ชีวิตที่พอเพียง : ๘๔๒. ชวนเถียง WEF



          WEF ออกรายงาน The Global Competitiveness Report 2009-2010   อ่านรายละเอียดทั้งเล่มได้ที่นี่    มีรายละเอียดของประเทศไทยอ่านได้ที่นี่   


          ผมจ้องอ่านบทที่ ๑.๑ เรื่อง ๑๒ เสาหลักของความสามารถในการแข่งขัน   เพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดของการให้คะแนนระดับความสามารถในการแข่งขัน   และเพื่อหาประเด็นสำคัญในการปรับปรุงบ้านเมืองของเรา


          ผมไม่มีความรู้มากพอในหลายเสาหลัก   แต่ในเรื่องเสาหลักที่ 6 Goods market efficiency ที่เขาเน้น FDI (Foreign Direct Investment)   ผมไม่เถียงว่า FDI ไม่สำคัญ   แต่เถียงว่าวิธีทำให้ FDI เป็น creative FDI ต่อประเทศไทยน่าจะสำคัญมาก    ได้แก่ รู้จักแยกแยะ FDI ที่ดีต่อประเทศในระยะยาว   กับ FDI ที่มีผลร้ายติดมามาก   และรู้จักปฏิเสธ FDI ชั้นเลว


          ผมมองว่า เราต้องมีวิธี “จัดการ FDI”   ให้ FDI มีผลต่อการเรียนรู้ของธุรกิจ อุตสาหกรรม และแรงงานไทย   FDI จึงจะให้ผลดีเต็มเม็ดเต็มหน่วย 


          ผมมองว่า เรื่องสินค้าและตลาดนี้   เราน่าจะเอาใจใส่ micro-economics ในประเทศ   หาทางส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้ผลิตสินค้าคุณภาพสูงในพื้นที่ เช่นผลิตอาหารสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ ที่มีการรับรองมาตรฐาน   และส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้บริโภคในพื้นที่    และเชื่อมโยงเครือข่ายกัน   ให้เกิดเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคที่รับผิดชอบต่อสังคม   เกิดเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ของการดำรงชีวิตอย่างรับผิดชอบ และมีคุณภาพสูง 


          เรื่องแบบนี้ อาจไม่ยกระดับ GCI แต่จะยกระดับชีวิตที่ดีของผู้คน


          แต่ถ้ามีมาตรการต่อยอดอีกนิด ก็จะยกระดับ GCI ได้   โดยใช้เครือข่ายผู้ผลิต-ผู้บริโภคภายในประเทศ เป็นกลไกผลิตสินค้าอาหารคุณภาพสูงสำหรับส่งออก  

 
          เสาหลักที่ผมพอจะเข้าใจ อีก ๒ เสาหลักคือด้านการศึกษา    ที่ผมคิดว่า เราสามารถยกระดับได้โดยง่าย   โดยเปลี่ยนแนวคิดเรื่อง “การศึกษา” ไปเป็น “การเรียนรู้”   และใส่การเรียนรู้เข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คนทุกคน   เปลี่ยนครู โดยเฉพาะ กศน. ไปเป็น “คุณอำนวย” ของการเรียนรู้ของผู้คนในทุกวิถีชีวิต   ให้มีการรวมตัวกันเรียนรู้จากงานประจำวัน   หรือจากสัมมาชีพของตน   จะยกระดับ GCI ของประเทศขึ้นไปได้โดยเร็ว    เพราะจริงๆ แล้วจะมีผลต่อเสาหลักตัวอื่นๆ อีกด้วย


          ผมอยากชวนคนไทย ให้เอาใจใส่เอกสารดีๆ    อย่างเช่น WEF GCR นี้    โดยรู้จักอ่านให้ลึกเข้าไปข้างใน   สะกัดเอาแก่นสาระที่มีคุณต่อประเทศของเรา ออกมาใช้    อย่าหลงแค่ตัวเลขอันดับที่ของประเทศ    โดยไม่เอาใจใส่ความหมายที่แท้จริง ในบริบทของเรา    ต้องอย่าหลงตีความตามๆ ประเทศตะวันตก   เพราะเรามีหลายอย่างที่ดี โดยเขาไม่ได้เก็บข้อมูล    และเกณฑ์/วิธีคิด หลายอย่างที่เขาใช้ ก็ไม่เหมาะกับเรา


          Competitiveness ของเรา ต้องตีความโดยเราเอง    ตีความอย่างลุ่มลึก ภายใต้บริบทของเรา    ต้องไม่หลงเดินตามเขาไปโดยไม่คิดให้รอบคอบ

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ ก.ย. ๕๒

                           

หมายเลขบันทึก: 299724เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบเรียนอาจารย์

เอกสารภาษาอังกฤษ 492 หน้า  อ่านได้นิดเดียวครับ แค่ Chapter 1.1 ประมาณ 50 หน้า เกือบแย่ครับถ้าอาจารย์ไม่ได้บอกว่าจุดไหน (หน้า 17 - 21)

12 pillars of competitiveness (12 หลัก ความสามารถในการแข่งขัน)

                                                           Basic requirements:  Factor-driven economies

  1. Institutions
  2. Infrastructure
  3. Macroeconomic stability
  4. Health and primary education
                                                    Efficiency enhancers: Efficiency-driven economies
  5. Higher education and training
  6. Goods market efficiency : ตลาดสินค้ามีประสิทธิภาพ
  7. Labor market efficiency
  8. Financial market sophistication
  9. Technological readiness
  10. Market size
                                                     Innovation and sophistication factors: Innovation-driven economies
  11. Business sophistication
  12. Innovation

ผมเข้าใจว่ารายงานนี้เน้นไปในทางการตลาดระหว่างประเทศมากกว่า  คือมองในเชิงที่จะทำอย่างไรให้ได้เปรียบในตลาดระหว่างประเทศและเป็นที่น่าสนใจ  ไม่ได้มองในพื้นฐานความแข็งแกร่งจากภายใน  และที่สำคัญคือ เป็นไปในทางที่จะสนับสนุนให้เกิดการค้าเสรี เป็นอิสระจากการถูกแทรกแซง ซึ่งเป็นช่่องทางสร้างโอกาสให้นายทุนในประเทศที่เจริญกว่าเข้ามาสนใจ

แต่ถ้ามองในทางยั่งยืนไม่ต้องให้ใครมาสนใจก็ได้  แต่เรายืนอยู่ได้เองอย่างมั่นคง (อย่างเศรษฐกิจพอเพียง) คงจะถูกต้องกว่าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท