เขียนรายงานวิจัยการจัดการความรู้อย่างไรดี?


ในการเขียนรายงานวิจัยในขั้นตอนสุดท้ายนั้น ความรอบรู้ในปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอย่างรอบด้านที่สุดจะช่วยให้นักวิจัยเขียนคำอธิบายออกมาได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน เป็นความรู้ที่มีพลังอธิบายว่า กระบวนการและเนื้อหาที่ได้เป็นอย่างไร(การจัดการความรู้) ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นทั้งข้อจำกัดในทางปฏิบัติและในเชิงระบบ โดยการมีส่วนร่วมของผู้ร่วมวิจัยทั้งหมด ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณค่าของพื้นที่ และเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ในการขยายผลในวงกว้างอย่างแท้จริง
อ.อ้อมและอ.เบียร์ตั้งคำถามนี้ไว้ ผมกลับไปอ่านทบทวนแนวคิดและกระบวนการดำเนินงานของชุดโครงการนี้ พบบันทึกชิ้นหนึ่งที่พูดถึงการเขียนรายงานวิจัยของชุดโครงการนี้ เป็นบันทึกค่อนข้างเก่าคือตั้งแต่ช่วงพัฒนาโครงการย่อยในพื้นที่เมื่อ28ธันวาคม2547และปรับปรุง5มกราคม2548   ดังนี้ครับ

คำถามวิจัย ระเบียบวิธีวิจัย และแนวทางในการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย

"การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน(เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน)"

การวิจัย คือ กระบวนการเรียนรู้หรือค้นหาความรู้ในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมเพื่อให้เกิดความเข้าใจหรือนำไปใช้ประโยชน์

การจัดการความรู้ หมายถึง กระบวนการในการบ่งชี้ สร้าง แลกเปลี่ยน ใช้ และยกระดับความรู้ ที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร (WeLEARN 7/12/47-ความหมายคงมีหลากหลาย ยกมาหนึ่งตัวอย่าง) ดังนั้น การจัดการความรู้ก็คือ การพัฒนาองค์กรด้วยกระบวนการวิจัยเพราะมุ่งที่เป้าหมายหรือผลสัมฤทธิ์ขององค์กรเป็นสำคัญ จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับ การพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน

1.โครงการนี้มาจากฐานความรู้ว่า มีทุนทางสังคมอยู่ 4 ทุนคือ 1) ทุนปัญญา 2) ทุนวัฒนธรรม 3) ทุนทรัพยากรธรรมชาติ และ 4) ทุนเงินตรา (การสรุปว่ามีทุนอะไรบ้างมีอยู่หลายรูปแบบ)

ทุนปัญญาหมายถึง ความรู้ความเข้าใจและทักษะความสามารถในระดับปัญญาของมนุษย์

ทุนวัฒนธรรมหมายถึง ท่าทีในการมองโลก/ชีวิตและค่านิยมของคนในปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีการผลิตซ้ำสืบทอดต่อ ๆกันมา

ทุนทรัพยากรธรรมชาติหมายถึง สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ป่า พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เป็นต้น

ทุนเงินตรา หมายถึง ตัวเงินที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของตามมูลค่าที่กำหนดไว้ในสังคม

2.โครงการนี้เชื่อว่าชุมชนจะเข้มแข็งได้โดย การใช้ทุนปัญญาจัดการกับทุนทรัพยากรธรรมชาติและทุนเงินตราที่มีอยู่ ทำให้ทุนวัฒนธรรมคือความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นไปอย่างเกื้อกูลพึ่งพากัน เพื่อการมีชีวิตอย่างพอเพียง พอประมาณ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของคนในชุมชน

3.โครงการนี้เชื่อว่าองค์กรการเงินชุมชนเป็นกลุ่มพลังในชุมชนที่ใช้ทุนเงินตราเป็นเครื่องมือเพื่อการ แลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันในชุมชนมากกว่าที่จะเป็นสถาบันการเงินในตลาดทุน จึงมีข้ออ่อนและจุดแข็งอยู่มาก โครงการนี้ต้องการเสริมจุดอ่อนและขยายจุดแข็งขององค์กรการเงินชุมชน(พัฒนา) เพื่อทำให้เกิดการจัดการที่ดี ทำให้การดำเนินงานขององค์กรการเงินชุมชนมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนและเอื้อให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นในชุมชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์กรการเงินชุมชนรูปแบบต่าง ๆ นโยบายของรัฐบาลและการนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยต้องการศึกษาเพื่อถอด บทเรียนการจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่การขยายผลในวงกว้าง และคำอธิบายว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น (วิจัย)

คำถาม คือ การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนเป็นอย่างไรและทำไมถึงเป็นอย่างนั้น (วะ) ?

  1. หลักการจัดการความรู้ ความรู้จัดการโดยผู้ใช้ความรู้ (หลักการนี้มาจาก ความรู้ ว่า ต้องเป็น/ทำ อย่างนี้ ถึงจะจัดการความรู้ให้ได้ผลยั่งยืน)

  2. องค์ประกอบ 3 ฝ่ายในงานวิจัย การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน

2.1) องค์กรการเงินชุมชนเป็นผู้จัดการความรู้ด้วยตนเอง (ผู้ใช้ความรู้)

2.2) หน่วยสนับสนุนเป็นผู้เอื้ออำนวยให้การจัดการความรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลตามที่องค์กรตั้งเป้าหมายไว้ (นักพัฒนา)

2.3) นักวิชาการเป็นผู้กระตุ้นให้องค์กรการเงินชุมชนและหน่วยสนับสนุนมีมุมมอง ที่กว้างไกล/หลากหลายโดยอาศัย ความรู้ชัดแจ้ง ที่ตนเองมีและหาเพิ่มเติม รวมทั้งใช้ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ เป็นเครื่องมือ โดยถอดกระบวนการและเนื้อหาที่ได้จากการเรียนรู้ ปฏิบัติการร่วมกัน และทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น (ซึ่งผมเชื่อว่ามาจากโครงสร้าง หน้าที่ และมุมมองต่อโครงสร้าง หน้าที่นั้น - ทฤษฎีโครงสร้าง หน้าที่และวาทกรรม)โดยมีคน ระบบและ ที่ฝังลึกเป็นวัฒนธรรมของผู้เกี่ยวข้องที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีพลวัต) เป็นรายงานวิจัยเพื่อ เผยแพร่ขยายผล (นักวิจัย)

ผลลัพธ์สุดท้ายที่คาดว่าจะได้รับคือ

1. องค์กรการเงินชุมชนได้นำความรู้ที่จำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับองค์กรตามเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ มีประสบการณ์ในการจัดการความรู้เพื่อนำไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ และเป็นแหล่งความรู้ให้ที่อื่น มาเรียนรู้ได้

2. หน่วยสนับสนุนได้สนับสนุนการจัดการความรู้ขององค์กรการเงินชุมชนจนประสบ ผลสำเร็จ มีชุดความรู้เพื่อทำงานสนับสนุนชุมชนในเรื่องอื่น ๆ มีประสบการณ์ที่สามารถถ่ายทอด แลกเปลี่ยนกับหน่วยสนับสนุนอื่น ๆได้

3. อาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาได้เรียนรู้ในเรื่อง การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน สรุปออกมาเป็นความรู้ชัดแจ้ง(รายงานวิจัย) คือ 1) กระบวนการและเนื้อหาในการจัดการความรู้ขององค์กรการเงินชุมชน 2) กระบวนการและเนื้อหาในการสนับสนุนการจัดการความรู้ของชุมชนของหน่วยสนับสนุน รวมทั้งคำอธิบายว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น นอกจากนี้ ยังสะสมเป็นความรู้ฝังลึกจากประสบการณ์ในการศึกษาวิจัย เพื่อถ่ายทอด แลกเปลี่ยนกับนักศึกษาและผู้สนใจได้เรียนรู้ร่วมกัน (อาจพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน) ต่อไป

4) บทบาทของนักวิชาการหรือนักวิจัยในการกระตุ้นให้องค์กรการเงินชุมชนและหน่วยสนับสนุน เกิดมุมมองที่กว้างไกล/หลากหลายและใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบจำเป็นต้องมี

  1. การมีมุมมองที่หลากหลาย เข้าใจแนวความคิดต่างมุมและเห็นประโยชน์ในมุมที่ต่าง

  2. ความรอบรู้ในecosystemที่รายล้อมชุมชน เข้าใจความเป็นมา ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างสังคม ชุมชนและองค์กรการเงินชุมชนทั้งด้านบวกและด้านลบ

-พลวัตองค์กรการเงินชุมชนในประเทศไทย

-ทุนทางสังคมและความเข้มแข็งของชุมชน

-การบริหารจัดการที่ดีและการสร้างเครือข่าย

-นโยบายของรัฐบาล พรรคการเมืองและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

-การปฏิรูประบบราชการและการบริหารราชการแบบบูรณาการ โครงสร้างและบทบาทของราชการส่วนต่าง ๆ

-แนวคิดชุมชนสวัสดิการและตัวอย่างที่หลากหลาย

ฯลฯ

  1. ความเข้าใจและทักษะในบทบาทของผู้สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้

  2. กระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบในฐานะนักวิจัย

ฯลฯ

5) ขอบเขตที่เหมาะสม ที่มีนัยยะต่อความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ ระดับตำบล

6) เมื่อเทียบฐานคิดของงานนี้กับการสอนหนังสือนักศึกษา ก็เหมือนกับอาจารย์เปลี่ยนบทบาทจาก การสอนมาทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับลูกศิษย์ 1) ทำอย่างไรให้ศิษย์เกิดฉันทะ กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการเรียนได้ด้วยตนเอง 2) เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งไม่ใช่การLecture เพียงอย่างเดียว ต้องจัดการอย่างไรบ้างเป็นบทบาทสำคัญที่ต้องคิดค้น 3) สำหรับเนื้อหาความรู้นั้น ถ้าจะช่วยได้มากก็ต้องเข้าใจ 1) ลูกศิษย์ คือองค์กรการเงินชุมชนว่าเป็นอย่างไร (พัฒนาการความเป็นมา แนวคิดของกรรมการ การดำเนินงาน สถานภาพในปัจจุบันฯลฯ) 2) สภาพแวดล้อมในชุมชนขององค์กรการเงินชุมชนแต่ละแห่ง (ยิ่งทราบมิติต่าง ๆ ลึกซึ้งเท่าไร ยิ่งเป็นการดีเท่านั้น) 3) สภาพสังคมที่เข้ามากระทบกับชุมชน ทั้งนโยบาย แผนงาน/โครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและเรื่องอื่น ๆที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม (Ecosystem นอกชุมชน)

ความเข้าใจเหล่านี้อาจมาจากการทบทวนวรรณกรรมและการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้กลุ่มก้อนความรู้ ที่หลากหลายครอบคลุม (แต่ไม่ใช่การศึกษาเพื่อตอบคำถามวิจัย เพราะคำถามวิจัยมีอยู่แล้ว) เป็นการศึกษาเพื่อเป็นครูที่ดี ที่สามารถให้ข้อแนะนำและร่วมเรียนรู้ไปกับชุมชนอย่างเป็นระบบและรู้เท่าทัน เพื่อช่วยชี้แนะ ยกระดับการเรียนรู้ของชุมชนและหน่วยสนับสนุนให้รู้กว้างและไกลขึ้น เพื่อให้การจัดการความรู้ขององค์กรการเงินชุมชนเป็นไปอย่างเข้มข้นทั้งกระบวนการและเนื้อหา (ขยายจุดแข็งเสริมจุดอ่อน) เช่นเดียวกับบทบาทในการสนับสนุนของหน่วยสนับสนุน(เอื้ออำนวยการเรียนรู้ให้กับชุมชนอย่างดีที่สุด)โดยที่ครูในฐานะนักวิจัยหลักก็จะเก็บเกี่ยวความรู้เหล่านี้เขียนบันทึกไว้เป็นรายงานวิจัยทั้งในส่วนของบทเรียนจากการจัดการความรู้(กระบวนการและเนื้อหาที่ได้)และคำอธิบายว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นโดยการวิเคราะห์บริบทโดยรอบจาก ฐานความรู้ที่มีอยู่และที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเผยแพร่ขยายผลในวงกว้างให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

7) ที่จริงแล้วหากองค์กรการเงินชุมชนสามารถจัดการความรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ หรือหน่วยสนับสนุนที่มีอยู่ได้เอื้ออำนวยให้การจัดการความรู้ขององค์กรการเงินชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว นักวิจัยก็จะทำวิจัยพื้นฐานที่เป็นประเด็นคอขวดของงานพัฒนาในเชิงระบบที่เกี่ยวข้องกับฐานคิดและการ ทำความเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อรื้อสร้างระบบขึ้นใหม่ งานวิจัยชุดนี้จึงเป็น1)งานพัฒนาองค์กรในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยจากฐานความรู้ที่มีอยู่แล้วเป็นจำนวนมากด้วยกระบวนการวิจัย (D&r) โดยที่ในการใช้ความรู้ ก็จะเกิดความรู้ใหม่ขึ้นด้วย แต่เป็นความรู้ในเชิงปฏิบัติเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงใช้แนวคิดเรื่องการจัดการความรู้เพื่อให้ความรู้ที่มีอยู่ (ท่วมหัว) เกิดมรรคผลในทางปฏิบัติ เพื่อทำให้กลุ่ม/เครือข่ายมีความเข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกัน 2) ก็เป็นงานวิจัยเพื่อตอบคำถามว่า ทำไมการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กร การเงินชุมชนในแต่ละแห่งถึงเป็นอย่างนั้นด้วย ? คำตอบประการหลังนี้แหละที่เป็นคุณค่าสำคัญของนักวิจัยหากคำอธิบายมีพลังเพียงพอ

8) ในการทำวิจัย ต้องสร้างความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายหลัก คือองค์กรการเงินชุมชนและหน่วยงานสนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้นและในทุก ๆขั้นตอน โดยให้องค์กรการเงินชุมชนกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ จากนั้นวางแผนจัดการความรู้โดยทำเป็นแผนกิจกรรมของตนเองโดยการมีส่วนร่วมและเอื้ออำนวยของหน่วยสนับสนุนและทีมวิจัยหลัก (ทั้งหมดคือทีมวิจัย) บทบาทของหน่วยสนับสนุนหากไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบหน้าที่ตามคำสั่งของเบื้องบนเท่านั้น ก็จะช่วยชุมชนได้ไม่มาก ทีมวิจัยหลักซึ่งเป็นอิสระมากกว่าก็จะช่วยขยายพรมแดนการทำงานของหน่วยสนับสนุน จะทำอย่างไรนั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของงานวิจัยเชิง ปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมที่ต้องปรึกษาหารือร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ ทำได้ง่ายนัก หน่วยสนับสนุนอาจจะมีแผนสนับสนุนการเรียนรู้ของชุมชนซึ่งหลายเรื่องเป็นสิ่งที่ต้องศึกษา ทำความเข้าใจชุมชนเพิ่มเติม รวมทั้งการเพิ่มทักษะ/ความรู้บางอย่างเพื่อให้บทบาทการเอื้ออำนวยการจัดการความรู้ขององค์กรการเงินชุมชนของหน่วยสนับสนุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ก็อาจจะเสนอเป็นแผนกิจกรรมในส่วนของหน่วยสนับสนุน สุดท้ายคือบทบาทของทีมวิจัยหลักที่ต้องทำหน้าที่ถอดกระบวนการและองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดการความรู้ขององค์กรการเงินชุมชนและการเอื้ออำนวยของหน่วยสนับสนุน มีแผนกิจกรรมอะไรบ้างเพื่อให้ได้ความรู้ดังกล่าว รวมทั้งการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำหน้าที่เป็นครูที่ดี และที่สำคัญคือบทบาทของนักวิจัยที่ต้องตอบคำถามด้วยคำอธิบายที่มีพลัง

ในการเขียนรายงานวิจัยในขั้นตอนสุดท้ายนั้น ความรอบรู้ในปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอย่างรอบด้านที่สุดจะช่วยให้นักวิจัยเขียนคำอธิบายออกมาได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน เป็นความรู้ที่มีพลังอธิบายว่า กระบวนการและเนื้อหาที่ได้เป็นอย่างไร(การจัดการความรู้) ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นทั้งข้อจำกัดในทางปฏิบัติและในเชิงระบบ โดยการมีส่วนร่วมของผู้ร่วมวิจัยทั้งหมด ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณค่าของพื้นที่ และเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ในการขยายผลในวงกว้างอย่างแท้จริง

9) ทีมวิจัยหลักจะรวบรวมแผนงาน/กิจกรรมทั้งหมด (ของเครือข่าย หน่วยสนับสนุน(ถ้ามี)และของทีมวิจัยเอง) จัดทำเป็นข้อเสนอโครงการวิจัย "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนตำบล.................." โดยจัดสรรงบตามแผนกิจกรรมในส่วนของการจัดการความรู้ให้องค์กรการเงินชุมชนบริหารจัดการเอง โดยอยู่ในความรับผิดชอบของทีมวิจัยหลัก

*******************************************************************************

28 ธันวาคม 2547ปรับปรุงเพิ่มเติม 5 มกราคม 2548

หมายเลขบันทึก: 30299เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2006 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องที่ดีและน่าสนใจมาก  เพราะกำลังอยากทำเกี่ยวกับการจัดการความรู้เรื่องห้องสมุดประชาชนอยู่พอดี  ถ้ามีข้อแนะนำ  กรุณาเสนอแนวคิดในการจัดทำให้หน่อยนะคะ

                               จากคนใกล้ตัวของอาจารย์นั่นแหละค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท