ตอนสุดท้ายของ "คะลำ"ค่ะ


"คะลำ"วัฒนธรรมที่ถูกลืม

ตอนสุดท้ายค่ะ เรื่อง"คะลำ" นี่เยอะจริงๆ

ตามต่อนะคะ

3. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลา

ข้อคะลำที่สัมพันธ์กันกับเวลานั้นมีหลายข้อที่สัมพันธ์กับบุคคลและสถานที่ด้วย ซึ่งแยกออกจากกันลำบาก แต่เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆโดยรวม และไม่ต้องแบ่งซอยลงไปมากจนเกินไป จึงขอยกตัวอย่างดังที่แบ่งข้างต้น ซึ่งข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลานั้น น่าจะหมายถึงเวลาที่เป็นงานเทศกาลประเพณีประจำปี หรือเวลาของการประกอบอาชีพประจำฤดูกาล โดยเฉพาะการทำนา รวมทั้งประเพณีเฉพาะกิจในระดับส่วนบุคคลที่เกี่ยวพันกับสังคม ตัวบุคคลและสถานที่ด้วย รวมทั้งกิจวัตรประจำที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน แต่ในที่นี้จะเอาเวลาเป็นตัวตั้งเพื่อให้สอดคล้องกับที่แบ่งหัวข้อไว้ เช่น

ข้อคะลำในการทำนาและข้าว

เวลาหรือขั้นตอนในการทำนา ซึ่งจะต้องดำเนินการสอดคล้องตามระยะเวลา เนื่องจากต้องอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ในสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมที่ยังควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติแล้วจะต้องคะลำ ผิดประเพณี "กินไม่บกจกไม่ลง" นอกจากนั้นยังมีข้อปฏิบัติที่สัมพันธ์กับข้าว เช่น
- ก่อนหว่านกล้า ต้องเลือกฤกษ์วันดีในการแช่ข้าวเปลือกก่อน ข้าวที่ปลูกจะได้ให้ผลผลิตมาก
- ช่วงเวลาหว่าน ถ้ามีตัวปูไต่ตามท้องนา ห้ามจับถือว่าเป็นการเลี้ยงผีตาแฮก
- ก่อนที่จะถอนกล้าและปักดำต้องเลือกฤกษ์ยามวันดี
- ช่วงเก็บเกี่ยว ก่อนตั้งลอมข้าวต้องไหว้ปลงแม่พระธรณีก่อน
- ก่อนนวดข้าว ต้องเลือกวันดี
- ช่วงนวดข้าวญาติพี่น้องต้องมาช่วยเหลือกัน และหาบข้าวขึ้นยุ้ง
- หลังจากนั้นต้องมาช่วยกันตีข้าวสนุ (ข้าวที่ยังเหลือติดซังข้าวอยู่)ให้หมด
- จากนั้นจึงทำพิธีเอาข้าวขึ้นยุ้งและปิดยุ้งเพื่อเลือกวันดีเปิดยุ้งข้าว
- เลือกวันดีเพื่อตักข้าววันแรกให้ตรงกับเดือนขึ้นปีใหม่ แล้วสู่ขวัญข้าว โดยใช้กระดองเต่าตักข้าวครั้งแรก เพื่อให้ผู้ผลิตอยู่เย็นเป็นสุข (กระดองเต่าเป็นสัญลักษณ์ของความอยู่เย็นอยู่ดี)
- เวลาพักกินข้าวอยู่ทุ่งนาอย่าเรียกกันกินข้าว มันคะลำ เท่ากับเรียกปูมากัดกินต้นข้าวด้วย
- อย่าเอาไม้แต้ กะบก มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ไม้ดังกล่าวเป็นไม้เนื้อแข็ง แตกหักง่าย ไม่เหมาะนำมาใช้งาน)
- เป็ด ไก่มาเก็บกินข้าว รำข้าวหกอย่าดุด่า มันคะลำ
- จี่ข้าวในช่วงข้าวออกรวง คะลำ
- ไถนาวันพระ คะลำ
- กินข้าวสารดิบ คะลำ เป็นคนจัญไร
- กัดกินข้าวเหนียวครึ่งคำข้าว คะลำ
- ยืนกินข้าว กะลำ
- กินข้าวคาหม้อ คะลำ
- ร้องเพลงเวลากินข้าว คะลำ
- กินข้าวแล้วบ่อัดฝาก่อง บ่ฮู้เก็บฮู้เมี้ยน คะลำ ทำให้ผัวเมียจะป๋าหย่าร้าง
(ภูมิปัญญาแฝง : ให้รู้จักเก็บรักษาและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำลงไป เพื่อความเป็นระเบียบ)
- เวลาเขยสะใภ้กินข้าวร่วมวงกับทั้งครอบครัวอย่างนั่งขัดสมาธิ มันคะลำ
- เวลากินข้าวอย่าตบหัวแมว จะบาปเนื่องจากแมวมีเชื้อสายเทวดา
(ภูมิปัญญาแฝง : เนื่องจากเศษขนแมวอาจติดมือได้ )
- เวลากินข้าวผู้หญิงอย่ายองๆ หรือขัดสมาธิ มันคะลำ
- อย่าเว้ายามกิน
(ภูมิปัญญาแฝง : ไม่งาม ไม่เหมาะสม ข้าวอาจติดคอ ลงหลอดลมได้)
นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลา เช่น บุญหรืองานประเพณี พิธีกรรมต่างๆ อาทิ

ข้อคะลำในงานศพ

- คนตายโหง(ผูกคอตาย ฟ้าผ่าตาย จมน้ำตาย เสือกัดตาย ลงท้องตาย ตกต้นไม้ตาย) ห้ามกินทาน ห้ามมีพระนำหน้า ห้ามเผา
- เด็กตาย(อายุไม่ถึง 10 ขวบ) ห้ามเผา
- ห้ามนำศพไต่ขัว(สะพาน)
- ห้ามหามศพข้ามขอนไม้
- ห้ามเผาศพวันอังคาร
- ห้ามเผาศพวันศุกร์ ผีจะร้าย
- (ภูมิปัญญาแฝง : ความเชื่อโชคลาง วันศุกร์เป็นชื่อดี คือวันแห่งความสุข ที่คนนิยมจัดงานมงคลกันจึงไม่นิยมเผาในวันดังกล่าว)
- หากมีเพื่อนบ้านตายให้มาช่วยกัน บุคคลใดทำเฉยไม่สนใจ จะคะลำ
- อย่าให้แมวข้ามศพ มันคะลำ
- อาหารที่เลี้ยงแขกในงานศพต้องไม่เป็นเส้น เช่น ขนมจีน เพราะจำทำให้คนตายไม่ไปเกิด
- คนป่วยตายธรรมดาเกิน 6 วันจึงจะสามารถเผาได้
- เสื่อสาดต้องกลับทางให้เป็นตรงข้ามทั้งหมด
- การแต่งตัวศพ ต้องสวมเสื้อผ้าศพให้กลับจากในมานอก
- เอาศพออกจากบ้านให้คว่ำภาชนะทุกอย่าง และคว่ำกลับข้างบันได
- เวลาเผาศพให้เอาท่อนไม้ใหญ่ 2 ท่อนทับศพไว้ ไม่ทำคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ป้องกันศพพลิกคว่ำ หรือเอ็นหดทำให้ศพอาจตกจากเชิงตะกอนได้)
- เมื่อเผาศพเสร็จให้เดินมาล้างมือล้างเท้าสิ่งสกปรกที่วัดก่อนจึงจะกลับบ้านได้
(ภูมิปัญญาแฝง : ชำระร่างกายให้สะอาดเพราะอาจจะติดเชื้อโรคจากศพได้ และเป็นอุบายการบำบัดทางจิตสำหรับผู้ที่กลัวผีจากภาพที่ประสบ)
เป็นต้น

ข้อคะลำในงานพิธีแต่งงาน

ถือว่าเป็นงานมงคลในช่วงชีวิตของคน ดังนั้นจึงมีข้อคะลำเพื่อให้เกิดความมั่นใจในชีวิตคู่ สร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป รวมทั้งข้อคะลำที่ควรทราบในระหว่างมีชีวิตคู่ด้วย เช่น
- ห้ามแต่งงานวันคี่ คะลำ จะหย่าร้างกัน
- อย่าทำสิ่งของแตกร้าวในวันแต่ง คะลำ จะทำให้หย่าร้าง
- ห้ามมีชื่ออาหารที่ไม่เป็นมงคล เช่น แกงฟัก(ฟัก ภาษาอีสานหมายถึง ฟัน สับ) แกงจืด ยำ
- ห้ามคนเป็นหมัน ไม่มีลูกถือขันหมาก
- ห้ามบุคคลที่เป็นกำพร้าเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว
- ห้ามแต่งงานในเดือน 12 คะลำ เป็นเดือนที่สุนัขติดสัด ไม่เป็นมงคล
- ห้ามแต่งช่วงเดือนเข้าพรรษา (เพราะเป็นช่วงที่กำลังเร่งดำนา)
- เมียนอนหัวสูงกว่าผัว คะลำ
- เมียกินข้าวก่อนผัว คะลำ
- เมียต้องไม่เอาอาหารที่ตนเหลือกินให้ผัวกิน คะลำ
- เมียย่าง(เดิน)เอาผ้าเอาซิ่นปัดป่ายผัว คะลำ
- เมียบ่สมมา(ขอขมา)ผัวในวันพระวันศีลก่อนนอน คะลำ
เป็นต้น

ข้อคะลำในวันสงกรานต์

วันสงกรานต์หรือวันเนา เชื่อกันว่ามาจากคำว่า "เน่า" หมายความว่าถ้าใครกระทำผิดคะลำในวันนี้แล้ว เวลาตายไปจะเน่าเหม็น สำหรับในวันนี้ของสังคมอีสานในอดีตถือว่าเป็นวันหนึ่งในรอบปีที่ต้องผ่อนคลาย สนุกสนานให้เต็มที่ การเตรียมการเตรียมงานหรือเวียกงานต่างๆต้องกระทำก่อนหน้านั้นให้เสร็จสิ้น หากมีบุคคลใดฝ่าฝืนทำสิ่งใดในวันนี้ถือว่าคะลำ ไม่เจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขายไม่ขึ้น จะต้องตายเน่าตายเหม็นอย่างไม่มีศักดิ์ศรี ซึ่งคล้ายกับข้อห้ามของวันว่างในประเพณีของคนใต้
สำหรับข้อคะลำที่ห้ามประพฤติปฏิบัติในวันเนาตามความเชื่อของคนอีสานมีดังนี้
- ห้ามผ่าฟืน ฟันฟืน
- ห้ามตำข้าว ห้ามเปิดยุ้งข้าวตักข้าว
- กองฟืนจะต้องหาพงหนามไปปิดไว้
- ครกตำข้าวจะต้องเอาพงหนามไปปิดไว้
- ห้ามทอผ้า
- ห้ามสานแห
สรุปคือห้ามทำการงานทุกอย่างในวันดังกล่าว ให้สนุกสนานร่วมงานของเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ถือว่าเป็นการผ่อนคลายความเคร่งเครียดตรากตรำทำงานตลอดปีอีกวันหนึ่ง

ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลาอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำอื่นๆที่สอดคล้องกับเวลา เช่น
- อย่าตอกตะปูตอนกลางคืน คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจรบกวนคนอื่นที่ต้องการพักผ่อนได้)
- อย่าตัดเล็บ ตัดผมเวลากลางคืน
- อย่าล้างถ้วยชามเวลากลางคืน
- เดินทางกลางคืนอย่าพูดเรื่องอัปมงคล
- กินข้าวยามวิกาล ตอนดึก คะลำ
- อย่ากวาดบ้านเวลากลางคืน ยกเว้นบริเวณที่จะกินข้าว
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกวาดสิ่งของสำคัญตกลงไปข้างล่าง จะหาลำบาก เพราะในอดีตไม่มีไฟฟ้า มีเพียงกะบอง หรือไต้ที่ไม่ค่อยสว่างและสะดวกนัก)
- อย่าเข็นฝ้าย(ปั่นฝ้าย)ตอนกลางคืน คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เสียงจะดังก่อความรำคาญรบกวนคนอื่นได้)
- อย่าเคี้ยวหมากนอนตอนกลางคืน
(ภูมิปัญญาแฝง : คำหมากอาจติดข้อเป็นอันตรายได้)
- อย่าฝัดข้าวตอนกลางคืน
(ภูมิปัญญาแฝง : เสียงดัง อาจก่อความรำคาญให้แก่คนอื่นได้)
- อย่าต่อยมองแฮง(แรง)ยามเช้า อย่าตำข้าวสักกะวันยามดึก
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจก่อความรำคาญให้แก่ผู้ที่ยังไม่ตื่น และกำลังหลับอยู่ได้)
- อย่าผิวปากเวลากลางคืน คะลำ
- (ภูมิปัญญาแฝง : อาจก่อความรำคาญให้คนอื่นได้)
- อย่านอนเวลาบ่ายคล้อย คะลำ เพราะเป็นช่วงที่ผีตกป่า(เผาศพ)
(ภูมิปัญญาแฝง : ช่วงดังกล่าวคนส่วนใหญ่ต้องทำงาน หากนอนแล้วจะเสียการงาน และแรงงานโดยไม่จำเป็น รวมทั้งช่วงดังกล่าวเมื่อตื่นขึ้นมามักจะไม่สดชื่น แข็งแรง อารมณ์เสียได้ง่าย)
- ตีด่ากันในวันพระ คะลำ
- เวลานอน คุยกัน คะลำ
- สาวไหมวันพระ คะลำ
- เวลาออกล่าสัตว์ อย่ากินข้าวกับเนื้อสัตว์ มันคะลำ
เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างข้อคะลำมาพอประกอบข้างต้นจะเห็นว่า ข้อคะลำทั้งหมดเป็นมาตรการในการควบคุมดูแลและเป็นมาตรฐานของพฤติกรรม ความประพฤติที่พึ่งปรารถนาของสังคม รวมทั้งแบบแผนปฏิบัติส่วนบุคคลที่จะก่อให้เกิดผลด้านบวกแก่ผู้ถือข้อคะลำ ทั้งในด้านสวัสดิภาพชีวิต ความมั่นใจ กำลังใจในการดำเนินชีวิตโดยตนเองและความสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งในปัจจุบันยังคงหลงเหลือข้อคะลำอยู่หลายข้อที่คนอีสานยังยึดถือปฏิบัติและมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ ค่านิยมและอุดมการณ์ในสังคม ซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่ตกทอดจากการสั่งสมปฏิบัติของบรรพบุรุษคนอีสานที่ได้ยึดถือกันมา

อ้างอิงจาก

http://www.isan.clubs.chula.ac.th/th/index.php

http://www.pantown.com/board.php?id=6197&area=1&name=board6&topic=8&action=view

เฮ้อ...กว่าจะจบ ไม่นึกว่าจะเยอะจัดขนาดนี้นะคะ

เอ๋ขอเชิญชวนพี่ๆ มาร่วมแบ่งปันวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ของท้องถิ่นกันนะคะ ก่อนที่วัฒนธรรมเหล่านี้จะถูกหลงลืมไป

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #คะลำ
หมายเลขบันทึก: 302481เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2009 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีจ้าสาวน้อย...

  • พี่น้องว่าคะลำของอีสานมีมากพอๆกับเหนือเนอะ
  • ทางเหนือไม่รู้ว่าใช้ว่าอะไร
  • แต่มีคำหนึ่งคือ ผิดผีค่ะ
  • ฝนตก..รักษาสุขภาพนะคะ

สวัสดีค่ะพี่พิชชา

เอ๋ปางตายค่ะ อาการร่อแร่ งานเยอะมากค่ะ ไม่ได้เข้าระบบหลายวัน

จะมีเวลาบ้างก็เมื่อวานค่ะ แต่งานข้างหน้าก็เยอะค่ะ เดินทางก็บ่อย

ขอโทษด้วยนะคะที่เอ๋ไม่ได้ตอบเม้นท์ ขอบคุณมากค่ะที่เข้ามาเยี่ยมชม

เดี๋ยวเอ๋จะเข้าไปเยี่ยมในบันทึกนะคะ

เมฆน้อย-นักพับแพนด้า

        ตอบคุณน้อง-พิซซ่าว่า ทางเหนือเรียกว่า "ขึด" ใช่ไหม ส่วนทางใต้เรียก อุบาทว์ เห็น อ.แอ๊ด ว่าอย่างนั้น

  • คึด-ขึ๊ด ทางเหนือ ผมว่าน่าจะใกล้เคียงกับภาษาไทยว่า อัปมงคลหรือกาลกิณี มากกว่าน๊ะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท