ชุมชนแห่งการเรียนรู้


การอยู่ในสังคมเมืองแล้วมาอยู่ในสังคมชนบทต้องปรับตัวอย่างมากมาย หลายอย่างที่คนอย่างข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ทั้งวิถีการดำเนินชีวิต และ วัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ก็ทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจชีวิตและโลกมากขึ้น

5 ปี กว่า  ที่ข้าพเจ้าได้เทียวไปเทียวมาระหว่างหาดใหญ่และพัทลุง   และวันหนึ่งก็ได้ตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดพัทลุง  ระยะแรกข้าพเจ้าก็สนุกกับชีวิตแบบใหม่ที่ได้พบได้เห็น  พึงพอใจเป็นอย่างมาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันไม่ง่ายนักที่จะทำงานในโรงพยาบาลชุมชนแห่งนี้  รวมทั้งงานในชุมชนด้วย  เพราะเหมือนมีอิทธิพลมืดอยู่ทุกที่  นอกจากนี้ วิถีการดำเนินชีวิต  และ วัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าคงจะลำบากหากต้องลงพื้นที่เพื่อทำวิจัย  แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้  ข้าพเจ้าก็ได้ไปทำงานหรือลงพื้นที่กับมหาวิทยาลัยทักษิณ  วิทยาเขตพัทลุง  ในส่วนของวิทยาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น  ได้บุคลากรในมหาวิทยาลัยทักษิณสอนและเล่าเรื่องการทำงานในชุมชนให้ฟัง  ข้าพเจ้าก็พยายามร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเขามากมายจนนับครั้งไม่ถ้วน  ทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจชีวิตและโลกมากขึ้น  และเมื่อถึงเวลาข้าพเจ้าก็ลงทำงานวิจัยเป็นของตัวเองซึ่งในระยะแรกไม่ทราบว่าจะสำเร็จหรือไม่  ไม่ได้เขียนโครงการ  ขอทุนอะไรทั้งสิ้น  ใช้เงินเอง  ไปอบรมเอง  หาทางไปบ้านผู้ป่วยเองจนไปถึงหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เทือกเขาบรรทัด  ข้าพเจ้ารู้สึกว่าไม่ว่าจะมีอิทธิพลอะไรอยู่รอบตัวหากเราเป็นผู้ให้และหวังดี  ให้ความเคารพในความมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเขาเราก็ไม่ต้องกลัวอะไร  เหมือนที่เขาว่า  “คนดีผีคุ้ม” 

 วันหนึ่งข้าพเจ้าก็ได้รู้จักหมอนวดพื้นบ้าน  เป็นไทยพุทธ  ท่านเป็นคนเก่งมาก  มีแนวคิดดี  สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เยอะมาก  มีคนไปเรียนรู้มากมาย  ซึ่งท่านใช้พื้นที่บริเวณบ้านเป็นที่สอน  และมีการฝึกปฏิบัติที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง  อีกทั้งนำไปประกอบอาชีพได้จริงด้วย 

 ต่อมาข้าพเจ้าได้รู้จักหมอยาพื้นบ้าน หรือท่านแทนตัวว่าปราชญ์ชาวบ้าน  เป็นไทยมุสลิม  เป็นคนเก่งเหมือนกัน มีวิสัยทัศน์กว้างไกล  เสียสละ  ท่านอยู่แบบเรียบง่าย  บริเวณบ้านท่านมีสมุนไพรมากมาย  มีขนำไว้สอนหนังสือให้กับผู้ไปเรียนรู้  และมีการสอบสมุนไพรแต่ละชนิดโดยดูจากของจริง  และท่านได้พาไปดูสมุนไพรในป่าจริง (เทือกเขาบรรทัด) 

 ท่านทั้งสองมีซีดี และหนังสือถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมดของท่านออกมา  ทำงานสัมพันธ์กัน  หรือเชื่อมโยงกันตลอดเวลา  อีกทั้งยังทำงานระดับประเทศด้วยกันทั้งคู่    ข้าพเจ้าเห็นท่านเป็นผู้ให้  เห็นถึงความอดทน  เห็นความหมายของคำว่าครู  ท่านค่อย ๆ ให้ทานความรู้ข้าพเจ้าเมื่อเจอกันครั้งละเล็กครั้งละน้อยค่อยเป็นค่อยไป  ท่านทั้งสองเล่าชีวิตท่านให้ฟัง  และให้พิจารณาเองว่าท่านเป็นอย่างไร 

จากการเล่าเรื่องสั้น ๆ จะเห็นได้ว่าในชุมชนก็สามารถเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ หรือ เรียกให้ดีว่าชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้เหมือนกัน  เนื่องจากมีการจัดการความรู้ในชุมชน  ซึ่งข้าพเจ้าหมายถึง  มีการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน  ที่กระจัดกระจายอยู่ทั้งในตัวบุคคลหรือเอกสารต่าง ๆ มาพัฒนาให้เป็นระบบ  เพื่อให้ทุกคนในชุมชนสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้  รวมทั้งมีการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและสามารถดูแลชุมชนอันเองได้

หมายเลขบันทึก: 300159เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

แวะมาเยี่ยม ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนดูแล ชุมชนแก้ไข ชุมชนพัฒนา ชุมชนเป็นสุข ครับ

สวัสดีครับ คุณ กบนอกพรก

จริงๆแล้ว ชุมชนชายเขาบรรทัด ตั้งแต่ป่าบอนถึงป่ายอม เป็นชุมชนเข้มแข็ง ตัวจริง ชัดเจน และบางชุมชนเขา

ไม่ต้องรอ งปม. เขามีทุนทางสังคมสูง และเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพี่เลี้ยง ให้กันมาตลอด เช่น โรงเรียนร้อยหวัน พันป่า / ชุมชน โงกน้ำ /ชุมชนสวัสดิการบ้านนา / เครือข่ายชุมชนสัมพันธ์ / สินแพรทอง/ กงหรา ชมรมคนรักเขาบรรทัด/ตะโหมด มีกลุ่สมุนไพรหลายกลุ่ม/ มาถึงป่าบอน ทุ่งนารี กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์/กลุ่มรักซาไก/ กลุ่มรักไก่เถื่อน ...นี้ว่ากันเฉพาะต้นน้ำ ยังกลางน้ำ และปลายน้ำลงทะเลสาบ ยังมีหลายที่น่าทำการวิจัยในเรื่องสุขภาพชุมชน ถ้าต้องการ ข้อมูลพื้นที่ ที่ผู้เฒ่าพอมีอยู่บ้าง ก็ยินดีมากครับ ต่อที่โรงพยาบาลปากพะยูนครับ ด้วยความยินดี....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท