ครูสมใจ
ครู ครูสมใจ ครูพณิชยการ เอื้อความดี

การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (หน่วยที่ 5)


การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

หน่วยที่ 5  การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม 

การคำนวณและการบันทึกบัญชีภาษีมูลค่าเพิ่ม 

1.     ภาษีขายและภาษีซื้อ 

ภาษีขาย (OutputTax)หมายความว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนได้เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อขายสินค้าหรือรับชำระค่าบริการ หากภาษีขายเกิดขึ้นในเดือนใดก็เป็นภาษีขายของเดือนนั้น โดยไม่คำนึงว่าสินค้าที่ขายหรือบริการที่ให้นั้นจะซื้อมาหรือเป็นผลมาจากการผลิตในเดือนใดก็ตาม

ภาษีซื้อ (Input Tax) หมายความว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบกิจการได้จ่ายให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เป็นผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนเมื่อซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตน หากภาษีซื้อเกิดขึ้นในเดือนใดถือเป็นภาษีซื้อของเดือนนั้นโดยไม่คำนึงว่าสินค้าที่ซื้อมานั้นจะขายหรือนำไปใช้ในการผลิตในเดือนใดก็ตาม

ภาษีซื้อที่ห้ามนำมาหักภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีดังต่อไปนี้

1.1  กรณีไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เว้นแต่จะเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามหลักเกณฑ์ดังนี้

1.1.1  ใบกำกับภาษีถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย เช่น อัคคีภัย อุทกภัย หรือ          วาตภัย ซึ่งต้องมีหลักฐานทางราชการ หรือหลักฐานอื่นที่เชื่อถือได้ว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจริง

1.1.2  ผู้ประกอบกิจการไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีได้ เนื่องจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ไม่สามารถออกใบแทนใบกำกับภาษีได้เพราะเหตุสุดวิสัย

1.2  กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

1.3  ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ได้แก่ ภาษีซื้อที่ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือกิจการโดยเฉพาะ

1.4  ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไขมีดังนี้

1.4.1  ค่ารับรองหรือค่าบริการไม่ว่าจะจ่ายเพื่อการรับรองหรือให้บริการแก่บุคคลใด และไม่ว่าจะอำนวยประโยชน์แก่กิจการหรือไม่ก็ตาม เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่ามหรสพ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

1.4.2  ค่าสิ่งของหรือประโยชน์ที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับรองหรือบริการตาม ข้อ1.4.1 และบุคคลอื่น

ในกรณีบริษัทประกอบกิจการขายสินค้าได้จัดอาหารเลี้ยงรับรองลูกค้าที่มาซื้อสินค้า ดังนี้ภาษีซื้อเกี่ยวกับค่าอาหารดังกล่าวนำมาหักออกจากภาษีขายไม่ได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง แต่ในกรณีที่บริษัท ก ประกอบกิจการนำเที่ยวได้มีการเลี้ยงอาหารแก่ลูกค้า ดังนี้มีปัญหาว่าจะนำภาษีซื้อเกี่ยวกับค่าอาหารมาหักออกจากภาษีขายได้หรือไม่ ปัญหานี้มีแนวทางปฏิบัติว่าบริษัท ก มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการ จึงมีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายได้

อนึ่ง ในกรณีที่บริษัทส่งบัตรอวยพรและกระเช้าของขวัญ หรือสิ่งของจับสลากสำหรับลูกค้า โดยบริษัทผู้ให้จะคำนึงถึงการเพิ่มยอดขาย ดังนี้ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นเป็นภาษีซื้อที่มิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ จึงต้องห้ามนำไปหักออกจากภาษีขาย (มาตรา 82/5(3)) และประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 17) แต่ถ้าหากว่าของขวัญหรือของชำร่วยมีชื่อของบริษัทผู้ให้ชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ให้ปรากฏอยู่ โดยของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าวเป็นสิ่งของที่ให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร ดังนี้ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าวเป็นภาษีซื้อที่ไม่ต้องห้ามนำไปหักออกจากภาษีขายก็เนื่องจากของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าวมีเครื่องหมายการค้าของบริษัท ถือเป็นการโฆษณาบริษัท จึงเป็นภาษีซื้อที่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ

หมายเหตุ ข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าวข้างต้น เป็นไปตามมาตรา 82/5(3) และประกาศอธิบดีฯ    (ฉบับที่ 17) ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534

1.5  ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี เช่น ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแบบไม่เต็มรูป เป็นต้น

1.6  ภาษีซื้อตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามมาตรา 82/5 (6) ประกาศอธิบดีกรมสรรพกรฯ (ฉบับที่ 42 และฉบับที่ 50) กำหนดไว้ดังนี้

1.6.1  ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 71) พ.ศ. 2539 ห้ามนำ ภาษีซื้อที่เกิดจากการเช่ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารรวมทั้งภาษีซื้อสำหรับสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ดังกล่าวไปหักออก โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2539

แต่หากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนประกอบกิจการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต หรือประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง หรือประกอบกิจการบริการรับประกันวินาศภัยรถยนต์ดังกล่าว (แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 88)) ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวสามารถนำภาษีซื้อจากการซื้อรถยนต์มาขายหรือจากการได้รับบริการประกันวินาศภัยมาหักออกจากภาษีขายได้ นอกจากนั้นปัจจุบันผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์แบบลิสซิ่ง ยังสามารถนำภาษีซื้อรถยนต์ในการประกอบกิจการให้เช่าแบบลิสซิ่งมาหักออกจากภาษีขายได้ ซึ่งไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้าม

1.6.2  ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ

1.6.3  ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

1.6.4  ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในกิจการ บางประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้ขายหรือให้เช่า หรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้เฉพาะที่ได้กระทำภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

1.6.5  ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษี ซึ่งคำว่า “ใบกำกับภาษี” มิได้ตีพิมพ์หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

1.6.6 ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมิได้จัดทำขึ้นตามวิธีการตามประกาศอธิบดีกรสรรพากร (ฉบับที่ 39 และฉบับที่ 52) เช่น กรณีใบกำกับภาษีที่ระบุที่อยู่ของสำนักงานใหญ่ แต่สาขาได้จัดทำใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษี คือ ...” หรือกรณีที่สถานบริการน้ำมันจะต้องระบุเลขทะเบียนรถยนต์ไว้ในใบกำกับภาษี

1.6.7  ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษี ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (COPY) แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารการค้าอื่นซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีซื้อมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ปรากฏอยู่ด้วย

1.6.8  ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

1.6.9  ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบกิจการ จดทะเบียนนำไปใช้ในกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนดังกล่าวใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด

1.6.10    ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษี ซึ่งรายการในใบกำกับภาษีได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามคำสั่งสรรพากรที่ ป. 46/2537 ดังนี้

1)    การแก้ไขที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษี พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับ     การแก้ไข ทั้งนี้เฉพาะใบกำกับภาษีที่ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่

2)    การแก้ไขที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษีด้วยวิธีการประทับตรายางที่อยู่ที่ถูกต้องเพิ่มเติม ทั้งนี้เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่

3)    การแก้ไขเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบกำกับภาษี พร้อมทั้งลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีกำกับการแก้ไข หรือประทับตรายางเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ถูกต้องเพิ่มเติม ทั้งนี้เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่กรมสรรพากรได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรให้ใหม่

4)    การแก้ไขจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือการบริการ และมูลค่าของสินค้าหรือการบริการที่รวมจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีกำกับการแก้ไข ทั้งนี้เฉพาะใบกำกับภาษีที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

5)    การแก้ไขวัน เดือน ปีที่ออกใบกำกับภาษี อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีกำกับ การแก้ไข หรือประทับตรายางวัน เดือน ปีที่ถูกต้องเพิ่มเติม ทั้งนี้เฉพาะใบกำกับภาษีที่จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และให้แก้ไขได้ภายในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2000

16.11     ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ – เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้เฉพาะที่ได้กระทำภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ได้รับรถยนต์ไว้ในครอบครอง ซึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง

1.6.12    ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีมิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ 

2.     การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีวิธีการคำนวณดังนี้

2.1  ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ถือเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนแบบเต็มรูป การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระแต่ละเดือนเป็นดังนี้

ภาษีที่ต้องชำระ = ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

ตัวอย่าง บริษัท ผุสดี จำกัด เป็นบริษัทซื้อสินค้าสำเร็จรูปมาขาย ในเดือนเมษายน 25X9 บริษัทซื้อสินค้า 20,000 บาท และซื้อวัสดุสำนักงานเพื่อใช้ในกิจการราคา 1,500 บาท บริษัทขายสินค้าได้ในราคา 40,000 บาท ในเดือนเมษายน 25X9 การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นดังนี้

2.2  กรณีการซื้อและการขายเกิดในเดือนเดียวกัน 

วิธีคำนวณภาษี

ภาษีที่ต้องชำระ

=

ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

 

 

 

ภาษีขาย

=

40,000×7%

=

2,800

บาท

ภาษีซื้อ

=

(20,000×7%) + (1,500×7%)

 

 

 

 

=

1,400 + 105

=

1,505

บาท

ภาษีที่ต้องชำระ

=

2,800 – 1,505

=

1,295

บาท

 

จากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นของเดือนเมษายน 25X9 จำนวน 1,295 บาท ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 25X9 ให้แก่กรมสรรพากร

2.3  กรณีการซื้อและการขายเกิดขึ้นคนละเดือน สมมติว่าบริษัท ผุสดี จำกัด            ขายสินค้าได้ในเดือนพฤษภาคม 25X9

วิธีการคำนวณภาษีของเดือนเมษายน 25X9 (เดือนที่ซื้อ)

ภาษีที่ต้องชำระ

=

ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

 

 

 

ภาษีขาย

=

0

=

0

บาท

ภาษีซื้อ

=

(20,000×7%) + (1,500×7%)

 

 

 

 

=

1,400 + 105

=

1,505

บาท

ภาษีที่ต้องชำระ

=

0 – 1,505

=

-1,505

บาท

               

จากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ดังนั้นสามารถขอคืนภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 25X9 หรือขอเครดิตภาษีเพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนพฤษภาคม 25X9 ก็ได้

วิธีคำนวณภาษีของเดือนพฤษภาคม 25X7 (เดือนที่ขาย)

ภาษีที่ต้องชำระ

=

ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

 

 

 

ภาษีขาย

=

40,000×7%

=

2,800

บาท

ภาษีซื้อ

=

0

 

 

 

ภาษีที่ต้องชำระ

=

2,800 – 0

=

2,800

บาท

               

จากการคำนวณภาษีในเดือนพฤษภาคม 25X9 ผู้ประกอบการไม่ได้จ่ายภาษีซื้อ ดังนั้นจึงต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,800 บาท ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 25X9

ภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียนในอัตราร้อยละ 7 จะไม่ถือเป็นค่าใช้จ่าย เพราะภาษีที่ผู้ประกอบการจ่ายไปเป็นภาษีซื้อซึ่งสามารถขอคืนได้ทั้งหมด โดยนำไปหักจากภาษีขายที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่นำส่งกรมสรรพากร ภาษีมูลค่าเพิ่มนี้เป็นภาระของผู้บริโภคไม่ใช่ของผู้ประกอบการ ดังนั้นภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมอยู่ในต้นทุนของสินค้าหรือบริการ หรือค่าใช้จ่าย

2.4  ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ผู้ประกอบการประเภทนี้เป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7  การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนมีวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7

ภาษีที่ต้องชำระ = ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

                ผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จะไม่มีภาษีขาย เนื่องจากภาษีขายเท่ากับราคาขายคูณด้วยร้อยละ 0 จะมีค่าเป็น 0 แต่ภาษีซื้อจะมีอยู่ทุกครั้งที่ซื้อ              ถ้าซื้อจากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียน ผลจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจะติดลบ (-) คือ ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย จึงได้รับคืนภาษีเท่ากับภาษีซื้อ

ตัวอย่าง บริษัท สุรัมภา จำกัด เป็นบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์เพื่อส่งออก ในเดือนเมษายน 25X7 บริษัทซื้อไม้ซึ่งเป็นวัตถุดิบทางตรง 300,000 บาท และซื้อวัสดุสิ้นเปลือง ได้แก่ Latex และ Lacquer ซึ่งเป็นวัตถุดิบทางอ้อม 20,000 บาท บริษัทส่งเฟอร์นิเจอร์ไปต่างประเทศในเดือนเมษายน 25X7 ราคาขาย 500,000 บาท

วิธีคำนวณภาษี

ภาษีที่ต้องชำระ

=

ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

 

 

 

ภาษีขาย

=

500,000×0%

=

0

บาท

ภาษีซื้อ

=

(300,000×7%) + (20,000×7%)

 

 

 

 

=

21,000 + 1,400

=

22,400

บาท

ภาษีที่ต้องชำระ

=

0 – 22,400

=

-22,400

บาท

 

จากการคำนวณในเดือนเมษายน 25X9 ผู้ประกอบกิจการมีสิทธิขอภาษีคืน 22,400 บาท           โดยยื่นขอคืนภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 25X9

 

3.  การบันทึกบัญชีภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อกิจการจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม การจัดทำบัญชียังคงต้องปฏิบัติตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เช่น ใช้เกณฑ์สิทธิในการบันทึกบัญชีกรณีการเกิดขึ้นของรายได้ เมื่อมีการส่งมอบสินค้าหรือให้บริการแก่ลูกค้า และกรณีการเกิดรายการอื่น ๆ ก็ใช้หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นหลักการบัญชีที่รองรอบทั่วไปจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องจัดทำเอกสารและรายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีความสัมพันธ์กับรายการค้าหรือข้อมูลทางบัญชี รวมทั้งมีผลกระทบต่อรูปแบบข้อมูลที่ใช้บันทึกในเอกสารประกอบกิจการลงบัญชี และในสมุดบัญชีที่ต้องจัดทำตามกฎหมายบัญชีและหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป กล่าวคือทำให้รูปแบบของรายงานข้อมูล การจัดเตรียม และการจัดเก็บเอกสารประกอบกิจการลงบัญชีซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบบัญชีเปลี่ยนแปลงไป เช่น ใบส่งของ ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ที่เกี่ยวกับการซื้อ ขาย การรับคืน และการส่งคืน ต้องมีข้อมูลภาษีซื้อและภาษีขายเข้ามาเกี่ยวข้อง กิจการจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มเติมข้อมูลให้เป็นใบกำกับภาษี หรือต้องจัดทำใบกำกับภาษี แยกต่างหาก

นอกจากนี้รายการรับเงิน การจ่ายเงิน การซื้อ และการขาย จะบันทึกรายการในสมุดรายวันรับเงิน สมุดรายวันจ่ายเงิน สมุดรายวันซื้อ สมุดรายวันขาย สมุดรายวันรับคืน และสมุดรายวันส่งคืน ก็จำเป็นต้องมีการดัดแปลงรูปแบบให้มีจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในรายการซื้อและ ขาย หรือมีรายงานภาษีซื้อและรายงานภาษีขายในสมุดรายวันขั้นต้นที่เกี่ยวข้อง หรือจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขายเพิ่มขึ้นมาแยกต่างหากจากการบันทึกบัญชีที่มีอยู่ และกิจการยังต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถใช้บัญชีสินค้าที่อยู่ในครอบครองแทนได้ ตามกฎหมายบัญชีได้กำหนดให้จัดทำให้เสร็จเร็วกว่าข้อกำหนดตามกฎหมายบัญชี สำหรับการจัดเก็บเอกสารใบกำกับภาษี กิจการจะต้องจัดเก็บแยกต่างหากจากเอกสารอื่น

การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและการแสดงรายการทางการเงินมีหลักเกณฑ์ดังนี้

3.1  รายการเกี่ยวกับภาษีขาย

รายการเกี่ยวกับภาษีขายมีรายละเอียดดังนี้

3.1.1  การขายสินค้าเป็นเงินสดและเงินเชื่อ

1)    เมื่อมีการขายสินค้า บันทึกการขายและจัดทำรายงานภาษีขาย

เดบิต      เงินสดหรือลูกหนี้การค้า     XX

เครดิต    ขาย                              XX

ภาษีขาย                                    XX

2)    เมื่อได้รับชำระราคาสินค้าไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

เดบิต      เงินสดหรือธนาคาร                 XX

                เครดิต    ลูกหนี้การค้า          XX

3)    เมื่อรับคืนสินค้าและได้ออกใบลดหนี้แล้ว บันทึกการรับคืนและจัดทำรายงานภาษีขาย

เดบิต      รับคืน             XX

                ภาษีขาย      XX

                เครดิต    เงินสดหรือลูกหนี้การค้า   XX

4)    เมื่อรับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าและให้ส่วนลดเงินสด

เดบิต      เงินสดหรือธนาคาร                XX

                ส่วนลดจ่าย                      XX

                เครดิต    ลูกหนี้การค้า        XX

5)    เมื่อมีการขายสินค้าโดยวิธีเช่าซื้อหรือโดยวิธีผ่อนชำระ

5.1)    ณ วันทำสัญญา และได้รับเงินวางเริ่มแรก

เดบิต      เงินสด                             XX

ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ                    XX            

เครดิต    ขาย                                 XX

ภาษีขาย (ตามจำนวนเงินที่ได้รับ)        XX

ดอกเบี้ยเช่าซื้อรอตัดบัญชี                  XX

ภาษีขายที่ยังไม่ครบกำหนด                XX

5.2)    การรับรู้รายได้ในแต่ละงวด

เดบิต      ดอกเบี้ยเช่าซื้อรอตัดบัญชี    XX

                เครดิต    ดอกเบี้ยเช่าซื้อ                                                     XX        

5.3)    เมื่อได้รับชำระเงินในแต่ละงวด

เดบิต      เงินสด                                        XX

                ภาษีขายที่ยังไม่ครบกำหนด          XX

                เครดิต    ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ  XX

                                ภาษีขาย                  XX

6)    การจำหน่ายหนี้สูญ การบันทึกภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่ตัดเป็น หนี้สูญที่เข้าข่ายตามข้อกำหนดตามประมวลรัษฎากรนั้น พิจารณาได้เป็น 2 กรณีดังนี้

6.1)    กรณีที่ข้อกำหนดตามประมวลรัษฎากรให้นำภาษีขายส่วนที่ตัดเป็นหนี้สูญไปขอเครดิตได้

เดบิต      หนี้สูญ                          XX

                ภาษีขาย                    XX

                เครดิต    ลูกหนี้การค้า     XX

                                และ

เดบิต      ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ      XX

                เครดิต    หนี้สงสัยจะสูญ     XX

6.2)    กรณีที่ข้อกำหนดตามประมวลรัษฎากรให้ขอคืนภาษีขายส่วนที่ตัดเป็นหนี้สูญแล้วเป็นเงินสดได้

เดบิต      หนี้สูญ                           XX

                ลูกหนี้กรมสรรพากร        XX

                เครดิต    ลูกหนี้การค้า    XX

                                และ

เดบิต      ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ          XX

                เครดิต    หนี้สงสัยจะสูญ   XX

3.1.2  การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างและการให้บริการเป็นเงินเชื่อ

1)    เมื่อมีการให้บริการเป็นเงินเชื่อหรือการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง บันทึกรายได้และออกใบแจ้งหนี้

เดบิต      ลูกหนี้การค้า          XX

                เครดิต    รายได้จากการให้บริการ           XX

                                ภาษีขายที่ยังไม่ครบกำหนด  XX

2)    เมื่อรับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าและจัดทำรายงานภาษีขาย

                  เดบิต      เงินสดหรือธนาคาร   XX

                  เครดิต    ลูกหนี้การค้า           XX

                                   และ

                   เดบิต      ภาษีขายที่ยังไม่ครบกำหนด   XX

                  เครดิต    ภาษีขาย    XX

 

หมายเลขบันทึก: 300423เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เป็นเนื้อหาที่ดีมีสาระ แอนได้นำตัวอย่างการบันทึกบัญชีของครูสมใจ ไปmix ใช้ในเวลาเรียน

ขอบคุณ ครู มากค่ะ

ได้ประโยชน์มากมายเลยค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ จะใช้ผลงานของอาจารย์ประกอบการทำแฟ้ม ขอให้อาจารย์มีความสุขมากฯนะค่ะ

มีประโยชน์ดีคะ ช่วยให้ไม่ปวดหัว

ใช้ข้อมูลของครูทำแฟ้มเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ขอให้ครูมีความสุขที่ได้ให้ความรู้เป็นวิทยาทานแก่สาธารณะชนขอบคุณครูมากค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากๆค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ...ที่ให้ความรู้เพิ่มเติม


อาจารย์ปัญหาทางภาษีในการชำระหนี้เป็นเช็คคืออะไรคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท