นิ้วล็อค
มีคำถามจากคุณกัลยา ค้างเอาไว้หลายฉบับแล้วครับ ถามมาเรื่องนิ้วล็อคซึ่งมีผู้เป็นกันมากในปัจจุบันนี้
“คุณหมอโอ๊ตคะ ดิฉันอายุประมาณ 40 ปี มีปัญหาเวลากำมือแล้วนิ้วกลางเหยียดไม่ออก เคยไปตรวจหมอว่าเป็นนิ้วล็อคค่ะ รักษากินยาแล้วอาการก็ยังไม่ค่อยดีขึ้น ยังเป็นๆหายๆอยู่ สังเกตว่ามีเพื่อนในวัยเดียวกันมีอาการเช่นนี้หลายคน เลยอยากถามคุณหมอว่าโรคนี้เป็นอย่างไรคะ รักษาหายไหม และต้องทำตัวอย่างไรบ้าง ช่วยตอบในหญิงไทยด้วยนะคะ”
ขอบคุณค่ะ
กัลยา
สวัสดีครับคุณกัลยา ต้องขอโทษที่จดหมายค้างอยู่นานมากครับ วันนี้ได้โอกาสนำมาตอบปัญหาให้หายสงสัยกันแล้วนะครับ
นิ้วล็อค หรือ Trigger Finger เป็นกลุ่มอาการอักเสบของเอ็นนิ้วมือที่พบบ่อยในวัยกลางคนครับ น่าแปลกที่เราพบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบมากในคนที่ทำงานใช้มือมากๆ มีการกำมือ งอนิ้วบ่อยๆ เช่น คนที่ทำงานทอผ้า คนที่นั่งพิมพ์ดีด หรือใช้คอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบในคนที่มือเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ และพบร่วมกับผู้ป่วยโรคข้ออับเสบชนิดรูมาตอยด์ พบในผู้ป่วยเบาหวานได้มากกว่ากลุ่มอื่นครับ
นิ้วล็อค มักจะเป็นกับนิ้วกลางและนิ้วนางมากกว่านิ้วชี้และนิ้วก้อย อาการของนิ้วล็อคคือ เวลากำมือแล้วเวลาที่แบมือออก จะเหยียดนี้วกลางหรือนิ้วนางไม่ได้ กว่าจะเหยียดออกได้ต้องใช้เวลาและติดขัด ซึ่งไม่ใช่อาการอันตราย แต่สร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เป็นโรคนี้ การใช้มืออาจไม่สะดวกเหมือนปกติ บางคนรู้สึกอาย หรือบางคนอาจกังวลว่าเป็นโรคข้อหรือว่ามีข้อเคลื่อนหรือเปล่า ที่จริงแล้วไม่ใช่นะครับ แต่เกิดจากเอ็นนิ้วมือบวมอักเสบครับ
การรักษานิ้วล็อคมีหลายวิธี ได้แก่
1. การใช้ความร้อนประคบ วิธีนี้ใช้ช่วยเหลือบรรเทาอาการทำให้นิ้วที่ล็อค สามารถเหยียดออกได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ไม่ใช่การรักษาให้หายขาดครับ เพียงแต่เป็นการช่วยปฐมพยาบาลขั้นต้นเท่านั้น
2. การรับประทานยาแก้อักเสบของกล้ามเนื้อ การรับประทานยาจะช่วยลดอาการอักเสบของเอ็นนิ้วมือ มักจะได้ผลดีในกรณีที่อาการนิ้วล็อคเพิ่งเป็น ไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ หากเป็นนานหรือว่าเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง การรักษาด้วยวิธีนี้อาจไม่ได้ผล
3. การฉีดยาเข้าในเอ็นข้อนิ้วที่อักเสบ เป็นการฉีดยาลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ และเอ็นเข้าไปโดยตรง (ภาพที่ 1) วิธีนี้มักจะได้ผลดี เนื่องจากยาจะเข้าไปรักษาบริเวณที่อักเสบโดยตรง แต่ผู้ป่วยมักไม่ชอบเพราะเจ็บ
4. ในกรณีที่เป็นซ้ำๆหลายครั้ง การกินยา ฉีดยาอาจไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อแก้ไขเอ็นนิ้วมือส่วนที่มีการอักเสบครับ การผ่าตัดนิ้วล็อค เป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาทำไม่นาน ผู้ป่วยไม่ต้องค้างโรงพยาบาลครับ ฉีดยาชาทำเสร็จสามารถกลับบ้านได้เลย
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นายแพทย์ Vichai Vijitpornkul ใน โรคนิ้วล็อก(Trigger finger)
เรียน คุณหมอนิ้วล็อค
คุณหมดคะ คุณแม่ดิฉันเป็นนิ้วล็อค ท่านอายุ 75 ปีแล้ว เป็นค่อนข้างมากด้วยคือนิ้วกลางและนิ้วนางเหยียดไม่ออก ท่านเป็นโรคความดันสูงด้วย ถ้าจะให้ผ่าตัดจะเป็นอันตรายไหมคะ
ขอบคุณค่ะ
กรรณิการ์