แสนปราชญ์
พระอาจารย์ แสนปราชญ์ ฐิตสัทโธ เสาศิริ

ผลงานวิชาการ "วิทยานิพนธ์ดีเด่น" การศึกษาเชิงวิเคราะห์สติปัฏฐานกถาในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค (วิปัสสนาของพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตร)


วิทยานิพนธ์ดีเด่น วิปัสสนาของพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตร

ผลงานวิชาการ “วิทยานิพนธ์ดีเด่น”

การศึกษาเชิงวิเคราะห์สติปัฏฐานกถาในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค
(การปฏิบัติวิปัสสนาของพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตร)

                “วิปัสสนา”  เป็นคำที่ได้ยินได้ฟังกันมาก  และใช้กันมากจนเกิดปัญหาสำหรับผู้ปฏิบัติหรือผู้ศึกษาที่มาใหม่  สำนักแต่ละสำนักต่างยืนยันหลักการและวิธีการของตนเองว่าถูกต้องตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  แต่ผู้ที่สามารถแสดงหลักการวิปัสสนาที่เป็นเนื้อแท้ตรงแท้ตามหลักการและวิธีการของพระพุทธเจ้าได้ดีที่สุดคือ “พระสารีบุตร”  และพระสารีบุตรท่านแสดงได้อย่างจะแจ้งชัดเจนว่า  หลักการปฏิบัติวิปัสสนาของพระพุทธเจ้ามีเพียง ๔ อย่าง  คือ  (๑) วิปัสสนามีสมถะนำหน้า  (๒) สมถะมีวิปัสสนานำหน้า  (๓) สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กันหรือพร้อมกัน  (๔) เมื่อจิตเขวด้วยธรรมุธัจจ์ หรือ จิตฟุ้งด้วยวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง  มีแสงสว่าง  เป็นต้น

               ท่านชี้ชัดว่าวิปัสสนาคือ  การยกจิตเข้าสู่ไตรลักษณ์ให้เห็น  อนิจจัง   ทุกขัง  อนัตตา  โดยหลักการและวิธีการที่พระพุทธองค์ทรงแสดงวิปัสสนาไว้สมบูรณ์ที่สุดอยู่ใน  “มหาสติปัฏฐานสูตร”   เป็นหลักการวิธีการปฏิบัติวิปัสสนามีสมถะนำหน้า  ยกตัวอย่าง  การตามดูลมหายใจเข้า-ออก  ในตอนแรก  เป็นสมถะ  และเมื่อมีสติพิจารณาเห็นธรรม(ลมหายใจ)ที่เกิดในกาย  เห็นธรรม(ลมหายใจ)ที่ดับในกาย  โดยไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ  ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรในโลก  สภาวะอย่างนี้จึงเป็นวิปัสสนา

                ผู้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนา  อุปมาเหมือนนักมวยสากลสมัครเล่น  ที่มีกฎกติกาการให้คะแนน  ถ้าชกโดยส่งกำลังออกจากหัวใหล่  แล้วใช้ส่วนหน้าของหมัด(ที่เป็นสีขาวที่อยู่บริเวณหน้านวม) ชกโดนคู่ต่อสู้จะเป็นหน้า  ลำตัว  หรือส่วนไหน ๆ ก็จะได้คะแนน  ถ้าเป็นสันมือ  หรือการชกในลักษณะเหวี่ยงหมัดจะไม่ได้คะแนน  วิปัสสนาในพระพุทธศาสนามีคะแนนการปฏิบัติเช่นเดียวกัน          ผู้ปฏิบัติที่ฉลาดต้องรู้ด้วยตนเองว่าได้คะแนนหรือไม่  ซึ่งการได้คะแนนก็คือการกำหนดยกจิตเข้าสู่ไตรลักษณ์ได้อาจจะเห็นอนิจจัง  หรือทุกขัง  หรืออนัตตา  แล้วเกิดความเบื่อหน่ายในสังขาร  เกิดลักษณะอาการคลายกำหนัด  อาการราคะดับ  สุดท้ายมีสภาวะไม่ยึดมั่นถือมั่น  อย่างนี้  เรียกว่าได้คะแนน  แต่ถ้าเพียงบริกรรมเฉย ๆ แล้วใจสงบ  สบาย  ไม่เห็นไตรลักษณ์อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ไม่ได้คะแนน  เหมือนนักมวยสากลที่ชกไม่โดน  หรือชกไม่ถูกตามกฎการให้คะแนน  เหวี่ยงหมัดบ้าง  ขว้างหมัดบ้าง  ซึ่งมีประโยชน์เพียงการป้องกันคู่ต่อสู่ไว้ไม่ให้บุกเข้ามา  คะแนนจากการกำหนดอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  จะกัดกร่อนกิเลสทีละเล็กทีละน้อยจนในที่สุดทำไปด้วยวิระยะ(ความเพียร) ก็สามารถน็อคกิเลสได้  ดับทุกข์  พ้นทุกข์  ได้จริง  สติปัฏฐานมีลักษณะการทำงาน  หรือหน้าที่ตามสภาพกำลังของสติได้ ๔ อย่าง  คือ

                ๑.      สติที่มีกำลังหน้าที่  “กั้น”  ความชั่ว  กั้นอกุศล (สมถะ)

                ๒.    สติที่มีกำลังหน้าที่  “เจริญ”  ความดี  พัฒนากุศล

                ๓.     สติที่มีกำลังหน้าที่  “ฆ่า”  ความชั่ว  ปหานอกุศล (วิปัสสนา)

                ๔.     สติที่มีกำลังหน้าที่  “รักษา”  ความดี  รักษากุศล

 

                เมื่อความมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา  คือ  การดับทุกข์  หรือการพ้นจากทุกข์  จึงมีพระพุทธพจน์ที่ระบุชี้ชัดว่าหลักการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์  หรือพ้นจากทุกข์  คือ  “สติปัฏฐาน” ซึ่งเป็นเพียงวิธีเดียวเท่านั้น  เป็นการยืนยันถึงหลักการและวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจนของพุทธธรรม  “สติปัฏฐาน”  จึงเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาวพุทธที่ถูกรักษาถ่ายทอดสืบต่อ ๆ กันมา  แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง  “สติปัฏฐาน”  ก็เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกนำมาอธิบายขยายความวิพากษ์วิจารณ์ตีความไปในลักษณะต่าง ๆ  ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง  

               ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้แสดงสติปัฏฐานด้วยพระองค์เองซึ่งปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎกพบว่า  พระองค์ทรงได้อธิบายขยายความของสติปัฏฐานในหลากหลายรูปแบบหลายลักษณะ  ครอบคลุมหลักพุทธธรรมและหลักการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาทั้งหมด  ทรงแสดงตั้งแต่หลักพื้นฐาน ทั่ว ๆ  ไปจนไปถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา  คือ  “ความดับทุกข์”  ทรงตรัสแสดงในฐานะเป็นพุทธบัญญัติบ้าง  ในฐานะหลักธรรมคำสอนบ้าง  ทรงแสดงเต็มรูปแบบบ้าง  ทรงแสดงเพียงบางส่วนบ้าง  ทรงแสดงไว้เป็นการเฉพาะและทรงแสดงไว้ในชื่อกัมมัฏฐานอื่นบ้าง และทรงตรัสแสดงเพื่อเชื่อมโยงหรือขยายไปสู่หลักธรรมอื่น ๆ  ซึ่งมีคำอธิบายทั้งในด้านหลักการและวิธีปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนโดยเฉพาะใน “มหาสติปัฏฐานสูตร” มีรายละเอียดสมบูรณ์เต็มรูปแบบเพียงพอต่อการนำไปปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ด้วยตนเอง      

             ในสมัยเดียวกันนั้น  “พระสารีบุตร”  อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า  เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า  เป็นผู้มีปัญญามากสามารถอธิบายธรรมะได้อย่างแตกฉานพิสดาร  ซึ่งท่านได้อธิบายสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หลากหลายนั้นด้วยการสรุปลงที่หลักการของ “ปัญญา”  หรือ  “วิปัสสนา”  เป็น “วิปัสสนาล้วน” ว่าด้วยการกำหนดพิจารณากาย  เวทนา  จิต  ธรรม  ให้เห็นเป็น  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  แล้วจะเบื่อหน่าย  คลายกำหนัด  ราคะดับ  ไม่ยึดมั่นถือมั่น  สติปัฏฐานที่ท่านอธิบายมีชื่อว่า “สติปัฏฐานกถา” [๑]  อยู่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค  พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑  ถือกันว่าเป็นปกรณ์ทางกัมมัฏฐานเล่มแรกของพระพุทธศาสนา[๒]  เป็นคัมภีร์แนวอภิธรรมชั้นต้น ๆ[๓]  ที่สำคัญคือเป็นผลงานของพระสารีบุตรผู้เป็นพระธรรมเสนาบดีที่มีปัญญาล้ำเลิศ  ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐานกถาจึงเปรียบดั่งเพชรเม็ดงามที่ถูกเจียรนัยแล้วเพื่อประกาศสัทธรรมจักร  ดังคำกล่าวยกย่องท่านไว้ว่า[๔] 

ท่านเป็นสัทธรรมเสนาบดี  คือผู้ประกาศพระสัทธรรมจักร  ผู้เข้าใจความแจ่มแจ้งในอรรถตามความเป็นจริงของพระสูตรทั้งหลายที่พระตถาคตเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว  ผู้นำในการยังธรรมประทีปให้โชติช่วง  อธิบายความได้อย่างลึกซึ้ง  มีความลุ่มลึกดุจสาคร  กว้างขวางดุจท้องฟ้านภากาศที่ดารดาษด้วยหมู่ดาว   

            เนื้อหาที่กล่าวมาเป็นเพียงการสรุปจาก  “วิทยานิพนธ์การศึกษาเชิงวิเคราะห์สติปัฏฐานกถาในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค”  ซึ่งถูกคัดเลือกตัดสินให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น  ๒๕๕๑  ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ผู้วิจัยมีซีดีในรูปแบบ word  และ pdf  พร้อมหนังสือเก็บเพชรจากวิทยานิพนธ์ดีเด่น  จำนวนจำกัดเพื่อแจกฟรี  หรือผู้ใดสงสัยการปฏิบัติ  หรือครูบาอาจารย์ท่านใดที่ต้องการจะแนะนำเสริมเติมแต่งให้สมบูรณ์สามารถติดต่อผู้วิจัยได้ที่  ๐๘๓๑๒๕๖๓๗๕    

 


            [๑] ขุ.ป. (บาลี)  ๓๑/๓๔-๓๕/๔๔๐-๔๔๓, ขุ.ป. (ไทย)  ๓๑/๓๔-๓๕/๕๙๒-๕๙๖.

            [๒] ขุ.ป. (ไทย)  ๓๑/[๗].

            [๓] ขุ.ป. (ไทย)  ๓๑/[๑๑].

            [๔] ขุ.ป.อ. (บาลี) ๑/๒, ขุ.ป. (ไทย) ๓๑/[๙], อ้างใน  เสนาะ  ผดุงฉัตร, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์อานาปานัสสติกถา  ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิต, (บัณฑิตวิยาลัย, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๙), หน้า ๗๗.  

หมายเลขบันทึก: 304513เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • อนุโมทนาขอบคุณที่นำสิ่งดี ๆ มาเผรแพร่
  • พระวิปัสสนาจารย์เป็นประทีปแก่ชุมชนผู้ใฝ่การปฏิบัติ
  • หวังว่าคงได้อ่านงานเผยแผ่ธรรมในโอกาสต่อไปนะครับท่าน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท