KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๗๐๕. KM โรงเรียนชาวนา



          วันที่ ๒๒ ส.ค. ๕๒ ผมติดตามคณะ Executive Learning Trip ของ กลต. ไปเรียนรู้เรื่อง KM โรงเรียนชาวนาที่ มขข. (มูลนิธิข้าวขวัญ) สุพรรณบุรี    หลังจากที่ผมห่าง มขข. ไป


          ที่จริง โรงเรียนชาวนา มขข. คือที่ทดลองเอา KM ไปใช้ในบริบทของชาวบ้านครั้งแรกในประเทศไทย   โดยที่ตอน สคส. ไปยุให้ มขข. ทดลองใช้ KM นั้น เราก็ไม่รู้ว่าผลมันจะออกมาอย่างไร   ไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้หรือไม่   โดยที่ความเชื่อลึกๆ ของเราคือมันน่าจะใช้ได้ดีถ้าเราสามารถปลุกความมั่นใจตนเองของชาวบ้านขึ้นมาได้


          โชคดี ที่คุณเดชา ศิริภัทร มีความเชื่อที่ตรงกับแนว KM คือเชื่อตามผลการวิจัยของ ดร. ธันวา จิตสงวน แห่ง มก. ว่าการเรียนรู้ของชาวนาต้องทำเป็นกลุ่ม   ต้องใช้กระบวนการกลุ่ม (Team Learning) ซึ่งตรงกับของ KM พอดี    โรงเรียนชาวนาจึงใช้กระบวนการกลุ่มที่เติมแนว KM ลงไป


          คือตั้งเป้าทำนาปลอดสารพิษ แล้วลงมือทำ หาความรู้เอามาใช้ ทั้งความรู้จากภายนอกและความรู้จากภายในกลุ่มนักเรียนชาวนาด้วยกันเอง   สังเกต/วัด ผลการทดลอง  จดบันทึก  และเอามา ลปรร. กันอย่างสม่ำเสมอ   โดยมี “คุณอำนวย” ของการ ลปรร. และการไปแสวงหาความรู้จากภายนอก   รายละเอียดมีอยู่ในบันทึกนี้ แล้วอ่านไล่บันทึกชุดนี้ทั้งหมดท่านจะได้เรื่องราวของโรงเรียนชาวนา มขข. ช่วงแรกทั้งหมด 


          สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในสังคมไทย    ผมอยากรู้ว่า KM โรงเรียนชาวนาจะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ขึ้นในกลุ่มชาวนาที่มาเข้าโรงเรียนชาวนาได้หรือไม่ 

 
          ผมได้คำตอบจากการไปนั่งฟังอยู่ค่อนวัน   ทั้งจากคุณเดชา คุณจิ๋ม คุณเบี้ยว คุณสุรัชต์ คุณสายใจ และคุณสงกรานต์    ซึ่ง ๔ คนหลังคือนักเรียนโรงเรียนชาวนาตัวจริง   ๒ คนแรกเป็นนักเรียนรุ่นแรก ที่เวลานี้กลายเป็นทั้งครูและนักเรียน    คือ ๔ คนนี้ถือได้ว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้แนว KM ได้ซึมซับเข้าไปในเนื้อในตัวจนกลายเป็นวิถีชีวิต (วัฒนธรรม)


          คำตอบที่ผมได้ คือ “ทั้งได้และไม่ได้”   คือในชาวนาบางคน เกิดการเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างชัดเจน และถาวร เพราะความเชื่อหรือกระบวนทัศน์ในเรื่องการทำนาได้เปลี่ยน (transform) ไปโดยสิ้นเชิง    โดยที่อาจเป็นเพราะเขามีทุนเดิมที่ดีอยู่แล้วส่วนหนึ่ง   เมื่อมาต่อยอดด้วย KM โรงเรียนชาวนาฉบับ มขข. เขาก็ “บรรลุ”    แต่ยังมีนักเรียนโรงเรียนชาวนาอีกจำนวนหนึ่ง ที่เมื่อเวลาผ่านไ และกระแสเกษตรเคมีที่รุนแรงเชี่ยวกรากกรอกหูอยู่ทุกวัน   รวมทั้งเพื่อนบ้านเกือบทั้งหมดยังอยู่ในความเชื่อหรือกระบวนทัศน์เกษตรเคมี    เขาก็ไม่สามารถทวนกระแสได้

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ส.ค. ๕๒

คุณเดชา ศิริภัทร กำลังเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองและ มขข.

 

บรรยากาศในห้อง ลปรร.

 

ชามหยกโบราณสำหรับกินอาหารพิเศษของคุณเดชา

 

ถ่ายก้นชาม

 

ถ่ายจากด้านบน

 

อาหารประจำวันของคุณเดชา ทำจากข้าว ถั่วเหลือง และงา

 

หลังผสมน้ำ โดยใช้น้ำเย็นธรรมดา

 

จากซ้าย คุณจิ๋ม คุณเบี้ยว คุณสงกรานต์ คุณสุรัชต์ และคุณสายใจ

 

บรรยากาศภายในห้อง ลปรร. กับนักเรียนโรงเรียนชาวนา

อาคาร มขข.

หมายเลขบันทึก: 300681เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์ค่ะปูก็เป็นหนึ่งในคณะที่เดินทางไปในวันนั้น เห็นชามนี้ แต่วันนั้นไม่รู้ว่ามันคือชามอะไรค่ะ????

แต่พอวันนี้มาอ่านบล๊อกของอาจารย์จึงทำให้มีโอกาสได้เห็นชามหยกโบราณและอาหารการกินอยู่ ของคุณเดชาค่ะ

สำหรับเกษตรที่บอกว่าต้านกระแสเกษตรเคมีไม่ไหวนั้น ก็เป็นจริงตามนั้นนะค่ะ

จากประสบการณ์ตรงที่บ้านปู ที่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ก็ทำเกษตร (ปลูกอ้อย มันสำปะหลังและข้าว (อีกนิดหน่อย)

เพราะถ้าไม่ใช้ปุ๋ยเคมีละก้อ มีหวังผลผลิตทางเกษตรจะไม่มีวันได้ผลิดอกออกผลเป็นแน่แท้ค่ะ

เพราะว่าไม่มีแรงที่จะสู้กับวัชพืชต่าง ๆ (ตระกูลหญ้า) ไม่ไหวแน่ ๆ ค่ะ จึงเป็นผลให้เกษตรกรขาดทุนจากการทำการเกษตรนะค่ะ

  • น้อยเข้ามาตามอ่านเรื่องคุณเดชาด้วยความนับถือ เพราะตามงานคุณเดชามาตั้งแต่ยังทำเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสม
  • สมัยที่รู้ข่าวว่าคุณเดชาทำโรงเรียนชาวนา และเปิดให้เรียนฟรี น้อยยังเคยคิดจะไปขอเรียนด้วยคน แต่ไอ้เราก็ไม่มีที่ดินไร่นาจะไปทำ อีกอย่างก็แก่แล้ว อาจสู้สังขารไม่ไหว  เลยเฉยไว้ดีกว่า

กราบเรียนอาจารย์วิจารณ์

  • ชาวนาเป็นกลุ่มหนึ่งที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ ในอีกบริบทที่ต่างไปจากครู
  • การที่พูดว่าสงสารนั้น  ในความเป็นจริงรู้สึกสงสารตัวเอง  สงสารคนไทยและชาติไทย
  • เป็นดังที่พี่เดชาพูดไว้ว่า สามอาชีพหลักของไทย คือ ทหาร ครู ชาวนา (รั้ว-แม่พิมพ์-กระดูกสันหลัง ของชาติ)  ปัจจุบันอ่อนแอมาก  เท่ากับประเทศไทยเราอ่อนแอมาก  คนที่เก่งมีความรู้ดีมีความสามารถดี ไม่มีใครอยากทำอาชีพสามอย่างนี้นัก
  • เป็นอาชีพที่เหมือนถูกบีบคั้น ดูถูก กดดัน จากหลายด้าน พ่อค้านายทุนต่างก็พยายามเอาเปรียบหาประโยชน์  ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้วมีสำคัญอย่างมาก
  • รัฐบาลกับนโยบายสนับสนุนตลาดทุน สนับสนุนนายทุน  มีแต่จะสร้างความเสียหาย และหายนะใหญ่ขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย  ไม่รู้ว่าจะกลับตัวกันทันหรือไม่เมื่อเวลามาถึง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท