สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 5 ชุมชนหรือสังคมอ่อนแอ


มาช่วยกันสานความเข้าใจให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้มีความรู้สึกนึกคิด รักบ้านเกิดเมืองนอน ยกย่องเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพิ่มความเข้มแข็งให้กับสังคม

สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 5)

ชุมชนหรือสังคมที่อาศัยอยู่มีความอ่อนแอ  

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

            จะมีสถาบันไหน โรงเรียนใดที่จะเปิดโอกาสให้คุณครูได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากปราชญ์เดินดิน ศิลปินพื้นบ้าน ให้มีบุคคลทำหน้าที่นี้ในสถานศึกษาได้ อย่างต่อเนื่องตลอดไป ที่ต้องกล่าวอย่างนี้เพราะหน่วยงานสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพียงแต่ว่าในแต่ละสถานศึกษาได้เดินหน้าในเรื่องนี้กันอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน หรือว่าเพียงแต่ทำพอไม่ให้มีเท่านั้นไม่ได้มองไปถึงการจรรโลง และค้ำจุนอย่างเหนียวแน่น

          จากความเห็นของนักเรียนชั้น ม.6/1- 6/4 ที่ได้ร่วมกันคิดและเสนอความเห็นให้ผมเอาไว้ว่า สาเหตุที่เยาวชนไทย ไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพราะ ชุมชนหรือสังคมที่อาศัยอยู่ไม่เข้มแข็งในเรื่องของการเรียนรู้เอกลักษณ์ของท้องถิ่น ชุมชนอ่อนแอ ไม่มีจุดยืนหรือไม่แสดงจุดเด่นให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีที่มาและมีการพัฒนาในเรื่องใดบ้าง โดยเฉพาะวิถีชีวิตในชุมชน อาชีพ ความเป็นอยู่พึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงหรือยังจะต้องทิ้งถิ่นไปหากินที่อื่นจนแทบไม่เหลืออยู่เฝ้าบ้านเกิด

         

         

          ในเมื่อชุมชนไม่เข้มแข็ง เหมือนเครื่องจักรที่มีอุปกรณ์มีส่วนประกอบที่ชำรุดหมดสภาพนับวันแต่จะต้องหยุดอยู่กับที่หรือถอยหลังห่างจากความเจริญไปทุกที สังคมใดเริ่มล้าหลัง ถดถอยแสดงว่ากำลังตามไม่ทันสถานการณ์ในปัจจุบัน น่าเป็นห่วงเยาวชนของชาติที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้สึกนึกคิดและเห็นโลกที่สวยงามตามอย่างสื่อที่ทันสมัยชักนำไปในทางสูงส่งเลิศลอย แต่อาจลืมที่มา ลืมไปว่าถิ่นเกิดของเรามีรากเหง้าฝังลึกที่เหนี่ยวแน่นมายาวนาน แต่ขาดตอน ไม่มีผู้ที่จะมาสานต่อ สืบทอดเจตนารมณ์ของคนรุ่นเก่า จึงทำให้เยาวชนไม่รู้อดีต ไม่รู้เรื่องราวในปัจจุบัน และวาดฝันตามความหลงใหลในสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ 

       การที่คนคนหนึ่งหลงใหลในอดีต เดินทางตามรอยคนเก่า ๆ ในบางสิ่งบางอย่าง มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่มาก ได้แก่

-      ได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตของคนรุ่นก่อนว่า เขาอยู่รอดกันได้อย่างไร

-      ได้ใช้ความสามารถในการประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว

-      มีความภาคภูมใจเมื่อได้รับการกล่าวถึงในสิ่งที่เราทำได้ มีจุดเด่น

-      ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เป็นจุดขายเป็นหน้าตา เป็นสัญลักษณ์ ตัวแทนของท้องถิ่น

          

         

          เด็ก ๆ เขาแสดงความเห็นว่า ชุมชนไม่เข้มแข็งในเรื่องการเรียนรู้และการรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น  มิใช่ว่าขาดการเรียนรู้ เพราะคนในสังคม ในชุมชนต่างก็มีการศึกษาในระดับความรู้พื้นฐาน เป็นอย่างน้อย แต่พวกเขาขาดการปลูกฝังความคิดให้มีความเข้าใจในท้องถิ่น จึงทำให้ไม่มีความจริงจัง (เอาจริงเอาจัง) ในสิ่งที่มีความสำคัญ ปล่อยไว้จนนาน ๆ เข้าจึงไม่สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ คนบางกลุ่มจึงต้องหันไปพึ่งในสิ่งที่มองไม่เห็น ไปหลงเขชื่อในสิ่งที่มีความลี้ลับ ชุมชนใดมีความอ่อนแอ ไม่เพียงแต่เอกลักษณ์ของท้องถิ่น ขาดการสานต่อและได้รับการพัฒนาเท่านั้น  ยังมีผลส่งถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติด้วย

          มาช่วยกันสานความเข้าใจให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้มีความรู้สึกนึกคิด รักบ้านเกิดเมืองนอน ยกย่องเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพิ่มความเข้มแข็งให้กับสังคมกันตั้งแต่บัดนี้ จะดีกว่า

(ติดตามตอนที่ 6 สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

 

หมายเลขบันทึก: 301421เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2009 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • น่าภูมิใจแทนเยาวชนเมืองสุพรรณ
  • ที่มีคุณครูใจดีและมุ่งมั่นสานต่อสืบสานงานท้องถิ่นตัวเอง
  • ขอให้กำลังใจอาจารย์ทำต่อไป
  • สถานศึกษาอื่น ๆ น่าจะนำแนวคิดนี้ไปใช้กับเยาวชนบ้างจะดีหาน้อยไม่

ขอเจริญพร

  • กราบขอบพระคุณ ที่พระคุณท่านให้กำลังใจ
  • ครับท่าน ผมจะทำงานนี้ต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท