แผนที่ผลลัพธ์กับปัญหายาเสพติด


การแก้ไขปัญหายาเสพติดเราไม่สามารถที่จะทำด้วยตนเองได้คนเดียว เราต้องหาเพื่อน (ภาคี) ช่วยเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 “ข่าวการค้ายาบ้า  การจับยาบ้า  การเสพยาบ้า  เมื่อปี 2547  เป็นต้นมา  ทำให้หน่วยบริการสุขภาพอย่างพวกเราต้องหาวิธีรับมือกับการขยายตัวของขบวนการเหล่านี้  ไม่ว่าจะเป็นตั้งศูนย์รักษายาเสพติดในโรงพยาบาล  ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมเรียนรู้เรื่องยาเสพติดชนิดต่างๆ  การให้คำปรึกษาด้านยาเสพติด และให้การรักษาผู้ติดยาเสพติดด้วย Matrix Program  แม้จะมีงบประมาณลงมาอย่างมากมาย  ที่จะช่วยกันรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น  ผมกลับมองว่าเรากำลังไล่ตามปัญหา  ที่ไม่มีวันหมด  เดี๋ยวก็โผล่ตรงนั้น  เดี๋ยวก็โผล่ตรงนี้ราวกับดอกเห็ด  ที่เราเหนื่อยมากแม้จะแก้ปัญหาได้พอประมาณ  มันไม่ยั่งยืน  และเรากำลังเกาไม่ถูกที่คัน  เหมือนกับการแก้ปัญหาด้านสุขภาพที่เราตั้งรับอยู่ที่หน่วยบริการ  ขณะที่พัฒนาการของการเจ็บป่วยมันก็มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงรวมถึงกลายพันธุ์  เมื่อเราได้ทำงานเชิงรุกบ้างทำให้เรามองโลกที่กว้างขึ้น  เข้าใจปัญหามากขึ้น  และช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืน  โดยใช้เครื่องมือชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “แผนที่ผลลัพธ์” ( Outcome Mapping ) 

        อำเภอแก่งคอยจะเรียกว่าเป็นพื้นที่สีแดงก็ไม่ผิดนักในขณะนั้น  ทั้งปัญหายาเสพติด  ปัญหาอุบัติเหตุจากการทำงาน  และทางจราจร  ที่ถาโถมเข้ามา  เราได้รับผลกระทบจากการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม  ที่กลายมาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ด้วยสภาพพื้นที่  เป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักของถนนมิตรภาพ  เส้นทางการขนส่งหลัก  มีรถบรรทุกวิ่งมากมาย  ต้องวิ่งเข้าออกเพื่อรับสินค้าทางเกษตรกรรม  รวมถึงโรงปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง  ไม่ว่าจะเป็นโรงปูนซีเมนต์ตราช้าง  ตรานกอินทรีย์  และ TPI  มีนักวิจัยลงพื้นที่มาทำวิจัยกันมากมายโดยเฉพาะกับผู้ขับรถบรรทุกทั้งหลาย ถึงสาเหตุการเสพยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าในขณะนั้นได้ทราบเหตุผลต่างๆกันไป   โรงเรียนมัธยมก็มีข่าวการระบาดหนักของนักเรียนติดยาบ้า  และบุหรี่   ข่าวการค้าและการเสพยาบ้าในโรงงานมีปรากฏให้เห็นทุกวัน    ซึ่งอำเภอแก่งคอยเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม  มีโรงงานตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่กว่า  120  โรงงาน  ข่าวการค้าแรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมายและที่ลักลอบเข้ามาในประเทศ  ปัญหาหลายอย่างที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่  ในชุมชนของเรา

       ผมเห็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลของผมต้องออกไปทำงานกับพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น ชุมชน  โรงเรียน  โรงงาน  ตำรวจ  ทหาร  ตั้งแต่จุดเล็กๆ  การสอนและสร้างความแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันและปฏิเสธยาเสพติดให้นักเรียน  ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและผู้นำชุมชน  เพื่อให้ชุมชนปลอดยาเสพติด  และกลายเป็นนโยบายของจังหวัด  จนไปถึงจุดใหญ่ๆ  เช่น  การบำบัดกลุ่มผู้เสพและกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดทหารบกสระบุรี  การทำค่ายนิวัฒพลเมืองในตอนนั้น 

        ตอนนั้นยาเสพติดระบาดมากจริงๆ  โดยเฉพาะยาบ้า  ข้อมูลในมือผมในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ แม้ผมจะรู้ว่าพื้นไหนเป็นแหล่งขาย  แหล่งค้ายาเสพติด  แต่ผมก็ทำอะไรได้ไม่มากกว่าการตั้งรับรอรักษาผู้ติดยาเสพติดตามศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน   ผมมองไปทางไหนรู้สึกมันตรายไปหมดถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างที่มากไปกว่าการเป็นแพทย์ที่รักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น  ปัญหาเหล่านี้อีกสักร้อยปีเราก็คงทำได้แค่นี้  ปัญหาเล็กๆคงลุกลามไปใหญ่  ยากแก่การเยียวยา  ลูกหลานของเราโดยเฉพาะเยาวชนของชาติที่จะเติบโตไปในวันข้างหน้าจะมีอนาคตอย่างไร

ผมจึงนำข้อมูลทางด้านการรักษา  และจากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ได้ออกไปทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆในจังหวัดสระบุรี  ไปคุยกับผู้ใหญ่ในอำเภอซึ่งได้แก่  ท่านนายอำเภอ  ผู้กำกับของ สถอ.แก่งคอย  น่าจะเป็นความคิดที่มีความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา  ซึ่งข้อมูลที่ผมมีกับของนายอำเภอและตำรวจ  ต่างตรงกัน  ไม่รอช้าผมเริ่มรุกเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดกับผู้ใหญ่ทันที  และก็ได้รับการตอบรับอย่างดี  ในขณะนั้นนโยบายของจังหวัดก็สนับสนุน  เมื่อผู้ใหญ่เห็นด้วยจึงขยายทีมต่อไปถึงเครือข่ายของโรงเรียน  สถานประกอบการ  และผู้นำชุมชน  เป็นลำดับ”

สถานประกอบการต้นแบบกับรางวัลที่ได้รับ  ระดับภาคและระดับประเทศ 

รางวัลโรงเรียน  ชุมชน  และหมู่บ้านต้นแบบ

 

ตำรวจบ้านหรือสายตรวจประชาชน  มีพี่ตำรวจมาช่วยฝึกให้ เริ่มต้นที่ตำบลทับกวาง  ปัจจุบันมีทุกตำบล

 

ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน

 

ร่วมจัดนิทรรศการระดับจังหวัด ตามโครงการ To be No 1

ตรวจารเสพติดในพนักงาน

ตรวจสารเสพติดในนักเรียน

 

การติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษา

 

ค่ายนิวัฒพลเมือง

กีฬาต้านยาเสพติด

คำสำคัญ (Tags): #om
หมายเลขบันทึก: 302729เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2009 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หมอคะ ทราบมั้ยคะว่าตอนนี้ผู้เสพคือใคร? ก็คณะอนุกรรมการที่หมอตั้งขึ้นมาไงคะ เดือนใหนไม่ได้จัดประชุม เวลาเราไปออกชุมชน หรือเจอที่โรงงาน โรงเรียน ก็จะเจอคำถามฮิต "หมอ เมื่อไรจะเรียกอนุกรรมการประชุมอีก หายไปหลายเดือนแล้วนะ?" เป็นอย่างนี้มาตลอด ห้าหกปีที่ผ่านมาแล้วค่ะ ดูท่าทางกลุ่มผู้เสพเหล่านี้จะรักษาให้หายยากซะด้วยซี.......

เห็นที ผอ.จะเลิกขายได้ยากเสียแล้วละ เพราะมีผู้เสพที่เป็นแฟนคลับจำนวนมาก

มาร่วมส่งเสริมการขายของ ผอ.ค่ะ ขายไอเดีย ต่อไป อิอิ เพราะเพื่อนภาคีหุ้นส่วนของพวกเราเค้าไม่ยอมเลิก ถึงพาไปถ้ำกระบอกก็ไม่สามารถแก้ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท