สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 4 สถานศึกษาไม่เปิดโอกาสให้


จะมีสถาบันไหน โรงเรียนไหนที่จะเปิดโอกาสให้คุณครูได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากปราชญ์เดินดิน ศิลปินพื้นบ้าน ให้มีบุคคลทำหน้าที่นี้ในสถานศึกษาได้ อย่างต่อเนื่องตลอดไป

สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 4)

สถานศึกษาไม่เปิดโอกาสให้เยาวชน

ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

        หากผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นภาพอย่างที่ผมเห็น ยังมีอีกหลายแง่หลายมุมในแต่ละท้องถิ่นที่นำมาซึ่งความสับสนเมื่อเยาวชนได้สัมผัส  ผมยกเอามาเป็นตัวอย่างเพื่อขยายความเห็นที่นักเรียนเขากล่าวไว้ในประเด็นปัญหาสาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ผมแสดงความเห็นอย่างนี้เพราะผมอยู่บนเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้านตั้งแต่เล่นเพลงกันบนพื้นดินจนถึงบนเวทีการแสดงที่โอ่อ่า นานกว่า 40 ปี ผมเห็นภาพจริงที่ยังจำเอาไว้ได้ติดตาแม่นยำในสมองและเห็นภาพในวันนี้ที่แตกต่างออกไปจากเดิม 

        ผมบันทึกความคิดเห็นของนักเรียนชั้น ม.6 ที่ผมสอน ยังมีอีกหลายประเด็นที่เด็ก ๆ เขาคิด วิเคราะห์ในเรื่องของปัญหาที่ทำให้เยาวชนไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งเขาได้ขยายความเอาไว้ให้เห็นภาพของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นว่า เป็นที่มาของปัญหาจริง ๆ ตามประสาของเยาวชนที่มีอายุในช่วงระหว่าง 17-18 ปี ครับ

        นักเรียนให้ข้อคิด ความเห็นกับผมว่า อาจารย์ ครับ “โรงเรียนเรา (หมายถึงโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1) ไม่เหมือนโรงเรียนอื่น ๆ ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนย้ายไปและย้ายมาอยู่ในโรงเรียนของเราหลายท่าน แต่เพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด ของอาจารย์ยังคงอยู่คู่กับโรงเรียนมาตลอด ไม่เคยขาดตอน ตั้งแต่รุ่นพี่ของผม (บางคนบอกว่าตั้งแต่รุ่นน้า รุ่นอา) ก็มีเพลงฉ่อย เพลงอีแซวในโรงเรียนแล้ว”

        ยังมีคำยืนยันจากเด็ก ๆ อีกหลายประโยค ที่สนับสนุนว่า เพลงพื้นบ้านในโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีมานาน (ความจริงมีมา 18 ปีแล้ว) ผมไม่เคยบ่นให้เด็ก ๆ ได้ยินเลยว่า “ปีนี้ไม่มีเด็กเก่ง ๆ มาเล่นเพลง หมดคนเก่ง เรียนจบกันไปหมด”  ไม่หมดหรอกครับ เด็กจะเก่งไม่เก่งไม่สำคัญ ความสามารถฝึกฝนพัฒนาได้  แต่ว่าจะให้มีความสามารถเทียบเท่ากับรุ่นพี่ ๆ ได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าตัวครูจะต้องทำเต็มที่ รักษาระดับคุณภาพให้มีวงเพลงอยู่คงเดิมให้นานเท่านานหรือคงอยู่ตลอดไป

       

       

       

        การสอนให้เด็ก ๆ เขาได้เรียนรู้เรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่น จะต้องอ้างอิงตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องและเป็นบุคคลที่เด็ก ๆ เขาเคยเห็น จะได้เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือ และก็เช่นเดียวกัน  ตัวครูจะต้องแสดงความสามารถที่ชัดเจน จนเด็ก ๆ เขายอมรับเราในหัวใจ วันนี้ผมสอนนักเรียนชั้นม.6/1 เด็ก ๆ เขาแสดงความสามารถศิลปะกันคนละ 1 อย่าง กลุ่มละ 1อย่าง ผมยังได้รับความสนใจจากเด็ก ๆ ขอให้ผมร้องเพลงเพลงพื้นบ้านให้เขาฟัง ผมก็จัดให้ตามที่เด็ก ๆ ต้องการ (ด้นสดให้ในทันที)

        สถานศึกษา หรือโรงเรียนมีความสำคัญมาก ในการที่จะผลักดัน หรือส่งเสริมให้เยาวชนได้รู้จัก ได้เรียนรู้ ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ว่าคงได้ไม่มาก จนถึงขนาดให้ความสนใจเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ พอมีกลุ่มสนใจ มีกลุ่มผู้นำอยู่บ้างก็ถือว่า ดีแล้ว แต่การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับการถ่ายทอดศิลปะการแสงของท้องถิ่น เป็นช่องทางหนึ่งที่นำมาซึ่งความรู้ ความเข้าใจในกลุ่มเยาวชน อย่างน้อย ๆ เขาก็ได้เห็นเพื่อนของเขาเป็นตัวแทนของโรงเรียนขึ้นไปแสดงความสามารถอยู่บนเวทีอย่างสง่างาม ท่ามกลางผู้ชมเต็มฮอลล์ เต็มห้องประชุมขนาดใหญ่

        ผู้รู้ หรือปราชญ์ชาวบ้าน ค่อย ๆ หมดไป สำหรับภูมปัญญาชาวบ้านที่อยู่ในโรงเรียน (ครูที่มีความสามารถเฉพาะทาง, เป็นช่าง, เป็นนักแสดง) มิใช่จะเกิดขึ้นได้มาก น้อยเต็มทีมีจะมีปรากฏในโรงเรียนใด โรงเรียนหนึ่ง และเป็นไปได้ว่า ตลอดชีวิตราชการ ไม่มีคนต่อไปมารับช่วงต่ออย่างจริงจัง

        แล้วจะมีสถาบันไหน โรงเรียนไหน จะเปิดโอกาสให้คุณครูได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากปราชญ์เดินดิน ศิลปินพื้นบ้าน ให้มีบุคคลทำหน้าที่นี้ในสถานศึกษาได้ อย่างต่อเนื่องตลอดไป

(ติดตามตอนที่ 5  สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

 

หมายเลขบันทึก: 300569เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ขอสนับสนุนความคิดโยมอาจารย์อย่างมาก ทำอย่างไรดี
  • ในเมื่อชุมชนตัวเองมีดีอยู่ แต่มันค่อย ๆ สูญหายไปต่อหน้าต่อตา
  • ผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายอย่าทอดทิ้งเยาวชนลูกหลานไปมากกว่านี้เลยนะ
  • ให้ลูกหลานเรียนรู้เรื่องตัวเองแล้วออกไปข้างนอกลู กหลานจะเข้มแข็งและมั่งคงในการดำเนินชีวิต

ขอเจริญพร

กราบนมัสการ ท่านมหาแล ขำสุข

  • ขอน้อมรับความเห็นของพระคุณท่าน ด้วยความประทับใจ ครับ
  • ก็อยากให้ลูกหลานได้รู้จักตัวตนของตนก่อนที่จะไปเรียนรู้เรื่องภายนอก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท