อ่านใจธรรมชาติ


"ความอยาก" เป็นได้ทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับว่า อยากเพราะ "หลง" หรือ อยากเพราะ "ปัญญา" เราควรเข้าฝึกเรียนรู้ทำความรู้จักกับเจ้าความอยาก ไม่ใช่ถอยห่างหรือหลีกหนีมัน

 

  • จากเหตุที่ได้เดินทางไปสอนที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเดือนก่อน ทำให้ได้หนังสือธรรมะของท่านพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) จากวัดหนองป่าพงพร้อมกับแผ่นซีดีเทศนาธรรมของท่าน หนังสือเล่มแรกที่ผมสุ่มมาอ่านนั้นชื่อ "กุญแจภาวนา" ใช้เวลาอ่านอยู่เดือนกว่า ๆ พบว่า เป็นหนังสือที่ดีมาก
  • เมื่อวานนี้จึงสุ่มหยิบหนังสือเล่มต่อไปขึ้นมาอ่าน ได้เล่มที่ชื่อว่า "โพธิญาณ" สุ่มอ่านตอนที่ชื่อว่า "อ่านใจธรรมชาติ"
  • โอ้โฮ! ถึงกับวางไม่ลงเลยครับ อ่านจนถึงตีสอง จึงขอนำองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้มาถอดเป็นบทเรียนไว้บางส่วนดังต่อไปนี้ครับ

 

  • แต่ก่อนผมเข้าใจว่า เจ้า "ความอยาก" เป็นสิ่งที่ไม่ดี ควรลด ละ เลิก สยบ เอาออก หรือหนีไปให้ไกล ๆ จากความอยากทั้งหลาย
  • แต่ความเข้าใจใหม่ คือ "ความอยาก" เป็นได้ทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับว่า อยากเพราะ "หลง" หรือ อยากเพราะ "ปัญญา" เราควรเข้าฝึกเรียนรู้ทำความรู้จักกับเจ้าความอยาก ไม่ใช่ถอยห่างหรือหลีกหนีมัน

 

  • -----------------------------
  • การภาวนา หมายความว่า ให้คิดดูให้ชัด ๆ พยายามอย่ารีบร้อนเกินไป อย่าช้าเกินไป ค่อยทำ ค่อยไป แต่ให้มีวิธีการและจุดหมายในการปฏิบัติภาวนานั้น
  • ทุกคนที่ออกมาปฏิบัตินั้น ก็ออกมาด้วย "ความอยาก" นี้บางทีมันก็ปนกับความหลง ถ้าอยากแล้วไม่หลง มันก็อยากด้วยปัญญา
  • บางคนไม่อยากจะให้มันอยาก เพราะเข้าใจว่า การมาปฏิบัติก็เพื่อระงับความอยาก ความจริงน่ะ ถ้าหากว่าไม่มีความอยาก ก็ไม่มีข้อปฏิบัติ
  • มันอยากด้วยความหลง มันก็เป็นตัณหา ถึงแม้ไม่อยาก มันก็เป็นความหลง มันก็เป็นตัณหาเหมือนกัน เพราะมันขาด "ปัญญา"
  • ความเป็นจริงนั้น ธรรมะมันอยู่ตรงนั้นแหละ ตรงความอยากกับความไม่อยากนั่นแหละ แต่เราไม่มีปัญญา ก็พยายามไม่ให้อยากบ้าง เดี๋ยวก็อยากบ้าง อยากให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ความจริงทั้งสองอย่างนี้ หรือทั้งคู่นี้มันตัวเดียวกันทั้งนั้น ไม่ใช่สองตัว แต่เราไม่รู้เรื่องของมัน
  • พระพุทธเจ้าของเราและสาวกทั้งหลายของพระองค์ท่านก็อยากเหมือนกัน แต่ "อยาก" ของท่านก็เป็นเพียงอาการของจิตเฉย ๆ อีกเหมือนกัน มันวูบเดียวเท่านั้นก็หายไปแล้ว
  • ดังนั้น ความอยากหรือไม่อยากนี้ มันมีอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับผู้มีปัญญานั้น "อยาก" ก็ไม่มีอุปาทาน "ไม่อยาก" ก็ไม่มีอุปาทาน เป็น "สักแต่ว่า" อยากหรือไม่อยากเท่านั้น ถ้าพูดตามความจริงแล้วมันก็เป็นแต่อาการของจิต อาการของจิตมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 302364เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2009 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากเพราะหลงเรียกว่า..ตัณหา..

อยากเพราะปัญญาเรียกว่า..ฉันทะ..

สาธุอาจารย์

 

นมัสการ พระอาจารย์

 

อยากเพราะหลงเรียกว่า..ตัณหา..

อยากเพราะปัญญาเรียกว่า..ฉันทะ..

 

  • กราบขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท