การดูแลรักษาบัวที่ปลูกเป็นไม้ประดับ


การดูแลรักษาบัวที่ปลูกเป็นไม้ประดับ

        ปลูกบัวในภาชนะจำกัด คือ การปลูกบัวในภาชนะที่ใส่ดิน ใส่น้ำโดยตรง หรือปลูกบัวในอ่าง  หรือกระถางแล้วยกแช่ในภาชนะบรรจุน้ำที่ใหญ่กว่า  หลักเกณฑ์ของการดูแลรักษาบัวมี 5-6 เรื่อง คือ

          1. ให้อยู่ในที่ที่เหมาะที่สุด สบายที่สุด
          เป็นเรื่องก่อนปลูก ผู้ปลูกต้องรู้ว่าบัวที่อยากจะปลูกเป็นบัวอะไร พันธุ์อะไร ต้องการที่อยู่แบบไหน น้ำลึก เท่าไร ต้องการการแผ่กระจายของใบเท่าไร เช่น บัวหลวง บัวฝรั่ง เจริญเติบโตตามแนวนอน ภาชนะปลูกจึงควรมี หน้ากว้างมาก ตรงกันข้ามกับบัวผันบัวเผื่อน บัวสาย จงกลนี ซึ่งเจริญเติบโตตามแนวดิ่ง ภาชนะปลูกจึงควรเป็นแบบทรงสูง ภาชนะปลูกควรจะใหญ่-เล็กแค่ไหน บรรจุดินปลูกเท่าไร ตามความต้องการของแต่ละพันธุ์ ฯลฯ บัวแต่ละพันธุ์ต้องการอยู่สภาพอย่างไร เกณฑ์กลางๆ คือ ภาชนะปลูกบัวควรบรรจุดินได้ไม่ต่ำกว่า 1 ลูกบาศก์ฟุต หรือ เท่ากับประมาณ 1 ปี๊บ

           2. ให้อยู่ในที่ที่ปราศจากมลภาวะ ปัจจัยที่ทำให้น้ำเน่าเสียมี 2-3 ประการ คือ
           2.1 ปล่อยให้พระเจ้าเลี้ยง ผู้ปลูกไม่สนใจคอยเด็ดใบที่แก่-เหลือง และดอกโรยแล้วทิ้ง ปล่อยให้เละเน่าอยู่ในภาชนะ ผู้ปลูกต้องคอยเด็ดใบแก่ที่เริ่มเหลืองและดอกที่หยุดบานแล้วทิ้ง โดยปลิดถึงโคนก้าน ห้ามดึงอย่างเด็ดขาด เดินตรวจ เดินเด็ดทุกวัน เป็นการออกกำลังกายอย่างดีของผู้สูงอายุ
           2.2 เอาใจใส่-รักบัวมากเกินไป อยากให้งามมากๆ ตรงกันข้ามกับข้อแรก เจ้าของเอาใจใส่มาก อยากให้บัวงามมากๆใส่ปุ๋ยอุตลุตเลยบัวกินไม่หมด ปุ๋ยละลายออกมาในน้ำ ไม้น้ำอย่างอื่น ได้แก่ ตะไคร่ สาหร่าย และจุลินทรีย์เขียว ฯลฯ เจริญเร็วกว่าบัว จะกินปุ๋ยหมด การมีศัตรูคอยกินพวกนี้ นอกจากแย่งออกซิเจนในน้ำ จากบัวแล้ว เมื่อแก่ตายก็จะทำให้น้ำเน่าเสีย ผู้ปลูกต้องเสียเวลาปราบ
           2.3 ไม่เอาใจใส่เปลี่ยนดิน รากแก่ เหง้าแก่ตายเน่าอยู่ในดิน ทำให้น้ำเสีย คือ ปล่อยให้พระเจ้าเลี้ยง ปล่อยให้อยู่ในภาชนะจำกัดเสียจนราก-เหง้าอัดเต็มภาชนะปลูก ดันดินออกไปหมด พอโตไม่ไหว ราก-เหง้าก็ตาย ทำให้น้ำเน่าเสีย เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ฯลฯ แก้ไขด้วยการรื้อ เปลี่ยนดินปลูกใหม่ครับ

           3. บัวอดอาหาร

           ก็เป็นประเภทปล่อยให้พระเจ้าเลี้ยงอีกนั่นแหละ เอามาปลูกปล่อยให้กินอาหารเดิมที่มีอยู่ในดินปลูก หมดแล้วก็ ไม่เติมอาหารให้ ใครจะไปอยู่ได้ ง่ายและสะดวกที่สุด ใช้ปุ๋ยสูตรสมดุล เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 หนึ่งช้อนกาแฟ ห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ 1-2 ชั้น อัดใต้โคนต้นบัวลึกสัก 3-4 นิ้ว อย่างน้อยเดือนละครั้ง

           4. ป้องกันและปราบศัตรูให้ศัตรูบัวมีทั้งศัตรูที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และศัตรูที่จงใจ ป้องกันและปราบปรามศัตรูต่างๆ เหล่านี้ได้ดังนี้
           4.1 ศัตรูที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ชนิดที่ 1 ได้แก่ เจ้าของ-คนปลูกบัวเอง อยากให้อ่าง-บ่อสวยก็เลี้ยงปลา เห็นบ่อยๆ ก็คือปลาสวยงาม ได้แก่ ปลาเงินปลาทอง ปลาคาร์ป ปลาพวกนี้เป็นปลาใช้ปากดูดกิน เมื่อคุ้ยดูดอาหารโคนบ่อ-อ่างจะทำให้น้ำขุ่น ถึงแม้ว่าจะช่วยกำจัดตะไคร่ สาหร่าย หอย และจุลินทรีย์เขียวออกไปได้บ้าง แต่ก็ยังทำให้น้ำขุ่น เจ้าของก็พยายามถ่ายเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ เพื่อให้น้ำใส แต่ลืมคิดไปว่าการถ่ายเปลี่ยนน้ำในภาชนะปลูกบัวบ่อยๆ ก็คือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้แก่บัวตลอดเวลา  เปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ บัวก็จะไม่สบาย ไม่งาม  การป้องกันที่ดีที่สุดคือ อย่าเปลี่ยนน้ำ-ถ่ายน้ำในอ่าง-ภาชนะปลูกบัวบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น ถ้าปลูกในบ่อ-สระใหญ่ๆ ที่ต้องการให้น้ำใสและเลี้ยงปลาสวยงามด้วย ควรติดตั้งเครื่องกรองน้ำชนิดที่ดูดน้ำขึ้นไปกรองแล้วปล่อยกลับลงมาหมุนเวียนโดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ
          4.2 ศัตรูที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ชนิดที่ 2 ก็ได้แก่เจ้าของที่ปลูกบัวอีกนั่นแหละ พวกนี้เป็นพวกที่ปลูกบัวในบ่อ-สระใหญ่ๆ ทั้งในภาชนะจำกัดหรือปลูกลงดินโดยตรงในบ่อ และต้องการเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริม หรือมีบ่อ-สระอยู่แล้ว ปลูกบัวลงไป แล้วปล่อยปลากินพืชลงไป ยิ่งถ้าเป็นปลากินพืชที่ขยายพันธุ์เร็ว เช่น ปลาหมอเทศ ปลูกอะไรๆ ก็ไม่เหลือ ปูและหอยก็กินบัวครับ ที่ร้ายที่สุดคือ หอยเชอรี่ ถ้ากันไม่ได้เพราะปลูกลงไปแล้วก็ต้องแก้ ทำบาปบ้าง ไปแก้ตัวกันเองในชาติหน้าก็แล้วกัน คือ เอาปลากินพืชออกไป จะด้วยวิธีใดก็ตามแต่ถนัด (ปรึกษากรมประมงก็แล้วกันครับ) และ/หรือ ปล่อยปลากินเนื้อลงไป เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาบู่ หรือปลากินเนื้อชนิดอื่นๆ ให้ช่วยจัดการลูกเล็กเด็กแดงของปลากินพืช ปู และหอย ให้ปลากินเนื้อพวกนี้เหมาไป สำหรับหอยเชอรี่ ขยันเก็บไข่สีชมพูที่หอยไข่ไว้ตามยอดหญ้า  หรือผนังบ่อทิ้งทุกวันก็ปราบได้ครับ
          4.3 ศัตรูประจำ 1 ที่ประจำจริงๆ เกือบตลอดปีและร้ายแรงมากได้แก่ หนอนพับใบ (Leaf roller) ลูกของผีเสื้อกลางคืน ฤดูฝนอาจน้อยลงบ้าง เนื่องจากผีเสื้อไข่บนใบบัวไม่ถนัดเพราะใบเปียก รองลงมาได้แก่ เพลี้ยอ่อน (Aphids) ระบาดมากในฤดูแล้งและ
ฤดูหนาว (เมื่อฝนน้อยลง) ที่ร้ายกาจถัดมาคือ เพลี้ยไฟ (Thrips) และหนอนชอนใบ (Leaf miner) สำหรับบัวหลวง มีศัตรูอีกชนิดคือ หนอนกระทู้ (Caterillar) เวลาระบาดมากจะกัดกินใบจนโปร่งฟ้าไปเลย ศัตรูพวกนี้ป้องกันและกำจัดได้ โดยถ้าเกิดไม่มากเด็ดใบที่ถูกรบกวนทำลายทิ้ง ถ้าบัวมีใบไม่มาก ถ้าเป็นติดต่อกันและบ่อยมากใช้ยาฆ่าแมลงประเภทดูดซึมในอัตราที่แนะนำตามสลากข้างขวดหรือบนซอง ควรใช้ยาฉีดสลับกัน 6 อย่าง(เพื่อกันไม่ให้ศัตรูดื้อยา) ได้แก่ อโซดริน 60 พอสธ์ เซฟวิน 85 โปรตีนเบสทริล และแลนเนท  ยาอโซดรินโปรตีน เบสทริล และเซฟวิน ปราบแมลงปากกัดและดูดของบัวได้เกือบทุกชนิด ส่วนพอสธ์ และแลนเนทใช้ปราบหนอนและเพลี้ยเป็นส่วนใหญ่
          4.4 ศัตรูประจำ 2 ได้แก่ โรคต่าง ๆ ที่เป็นประจำ บ่อยที่สุดคือ โรคใบจุด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักจะระบาดในฤดูฝนที่อากาศชื้นโรคใบจุดอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดในฤดูร้อนและหนาวที่อากาศแห้งแล้งและแดดร้อนมาก ความร้อนของแดดทำให้หยดน้ำบนใบบัวร้อน ใบบัว ณ จุดนั้นก็ตาย เชื้อโรคที่กินพืชที่ ตายแล้ว (Saprophyte) เข้าทำลาย ทำให้ใบเป็นจุดหรือเป็นแถบไหม้ ทั้งบนใบและจากขอบใบ ป้องกันโดยเด็ดใบ ที่เป็นโรคทิ้ง ไม่ต้องกลัวครับ บัวที่ตั้งหลักได้แล้ว มีเพียง 3-5 ใบก็ไม่ตาย
          4.5 ศัตรูประจำ 3 ได้แก่ ตะไคร่ จุลินทรีย์เขียว สาหร่าย และวัชพืช พวกนี้นอกจากแย่งอาหารบัวกินแล้ว ยังก่อให้เกิดความรำคาญ  หรือทำให้บัวเจริญไม่เต็มที่ เช่น ตะไคร่ สาหร่าย เจริญพันกอบัว ยอกบัว ใบบัว ไม่ให้โผล่ขึ้นเหนือน้ำ ตะไคร่และจุลินทรีย์เขียว สาหร่าย  และวัชพืชอื่น ๆ ที่ ไม่ต้องการ เช่น หญ้าน้ำ ลูกบัว (คือต้นอ่อนของบัวที่งอกจากเมล็ด) ปราบโดยเก็บทิ้งครับ ป้องกันคือไม่ใช้ปุ๋ยคอกจากมูลวัวหรือเก็บดอกโรยทิ้งก่อนติดฝักและเมล็ด
          4.6 ศัตรูจากคนมักได้ ศัพท์ตลกๆ ของฝรั่งเขาเรียกโรค Finger Blight หรือโรคนิ้วมือไหม้ครับ จากมือคนที่มักได้ อยากได้บัวที่เขาไม่ให้  ก็เลยขโมยเอาไป    โรคนี้ป้องกันและกำจัดยากมาก เพราะไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร


          5. ให้เจริญเติบโตตามสภาพที่ต้องการ สภาพที่บัวไม่ต้องการแต่ต้องพบถ้าเจ้าของไม่ดูแลให้ดี ทำให้บัวชะงัก-หยุดการเจริญเติบโต และอาจตายไปเลย ถ้าดูแลไม่ทัน ได้แก่
          5.1 แตกกอในภาชนะปลูกจนแน่น แย่งกันกินอาหารจนไม่พอกิน หยุดการเจริญเติบโต ไม่ออกดอก แก้ด้วยการรื้อเอาต้นที่ไม่ต้องการออกไปให้เหลือต้น-กอเดียว
          5.2 ไม่ให้บัวอยู่อย่างสันโดษ คือปลูกบัวหลายพันธุ์ในภาชนะเดียวกัน ภาชนะใหญ่ กว้าง อาจอยู่ได้สักพักหนึ่ง แต่ถ้าเป็นภาชนะปลูกที่เล็ก ถ้าปลูกบัวหลายพันธุ์ไว้ในภาชนะเดียวกันและเผลอปล่อยให้พระเจ้าเลี้ยง พันธุ์ที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะเหลืออยู่ให้คุณ เพราะมันจะเจริญเติบโตเบียด-ข่มพันธุ์ที่อ่อนแอกว่าตายไปในที่สุด และเจ้าพันธุ์ที่ตายไปอาจเป็นพันธุ์ที่คุณรักที่สุดก็ได้
          5.3 รากลอย เกิดกับบัวที่เจริญเติบโตทางแนวดิ่งเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ บัวผันบัวเผื่อน บัวสาย จงกลนี และบัวกระด้ง โดยเฉพาะเมื่อปลูกในภาชนะจำกัด รากและต้น (เหง้า) เมื่อดันลงล่างไม่ได้เพราะติดก้นของภาชนะ ก็ดันขึ้นบน นานเข้าๆ ส่วนโคนก็ลอยพ้นดิน รากที่ยึดดินและรากฝอยที่เกิดตามแนวและแยกแขนงออกมาจากราก ยึดดินที่เป็นรากดูดอาหารก็ลอยตามพื้นดินขึ้นมาด้วย เมื่อดันสูงขึ้นมามากๆ รากยึดดินก็หมดสภาพที่จะยึดดินไว้ได้อีกต่อไป รากฝอยที่ดูดอาหารที่เกาะอยู่กับเม็ดดินก็ดูดอาหารจากดินไม่ได้ ได้เพียงอาหารบางส่วนที่ละลายอยู่ในน้ำ ระหว่างที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใต้น้ำ เมื่อลมพัด น้ำกระเพื่อม ความสั่นสะเทือนจะไปถึงโคนต้น เมื่อรากยึดดินได้ไม่แน่นพอ ต้นบัวก็โคลงตามไปด้วย เมื่อสั่น-โคลง รากหลวมและลอย ความสามารถในการดูดหาอาหารก็ลดลง แก้ไขด้วยการรื้อทั้งต้นขึ้นมา ตัดเหง้าเกินทิ้งเหลือเท่าที่ติดส่วนโคน แล้วปลูกกลับลงไปใหม่ บำรุงรักษาไปตามปกติ
          5.4 บัว “หัวชนฝา” เกิดกับบัวหลวงและบัวฝรั่งที่เจริญเติบโตทางแนวนอน บัวหลวงไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไรเพราะยอดอ่อน (ชาวบ้านปลูกบัวหลวงเก็บดอก-ฝักขายเป็นธุรกิจ เรียก “หัวหน้า”) ไหลอ่อน เจริญเติบโต คดเคี้ยวไปตามแนวผนังของภาชนะได้ แต่บัวฝรั่งเหง้าแข็ง เมื่อโตไปจนหัวชนฝาก็จะหยุดชะงักการเจริญเติบโต หยุดการออกดอก ใบเล็กลง แก้โดยการตัดส่วนเกินออกแล้วปลูกใหม่ที่ริมผนังภาชนะ เหง้าแก่ที่เหลืออยู่ถ้าไม่มีหน่ออ่อนที่จะเก็บไว้ขยายพันธุ์ควรรื้อทิ้ง เพราะจะเน่าเสียทำให้น้ำเสียได้
          5.5 ดินปลูกหมดสภาพ ปลูกบัวในภาชนะจำกัดนานๆ เข้า รากบัวจะเจริญและขยาย อัด-ดันดินให้ ย่อยลงและละลายสลายตัวไปกับน้ำรากเข้าแทนที่จนดินหมด มีแต่ราก บัวก็จะเจริญลงคือ ใบเล็กลง น้อยลง ไม่ออกดอก ใบเหลืองเร็วและง่าย   แก้ไขโดยรื้อปลูก-เปลี่ยนดินใหม่


          6. บัวกลายพันธุ์ เป็นพวกที่ปล่อยพระเจ้าเลี้ยง
           ไม่เด็ดใบแก่ ดอกโรยทิ้ง โดยเฉพาะบัวผัน บัวสาย หลายพันธุ์ติดเมล็ดง่าย และพันธุ์ที่ปลูกเป็นไม้ดอก-ไม้ประดับปัจจุบันส่วนใหญ่ก็เป็นพันธุ์ลูกผสมอยู่แล้ว เม็ดที่ติดจากดอกที่โรยและเน่าร่วงลงในภาชนะ งอกเป็นต้นใหม่หลาย ๆ ต้น แก่งแย่งกันเจริญเติบโต ก็แย่งโต แย่งกินอาหาร แย่งที่อยู่ เบียดจนพ่อหรือแม่ตายไป

จาก http://www.thaiwaterlily.com/knowledge_see.asp

อีกตำราค่ะ

หลักเกณฑ์ในการดูแลรักษา

บัวทุกชนิด (หรือต้นไม้ทุกชนิด) ปลูกไม่ยาก สำหรับบัว การดูแลรักษาถ้าปลูกเป็นไม้ดอก-ไม้ประดับในบ้านเพียงไม่กี่ต้น เช่น ปลูกภาชนะจำกัดเป็นอ่าง ๆ หรือบ่อเล็ก ๆ ในสวนหย่อมไม่ยากเลย งานเบามาก เด็ก สตรี และคนชราก็ทำเองได้แต่ ถ้าปลูกในบ่อพลาสติกหรือบ่อดินขนาดใหญ่มีบัวเป็นสิบ ๆ ต้น งานดูแลรักษาไม่หนักแต่ใช้เวลามาก

หลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาที่สำคัญได้แก่

1. ป้องกันน้ำเสีย
โดยเฉพาะการปลูกในภาชนะจำกัดและขนาดเล็กปริมาณน้ำน้อยบัวก็เหมือนกับปลา ต้องการอากาศหายใจในน้ำถ้าน้ำเสีย อ๊อกซิเย่นไม่มีจะพาลตายได้ง่าย เด็ดใบแก่ดอกโรยทิ้งเสียก่อนจะเน่าในภาชนะหรือบ่อที่ปลูกถ้าไม่จำเป็นไม่ควร แก้ไข โดยการถ่ายน้ำเปลี่ยนน้ำใหม่บ่อย ๆ เพราะจะต้องทำให้บัวต้องปรับตัวเองตามจะเจริญเติบโตช้าแต่ถ้าจำเป็นด้วยเหตุ เช่น มีสัตว์ตายอยู่ใต้ดินปลูก ได้แก่ กิ้งกือ ไส้เดือน หรือคางคกลงไปปล้ำกัดกันตายหรือออกไข่-ออกลูกจนน้ำเน่าเสีย หรือ อินทรีย์วัตถุที่ติดมากับดินปลูกยังเน่าเปื่อยไม่หมดทำให้น้ำเน่า ถ่ายน้ำ 2-3 ครั้ง แล้วยังไม่หายต้องเปลี่ยนดินปลูกใหม่

2. ปราบตะไคร่น้ำ-สาหร่าย
ตะไคร่ น้ำที่เกิดจากอินทรีย์วัตถุ เช่นมูลสัตว์ที่ใช้เป็นปุ๋ยคลุกที่ยังไม่สลายตัวเต็มที่ สาหร่ายอาจติดมากับดินปลูกเก็บทิ้ง ถ้าปลูกไม่กี่ต้น ถ้าปลูกมากแต่ปลูกในภาชนะจำกัดใช้ด่างทับทิมละลายน้ำในภาชนะปลูกเป็นสีบาน เย็นเข้มทิ้งไว้ 2-3 วัน ถ่ายน้ำออกครึ่งหนึ่งเก็บตะไคร่สาหร่ายที่ตายออกเติมน้ำใหม่ตามเดิม

3. เก็บคราบน้ำมัน
ไขมัน จากกระดูกป่นหรืออินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อยไม่หมดและการปลูกที่อัดดินไม่ แน่น ดินกลบกลบดินผสมเบื้องล่าง ไม่สมบูรณ์ ไขมันจะละลายเป็นฝ้า ถ้าปลูกในอ่างหรือในภาชนะจำกัดใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ปะลอยบนผิวน้ำจะช่วยซับ คราบน้ำมันออกถ้าปลูกในบ่อที่มีท่อน้ำล้น ปล่อยน้ำดันให้น้ำผิวหน้าไหลล้นออกทางท่อระบายน้ำ

4. ต้นและรากลอย
เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ผู้ที่สนใจเลิกปลูกบัวไปหลายราย โดยเฉพาะอุบลชาติ เช่น เมื่อปลูกใหม่ ๆ ถ้ากดอัดดินทับไม่แน่น ต้นเหง้าลอย รากดูดอาหารมาเลี้ยงลำต้นไม่ได้สังเกตได้ง่ายที่สุด ไม่โตสักที ใบเล็กลงและใบเหลือง แก่เร็ว แก้โดย การปลูกใหม่ และหาไม้ไผ่อ่อนพับครึ่งคล้ายปากเคียเสียงคร่อนต้นที่ปลูกกันไม่ให้ลอย (ชาวสวนปลูกบัวเรียกตะเกียบ) สำหรับต้นแก่ที่ปลูกไว้นานแล้ว โดยเฉพาะในภาชนะที่จำกัดอุบลชาติประเภทยืนต้นเจริญทางนอนจนไปชนอีกผนังของ อ่างหรือบ่อในหลายกรณีจะหักขึ้นบนเจริญขึ้นไปจนรากลอยตัดเหง้าที่ไม่ต้องการทิ้ง   ปลูกใหม่

5. ที่ปลูกร้อนเกินไป
บัวทุกชนิดต้องการแดดเต็มที่ จะมีปัญหาถ้าที่ปลูกบัวตื้นน้ำน้อยแดดเผาน้ำจนร้อน สังเกตง่าย ๆ ขนาดน้ำอุ่นพอที่จะอาบได้ สบาย ๆ ก็ถือว่าร้อนแล้วสำหรับบัว บัวต้องการแดดเต็มที่วันละไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง ขยับที่ปลูกเสียใหม่ถ้าปลูกในภาชนะ ที่เคลื่อนย้ายได้หรือเปลี่ยนภาชนะที่ปลูกให้น้ำลึกขึ้น หรือถ้าเปลี่ยนอะไรไม่ได้และที่ปลูกได้แดดทั้งวัน ใช้มุ้งลวดหรือ มุ้งพลาสติกกันด้านบนเพื่อลดความเข้ม-ร้อนของแสง

6. ดินจืด
มี 2 สาเหตุ คือ ขาดปุ๋ย หรือขาดดิน (ถ้าปลูกในภาชนะจำกัด) สังเกตได้ง่าย ๆ ถ้าบัวใบเล็กลง เหลืองแก่เร็ว ถ้าปลูกใน บ่อดินที่เหลือเฟือก็คือขาดปุ๋ย ใช้ปุ๋ยสูตรกลาง ๆ ทั่วไป เช่น 10-10-10, 15-15-15 หรือ 16-16-16 หรือปุ๋ยสำหรับบัว โดยเฉพาะถ้าปลูกในภาชนะจำกัดที่สามารถอัดปุ๋ยได้ในการจุ่มมือครั้งเดียว จะใช้ปุ๋ยห่อกระดาษอ่อนที่ใช้เข้าห้องน้ำหรือ กระดาษหนังสือพิมพ์อัดฝังโคนต้นบัวเลย แต่ถ้าต้องใช้เวลาในการฝังปุ๋ยทำปุ๋ย ลูกกอนำโดยปั้นดินหุ้มปุ๋ยผึ่งแห้งเตรียมไว้ จะใช้เมื่อไรก็ฝังโคนต้นสำหรับปริมาณใช้เท่าไรขึ้นอยู่กับการสังเกตและศึกษา เองของผู้ปลูก เพราะภาชนะปลูกเล็ก-ใหญ่ ต่างกันปริมาณน้ำปลูกมากน้อยต่างกัน ปลูกในบ่อดิน บ่อคอนกรีต พันธุ์ชนิดบัว ฯลฯ จึงไม่สามารถกำหนดเป็นเกณฑ ์ตายตัวได้ถ้าปลูกในภาชนะจำกัด อีกสาเหตุคือขาดดิน บัวจะออกรากขยายเหง้า ฯลฯ ดันดินพ้นภาชนะละลายไปอยู่กั น้ำจนในที่สุดแทบจะไม่มีดินเหลืออยู่เลย ราก-เหง้าอัดภาชนะเต็มไปหมด แก้โดยรื้อเปลี่ยนดินปลูกใหม่

7. โรค-แมลงศัตรู
ที่พบเป็นประจำ คือ โรคใบจุดและรากเน่าโรคใบจุดไม่ร้ายแรง เพราะใบบัวมีพื้นที่ปรุงอาหารมากเด็ดใบเป็นโรคทำลาย ทิ้งไป โรครากเน่ามีบ้างร้ายแรงกับบัวกระด้งและอุบลชาติ ประเภทล้มลุกบางพันธุ์ ยังไม่ทราบวิธีแก้ นอกจากนั้น คือ เก็บดินบริเวณที่เป็นโรคทำลายทิ้งเสียเลี่ยงไปปลูกบัวชนิดอื่น หรืออุบลชาติประเภทอื่นแทน แมลงที่สำคัญกินบัว ทุกชนิดคือ เพลี้ยและหนอนบัวหลวงเดือดร้อนมากที่สุด เพราะชูใบขึ้นมาให้เพลี้ยเกาะกินบัวชนิดอื่นถูกทำลายบ้างแต่ ใบลอยน้ำฝนตกน้ำกระเพื่อมก็ช่วยซัดเอาเพลี้ยหลุดลอยไปได้บ้าง (ปกติผู้ปลูกเป็นการค้าจะพ่นน้ำให้ลอยหลุดไป) ป้องกันโดยเด็ดใบที่มีเพลี้ยและหนอนท้ง-ทำลายหนอนพับหนอนพับใบเป็นศัตรูที่ สำคัญของอุบลชาติ เช่นผีเสื้อ กลางคืนจะมาวางไข่บนใบเมื่อฟักเป็นตัวหนอนจะกัดกินดูดน้ำเลี้ยงใบจนโตแล้ว กัดใบพับทับตัวเองเพื่อป้องกันศัตรู เช่น นก ฯลฯ ป้องกันกำจัดโดยการบี้ทำลาย บัวหลวงมีศัตรูหนอนมากที่สุดนอกเหนือจากเพลี้ยไฟซึ่งเก่ากินใต้ใบ หนอนกระทู้หนอนชอนใบ โดยเฉพาะหนอนกระทู้กินใบ โกร๋นทั้งต้นซึ่งจะเกิดในช่วงปลายฤดูฝนและในฤดูหนาวซึ่ง เป็นระยะที่บัวชงักการเจริญเติบโตด้วย กสิกรที่ปลูกบัวหลวงเป็นการค้ามักจะตัดใบทิ้ง-ทำลายหมด(ให้หมดเชื้อของหนอน) รอให้ใบแตกใหม่-ออกดอกใหม่ แมลงที่กล่าวทั้งหมดสามารถปราบและควบคุมได้พอสมควรโดยใช้ยาอะโซดริน 60 ผสมน้ำอัตราส่วนน้ำยา 1:100 (1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร) ฉีดพ่นให้เป็นฝอยให้จับหน้าของใบบัวบาง ๆ ใบจะดูดน้ำยาเข้าไว้ เมื่อแมลงและหนอนมาดูดกินน้ำเลี้ยงของใบจะกินยาเข้าไปด้วยและตาย ฉีดพ่นทุก ๆ สัปดาห์จนกว่าจะหมดศัตรูฉีดบาง ๆ จะไม่เป็นอันตรายทั้งกับคนและปลาที่เลี้ยง

8. หอย
ส่วนใหญ่ได้แก่ หอยขมและหอยคันเป็นทั้งมิตรและศัตรู หอยโข่งเป็นศัตรูที่จงใจ แต่หอยขมเป็นศัตรูที่ตั้งใจบ้างไม่ตั้งใจ บ้างคือเมื่อตอนเป็นต้นอ่อนจะอาศัยดูดน้ำเลี้ยงจากรากและใบอ่อนที่เกิดใหม่ ๆ ใต้น้ำ โดยเฉพาะอุบลชาติบัวหลวงไม่ค่อย เดือดร้อนเพราะมีสารที่เรียกว่า ดิวติน เคลือบอยู่ และก้านใบก้านดอกมีหนามเล็ก ๆ (บัวกระด้งหนามเต็มต้นไม่เดือนร้อน เลย) หอยขมและหอยโข่งเมื่อโตขึ้นจะเดินทางจากโคนก้านใบขึ้นมาใต้ใบเกาะดูดน้ำ เลี้ยงจากไข่-ตัวหนอน และน้ำเลี้ยง ใบกินระหว่างเดินทางจากโคนก้านใบขึ้นมาใต้ใบ ถ้าน้ำกระเพื่อมกระเทือนจะหุบก้าน ปล่อยตัวหลุดจากก้านบัวเมื่อก้านหุบ ก็เลยเหมือนมีดตัดก้านบัวที่ยังอ่อน ๆ ขาดไปด้วยเป็นปัญหาใหญ่ของการปลูกในบ่อดินป้องกันกำจัดโดยการเก็บทิ้งและ ปลูกอุบลชาติเผื่อไว้มาก ๆ จะได้แบ่งเบาการทำลายลงไปได้บ้าง ถ้าปลูกในภาชนะจำกัดเก็บทิ้งง่ายหอยจะเป็นตัวบอกว่า น้ำเสียหรือยังถ้าน้ำเสียหอยจะลอยมาเกาะตามผนังภาชนะ ณ จุดผิวน้ำเพื่อหาอากาศหายใจแสดงว่าอ๊อกซิเย่นในน้ำไม่มี น้ำเสียแล้วควรรีบแก้ไข

9. วัชพืช
เป็นปัญหาที่ใหญ่ของการปลูกบัว ในบ่อดิน หญ้ามิใช่วัชพืชหลักเพราะเมื่อถอนทิ้งไปแล้วก็หมดไปโดยเฉพาะน้ำมากและ ลึกพอควรที่เป็นปัญหาหลักคือสาหร่ายมี 2-3 ชนิด เช่น สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายวุ้น สาหร่ายไปและสาหร่ายฝอย สาหร่ายหางกระรอกปราบยากที่สุดเพราะเปาะเมื่อถูกถอนมันจะขาดส่วนที่ขาดจะลอย และไปขยายพันธุ์ต่อที่อื่น สาหร่าย วุ้นยากเป็นที่ 2 เพราะลื่นและหลุดขาดออกจากกันง่ายเช่นเดียวกับสาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายเส้น หรือสาหร่ายฝอย เก็บปราบง่ายที่สุดเพราะไม่ค่อยขาดถอนหรือเก็บได้ทั้งกระจุกแต่จะร้ายที่สุด เพราะมักจะไปพันบัวเสียจนยอดบัวเจริญ ขึ้นมาได้ ลูกบัวและก้านบัวต้นเล็ก ๆ ที่งอกจากเมล็ดจากอุบลชาติประเภทล้มลุกทั้งพวกบานกลางวันและบานกลางคืน คือบัวผัน บัวเผื่อน และบัวสายเป็นปัญหามากที่สุดและไม่รู้จักจบสำหรับการปลูกในบ่อดินที่ปลูก อุบลชาติประเภทนี้ ต้อง เก็บกันเป็นประจำทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ เพราะนอกจากจะทำให้บ่อบัวรกไม่สวยงามแล้ว ยังแย่งแร่ธาตุอาหารจากบัวที่ปลูก อีกด้วย วิธีแก้คือต้องขยันหมั่นเก็บดอกแก่ทิ้งก่อนติดเมล็ดถ้าปลูกบ่อใหม่และคิดว่า จะเก็บไม่ทัน และปลูกหลายบ่อแนะนำ ให้แยกปลูกอุบลชาติประเภทยืนต้นไว้บ่อหนึ่ง ล้มลุกอีกบ่อหนึ่ง เก็บลูกบัววัชพืชเฉพาะบ่อปลูกประเภทล้มลุกบ่อเดียว

10. ฟักตัวในฤดูหนาว
อุบลชาติประเภทยืนต้น  หรือบัวฝรั่งหลายพันธุ์ และอุบลชาติประเภทล้มลุกบานกลางวัน  หรือบัวผัน  บัวเผื่อนที่นำมาจากต่างประเทศบางพันธุ์จะหยุดการเจริญเติบโตผลิตใบหนา  ก้านใบสั้น  จมอยู่ใต้น้ำในฤดูหนาวแก้โดยเพิ่มความร้อนและแสงให้  หรือโดยการลดความลึกของระดับน้ำในบ่อที่ปลูกก่อนเข้าฤดูหนาว 1 เดือน (ประมาณกลางเดือนตุลาคม) โดยลดระดับน้ำให้เหลือ 15-20 เซนติเมตรจากผิวดิน หรือยกอ่างปลูกให้อยู่ใกล้ผิวหน้าของน้ำตามเกณฑ์ดังกล่าว

11. ปลูกบัวพันธุ์ไหนที่เหมาะสมกับสถานที่และภาชนะที่ปลูก
เป็นหัวใจของการดูและรักษาเพราะถ้าชนิดพันธุ์ไม่เหมาะสมแก่สถานที่ที่จะดูแล รักษาอย่างไรก็ไม่โต ในปัจจุบันพันธุ์ ที่มีจำหน่ายผู้ขายและผู้ปลูกควรรู้จักพันธุ์ว่าชนิดใดชอบน้ำตื้นน้ำลึก ที่ปลูกควรกว้างหรือแคบแค่ไหนผู้ผลิตพันธุ์ออกมา จำหน่ายจะต้องบอกได้ว่าบัวพันธุ์นั้น ๆ ต้องการที่ปลูกอย่างไร

12. อย่าให้อดอาหารและอย่าให้กินจนเป็นโรคท้องมาร
ใส่ปุ๋ยบำรุงตามความจำเป็นถ้าใส่มากเกินไปน้ำจะเขียว ปุ๋ยสูตรสมดุล 10-10-10,  12-12-12,  15-15-15  หรือ 16-16-16   ห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ 2 ชั้น   หรือปั้นเอาดินเหนียวหุ้มปริมาณเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับการสังเกตของผู้ปลูก เพราะผู้ปลูกแต่ละ รายปลูกในภาชนะขนาดแตกต่างกัน การให้ปุ๋ยแต่ละครั้งต้องหมั่นสังเกตถ้าน้ำเขียว ตะไคร่ สาหร่ายขึ้นเร็วแสดงว่าให้ปุ๋ย มากเกินไปควรลดปริมาณหรือความถี่ในการให้ปุ๋ยลง

13. เลี้ยงปลาที่ไม่กินพืช
เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด หรือปลากัด เพราะจะช่วยกินลูกน้ำ

14. อย่าให้บัวขยายพันธุ์จนแน่นในภาชนะเดียวกัน
บัวฝรั่งจะแตกต่าง บัวสาย บัวหลวง จะแตกไหลไปขึ้นต้นใหม่ บัวผันหรือบัวสายเกิดเมล็ดงอกเป็นต้นใหม่แน่นภาชนะ ให้เอาออกเพราะหากแน่นมากไปต้นจะไม่ออกดอก

15. อย่าปลูกบัวหลายพันธุ์ในภาชนะเดียวกัน
ต้นจากพันธุ์ที่แข็งแรงโตเร็วจะเบียดต้นอ่อนแอจนตายไปในที่สุด

16. บัวฝรั่ง บัวหลวง เจริญตามแนวนอน
ถ้าพุ่งชนภาชนะเมื่อไรจะชงักการเจริญเติบโต หักเหง้าหรือไหลให้ยอดหันกลับทางกลางอ่างหรือบ่อ

17. ไม่จำเป็นอย่าถ่ายน้ำในบ่อบัว
เพราะ จะเป็นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจากที่บัวเคยชิน บัวจะไม่งาม ถ้าจำเป็นจะต้องถ่ายควรถ่ายออกครึ่งหนึ่งเก็บไว้ ครึ่งหนึ่งจะเป็นการดี

18. เปลี่ยนดินปลูกใหม่
ควรเปลี่ยนเมื่อรากแน่นภาชนะที่ปลูกและถ้าปลูกในภาชนะที่จำกัดหรือถ้าปลูกในบ่อและนาน ๆ หลาย ๆ ปี ก็น่าต้องเปลี่ยน หน้าดินเหมือนกัน

จาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=thpratom&month=03-2008&date=01&group=2&gblog=1
หมายเลขบันทึก: 299782เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

มารับความรู้ค่ะ 

จริงด้วยค่ะถึงว่าทำไมบัวถึงตายก้เลี้ยงปลานี่เอง

ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆด้วย

สวัสดีค่ะพี่ตุ๊กตา

ความจริงเลี้ยงปลาในอ่างบัวได้อยู่นะคะ เช่น ปลาหางนกยุงน่ะค่ะ

ที่บ้าน kate ก็เลี้ยงค่ะ เค้าไม่เป็นศัตรูกันค่ะ

สวัสดีครับคุณตุ๊กตา

ได้ความรู้มากมายเลย ขอบคุณนะครับ ที่สวนน้อยๆของผมมีบัวหลวงอยู่สองต้น สีขาวกับสีชมพู มีอาการใบไหม้กรอบ งงอยู่สักพัก ก็เลยลองเปลี่ยนภาชนะจากกระถางกลมพลาสติกมาเป็น อ่างซีเม็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใส่ดินเหนียวและปุ๋ยเม็ดด้วย จะรอดูอาการสักพักนึงก่อน น่าจะดีขึ้นนะ

จากนายขนมปัง

ยาวมากได้อ่านจนจบ เพราะชอบดอกบัว ขอบคุณครับ

ขอบคุณคะ ที่บ้านปลูกบัว 20อ่าง ออกดอกให้ชมทุกวัน

ขอบคุณคนชอบบัวทุกคนที่แวะมานะคะ

เขียนบันทึกนี้ไว้เพราะเจอปัญหาบัวไม่ออกดอก ต้นไม่โต

บางกอก็ต้นโตใบสวย แต่ไม่มีดอกเลย พอไปเจอข้อมูลที่ค้นหา

ก็เลยเอามาแบ่งปันกันค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท