ปั่นคุณธรรม นำใจ "ครู..."


ดังนั้นโจทย์สำคัญก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ “ครู” “อาจารย์” “ข้าราชการ” “นักเรียน” และ “นักศึกษา” นั้นมีคุณธรรมที่ “เนียน” เข้าไปใน “ชีวิตประจำวัน...” ให้ลมหายใจทุก ๆ ครั้งของเขานั้นคือ “ความดี”

การสร้าง “คุณธรรม” ให้เกิดให้มีในจิตใจของ “ครู” นั้น สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ถ้าหากมี “คน” เข้าไปปั่น “กิจกรรม” ภายในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย...

ระบบ ระเบียบ แบบแผนเดิมที่นำครู นำนักเรียนออกมาอบรม สัมมนา เข้าค่าย ทำกิจกรรมตามวัด ตามสถานที่สำคัญทางศาสนานั้นก็ได้ผลในรูปของ “กิจกรรม” ซึ่งทำไปงั้น ๆ ตามคำสั่ง ตามโครงการ

ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นนั้นต่ำมาก วัดได้จากการที่เราเองเคยได้อยู่ที่เชียงใหม่ สถานที่แห่งนั้นมีโรงเรียน มีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขอเข้ามา “ใช้สถานที่” และบุคลากรซึ่งเป็น “พระ” เป็นผู้อบรมให้นั้น เราเองไม่ได้ไปบรรยายอะไรกับเขาหรอก แต่คอยสังเกตุการณ์ดูห่าง ๆ แบบ “ใส่ใจ” แล้วพบว่า ปัญหานั้นอยู่ที่ “วิทยากร” เป็นหลัก...

คนที่ได้ชื่อเป็น “พระ” คือถูกสมมติให้เป็น “สงฆ์” นั้นคือ ปัญหาสำคัญในการเป็นผู้นำด้าน “จิตวิญญาณ”
ปัจจุบันพระนั้นใช้หลักการอบรมแบบ “โยม” คือ ใช้สื่อ ใช้คำพูด ใช้หลักการ การจัดกระบวนการแบบที่ “โยม” เขาทำกันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่มีหลัก ไม่มีฐาน ไม่เข้าใจ “ศาสนา” อย่างแท้จริง
จึงมักโอนอ่อน ผ่อนตาม ข้อเรียกร้องของผู้มาเข้ารับการอบรมต่าง ๆ นานา ทิ้งข้อวัตร ข้อปฏิบัติของทางเรา (วัด) แล้วก็ไปทำตามเขา (บ้านและโรงเรียน) จึงทำให้ผู้เข้าอบรมเคยตัวและ “เสียนิสัย...”

การเข้าค่ายปฏิบัติธรรมก็เลยกลายเป็นการเปลี่ยนสถานที่อบรมจากโรงเรียนมาเป็น “วัด” แค่นั้น
โดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ที่กล่าวถึงตอนแรกนั้น เราวัดได้จากคนที่เข้ามาอบรมแล้วจะย้อนกลับมาปฏิบัติธรรม เข้ามาวัดอีกหรือไม่
เท่าที่เราพบนั้น ไม่ถึง “หนึ่งเปอร์เซ็นต์” ที่มาอบรมธรรมะในวัดแล้ว เขาจะกลับเข้ามาวัดอีก
คือ วัดทำได้ไม่ “ถึงใจ” ไม่สามารถชักจูงใจ และใช้โอกาสนี้ให้เขาเกิดความรู้สึกดี ๆ กับ “ศาสนา...”

อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ทำให้เกิดการสร้างภาพที่ว่า จะทำดี จะทำบุญต้องมาวัด เวลาอยู่ที่วัดนั้นเราถึงจะต้องมี “คุณธรรม”
เวลาที่อยู่ในสังคม ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ในองค์กรต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมี “คุณธรรม” ก็ได้
เรื่องคุณธรรมจึงเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องเฉพาะที่ เฉพาะแห่ง

ดังนั้นโจทย์สำคัญก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ “ครู” “อาจารย์” “ข้าราชการ” “นักเรียน” และ “นักศึกษา” นั้นมีคุณธรรมที่ “เนียน” เข้าไปใน “ชีวิตประจำวัน...” ให้ลมหายใจทุก ๆ ครั้งของเขานั้นคือ “ความดี”

การมีตัวจักรสำคัญเข้าไปปั่น “กิจกรรมเนียน ๆ” ในองค์กรจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ยิ่ง
คนในองค์กรเองแม้นเพียงสักคนหนึ่ง ที่สามารถทำให้เขาดู พูดให้เขาฟัง สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ค่อย ๆ ซึม ค่อย ๆ ฝังให้เนียนเข้าไปในองค์กร

ในมหาวิทยาลัย ถ้าหากมีอาจารย์สักคนหนึ่งที่ทำตัวเป็นรูปแบบที่ดีให้แก่ศิษย์และเพื่อนอาจารย์ด้วยกันดูได้นั้นจะเป็นประโยชน์ที่ใหญ่หลวง
การพาอาจารย์ทั้งหมดไปอบรม เข้าค่ายปฏิบัติร้อยครั้ง ยังไม่สู้กับการมี “ครูดี” ฝังตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยเพียงคนเดียว...

การกระทำตนให้เป็นแบบอย่างด้วย “ชีวิต” ในชีวิตประจำวันของอาจารย์ผู้นั้น จักเป็น “รูปแบบชีวิต” ที่สามารถนำอาจารย์และศิษย์ประพฤติ ปฏิบัติตามได้
ดังนั้นการเชิดชู “อาจารย์ดี” อาจารย์ที่มีคุณธรรม ทั้งในชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงานนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องของ “วิถีชีวิต” ที่สามารถทำให้ “ศิษย์” นั้นมีทางเลือกใหม่ในการที่จะก้าวไปในถนนแห่งความดี

รูปแบบวิถีชีวิตจากสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนัง เป็นละครนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นวิถีชีวิตที่ผิดศีล “ผิดธรรม…”
การน้อมนำวิถีชีวิตที่ดี ๆ ให้ศิษย์เห็นนั้นจึงเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่แก่จิตใจ

จากนั้นถ้าหากมีใครสักคนหนึ่งคอย “ปั่น” คอยชี้ ให้เพื่อนอาจารย์ดี คอยปั่นให้เด็กเห็น ส่งเสริมและ “เชียร์” รูปแบบวิถีชีวิตที่ดี ๆ นี้ แน่นอนว่าศิษย์อีกมากหลาย เพื่อนอาจารย์อีกมากมายจะนำมายึดถือและปฏิบัติตาม

ในรูปแบบของชีวิต ไม่จำเป็นต้องดีร้อยทั้งร้อย
คนหนึ่งมีดีหนึ่ง ก็ขอให้เชิดชูความดีในหนึ่งเส้นทางนั้น
ครู อาจารย์ หรือศิษย์คนใดมีความดีอะไร ร่วมกัน “ปั่น” ความดีนั้นให้ฟุ้ง ขจร กระจาย
แบบอย่างชีวิตที่ดี ๆ ในสังคมนี้มีน้อย ขอให้เราร่วมกัน “ปั่น” คุณธรรมน้อย ๆ นั้นให้ “ประจักษ์”


ก้าวแรกในความดีเริ่มจากหนึ่ง ค้นหาและ “ปั่น” ความดี ให้เนียนเข้าไปในชีวีของทุกคน...

 

หมายเลขบันทึก: 301749เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2009 12:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คนเราทุกคนไม่สามารถดีได้ทุกด้าน หากด้านใดของใครทำได้ดี ช่วยกันส่งเสริม เราจะได้คนดีเพิ่มขึ้น คนที่ถูกยกย่องให้ดีในด้านใด ด้านอื่นๆ เขาจะพยายามปรับให้ดีไปเอง เพื่อรักษาดีไว้ให้คนชม ขอบคุณ สุญญตาที่แบ่งปันความรู้ ความคิดนี้

ตัวจักรหรือฟันเฟืองที่สำคัญซึ่งจะนำความสำเร็จมายัง "การศึกษาไทย" ได้คือ "ตัวปั่น"

คนที่จะลงไปปั่น "คุณธรรม" นั้นต้องสามารถน้อมนำกระบวนการ KM เข้าไปใช้ได้อย่าง "เนียน" ทั้งในงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน

คุณสมบัติของ ครู ก นักปั่นจึงต้อง "หลุดกรอบ" แต่มีความเข้าในกรอบอย่างลึกซึ้ง

มีความเข้าใจกระบวนการและสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการได้ตามสถานการณ์ ปรับปรุงกระบวนการได้อย่างเฉียบแหลม

ความเข้าใจกรอบอย่างลึกซึ้งนั้นก็คือ การเข้าใจวัตถุประสงค์ว่า ที่เราทำนี้เพื่อ "ระบบการศึกษาไทย"

เราทำเพื่อ "การศึกษาของประเทศไทย" นะ มิใช่เราทำเพื่อใคร หรือมิใช่เพียงแค่ "ทำเพื่อครู"

แนวคิดของ "ครู ก" จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องตอกย้ำกันให้ชัดเจน

เป้าหมาย ปลายทาง สิ่งที่ต้องการ ต้องแม่น ต้องแน่ชัด

ทีมงานจึงต้องคุยกันเรื่อง "เป้าหมาย" กันอย่างกระจ่าง ทุกคนในทีมจะต้องวางงานเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ถึงแม้นว่าในระหว่างการทำงานนั้นจะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปตาม "บริบท" แต่ทุก ๆ ย่างก้าวที่เปลี่ยนไป เป้าหมายต้อง "ไม่เปลี่ยนแปลง..."

ทุก ๆ อย่างก้าวของ "ครู ก" ต้องทำความดี ต้องกระทำทุกอย่างในพื้นฐานที่ "เสียสละ"

ผลประโยชน์นั้นจักต้อง "เคลียร์" กันให้แน่ชัด ว่างานนี้ผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุด คืออะไร...?

ผลประโยชน์ส่วนรวมจักต้องมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัวเสมอ

เงินมีไว้เพื่อขับเคลื่อนเครือข่าย แต่ไม่ได้มีไว้ "ซื้อใจครู..."

ใจครูที่ทำงานงานนี้จักต้องดี และ "มั่นคง..."

คุณสมบัติของครูนักปั่นที่ทำงานนี้จะต้อง "เสียสละ..."

จักต้องสู้และแข็งแกร่งเมื่อโดนคำติฉิน นินทา

จักต้องยืนหยัด มั่นคง รอคอย ผลประโยชน์ในวันข้างหน้ามากกว่าผลประโยชน์อย่างฉาบฉวย

การเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาไทยนั้นจักต้องรอแรมเดือน แรมปี ดังนั้น "ครูดี" จักต้องอดทน

ครูนักปั่นจะโดนด่ามากกว่าโดนชม

ต้องฝึก "สติ" และ "การปล่อยวาง" ให้มาก

ต้องฝึกเชื่อใจตนเอง เชื่อการกระทำที่ดีของตนเองมากกว่าเชื่อ "น้ำคำ" ของคนอื่น

ต้องมั่นใจในการกระทำของตนเอง

ต้องคิดดี พูดดี และทำดีอยู่เสมอ

และต้องยิ้มให้ได้ในทุกสถานการณ์

ครูนักปั่นงานหนักไหม หนักสิ เพราะจักต้องเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์การศึกษาไทยในทศวรรษที่สองนี้

เครือข่ายนี้ถ้าทำให้นี้สามารถพลิกประวัติศาสตร์หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาได้

เพราะเราสามารถนำความดีให้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจของคนไทยที่ชื่อ "ครุ..."

อืม.......แบบนี้ก็เป็น การเอา ครูดี ไปฝังตัวในระบบ

อืม......ทำไงดีนะ เริ่มจาก ปรับของเดิมที่มีอยู่ ดึง จุดดีของครูแต่ละคน

มาชี้ให้เห็น ผลักดันให้เขาเห็นคุณค่าของตนเอง เชื่อมั่นในความดี ละอายในการทำชั่ว

 

หรือ เปลี่ยนน้ำดี หาครู ที่ดี มีคุณธรรม เข้าไปแทรกซึม

ในระบบ แบบเนียน ๆ ไม่โดดเด่น แต่ไม่เคยหายไป

 

ยกย่องครูดี ๆ ให้เป็นต้นแบบ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท