รัฐธรรมนูญกับประชาชน


"ประชาชน" และ "พลเมือง" ผู้อยู่ร่วมกันเป็นเจ้าของประเทศเนื่องด้วยรัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องนำทางให้ประเทศมีวิวัฒนาการไปอย่างมีระเบียบและยังประโยชน์สูงสุดให้บังเกิดแก่ประชาชาติทั้งมวล

เอกสารที่เคยได้รับและเก็บไว้เป็นชุดเอกสารเผยแพร่เพื่อการปฏิรูปการเมือง ซึ่งมีถึง 17 ฉบับ และมีอยู่ที่ผม 5 ฉบับ  ซึ่งได้จัดทำเป็นแผ่นพับ ผมอ่านดูแล้วมีประโยชน์อย่างมาก เลยจะพยายามนำมาจัดพิมพ์ก่อนที่กระดาษจะขาดหรือหายไปซะก่อน ซึ่งวันนี้จะนำเสนอในเรื่อง รัฐธรรมนูญกับประชาชน  ซึ่งจัดทำโดย อนุกรรมการวิชาการและวางแผนการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง  โดยผู้เรียบเรียง คือ รองศาสตราจารย์นครินทร์  เมฆไตรรัตน์ ผมจึงคัดลอกมาให้อ่านดังนี้

"รัฐธรรมนูญกับประชาชน"

เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันตั้งเป็นองค์กรทางสังคมหรือเมื่อคณะบุคคลรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมและองค์กรใดๆ ขึ้น การมีกฎระเบียบ หรือกติกา  รวมทั้งกฎระเบียบขององค์กร และกฎระเบียบของสมาคมนั้นๆ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งอันเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้

เนื่องด้วยกฎระเบียบ หรือกติกาจะเป็นทั้งเครื่องนำทางมวลชีวิตของมนุษย์ที่มาอยู่รวมกันนั้น ให้มีวิวัฒนาการสืบเนื่องต่อไปจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

ผู้นำขององค์กรเอง ก็จะรับทราบว่าตนเองมีภารกิจ และมีอำนาจหน้าที่อันใด  มีขอบเขตเพียงใด เรื่องใดเป็นสิ่งที่ผู้นำขององค์กรควรทำ ไม่ควรทำ หรือจะกระทำมิได้ รวมทั้งจะมีผลอย่างสำคัญเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้นำขององค์กรนั้นๆ ว่าควรดำเนินการอย่างไร  สมาชิกขององค์กรนั้นจะรับทราบว่ามีการเปลี่ยนผู้นำใหม่แล้วเมื่อใด  จะให้ความยินยอมแก่ผู้นำใหม่หรือไม่อย่างไร  สมาชิกขององค์กรนั้นมีสิทธิหน้าที่หรือได้รับประโยชน์ใด  การสิ้นสุดสภาพจากการเป็นสมาชิกองค์กร หรือจะเข้าสมัครเป็นสมาชิกใหม่ขององค์กร จะกระทำอย่างไร รวมทั้ง หากสมาชิกขององค์กรมีความประสงค์จะเป็นผู้บริหารขององค์กรนั้นๆ จะกระทำวางแผนหรือประพฤติตัวอย่างไร

หากสังคมรวมทั้งองค์กร และสมาคมใดๆ ขาดเสียซึ่งกฎระเบียบ หรือกติการย่อมยังผลให้ชีวิตขององค์กร หรือสมาคมนั้นไม่มีความยั่งยืน หากแม้นไม่ถึงกับสลายตัว ก็ย่อมวิวัฒนาการไปอย่างไร้ระเบียบ ขอให้ลองนึกถึงสภาพของการเดินทางในท้องถนน  ซึ่งมีทั้งคนที่ขับรถทางซ้ายอยู่ร่วมกับคนที่ขับรถทางขวา  แม้ว่าถนนและรถยนต์ยังคงสภาพอยู่ แต่ก็จะสร้างความโกลาหลและจลาจลอยู่เนืองนิจ  ไม่เพียงแต่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลจะเสียหายย่อยยับ ผู้คนที่มีสามัญสำนึก ก็คงไม่มีผู้ใดปรารถนาจะขับรถออกไปในท้องถนนในสภาพดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรากล่าวถึงกฎระเบียบ หรือกติกาของสังคม รวมทั้งขององค์กร และของสมาคมใดๆ เป็นที่น่าสังเกตว่า "กฎกติกา" นั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง ที่สำคัญส่วนหนึ่ง ได้แก่ กฎระเบียบที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจน อีกส่วนหนึ่ง ได้แก่ ประวัติความเป็นมาและขนบธรรมเนียมประเพณีขององค์กร ซึ่งไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร  แต่สมาชิกขององค์กรมีความเข้าใจและรับทราบกันโดยทั่วไป โดยมีการปฏิบัติกันสืบต่อมา

ในส่วนของชีวิตทางการเมือง จำเป็นต้องมี "กฎกติกา" ของประเทศ หรือรัฐ ซึ่งทั้งประเทศและรัฐต่างถูกจัดเป็นองค์กรทางการเมืองชนิดหนึ่งโดยที่กฎกติการของประเทศซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า "รัฐธรรมนูญ"  นั้น  กล่าวได้ว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของมวลสมาชิก ซึ่งได้แก่ "ประชาชน" และ "พลเมือง" ผู้อยู่ร่วมกันเป็นเจ้าของประเทศ

เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องนำทางให้ประเทศมีวิวัฒนาการไปอย่างมีระเบียบ และยังประโยชน์สูงสุดให้บังเกิดแก่ประชาชนทั้งมวล

รัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็น "กฎกติกา" ของประเทศ หรือของรัฐ มีฐานะความสำคัญสูงสุดอยู่เหนือ "กฎกติกา" ขององค์กร ของสถาบันการเมือง และสมาคมอื่นๆ

เหตุเพราะรัฐ หรือประเทศเป็นองค์กรทางการเมืองที่มีความสำคัญสูงสุด กล่าวคือ เป็นองค์กรที่มีอำนาจบังคับ ควบคุม อำนวยการ และจัดการให้มีการพัฒนาชีวิตของมวลประชาชน

สถานะความสำคัญสูงสุดของกฎกติการของรัฐหรือรัฐธรรมนูญ แสดงออกในกิจกรรมทุกด้านของรัฐ และเกี่ยวข้องกับประชาชนผู้เป็นสมาชิกและเป็นเจ้าของรัฐ นับตั้งแต่ การจัดตั้งและวางแนวทางให้กับสถาบันการเมืองอื่นๆ ได้ปฏิบัติ เช่น การก่อตั้งและดำเนินงานของคณะรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร  พรรคการเมือง การปกครองท้องถิ่น ฯลฯ ล้วนอยู่ในกรอบและในแนวทางที่รัฐธรรมนูญวางแนวทางไว้เป็นหลักใหญ่ แน่นอนว่า ทุกสถาบันล้วนมีประวัติความเป็นมาและมีการปฏิบัติที่อาจเคยชินอยู่ "กฎกติกา" ของตนเอง มากกว่าจะอยู่ในกรอบ "กฎกติกา" ของรัฐ แต่นั่นก็เป็นประเด็นปัญหาที่จะต้องทำให้รัฐธรรมนูญมีความก้าวหน้า รวมทั้งมีความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้นไปตามลำดับกล่าวคือ  ทุกสิ่งทุกอย่างควรมีวิวัฒนาการไปในทางที่ยังประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชน

"รัฐธรรมนูญ" กับ "ประชาชน" มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น  โดยเกี่ยวข้องกับการจัดวาง "กฎกติกา" ของประเทศอย่างสำคัญในสองเรื่อง เรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของรัฐบาลและองค์กรการปกครองของรัฐ  ซึ่งควรทำให้มีความชัดเจน โปร่งใส เป็นประชาธิปไตย มีประสิทธิภาพ ความชอบธรรม และมีความรับผิดชอบต่อองค์กรของประชาชนมากยิ่งไปตามลำดับเพราะหากการจัดวาง "กฎกติกา" เป็นในทางตรงกันข้าม เช่น ไม่มีความชัดเจน ไม่เป็นประชาธิปไตย ฯลฯ รัฐบาล และองค์กรการปกครองของรัฐ  ก็คงใช้อำนาจหน้าที่อย่างฉ้อฉล อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์ของประชาชนในทุกส่วน  อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดวาง "กฎกติกา" ว่าด้วยสิทธิ  เสรีภาพ  หน้าที่ และประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับจากการดำเนินงานของรัฐ  ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงแก้ไขให้มีความก้าวหน้า  และสอดคล้องกับหลักการปกครองตนเองของประชาชนมากยิ่งขึ้นตามกาลเวลา  เพราะหากรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติอย่างไม่เหมาะสมแล้ว  ประชาชนจะเป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรง  เช่น  ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้ถูกรับรองสิทธิ  ไม่ได้รับค่าชดเชย  เป็นต้น

ทุกคนคงทราบว่า  ประเทศไทยมี "กฎระเบียบ" หรือรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ  แต่ก็ล้มลุกคลุกคลาน และไม่มีความต่อเนื่อง  เหตุสำคัญเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญดังกล่าว กับประชาชนยังไม่มีความสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียว ประชาชนยังไม่ได้เป็นแหล่งที่มาของรัฐธรรมนูญ

เรียบเรียงโดย  รองศาสตราจารย์นครินทร์  เมฆไตรรัตน์

จัดทำโดย  อนุกรรมการวิชาการและวางแผนการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง

หมายเลขบันทึก: 301739เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2009 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทุกคนคงทราบว่า ประเทศไทยมี "กฎระเบียบ" หรือรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ..แต่ก็ล้มลุกคลุกคลาน และไม่มีความต่อเนื่อง เหตุสำคัญเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญดังกล่าว กับประชาชน ยังไม่มีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว ประชาชนยังไม่ได้เป็นแหล่งที่มาของรัฐธรรมนูญ (ที่ว่านี้..คงจะเป็นฝนตกขี้หมูไหล.. เลย...ประชาชนยังไม่ได้เป็นแหล่งที่มาของรัฐธรรมนูญ..อิอิ)

ใช่ครับ ทุกคนในประเทศไทยทราบว่า ประเทศไทยมี "กฎระเบียบ" แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยยังขาด โดยเฉพาะระดับผู้นำ ที่จะสามารถมองภาพรวม และมีจิตสาธารณะ ที่จะสำนึกว่า เราต้องมีความเสียสละอยู่มาก เมื่อตัวท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีอำนาจ ที่ต้องดูแลและบังคับใช้กฎระเบียบเหล่านั้น และที่สำคัญต้องทำสิ่งใดๆ ก็ต้องทำอยู่ภายใต้ระเบียบเหล่านั้น และที่สำคัญคนไทยต้องรู้จักเคารพในสิทธิ และรู้จักหน้าที่ของพลเมืองให้มากขึ้น และเข้าถึงคำว่า สำนึกต่อชุมชนให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ชุมชนที่ตนเองได้ผลกระทบ แต่ชุมชนในระดับประเทศ ที่เราทุกคนต้องพึ่งพากัน ต้องอาศัยน้ำพักน้ำแรงร่วมกัน ในการผลักดันให้เกิดผล เห็นมรรค ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่าน และเสนอข้อคิดดีๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท