ต่อสู้เพื่อเรียนรู้ถึง "ยอดเขา..."


อ่านความคิดเห็นของท่านกะปุ๋มในบันทึก แล้วก็งงนิด ๆ  ริ เริ่ม ปีนเกลียวความรู้....ไม่ได้งงที่ท่านเขียนนะ แต่งง "ตัวย่อ" และ ทับศัพท์ทางการจัดการความรู้


ไอ้ที่งงก็คือ พวกภาษาอังกฤษ และทฤษฎีพวกนี้ "เราโง่" ไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่
เมื่อก่อนเคยพยายามอ่านแล้วตีความก็ไม่ค่อยเข้าใจ "งง ๆ" ไม่รู้จะตีความอย่างไร แล้วก็ไม่รู้จะเขียนบันทึกอย่างไรให้เข้ากับหัวข้ออย่างนั้น

ผลสรุปก็คือ "ไม่เขียน" หรือเขียนก็เขียนแบบงง ๆ ก็คือ เขียนไปแบบไม่มี "เอกภาพ"
เขียนไป ห่วงไป เมื่อใช่ ว่าถูกหลักการ ทฤษฎีหรือเปล่าน๊า...

กลัวผิดน่ะ เรื่องของเรื่อง...

เมื่อก่อนนี้ก็เลยงง ๆ แต่เดี๋ยวนี้ว่าจะหายงง ๆ แล้วก็คือ พยายามเขียนก่อน แล้วค่อยมาอ่านทฤษฎีทีหลัง
ตอนนี้ก็วางเอกสาร ตำราไว้ข้าง ๆ ดู "หน้าปก" อย่างเดียวก็พอ
ดูหน้าปกแล้วตีความเฉพาะหน้าปกเท่านี้ก็สามารถทำงานได้อย่าง "สบาย..."
ยิ่งอ่านมากคนโง่ ๆ อย่างเราก็ "ปวดหมอง..."

ภาพพจน์ ภาพพจน์ ภาพพจน์ที่ดี ภาพพจน์แย่ แล้วภาพพจน์ที่ไม่ดีไม่แย่นั้นเป็นอย่างไรหนอ...?
คือ ไม่ต้องดี ไม่ต้องแย่ ก็อยู่เฉย ๆ แบบนี้แหละ
ทำหน้าที่ก็ทำไป ทำไปเรื่อย ๆ
ใครจะว่าก็เฉย ใครจะชมก็เฉย มีหน้าที่ทำความดีก็ทำไป การปล่อยวางคำชมและคำว่าก็เป็นหน้าที่หนึ่งที่ "จำเป็น" ต้องทำ

ชีวิตเราอยู่ติดกับ "โลกธรรม" มามากแล้ว
ใครชมก็สุข ใครด่าก็ทุกข์ แล้วจะไม่ทุกข์ไม่สุขบ้างได้หรือไม่...
อยู่มันไปเฉย ๆ อย่างนี้แหละ ไม่ต้องกลัวความทุกข์ ไม่ต้องไปเสียดายความสุข

คนเรามักสนใจแต่ความสุขทางเนื้อหนัง ความสุขที่เหนือกว่านั้นยังกลัว ยังไม่กล้าที่จะปีนฝ่าขึ้นไป
บางครั้งปีนขึ้นไปแล้วยังเหลียวหลังกลับมาดูแล้วก็ "เสียดาย" อาลัย อาวรณ์ แล้วก็เดินย้อนกลับลงเขามา ณ จุดเดิม

ปีนเขาให้ถึงยอด เมื่อถึงยอดแล้วจากทางก็มีแต่ "ทางราบและทางลง"
ตอนขึ้นมันลำบาก พอถึงยอดเขาก็หายเหนื่อย
พอถึงยอดเขาแล้วก็ต้องรู้จักลงมาทำงาน รู้จักลงมา "เสียสละ..."
จะไปติดสุข ติดสบายอยู่ยอดเขานั้นก็เห็นแก่ตัวเกิน ต้องรู้จักลงมาช่วยเหลือ บอกทาง เทคนิคในการขึ้นเขากับคนที่กำลังปีนเข้าบ้าง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำ "ความดี"
ตอนนี้เรากำลังปีนเขา ก็ขอให้ตั้งใจปีนไป ปีนไปก็มองทางสองข้างให้มาก ๆ เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ จากภายนอก
สิ่งที่สำคัญคือ ต้องหัดเก็บเกี่ยวความรู้สึก ความรู้ฝังลึกที่เกิดขึ้นกับ "อารมณ์" ระหว่างการขึ้นเขานี้
อารมณ์ของจิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้แลจะทำให้เราบอก "วิธีการ" ขึ้นเขากับคนอื่นได้

ถ้าหากเรามัวแต่จดจำทาง เราก็จะรู้แต่ทางเดียว
คนบางคนเขาขาสั้น คนบางคนก็อ้วน บางคนก็ผอม บางคนแรงเยอะ บางคนแรงน้อย บางคนมีสัมภาระเยอะ บางคนเตรียมน้ำมาน้อย เขาจะถึงเขามาทางเดียวกับเราก็ "ลำบาก" อยู่
สกัดความรู้ของตนเพื่อบอกวิธีการ "วิธีการตั้งจิต"
คนเราจะไปได้หรือไม่ได้อยู่ที่จิต จิตท้อก็ถอย จิตสู้ก็ลุย

ชาตินี้ยังไม่ถึงก็สู้ต่อเพื่อชาติหน้า
เรื่องเวรกรรมนี้ไม่ใช่ม่าม่าจะได้ "กึ่งสำเร็จรูป..."

สู้ สู้ สู้ต่อไป สู้ไป สู้ไป สู้เพื่อใจและจิตที่ "เจริญ..."


ที่มาจากบันทึก ริ เริ่ม ปีนเกลียวความรู้....

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ#ยอดเขา
หมายเลขบันทึก: 299730เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นมัสการเจ้าค่ะท่านสุญญตา

 มาขอฝึกปีนเขาด้วยคน เพราะหนทางที่ท่านเดินช่างร่มรื่นงดงาม เป็นกลุ่มคนที่มีสัมภาระเยอะ เป็นการปีนที่ลำบากพอควร ก้าวที่ก้าวนั้นสั้นนัก แต่ก็มีความหวังและกำลังใจในการก้าว แม้จะไปได้ไม่ไกลแต่ก็เชื่อมั่นว่ามาถูกทางแล้ว อบอุ่นใจยิ่งขึ้น......เมื่อรู้ว่าในเส้นทางที่ปีน จะมีผู้ปีนไปก่อนคอยชี้ทางและบอกวิธีการที่ถูกต้อง

                                                                                                  สาธุการ........ ด้วยดวงจิตคารวะ

ฮ่า ๆ ๆ กรรมไม่ใช่ มาม่า หนูชอบเจ้าค่ะ

อืม...กลัวผิด กลัวเขารู้ว่าโง่ กลัวเขารู้ว่าไม่รู้

แหม...โดนเจ้าค่ะ เพราะโง่จริง ๆ

การจดจำทาง อาจจะพอช่วยให้เข้าใจบางอย่างได้ง่ายขึ้น

แต่หากใครจดจำทางที่ไม่เหมาะกับตนเอง โอกาสพลาดก็สูง

ดังนั้นการมีกัลยาณมิตร ไว้คอยเตือนกันและกัน

ประคับประคอง เกื้อกูล ก็ช่วยให้หลงทางได้สั้นลง

แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราใจ ความจริงได้ อย่างถ่องแท้

ได้เท่ากับการลงมือทำ

เผชิญสิ่ง ๆ นั้นด้วยตนเอง

การต่อกรกับมัน สด ๆ นี่แหละของแท้

กิเลสก็ของแท้ ทางแก้ก็ของแท้

เรื่องเล็ก ๆ ของผู้อื่น แต่มาเจอเอง อาจจะใหญ่เท่าภูเขา

แต่เรื่องใหญ่ของคนอื่น สำหรับเรา

อาจจะเพียงผงเข้าตา

(^___^)

มาม่านี่นะ พอฉีกถุงแล้วเทใส่ชามเราก็ได้ลิ้มรส "มาม่า" แล้ว

แต่เจ้า "กรรม" นี้ พอทำกรรมปุ๊บ จะให้ได้รับกรรมปั๊บเหมือนกับการต้มมาม่านั้นก็ไม่ได้

บางคนถึงท้อแท้ว่าทำดีก็ไม่ได้ดี จะให้ได้รับกรรมเร็วปรี่เหมือนกับมาม่าสักทีก็ไม่เห็นผล

ทำชั่วดีกว่า เพราะคนชั่ว ๆ ก็เห็นได้ดิบ ได้ดีกันทั้งนั้น

ฮึ ฮึ ฮึ เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน กรรมนั้นน่ะเหมือนกับการ "ปลูกข้าว" เลยทีเดียว

ตอนนี้ข้าวในยุ้ง ในฉาง ที่คนชั่วเคยทำมาเมื่อปางก่อนยังมีอยู่ เขาก็เลยยังมีกิน มีใช้

แต่เมื่อใดข้าวในฉางหมดแล้วล่ะก็...

เราผู้ทำความดีทั้งหลายก็เหมือนกัน

เมื่อก่อนเราเก็บข้าวในฉางไว้น้อย ตอนนี้ข้าวที่เหลือก็ดูกระจิดริด กระจ้อยร่อย ก็ต้องรู้จัก "เขียม" ในการกิน

ตอนนี้เรากำลังหว่านข้าว ปักดำอยู่ ก็ต้องรู้จักอดใจรอ

คอยดูแลต้นข้าวของเราให้ดี ดูแลดินของเราให้ดี ดูแล "ใจ" ของเราให้ดี

พยายามอย่าให้แมลงศัตรูพืช อันได้แก่ กิเลส ตัณหา และกามราคะมารบกวน

พยายามดูแลดินของเราให้ดี รู้จักรดน้ำ ใส่ปุ๋ย นำ "ธรรมะ" มารดใจให้มาก ๆ

แล้วเมื่อใดต้นข้าวในนานี้ออกดอกให้แล้ว เมื่อนั้นเราก็จะได้รู้จักผลแห่งกรรมหรือการกระทำ "ดี" ที่เราได้ทำมา

ตั้งใจทำความดีและเสียสละให้มาก ๆ นะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท