ครูหนิง
นางสาว สุดาวรรณ หนิง เต็มเปี่ยม

SBM


การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน

ได้มีโอกาสดู  VCD  ที่เกี่ยวกับ  "การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน"  ขอสรุปองค์ความรู้โดยย่อๆ  ให้พอเข้าใจดังนี้นะคะ

        เก่ง  ดี  มีความสุข  คือ เป้าหมายสำคัญในการสร้างเด็กไทยในยุคปฏิรูปการศึกษา  เป็นการลงทุนโดยคาดหวังว่าคนไทยจะคิดเป็น  ทำจริง  และเรียนรู้ตลอดชีวิต  เพื่อแก้ไขวิกฤตต่างๆ ของบ้านเมือง

        การศึกษาไทยค่อนข้างจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ เราได้แต่เรียนรู้โดยท่องจำ  เรียนไปแบบนี้ก็ได้ปริญญา  การเรียนรู้แบบนี้ไม่สามารถทำให้เราเผชิญอนาคตได้

        คนไทยทั้งชาติต้องร่วมกันคิดและปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษา  โดยมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2542  เป็นธรรมนูญของแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นในลักษณะการกระจายอำนาจบนพื้นฐานของวัฒนธรรม  ภูมิปัญญา  การมีส่วนร่วมของประชาชน

        การบริหารการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หรือ School Base Management เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทย โดยไม่เอานโยบายของประเทศเป็นฐาน ให้เป็นตัวของตัวเอง โดยฟังความคิดเห็นของผู้ปกครอง ปรึกษาบุคลากรในโรงเรียน และกรรมการสถานศึกษา แล้วจึงมีการประเมิน

       ให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมตลอดชีวิตโดยให้คิดว่าสถานศึกษาคือสถานที่ที่รัฐลงทุน  ผู้บริโภคคือชุมชน  มีส่วนร่วมในการรักษา  มีส่วนร่วมในการบริหารวิชาการ คือ ให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์เข้ากับหลักสูตรเดิมที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้  โรงเรียน  บ้าน  และวัด  ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสการเรียนรู้   จัดการเรียนการสอนแล้วให้ผลเกิดกับผู้เรียน  จะเป็นการลดช่องว่างความเหินห่างของวัฒนธรรม

        การบริหารแบบขนมชั้นของโรงเรียนท่านางแนววิทยายน  จริงๆ แล้วก็คือการบริหารแบบ School within school  ของต่างประเทศ  คือ  การแบ่งโรงเรียนใหญ่เป็น 4 โรงเรียนเล็ก  เพราะที่นี่จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการข้ามรายวิชา  จึงแบ่งครูออกเป็น 4 กลุ่ม   โรงเรียนเล็กมีหน้าที่พัฒนาให้ผู้เรียน  เก่ง  ดี  มีความสุข ตามเป้าหมายการศึกษาของชาติ  ผู้อำนวยการสถานศึกษา  เป็นเพียงผู้สนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนเล็กเท่านั้น  การจัดการศึกษาแบบขนมชั้นนี้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเป็นกรรมการของโรงเรียน  การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน  จึงทำให้ชุมชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน

       การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของโรงเรียนบ้านสบขุ่น  มีการนำชาวบ้านมาเป็นครูช่วยสอน โดยถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ผู้เรียน  ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ธรรมชาติ  และสิ่งที่อยู่รอบตัว  สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้  เช่น  การเลี้ยงไก่ของนักเรียนในโรงเรียน  โดยเนื้อไก่เอามาประกอบอาหาร และไว้ขาย  มูลไก่เอามาเป็นปุ๋ยสำหรับใส่พืชผักที่ปลูกไว้ในโรงเรียน

 

          การบริหารโรงเรียนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานมีศูนย์กลางคือผู้เรียน  โดยมีหัวใจสำคัญ คือ ความเป็นอิสระในการบริหารทรัพยากรคน  เงิน  วิชาการ  การกระจายอำนาจให้โรงเรียน  ชุมชนร่วมคิดหาสาเหตุ และแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการได้ทันท่วงที  เป็นการสร้างความมีส่วนร่วมของความเป็นเจ้าของ  และเป็นอีกด้านของการตรวจสอบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในชุมชน  ที่มีตัวแทนชาวบ้านในฐานะกรรมการสถานศึกษา  ศิษย์เก่า  ครูภูมิปัญญา  ร่วมรับรู้ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน

          ประเทศไทยกำลังทดลองการใช้ SBM ในการจัดการเรียนการสอน โดย มุ่งหวังเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ จุดเน้น คือ ต้องการให้มีการปฏิรูปสถานศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่สุด  มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2542  และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546  ที่ยกฐานะโรงเรียนขึ้นเป็นนิติบุคคล  หมายความว่าโรงเรียนสามารถดำเนินงานต่างๆ ได้โดยอิสระ  เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียน

           จากการดำเนินงานของสภาการศึกษา  ทดลองในโรงเรียนนำร่องพบว่า  การใช้ SBM กับโรงเรียนในประเทศไทยมีความเป็นไปได้   สามารถกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาไปสู่สถานศึกษาได้มากขึ้น  การที่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมก็จะเกิดธรรมาภิบาลในระดับของสถานศึกษา  สิ่งต่างๆ เหล่านี้คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นกับสถานศึกษาในประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 299498เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2009 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท