ชีวิตที่พอเพียง : ๘๕๕. AAR วันปฐมนิเทศ คศน. และ BAR ต่อ



         เย็นวันที่ ๒๔ ก.ย. ๕๒ ผมกลับจากสวนสามพรานด้วยความสดชื่น   ชื่นใจที่ได้เห็นความสำเร็จที่หมุดหมาย (milestone) ที่ ๑ ของ คศน.   คือสามารถเริ่มโครงการได้   และ node ทั้ง 16 node พร้อมใจกันเข้ามาร่วมกิจกรรมเครือข่าย   ตามที่ได้เล่าไว้แล้ว  


         ผม AAR ตามข้อมูลกระท่อนกระแท่น   เพราะเขาประชุมกันกว่า ๓๐ ครั้งแล้ว   แต่ผมเข้าร่วมไม่ถึง ๑๐ ครั้ง   เห็นว่ากิจกรรม คศน. นี้มีลักษณะ chaordic มาก   มีความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา    และปฏิสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ก็มีทั้งเสียงหัวเราะ น้ำตา ความกังวล และความลิงโลด


         จุดแข็งที่เห็นคือ ทุกฝ่ายมีความอดทนซึ่งกันและกันสูงมาก   คือต่างก็ต้องการให้โครงการนี้เกิดและดำเนินไป   เพราะหวังว่าจะเป็นคุณต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง


          บทเรียนของผมคือ เรื่องแบบนี้ต้องการเวลาทำความเข้าใจร่วมกัน   ต้องการกระบวนการเพื่อสร้างความมุ่งมั่นร่วมกัน (Shared Commitment)    เพื่อร่วมกันฟันฝ่าไปข้างหน้า


          ผมบอกตัวเองว่า เมื่อวาน (๒๔ ก.ย.) ผมพลาดโอกาสบอกต่อที่ประชุมตอนลงนามความเข้าใจร่วมกันว่า   กิจกรรม คศน. เป็นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม   ซึ่งต้องการสมาธิจดจ่อ และเวลาเข้าร่วม   ดังนั้น node จึงต้องมีส่วนช่วยเอื้อต่อการเรียนรู้ โดยหลีกเลี่ยงการเรียกตัวไปทำงานด่วนในช่วงของการเรียนรู้เป็นกลุ่ม

 

BAR

 เป้าหมายของ คศน. คือการเรียนรู้ร่วมกันเป็น team learning   เพื่อให้เกิดการเรียนที่ลึกเข้าไปด้านใน จนเกิด transformation   ซึ่งต้องการสมาธิจดจ่อ และการร่วมกระบวนการอย่างสม่ำเสมอไปด้วยกันทั้งกลุ่ม 


 ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นคือ บางคน หรือหลายๆ คน อาจมีบางช่วงเวลาที่งานประจำเรียกร้อง    ไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการกลุ่มได้    ก็จะตกขบวน    หากเกิดติดๆ กันหลายครั้ง อาจนำไปสู่ความท้อถอย เพราะไม่สนุกเนื่องจากตามกลุ่มไม่ทัน   ทีมจัดการ และทีมพี่เลี้ยงน่าจะได้คิดหาทางป้องกันความเสี่ยงนี้ไว้ 


 แรงเสริมของการเรียนรู้น่าจะอยู่ที่ node ต่างๆ    คือในความเห็นของผม การเรียนรู้อยู่ที่ core modules, โครงการพัฒนา (และวิจัย) ส่วนบุคคล, โครงการพัฒนา (และวิจัย) ของทีม, และกิจกรรมเรียนรู้ที่ “ผู้นำ” ร่วมกันจัด ร่วมกับ node   รวมกิจกรรมหลัก ๔ ประเภท ในน้ำหนักเท่าๆ กัน  


 Node ต่างๆ น่าจะได้วางยุทธศาสตร์ใช้คุณค่าของหน่วยงาน ในการ inspire “ผู้นำ” ให้ซาบซึ้งในเป้าหมายเชิงคุณค่าของ node   และเสนอโจทย์โครงการที่ “ผู้นำ” อาจเลือกทำเป็นโครงการพัฒนาส่วนบุคคล หรือโครงการระดับทีม   ให้เห็นว่าโครงการที่ดำเนินการตามคุณค่าของ node จะส่งผลต่อการเรียนรู้ ต่อความเข้าใจ complexity ของระบบสุขภาพอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ


 ทีมจัดการ และทีมพี่เลี้ยง น่าจะได้ capture ความฝันของ “ผู้นำ” แต่ละคน   เอามาสังเคราะห์เป็นแนวทางทำงานของทีมจัดการและทีมพี่เลี้ยง   ว่าจะช่วยเสริมตรงไหน ช่วยยุยงตรงไหน   เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ทั้งสนุกสนาน ท้าทาย ได้เสริมแรงบันดาลใจ และได้แนวทางการทำงานในอนาคต   ที่ตรงจริต ตรงความคาดหวังของ “ผู้นำ” แต่ละคน และของกลุ่ม 


 คำถามเชิง AAR ต่อทีมจัดการ และทีมพี่เลี้ยง คือ   เมื่อได้ฟังความฝันของ “ผู้นำ” ทั้งหมดแล้ว    คิดว่าจะต้องปรับปรุงการทำงานอย่างไรบ้าง 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ก.ย. ๕๒


            
                   

หมายเลขบันทึก: 304462เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท