียบความพึงพอใจในชีวิตระหว่างคนที่แต่งงานแล้ว (married) - แต้มสีฟ้าน้ำทะเล, หย่าร้าง (divorced) - แต้มสีเหลืองกลัก, และไม่เคยแต่งงาน (never married) - โสด (single) - แต้มสีดำ > Thank [micropohling]

ภาพรวม คือ คนที่แต่งงานแล้วมีความพึงพอใจในชีวิตมากที่สุด รองลงไปเป็นคนโสดหรือไม่เคยแต่งงาน และคนที่หย่าร้างตามลำดับ 

...

เรื่องของชีวิตนั้น... ถ้าได้สิ่งที่ดีที่สุดเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด ได้สิ่งที่ดีรองลงไป ขอให้ใช้ยา "ทำใจ" เพื่อให้มีความสุขกับสิ่งที่ดีรองลงไปให้ได้ และขอให้กำลังใจทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนครับ

...

'โสดก็ได้' ไม่กลัว !!

"การจดทะเบียนสมรสมีปริมาณลดลง แต่สถิติการหย่าร้างมากขึ้น !!” ...นี่เป็นสถานการณ์การใช้ชีวิตคู่เป็น “ภรรยา-สามี” กันอย่างถูกต้องตามกฎหมายของคนไทยในยุคปัจจุบัน จากการเปิดเผยของทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์สถิติในช่วง 10 ปีมานี้

...
    
ทั้งนี้ จากสถิติที่เริ่มเก็บตั้งแต่ปี 2542 พบว่า... ในปีที่เริ่มเก็บสถิติ คนไทยชาย-หญิงมีการจดทะเบียนสมรส 354,198 คู่ มีการหย่าร้าง 61,377 คู่

แต่พอถึงปี 2551 การสมรสมีเพียง 318,496 คู่ ขณะที่การหย่าร้างกลับพุ่งสูงลิ่ว 109,084 คู่ อันสืบเนื่องจากแนวคิด-ค่านิยมใหม่ ๆ ในสังคมไทยปัจจุบัน  

...
    
สังคมไทยปัจจุบัน การอยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียนสมรสได้รับการยอมรับมากขึ้น ขณะที่ความ “เบี่ยงเบนทางเพศ” มีมากขึ้น...รวมถึงในผู้หญิง ค่านิยมที่เห็นว่าการมีครอบครัวเป็นภาระมีมากขึ้น

เหล่านี้ทำให้การจดทะเบียนสมรสลดลง ขณะที่สังคมปัจจุบันที่ทั้งสามีและภรรยาต่างต้องทำงาน และรวมถึงค่านิยมการ “มีกิ๊ก” ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ก็ทำให้การแยกทาง-การหย่าร้างกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

...
    
ข้อมูลข้างต้นนี้บ่งบอกถึงสถานการณ์ครอบครัวไทย...
    
และยุคนี้ “หญิงไทย” ก็ “พร้อมเป็นโสด” มากขึ้น !!

...
    
จากการสำรวจวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ของเว็บไซต์หาคู่ นัดเดท ดอทคอม (NadDate.com) ซึ่งเป็นการสำรวจกลุ่มหญิงไทยวัย  ทำงานอายุระหว่าง 25-40 ปีทั่วประเทศ ที่มีรายได้ 10,000 บาทขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,500 คน

โดยใช้แบบสอบถามและบางส่วนใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก ทาง นทีทอง ทองไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิร์วานา จำกัด ผู้บริหารเว็บไซต์ดังกล่าวนี้ เผยว่า... จากงานวิจัยพบว่าผู้หญิงมีความคิดเห็นเป็นของตนเองมากขึ้น พึ่งพิงตนเองมากขึ้น และต้องการเป็นคนเลือก โดยจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตน

...
    
ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ... ผู้หญิงไทยสมัยนี้เห็นความ   จำเป็นหรือต้องการพึ่งผู้ชาย เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น อีกเกือบ ร้อยละ 40 คิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งผู้ชาย !!

ขณะที่กว่าร้อยละ 60 คิดว่าพึ่งพาบ้างเป็นครั้งคราวก็พอในยามที่ต้องการสมดุลทางด้านของอารมณ์ ความรัก ความรู้สึก ความเป็นเพื่อน ซึ่งผู้ชายสามารถเติมเต็มให้ผู้หญิงได้ หรือพึ่งพาด้านความปลอดภัย ให้ผู้ชายมาปกป้องดูแลในช่วงที่ต้องการ

...
    
ยุคนี้ ผู้หญิงไทยสมัยนี้ มีแนวคิดที่จะแต่งงานก็ต่อเมื่อมีความพร้อมด้านสถานะทางสังคม เช่น มีหน้าที่การงานที่ดี มีความพร้อมทางด้านการเงิน และมีความพร้อมทั้งในครอบครัวของฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
    
“ผู้หญิงไทยยุคนี้คิดว่าอายุที่พร้อมจะแต่งงานคือ 26-30 ปี ถ้าเลยช่วงนี้ เกือบร้อยละ 90 จะเริ่มกังวลกลัวจะขึ้นคาน แต่ 
ถึงจะกังวล ผู้หญิงยุคใหม่ก็มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปที่จะ ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว คิดว่าถ้าหาผู้ชายที่ดี ๆ ไม่ได้ ก็อยู่เป็นโสด  ดีกว่า !!” ...ผู้บริหารเว็บไซต์นัดเดทดอทคอมระบุ

...
    
ผู้ชายไทยที่เคยคิดว่าถือแต้มต่อเหนือผู้หญิง...ฟังไว้    
    
ยุคนี้แม้เก้งกวางเยอะ...แต่ผู้หญิงก็กลัวคานน้อยลง 

...
    
ทั้งนี้ กับสถานการณ์ชีวิตคู่ที่ผู้หญิงไทยกลัวการไร้คู่น้อยลง นี้ วันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวไทย สะท้อนผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า... ด้วยสังคมที่เปลี่ยน ความเป็นปัจเจกสูงขึ้น อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน เอาตัวรอด ความสัมพันธ์ ความผูกพันในการต้องเป็นครอบครัว ก็มีน้อยลงไป
    
“ผู้หญิงไทยทำงานมากขึ้น พึ่งพิงผู้ชายน้อยลง และมีโอกาสเลือกคู่ด้วยตนเองมากขึ้น พ่อแม่ไม่ได้บีบคั้น ผู้หญิงยุคนี้จึงไม่มีภาวะกดดันที่จะต้องมีคู่ครอง” ...ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวไทยชี้

...
    
ขณะที่ รศ.ชาย โพธิสิตา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า... ผู้หญิงไทยสมัยใหม่มีการศึกษา-มีอิสระทางเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาใคร และก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนผู้ชาย ซึ่งพวกเธอก็มีความสุขในจุดนี้

ความสำคัญของการต้องมีชีวิตคู่เป็นครอบครัวก็ลดน้อยลงไป และการที่ประชากรชายลดลง มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิง ไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุหรือโรคต่าง ๆ รวมถึงการที่ผู้ชายกลายเป็นเพศที่สาม เหล่านี้ก็ทำให้ภาวการณ์มีคู่ของผู้หญิงเกิดยากขึ้น ทำให้ผู้หญิงแต่งงานช้าลง-น้อยลง 

...
    
“อย่างไรก็ตาม การไม่มีคู่เป็นครอบครัว หรือการเป็นครอบครัวเดี่ยว-ครอบครัวขยาย ความสำคัญคงไม่ได้อยู่ตรงนี้ ความสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า ปัจจุบัน และอนาคต ใครจะอยู่กับใคร และใครจะดูแลใคร

ความสำคัญอยู่ตรงนี้มากกว่า !! ซึ่งนับวันจะมีผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งให้อยู่คนเดียวมากขึ้น ขณะที่แนวโน้มที่คนไทยจะอยู่คนเดียว ไม่มีคู่ ก็มากขึ้น” ...นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรฯ สะท้อนผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ซึ่งกับประเด็นใครจะดูแลนี้ ก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงที่คิดว่าไม่มีคู่ก็ไม่เห็นเป็นไร... จะคิดยังไง ?

...
    
แต่ ณ ที่นี้ก็มิใช่จะชี้ว่าหญิงไทยต้องมีคู่-ไม่มีคู่แล้วไม่ดี
    
เป็นแต่เพียงสะท้อนสถานการณ์ชีวิตคู่ของคนไทยยุคนี้
    
ชายแท้โสด ๆ เหลือน้อย...แต่ถ้าห่วย...หญิงก็ไม่สน !!

...

[ ขอขอบพระคุณ "เดลินิวส์" & Thank recommended blog & website, 'micropohling & swivel.com' ] / อาจารย์ micropohling อ้างที่มาจาก 'worldvaluessurvey.com'

หมายเลขบันทึก: 304884เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท