โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ๑ : เรียนอะไร?


            เนื้อหาสาระและประสบการณ์ที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนในระดับปริญญาตรีประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาปรับวิธีคิด(กระบวนทัศน์) กลุ่มวิชาจัดการชีวิต และกลุ่มวิชาที่เกี่ยวกับการจัดการชุมชนในด้านต่างๆ ตามสาขาวิชาที่ผู้เรียนสนใจ

  1. กลุ่มวิชาปรับวิธีคิด หรือ กระบวนทัศน์ เป็นการเรียนรู้เพื่อปรับวิธีการมองความเป็นจริงของตนเองและของโลกภายนอกที่แวดล้อมตนใหม่ เห็นความสัมพันธ์กันของสรรพสิ่ง (กระบวนทัศน์แบบองค์รวม) ทำความเข้าใจแนวคิดและความหมายของคำสำคัญ (วาทกรรม) ที่มีความหมายต่อชีวิตและสังคมในปัจจุบัน โดยผู้เรียนสืบค้นข้อมูลรากเหง้าของตระกูล (ครอบครัว) ตน และร่วมกันค้นหารากเหง้าของชุมชนตน  นำมาวิเคราะห์ทำความเข้าใจในคุณค่า ศักยภาพ และข้อจำกัดต่างๆ ตามความเป็นจริง  เกิดความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เห็นคุณค่าของศาสนา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นตน เกิดความภูมิใจในท้องถิ่นตน เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของตน ขณะเดียวกันก็เคารพในความคิดที่แตกต่างจากตน เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น วิชาในกลุ่มนี้ได้แก่วิชากระบวนทัศน์พัฒนายั่งยืน วิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น วิชาเศรษฐกิจพอเพียง วิชาสังคมประชาธิปไตย วิชาสันติศึกษา เป็นต้น  
  2. กลุ่มวิชาจัดการชีวิต เป็นการนำเอาแนวคิดและคุณค่าต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จากกลุ่มวิชาแรกมาวิเคราะห์ทำความเข้าใจปัญหาของตนและสภาพแวดล้อม เพื่อจัดการกับชีวิตของตนและครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การทบทวนชีวิตตนที่ผ่านมา แล้วเริ่มตั้งเป้าหมายชีวิตที่จะเดินต่อไปบนทิศทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม วางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองทั้งในด้านการงาน การเงิน สุขภาพ และการใช้เวลาในชีวิต เพื่อให้การดำเนินชีวิตประจำวันของตนดำเนินไปอย่างสมดุลย์ในทุกบทบาทที่ตนรับผิดชอบ และบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่วางไว้ วิชาที่เรียนในกลุ่มนี้ได้แก่วิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต วิชาการรู้จักตนเอง วิชาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน เป็นต้น
  3. กลุ่มวิชาที่เกี่ยวกับการจัดการชุมชนในด้านต่างๆ จุดเน้นจะอยู่ที่การทำแผนแม่บทชุมชนโดยวิธีประชาพิจัย การทำวิสาหกิจชุมชน การสร้างสวัสดิการชุมชนผ่านการออมภายในชุมชนเอง การสร้างกองทุนของชุมชน การจัดการด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม พลังงาน สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งผู้เรียนจะเรียนโดยการปฏิบัติจริงกับชุมชนของตน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงในชุมชนขณะเรียน นั่นคือ ชุมชนของผู้เรียนค่อยๆ พัฒนาไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็งขึ้น มีระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองในระดับที่สูงขึ้น สุขภาพดีขึ้น มีการคิดค้นและใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ลดการพึ่งพาภายนอกลง มีอิสระมากขึ้น วิชาที่เรียนในกลุ่มนี้ได้แก่ วิชาการทำแผนแม่บทชุมชน วิชาการเป็นวิทยากรกระบวนการ วิชาการทำวิสาหกิจชุมชน วิชาการสร้างกองทุนและสวัสดิการชุมชน วิชาเกษตรกรรมยั่งยืน วิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมชุมชน วิชาระบบสุขภาพชุมชน วิชาการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม วิชาการให้การปรึกษา วิชาสุขภาพจิตชุมชน วิชาคุณธรรมและจริยธรรมในงานสุขภาพชุมชน วิชาการนวดแผนไทย วิชาการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ วิชาน้ำและการจัดการ วิชาเทคโนโลยีการถนอมอาหาร วิชาเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วิชาการจัดการพลังงานในชุมชน วิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย และวิชาการจัดการของเสียในชุมชน เป็นต้น

            วิชาในกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มวิชาว่าด้วย ความเป็นมนุษย์ ซึ่งสถาบันนำมาแทนกลุ่มวิชาที่ในระบบการศึกษาทั่วไปเรียกว่า วิชาศึกษาทั่วไป ส่วนวิชาในกลุ่มที่สามเป็นวิชาว่าด้วยการจัดการในแต่ละสาขา ซึ่งในขณะนี้มีสาขาการพัฒนาท้องถิ่น(โดยบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขา) สาขาสุขภาพชุมชน และสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชุมชน

            ระดับปริญญาโท มีสาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และสาขาสุขภาพชุมชน วิชาที่เรียนมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อเข้าใจท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งเข้าใจบริบทและปฏิสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับสังคมใหญ่ เข้าใจหลักวิชาการที่ว่าด้วยการพัฒนาท้องถิ่น ตั้งแต่การวางแผนในภาพรวม รวมทั้งเครื่องมือในการสำรวจ การวิจัยเพื่อให้เข้าถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่น ไปจนถึงการนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์สังเคราะห์จนเกิดแผนพัฒนาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับความเป็นจริง การนำแผนไปสู่การปฏิบัติ ก่อให้เกิดผลการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพด้วยกลยุทธ์ที่ดีและมีธรรมาภิบาล โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน ซึ่งวัดได้จากขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองของชุมชนท้องถิ่น การเชื่อมประสานพลังของประชาสังคมให้ร่วมมือกันทำงานแบบภาคีที่เท่าเทียม การสร้างเครือข่ายชุมชน องค์กร หน่วยงานต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดขบวนการภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เป็นรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

            วิชาที่เรียนในระดับปริญญาโทได้แก่ วิชากระบวนทัศน์การพัฒนา วิชาบูรณาการทฤษฎีความรู้และวิธีวิจัย วิชายุทธศาสตร์ทุน วิชายุทธศาสตร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม วิชายุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น วิชายุทธศาสตร์วิสาหกิจชุมชน วิชายุทธศาสตร์การเกษตร วิชายุทธศาสตร์สุขภาพ วิชาการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการกินเป็นอยู่เป็น วิชาการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการจัดการอาชีพ รายได้ หนี้สินและสวัสดิการ วิชาการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ วิชาระบบการดูแลสุขภาพในชุมชน วิชายุทธศาสตร์การพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพชุมชน  วิชาการสัมมนาหัวข้อเฉพาะ การฝึกปฏิบัติการภาคสนาม การศึกษาอิสระ และการทำวิทยานิพนธ์

หมายเลขบันทึก: 299881เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาเยี่ยมเพื่อนครับ  สบายดีนะครับ

ขอบคุณครับ

ที่มีโครงการดีๆเกิดขึ้น

ในทิศทางของปูทะเลย์มหาวิชชาลัย

 

วานนี้ ได้ติดตามพระอาจารย์ไปที่รัฐสภา

ในฐานะลูกศิษย์ขอนำจึงขอนำเรื่องราวการทำงานด้านการศึกษาของพระอาจารย์มาฝาก

 

 

ฝ่าวิกฤติการศึกษาไทยในสังคมโมหะภูมิ (33378.59 Kb) 
การศึกษาไทยในสังคมโมหะภูมิ เป็นตัวเร่งให้สังคมไทยล่มสลายเร็วขึ้น

เราจะฝ่าวิกฤติเหล่านี้ไปได้อย่างไร หากไม่แก้ที่ต้นเหตุคือการศึกษาของคนในชาติ ?

ทั้งหมดนี้ไม่สามารถเห็นผลได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน หรือตามนโยบายด่วนได้ของฝ่ายการเมือง

แต่ต้องใช้เวลาเป็น10ปี เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้หลุดพ้นจากภาวะของสังคมโมหะภูมิ และแน่นอนว่า ต้องใช้เลือดใหม่ล้างเลือดเก่า!!

 

หาก ครูและนักการศึกษา โชคดีที่ได้มีโอกาสฟัง ไฟล์นี้จบ ตลอด 2 ชั่วโมง ท่านจะเห็นว่า ภาพรวมของสังคมเราอยู่ในภาวะโมหะภูมิและวิกฤติเช่นไร?

..........................................................................................................................

พระ ราชาตรัสว่า "..เหตุการณ์ในวันนี้แสดงความจำเป็น นับแต่อุปราช จนถึงคนรักษาช้างรักษาม้า และนับจากคนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอำมาตย์ ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น พวกนี้ขาดทั้งความรู้ทางวิชาการ ทั้งความรู้ทั่วไป คือความสำนึกธรรดา พวกนี้ไม่รู้แม้แต่ประโยชน์ส่วนตน พวกนี้ชอบผลมะม่วง แต่ก็ทำลายต้นมะม่วง " ความตอนหนึ่งจากพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ...........................................................................................................................

 

ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย คือทางออก ทางรอดของประเทศชาติ ....ที่พระองค์ทรงชี้ทางด้วยปริศนาธรรม ในพระมหาชนก 

 

http://blog.palungjit.com/uploads/d/dhammav/4054.wma

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท