ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล


หัวหน้าพรรคที่มีคะแนนเสียงข้างมากหรือคะแนนเสียงสูงสุดจะได้แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จะแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาหรือบุคคลภายนอกเป็นรัฐมนตรีตามความเหมาะสม ดังนั้นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายข้างมากและรัฐบาลจึงเป็นพวกเดียวกัน

มาถึงแผ่นพับฉบับที่ 3 แล้ว จากสองฉบับที่ได้ลงก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องของกฎหมายสูงสุดของประเทศ และบทบาทของรัฐสภา และความเป็นมาของทั้งสองอย่างแล้ว วันนี้จะได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของบทบาทระหว่างผู้บริหารประเทศ และผู้คุมและออกกฎของประเทศแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้สนใจอยากจะทราบแน่นอนว่าจริงๆ แล้วรัฐสภากับรัฐบาลมีความสัมพันธ์ และเชื่อมโยงกันอย่างไร เพราะทุกวันนี้มักลืมกันเสมอ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับฝ่ายรัฐบาลเป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย  ถ้ารัฐสภามีความเป็นอิสระจากรัฐบาลมากเพียงไร  ความเป็นประชาธิปไตยในระบบการเมือง และการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทางรัฐบาลก็จะมีมากขึ้นเพียงนั้น  แต่รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐบาลจะเป็นอย่างไร  และอิสรภาพของรัฐสภาจากรัฐบาลจะมีมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศที่มีแตกต่างกันไป

โดยทั่วไปความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐบาลเกิดขึ้นจากอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่มีต่อฝ่ายบริหาร 4 ประการ คือ

  1. รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
  2. รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมาย
  3. รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติงบประมาณ
  4. รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานของรัฐาลให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามนโยบายที่ฝ่ายบริหารได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา  ประชาชนเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจากพรรคเดียวหรือหลายพรรครวมกันเป็นผู้เลือกผู้บริหารคือ นายกรัฐมนตรี  และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภา  ภายหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและบริหารงานตามนโยบายที่ได้แถลงเอาไว้  ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ความพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจต่อการปฏิบัติงานของรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในโอกาสต่อไป ดังนั้น  สภาผู้แทนราษฎรจึงต้องมีหน้าที่ควบคุม ดูแล การปฏิบัติงานของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา  เพื่อให้ประชาชนมีความพึงพอใจ รวมตลอดถึงการออกพระราชบัญญัติกฎหมายต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการปกครองและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศ

1.  ในการแต่งตั้งคณะผู้บริหาร

พรรคการเมืองที่ได้รับเสียข้างมากหรือพรรคหลายพรรคร่วมกันเป็นเสียงข้างมาก จะเป็นผู้จัดการตั้งรัฐบาล โดยทั่วไป  หัวหน้าพรรคที่มีคะแนนเสียงข้างมากหรือคะแนนเสียงสูงสุดจะได้แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาหรือบุคคลภายนอกเป็นรัฐมนตรีตามความเหมาะสม  ดังนั้นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายข้างมากและรัฐบาลจึงเป็นพวกเดียวกัน  และมีอำนาจในการควบคุมวาระการประชุมและการตัดสินใจของรัฐสภา ทำให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลเป็นผู้มีบทบาทควบคุมสภา  ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับรัฐสภาจะมั่นคงราบรื่นตราบเท่าที่ฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบเป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้  และสมาชิกพรรคฝ่ายรัฐบาลมีระเบียบวินัยดี แต่ฝ่ายบริหารจะประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองได้ถ้าดำเนินนโยบายผิดพลาด  ไม่มีประสิทธิภาพ  สมาชิกพรรคของฝ่ายรัฐบาลอาจจะร่วมมือกับสมาชิกพรรคของฝ่ายเสียงข้างน้อย หรือฝ่ายค้านในการออกเสียงไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้  ดังนั้นฝ่ายบริหารจึงต้องพยายามบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้  และพยายามที่จะควบคุมเสียงสมาชิกในสภาให้ได้

2. ในการบัญญัติกฎหมาย

ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา  ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างกฎหมายจะเสนอได้โดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ในทางปฏิบัติร่างพระราชบัญญัติส่วนมากจะเสนอโดยคณะรัฐมนตรี  รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัตินั้น  เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบก็จะเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไปยังวุฒิสภา  เพื่อพิจารณาต่อไป  ในบางประเทศมีการตั้ง "คณะกรรมาธิการสามัญ" ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายหรือมีการตั้ง "คณะกรรมาธิการพิเศษ" หรือ "คณะกรรมาธิการเฉพาะเรื่อง" ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภายในและภายนอก หรือจัดตั้ง "คณะกรรมาธิการผสม" จากทั้งสองสภาร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ก็ได้

3. ในการอนุมัติงบประมาณ

ปัจจุบันหน้าที่นี้ คือ การควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินของฝ่ายบริหาร  พรรคฝ่ายค้านจะเป็นผู้ควบคุมเวลาการอภิปรายเกี่ยวกับร่างงบประมาณการเงินที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาลในแต่ละปี  ซึ่งฝ่ายค้านจะถือเป็นโอกาสที่ดีในการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไปในเวลาเดียวกัน

4. ในการตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร

สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ในการติดตามการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา  ทั้งนี้โดยสภาผู้แทนราษฎรมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการต่างๆ มากกว่า 20 คณะ ทำหน้าที่สอดส่งดูแลการปฏิบัติงานของกระทรวงต่างๆ คณะกรรมาธิการต่างๆ เหล่านี้ เช่น คณะกรรมาธิการคลัง  การธนาคารและสถาบันการเงิน  คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ คณะกรรมาธิการคมนาคม  คณะกรรมาธิการทหาร  คณะกรรมาธิการการปกครอง  และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ เป็นต้น  คณะกรรมาธิการเหล่านี้จะสอดส่งซักถามการทำงานของฝ่ายบริหารหรือตรวจสอบเมื่อสงสัยว่าจะมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือประพฤติมิชอบต่างๆ 

โดยสรุป  รัฐสภาและรัฐบาลมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด  และรัฐสภาควรมีความเป็นอิสระจากรัฐบาลพอสมควรเพื่อที่จะควบคุมดูแลการออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสัมพันธ์ของสถาบันทั้งสองนี้ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไปตามรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศจึงไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบที่ตายตัวเนื่องจากประเทศต่างๆ ยังคงมุ่งพัฒนารูปแบบของความสัมพันธ์ของสถาบันทั้งสองนี้ให้ดีขึ้นอยู่เรื่อยๆ เพื่อมิให้รัฐสภาหรือรัฐบาลมีอำนาจมากเกินไปหรือน้อยเกินไป

ขอขอบผู้เรียบเรียงที่ให้ความรู้  รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย  ศิริไกร

จากการจัดทำโดย  อนุกรรมการวิชาการและวางแผนการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมืองคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง

หมายเลขบันทึก: 302338เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2009 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท