ศาลปกครอง


เมื่อเกิดคดีที่มีข้อพิพาทกันระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยประชาชนฟ้องร้องกล่าวหาว่า การกระทำของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้ดุลยพินิจไม่ถูกต้อง จึงขอให้เพิกถอน คำสั่งหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้น

ในที่สุด ก็มาถึงฉบับที่ 5 ซึ่งมีอยู่ในมือแล้ว  ซึ่งจริงๆ แล้ว  ชุดเอกสารเผยแพร่ เพื่อการปฏิรูปการเมือง มีทั้งหมด 17 ชุด ซึ่งดูหัวข้อแล้วก็น่าสนใจมาก  ได้แก่

1.  แผนพัฒนาการเมือง
10. รัฐบาล: คณะรัฐมนตรี
2. กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
11. ความสัมพันธ์รัฐสภา : รัฐบาล
3. รัฐธรรมนูญกับประชาชน 
 12. ศาลรัฐธรรมนูญ
4. ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
13. พรรคการเมือง
5. สิทธิและเสรีภาพ
14. ศาลปกครอง
6. ระบบและวิธีการเลือกตั้ง
 15. การกระจายอำนาจ และการปกครองท้องถิ่น
7. คณะกรรมการเลือกตั้ง
16. การปฏิรูประบบราชการ และบริการประชาชน
8.  การออกเสียงประชามติ
17. การปฏิรูปการศึกษา
9. รัฐสภา: สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
 

ศาลปกครอง

ศาลปกครอง : ศาลที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครองโดยเฉพาะ

คดีปกครอง

คือ คดีที่มีข้อพิพาทกันระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  โดยประชาชนฟ้องร้องกล่าวหาว่าการกระทำของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า กระทำการไม่ถูกต้องตามกฎหมายใช้ดุลยพินิจไม่ถูกต้อง จึงขอให้เพิกถอน คำสั่ง หรือการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้น

ตัวอย่างเช่น  ราษฎรไปยื่นขออนุญาติปลูกสร้างบ้าน หรืออาคาร แล้วเจ้าพนักงานของเทศบาล หรือของอำเภอมีคำสั่งไม่อนุญาต ซึ่งราษฎรนั้นเห็นว่า คำสั่งนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตนั้นเสีย  และสั่งใหม่ให้ถูกต้อง คดีที่ฟ้องศาลปกครองได้  เช่น

  1. การที่ราษฎรกล่าวหาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าฝืนกฎหมาย
  2. การกระทำที่กล่าวหาว่าการสั่งการของเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. การใช้ดุลยพินิจในการสั่งการของเจ้าหน้าที่ไม่มีเหตุผลข้อมูลเพียงพอ
  4. กฎ ระเบียบ คำสั่ง ที่เป็นการทั่วไปของราชการฝ่าฝืนกฎหมาย
  5. การให้รัฐชดใช้ เยียวยาความเสียหาย จากการสั่งการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

คดีปกครองเปรียบเทียบกับคดีแพ่งและคดีอาญา

คดีปกครอง  เป็นคดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนที่ฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐเสมอและจุดประสงค์สำคัญ คือ การให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ที่พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎกระทรวงที่ออกบังคับเป็นการทั่วไป  มิได้มีเจตนาที่จะเอาความผิดกับพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นๆ

คดีอาญา  จุดประสงค์อยู่ที่ต้องการให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษทางอาญา  เช่น  จำคุก กักขัง ปรับ ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่สั่งการใดๆ ไปโดยไม่ถูกต้องต่อกฎหมาย หากประสงค์จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับโทษฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ  ก็ต้องฟ้องต่อศาลอาญา  เป็นคดีอาญา  ซึ่งหากศาลเห็นว่ามีการกระทำผิดจริง  ก็จะลงโทษทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่นั้น  แต่คำสั่งนั้นก็ยังมีผลบังคับอยู่

คดีแพ่ง  เป็นคดีพิพาทกัน ระหว่างเอกชนกับเอกชน  เกี่ยวกับความสัมพันธ์ตามกฎหมายแพ่ง และจุดประสงค์อยู่ที่ ต้องการให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ในการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายและทำให้เสียหายก็ให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย  แต่คำสั่งที่เป็นเหตุนั้นก็ยังมีผลบังคับอยู่

สาระสำคัญของศาลปกครอง

1. ผู้ที่จะพิพากษาคดีปกครอง  หรือตุลาการศาลปกครองนั้น จะต้อง  เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายปกครอง  และจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน  จึงจะตัดสินคดีปกครองได้อย่างเหมาะสม  โดยรู้ว่าเรื่องใดควรควบคุมและควบคุมเพียงใด  การบริหารงานของฝ่ายปกครองจึงจะไม่เสียหาย  และสิทธิเสีรีภาพของประชาชนก็จะได้รับความคุ้มครองเรื่องใดควรปล่อยให้อยู่ในดุลยพินิจของฝ่ายปกครอง และจะตัดสินคดีปกครองอย่างไร  จึงจะรักษาดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองประโยชน์ส่วนตัวของเอกชน กับประโยชน์ส่วนรวมของสังคม  ดังนั้น  การกำหนดคุณสมบัติของตุลาการศาลปกครองจึงเป็นสิ่งสำคัญ  คือต้องมีพื้นฐานทางกฎหมายมหาชนดี  และต้องมีประสบการณ์ในการบริหารมาแล้ว

2. หลักประกันความเป็นอิสระ: หัวใจสำคัญของศาล คือความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี  ดังนั้นจึงต้องทำให้ศาลปกครองเป็นอิสระทั้งจากภายนอกและภายใน  มาตรการ ก็คือ การมีองค์กรบริหารงานบุคคล (กตป.) ของตนเอง เพื่อให้เป็นอิสระจากภายนอก  และการย้ายตุลาการศาลปกครองนั้น ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวก่อน  เพื่อให้เป็นอิสระจากผู้บังคับบัญชาภายในของศาลเองด้วย

3. วิธีพิจารณาที่เหมาะสม:  คดีปกครองนั้น จำเลยในคดีเป็นรัฐ  ซึ่งหากถือวิธีพิจารณาตามระบบกล่าวหาที่ใช้อยู่ในศาลยุติธรรม ว่าใครกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด  ฝ่ายนั้น ต้องนำสืบให้ได้ในข้อเท็จจริงนั้น  ดังนั้น  เมื่อราษฎรกล่าวหารัฐ  ราษฎรต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่ารัฐเป็นฝ่ายผิด  ซึ่งเอกสารข้อมูลทั้งปวงอยู่ที่ฝ่ายรัฐ  ยากที่ราษฎรจะพิสูจน์ได้  ดังนั้นคดีปกครองต้องใช้ระบบไต่สวน  ที่ศาลต้องเป็นผู้ค้นหาความจริงเอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎร

4. จุดเกาะเกี่ยวกับอำนาจ: ศาลปกครองเป็นองค์กรตรวจสอบอำนาจอื่น ดังนั้นที่มาของตุลาการศาลปกครอง จึงต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับอำนาจของประชาชน และต้องเป็นองค์กรที่โปร่งใสต่อการตรวจสอบ

5. หน่วยธุรกการของศาลปกครอง: ต้องมีความรู้ในคดีปกครองเพียงพอที่จะเป็นผู้ช่วยศาลในการแสวงหาความจริง  และต้องทำหน้าที่ในการเผยแพร่คำพิพากษาของศาล  เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาได้

พิมพ์จาการเรียบเรียงของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนทร  มณีสวัสดิ์

จัดทำโดย  อนุกรรมการวิชาการและวางแผนการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง

หมายเลขบันทึก: 303410เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2009 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท