สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 3 การปล่อยปละละเลย


มีอีกหลายแง่หลายมุมในแต่ละท้องถิ่น ที่นำมาซึ่งความสับสนเมื่อเยาวชนได้สัมผัส

สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 3)

เกิดจากการปล่อยปละละเลย  

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

          ดูได้จากการแสดงของคนรุ่นน้า รุ่นป้า เวลาที่ผมจะไปนำท่านมาเล่นบนเวทีการแสดง มีบางคนบอกว่า “อย่าไปเอามาเลย คนดูเบื่อตาย”  หากคนรุ่นสูงอายุคิดได้เพียงแค่นี้ จะว่าแต่เด็กเขาดูถูกภูมิปัญญาเลย เพราะเขาไม่มีคนโตคอยแนะนำบอกกล่าวให้เขาได้รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร ใครคือ ผู้ที่เราต้องศึกษา เพื่อรักษาสิ่งดี ๆ เอาไว้ เพียงแค่คนละไม้คนละมือ

          หากได้ยึดถือทำเนียมโบราณเอาไว้บ้าง ก็จะพอเป็นที่ประคับประคองให้เยาวชนเดินไปตามกรอบที่ดีมีระบบระเบียบได้บ้าง ทั้งนี้คนโตหรือผู้ที่สูงอายุกว่าจะต้องระลึกได้ รู้สึกตัวได้ว่า บทบาทของคนรุ่นเราควรที่จะทำหน้าที่ตอบแทนแผ่นดินเกิดอย่างไรได้บ้าง การนิ่งอยู่เฉย ๆ ในบางสิ่ง บางอย่างก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ในบางเรื่องหากเราปล่อยปละละเลยอาจทำให้ต้องสูญเสียในโอกาสและความสำคัญหรือสิ่งที่มีคุณค่าไป

         

         

          มีหลายสาเหตุ ที่ผมได้รับฟังการแสดงความคิดเห็นจากนักเรียนชั้น ม.6 ที่ผมสอนวิชาพื้นฐาน ศิลปะ 5 ชั้น ม.6/1-6/4 เด็ก ๆ เขาให้ความเห็นในสาเหตุเอาไว้หลายประเด็น ในบทความนี้ ผมขอยกเอาสาเหตุหนึ่งที่มีผลทำให้เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น นั่นคือ การปล่อยปละละเลย เมินเฉยไม่ให้ความสนใจ

          การปล่อยปละละเลย เพิกเฉยไม่ให้ความสนใจ หมายถึงพฤติกรรมการอยู่นิ่ง ทำเป็นไม่รู่ไม่ชี้ ธุระไม่ใช่ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ทำเป็นเมินเฉย ถ้าคิดกันอย่างนี้มาก ๆ ก็อันตรายต่อวัฒนธรรมมาก อย่างเช่น ในสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ๆ หรือในบางแห่ง อาจมีครูเป็นผู้นำในการรักษาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเพียงคนเดียว หรือไม่มีเลย ทั้งนี้เพราะการเดินทางไปในเส้นทางเก่าอย่างนี้ เป็นเส้นทางที่เดินยาก มีขวากหนาม ความขรุขระมากมายทั้งที่ลุ่มที่ดอน หัวระแหงที่แข็งเป๊กขวางหน้าอยู่ กว่าที่จะเดินข้ามไปได้ก็ยากอักโข มิหนำซ้ำการก้าวเดินไปในแต่ละก้าวย่าง ช่างเงียบเหงาแต่อยู่ในพวัง

          การสะท้อนภาพของเด็ก ๆ ทำให้ผมได้คิดในวิถีทางการดำเนินชีวิตที่ผ่านมาในทุกคำพูดและในหลาย ๆ ความเห็นช่างเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินมาก จะมีใครนำเอาสิ่งเบา ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้มาคิด วิเคราะห์หาทางประคับประคองต่อไป แน่นอนว่าในพื้นที่หนึ่ง ๆ ยังมีศิลปิน นักแสดง ปราชญ์ชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากเสียแล้ว ทำไมไม่ตรงไปหาท่านเพื่อขอเรียนรู้โดยตรงโดยที่ศิลปินเหล่านั้นยินดีที่จะให้ความรู้อย่างเต็มที่อยู่แล้วในเมื่อไม่มีการสร้างคนรุ่นใหม่เข้าไปแทนที่คนรุ่นเก่า ความสมดุลก็ไม่เกิดในที่สุดก็ต้องหมดไป 

          ประเด็นการปล่อยปละละเลย เมินเฉยไม่ให้ความสนใจ จึงเป็นข้อคิดหนึ่งที่จะต้องนำเอามาไตรตรอง หากเป็นไปอย่างนี้นาน ๆ ผลกระทบคงเกิดขึ้นแน่ ๆ สุดแท้แต่ว่าจะมาเร็วมาช้า จะมากหรือน้อย ความสูญเสียที่ว่า ได้แก่

          1. ถ่ายทอดความรู้เพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่งไปสู่เยาวชนกลุ่มหนึ่ง หรือหลายกลุ่มโดยที่ผู้ถ่ายทอดไม่เคยแสดงเพลงพื้นบ้านประเภทนั้นบนเวทีมาก่อนเลย ไม่ผิดหรอกครับในการเรียนรู้ แต่อาจไม่ถูกทางในการที่จะผลิตต้นกล้าขึ้นมาเพื่อรอวันเจริญเติบโตแทนไม้แก่ ต้นเก่าที่นับวันจะตายจากไป

          2. สอนเยาวชนให้แสดงเพลงพื้นบ้านโดยไม่ระมัดระวังว่า ของเดิมเขามีรูปแบบ ลีลาในการร้อง โดยเฉพาะท่วงทำนอง การขึ้น ลง และร้องรับเพลงกันอย่างไร ในเมื่อยังไม่มีความชัดเจนในตัวเอง ความผิดเพี้ยนไม่ตรงแนวทางที่ถูกต้องสมบูรณ์ก็เกิดขึ้นตามมา ทำให้เยาวชนที่ได้รับความรู้ไปนำเอาสิ่งบกพร่องติดตัวไปด้วย แล้วแก้ไขได้ยาก จะต้องตามลบร่องรอยความผิดเพี้ยนกันไปนานกว่าที่จะรับสิ่งใหม่ที่ถูกแนวทางได้

ที่กล่าวมาอย่างนี้ เท่าที่ผมเห็นภาพจำเจ ได้แก่

          - นักแสดงจะต้องร้องเกริ่นทุกคน ก่อนที่จะร้องเนื้อเพลง (ทั้งที่ไม่จำเป็นเลย)

          - นักแสดงร้องเพลงพื้นบ้านพร้อมกันทั้งวง แบบประสานเสียง (ไม่เคยมี)

          - คำร้องรับหรือลงเพลงไม่เป็นไปตามแนวที่ศิลปินนักแสดงอาชีพเขาร้องกัน

          - ผู้แสดงร้องนำ ลูกคู่ ผู้ให้จังหวะ ไม่เป็นเอกภาพ ต่างคนต่างเล่นกันไป

          3. จัดการแสดงเพลงพื้นบ้าน โดยมอบให้เยาวชนได้แสดงความสามารถในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 10-15 นาที ไม่ทันได้ซึมซับความรู้สึก สำนึกได้ก็หมดเวลาเสียแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ เด็ก ๆ เขาจำได้แต่เพียงว่า ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน ใช้เวลาในการนำเสนอเพียง 15 นาที 20 นาที เมื่อถึงตอนที่จะต้องไปแสดงเป็นงาน ให้เวลา 60 นาที ถึง 2 ชั่วโมงก็ทำไม่ได้ ต้องนำเอาโน่นนี่มาผสมผสานจนเปรอะไปหมด เพราะไม่ได้ฝึกให้เขาเป็นนักแสดงจริง ๆ แต่ฝึกเพื่อเอาปริมาณ จำนวนวง จำนวนคน เกิดผลเสียตามา เหมือนกับว่าลงทุนไปแล้ว ได้ผลไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไป

          4. ผมเห็นเด็ก ๆ เขาเดินแถวขึ้นไปแสดงเพลงพื้นบ้านบนเวที 20 นาที ถือพานไหว้ครูขึ้นไปด้วย การแต่งตัวของนักแสดงน่ารัก (ไม่เหมือนสมัยเก่า) แต่สำหรับผมยอมรับได้ในเมื่อผู้ทำวงต้องการที่จะประยุกต์ แต่ถ้าทำแล้วมีผลรองรับหรือเสริมให้เกิดจุดเด่นก็ดูจะไม่น่าจะมีปัญหาใด ๆ แต่ตลอดเวลาทำการแสดง 15-20 นาที เป็นการร้องไหว้ครู 5 นาทีร้องแนะนำโรงเรียนตนเอง 5 นาทีและร้องลา 5 นาที แล้วก็ลงจากเวทีไปในสมัยก่อนนักแสดงเขาไหว้ครูเพื่อจัดระเบียบการแสดงในงานที่มีการจ้างวาน หาไปแสดงเท่านั้น เพราะก่อนที่จะขึ้นเวทีนักแสดงทุกคณะเขาไหว้ครูบูชาครูกันก่อนแล้ว

          5. โรงเรียน สถานศึกษา สถาบันการศึกษาจัดการส่งเสริมศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน มีงบประมาณรองรับจำนวนหนึ่ง แต่กลับไม่ส่งเสริมสนับสนุนในสถานศึกษา ของตนเอง ไปส่งเสริมเยาวชนในอีกระดับหนึ่ง เป็นคนละวัยกับที่สถานศึกษารับผิดชอบ จึงทำให้มองไม่เห็นจุดเด่นของผู้จัดว่า จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่อยู่ใกล้ตัวหรือไกลตัวมาแทนที่คนเก่าหรือเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้มีเวทีในการแสดงความสามารถเพียงชั่วครั้งคราวแบบรายการโทรทัศน์ซึ่งเป็นการจัดเฉพาะกิจกรรม ตามความเหมาะสม ตามที่มีผู้ให้การสนับสนุน

         

         

         

          หากผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นภาพอย่างที่ผมเห็น ยังมีอีกหลายแง่หลายมุมในแต่ละท้องถิ่นที่นำมาซึ่งความสับสนเมื่อเยาวชนได้สัมผัส ผมยกเอามาเป็นตัวอย่างเพื่อขยายความเห็นที่นักเรียนเขากล่าวไว้ในประเด็นปัญหาสาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ผมแสดงความเห็นอย่างนี้เพราะผมอยู่บนเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้านตั้งแต่เล่นเพลงกันบนพื้นดินจนถึงบนเวทีการแสดงที่โอ่อ่า นานกว่า 40 ปี ผมเห็นภาพจริงที่ยังจำเอาไว้ได้ติดตาแม่นยำในสมองและเห็นภาพในวันนี้ที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยที่ความผิดเพี้ยนเหล่านั้นส่วนหนึ่งเกิดจาก ขาดความสนใจที่แท้จริง

         (ติดตามตอนที่ 4  สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

 

หมายเลขบันทึก: 300325เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ

แวะมารับความรู้ค่ะ

สวัสดี ครับ คุณตุ๊กตา

  • ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม บล็อกภูมิปัญญาท้องถิ่น ในช่วงนี้ผมนำสาเหตุของปัญหา ความไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ครับ
  • ฝากความห่วงใยในเอกลักาณ์ของท้องถิ่นในทุกหัวระแหงเอาไว้ในหัวใจด้วย

หวัดดีครับอาจารย์ พอดีเข้ามาอ่านแล้วก้อเห็นด้วยหลายอย่าง

ก็อยากจะร่วมสืบสานภูมิปัญญาเพลงพื้นบ้านนี้ไว้ด้วยอีกหนึ่งคนนะครับ

ภาพแรกที่แสดงบนเวที่นั่นที่ไหนหรอครับ?

- นักแสดงจะต้องร้องเกริ่นทุกคน ก่อนที่จะร้องเนื้อเพลง (ทั้งที่ไม่จำเป็นเลย) -- อันนี้เห็นด้วย แค่คนแรกเกริ่นคนเดียวก็พอ

- นักแสดงร้องเพลงพื้นบ้านพร้อมกันทั้งวง แบบประสานเสียง (ไม่เคยมี) -- อันนี้ยังไงหรอครับ ไม่เข้าใจ

- คำร้องรับหรือลงเพลงไม่เป็นไปตามแนวที่ศิลปินนักแสดงอาชีพเขาร้องกัน -- ตามแนวนักแสดงอาชีพเป็นอย่างไรหรือครับ

- ผู้แสดงร้องนำ ลูกคู่ ผู้ให้จังหวะ ไม่เป็นเอกภาพ ต่างคนต่างเล่นกันไป -- เอกภาพ คืออย่างไรอ่ะครับ

ขอถามเป็นความรู้นะครับ จะได้เข้าใจในบางอย่างที่ยังอ่อนหัดอยู่

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

มาร่วมสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

และเป็นกำลังใจให้อาจารย์(คนเก่ง)ค่ะ

นู๋มีความตั้งใจว่าถ้าไปเที่ยวอยุธยา

นู๋กะเพื่อน ๆ  จะแวะไปสวัสดีอาจารย์ค่ะ

เคยไปเที่ยวที่ดอนเจดีย์เมื่อสงกรานต์ปีที่แล้ว

ไปมั่วถ่ายรูปกะกลุ่มนางสงกรานต์ อบต.ด่านเจดีย์ด้วยนะคะ

(เพื่อนที่พาไปบอก แกช่างกล้ามั่ว)

แล้วถ้านู๋ไปวันเสาร์-อาทิตย์ จะเจออาจารย์มั๊ยคะ?

ขอบคุณสำหรับบันทึกดี ดี ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ตอบความเห็นที่ 3 เทพชัย

  • นักแสดงร้องพร้อมกัน เป็นการร้องเนื้อเพลงเดียวกัน 3 คน บ้าง 6 คนบ้าง แทนที่ใน 1 ลงเพลงจะผลัดกันร้อง กลับเป็นว่าร้องพร้อม ๆ กันแบบร้องสร้อยของเพลงนะ
  • ที่ว่าคำร้องรับไม่เป็นไปตามที่ศิลปินเขาร้องกัน เช่น คำร้องรับในเพลงอีแซว จะเอื้อนเสียงลงเพลงว่า "เอย..."  หรือ "เอิง เงอ เอ๊ย.." แต่กลับลงเพลงว่า "ว่า เอิง เงอ เอ่อ เอ๊ย" น่าสงสัยคำว่า "ว่า" มาปนกับคำเอื้อนเอ่ยได้อย่างไร
  • ที่ว่าไม่เป็นเอกภาพคือ ต่างคนต่างเล่น ต่างคนต่างแสดง ไม่มีความสัมพันธ์กัน คนให้จังหวะก็ทำหน้าที่ไปจนจบการแสดง คนรำก็รำไปจนจบการแสดง  คนที่ทำหน้าที่ร้องก็ร้องกันไป ไม่มีโอกาสที่จะได้เล่นร่วมกันเลยครับ
  • เทพชัย เป็นนักแสดงคงมองออกว่า เพลง 1 วงจะต้องแสดงร่วมกันทั้งวง มีความกลมกลืนกันอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกกันทำหน้าที่โดยเด็ดขาด แต่ต้องผสมผสานเชื่อมโยงกัน

ตอบความเห็นที่ 4 คุณณัชชา เฉลิมกลาง

  • ขอบคุณในกำลังใจที่เสริมแรงให้คนรุ่นเก่า (ย่างเข้า 59 ปีแล้ว)
  • แวะไปสวัสดีแค่นั้นเองหรือ น่าจะหยุดทักทายกันวักครู่หนึ่งนะ
  • ถ้าไปวันเสาร์-อาทิตย์ อาจเจอ หนูโทรไปบอกล่วงหน้าก่อนนะ ยินดีต้อนรับครับ

แวะมาทักทายครับ

กลับไปอ่านตอน ๑ ก่อนดีกว่าครับ

สวัสดั ครับ คุณหนานเกียรติ

  • ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยม
  • อ่านตอนที่ 1 จบแล้ว อย่าลืมกลับมานะครับ
  • ในเหตุผลทุกตอน เป็นความเห็นของนักเรียนที่เขาเสนอไว้ให้ผม ครับ

อ่านจนจบแล้วครับ

ผมคิดว่าสื่อพื้นบ้าน/ศิลปะท้องถิ่นกับเยาวชนนั้น อยู่กันคนละโลก และชุดความคิด

ทั้งสองฝ่ายอาจต้องปรับตัวเข้าหากัน

หากยังจะรักษาไว้

บรรดาสื่อพื้นบ้านต่าง ๆ มีท้ังส่วนที่เป็น แก่น กระพี้ และเปลือก

กระพี้และเปลือกอาจไม่จำเป็นต้องคงอยู่ อาจปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่แก่นคิดว่าต้องรักษาไว้

  • เป็นความจริงทุกประการครับ วันนี้โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว
  • ใช้ ครับ ทั้งสองฝ่ายจะต้องปรับตัวเข้าหากัน เพราะยังมีคนที่เฝ้าห่วงหา จนเด็ก ๆ หรือเยาวชนต้องลุกขึ้นมาสืบสาน (เอาใจใคร)
  • แก่นแท้ หรือรากเหง้าที่ฝังลึกลงในดิน คงต้องขุดขึ้นมาเรียนรู้เอาไว้บ้าง นะครับ
  • ขอบคุณมาก ครับ ที่ทำให้เห็นแสงสว่างในความมืด
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท