กว่าจะมาถึงวันนี้ ตอนที่ 6 การดำเนินชีวิตในช่วงต่อไป


การนำเสนอความรู้เรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชน จะได้ไม่หลงผิดตกไปเป็นเครื่องมือของผู้ที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองของเราต่อไป

กว่าจะมาถึงวันนี้ 

เพลงฉ่อยสายเลือดสุพรรณฯ

โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1

ตอนที่ 6  การดำเนินชีวิตในช่วงต่อไป

โดย ชำเลือง มณีวงษ์ 

        ความประทับใจ  ความซาบซึ้ง ที่ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะผู้บริหารโรงเรียนมอบให้ โดยให้โอกาสนักเรียนได้ฝึกหัดเพลงอีแซว ลำตัด เพลงฉ่อย และเพลงอื่น ๆ อย่างเต็มที่ รวมทั้งให้การสนับสนุนวงเพลงในการออกไปรับใช้สังคม ท่านผู้ปกครองอนุญาตให้ลูกหลานของท่านเข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้  คุณครูในกลุ่มสาระศิลปะทุกท่าน เยาวชนที่มีความจริงใจ รักและศรัทธาในศิลปะท้องถิ่นของตนเองอย่างมั่นคงถาวร (ถึงจะมีเพียงส่วนน้อยก็ตาม) เป็นองค์ประกอบของความสำเร็จ ทำให้ผมเกิดความภาคภูมิใจ ประทับใจ ตรึงอยู่ในภวังค์แห่งความคิด ความทรงจำตลอดชีวิตนี้และในภพหน้าอย่างไม่มีวันลืม

       

        แต่ในความสำเร็จนี้ มีที่มาอย่างยาวนาน ใครจะรู้บ้างว่า ถ้าเด็กเขาเริ่มตั้งต้นจากสูญ (ไม่มีพื้นฐานมาเลย) แล้วพัฒนาอย่างช้า ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เคยคิดที่จะกระโดดข้ามขั้น อย่างเช่น รัฐสภาได้มีการจัดประกวดเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว ผมเฝ้าติดตามข่าวคราวมาโดยตลอด แต่ประเมินคุณภาพนักแสดงแล้ว ยังไม่พร้อมที่จะเข้าทำการประกวดในระดับใหญ่ ทั่วทั้งประเทศ อย่างนี้ จึงจำเป็นต้องเพราะพันธุ์กล้าต้นใหม่ รอความเจริญงอกงามจนเหมาะสมแล้วจึงให้เขาได้ขึ้นไปบนเวทีในระดับสูง ทั้งที่เด็กแต่ละคนมีจุดเด่น มีความสามารถไม่เหมือนกันและไม่เท่ากันด้วย

      

       การดำเนินชีวิตในวงเพลงหลังจากที่ได้รับรางวัลสูงสุดของประเทศในครั้งนี้ ก็ยังคงเปิดโอกาสให้นักแสดงได้ฝึกซ้อมเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด เพลงแหล่ และฝึกทำขวัญนาคกันต่อไปเหมือนเดิม เพียงแต่ว่า ผมได้รับโทรศัพท์ติดต่อ ขอสัมภาษณ์จากสื่อสารมวลชน มีข้อสงสัยและคำถาม ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมจากผม เป็นต้นว่า

       1. คำถาม : อาจารย์คิดว่า ตรงจุดไหนค่ะ ที่ทำให้วงเพลงฉ่อยสายเลือดสุพรรณฯได้รับรางวัลชนะเลิศ 

คำตอบ : ผมชี้ประเด็นนี้ไม่ได้ เพราะเป็นบทสรุปของคณะกรรมการ แต่ผมทำวงเพลงพื้นบ้านมานานกว่า 18 ปี โดยผมเรียนรู้มาจากพ่อครูแม่ครูเพลงต้นฉบับ (วันนี้ท่านจากเราไปเกือบหมดแล้ว) ตั้งแต่ยังเด็กในวัยเรียนชั้นประถมศึกษา และผมมองที่องค์รวมของการจัดประกวดแล้วนำเอาภาพรวมมาแยกให้เด็ก ๆ นักแสดงเห็นข้อสำคัญทุกจุด ตั้งแต่คนร้องนำ ลูกคู่ ผู้ให้จังหวะ ทุกคนมีบทบาทสำคัญเท่าเทียมกันและจะต้องแสดงออก นำเสนอให้เป็นเอกลักษณ์ของวงให้ได้

       2. คำถาม : อาจารย์จบการศึกษาด้านนาฏศิลป์ มาจากที่ไหน เมื่อไรค่ะ 

คำตอบ : ผมเรียนจบมาทางศิลปะ ด้านจิตรกรรมโดยการสอบเทียบที่โรงเรียนเพาะช่าง วุฒิ พ.ม.ช. (วาดเขียนเอกเดิม) และก่อนหน้านั้นผมสอบได้วุฒิ ป.ป.ช. (วาดเขียนตรี,โทเดิม)   แล้วก็มาเรียนต่อปริญญาตรี สาขาศิลปศึกษา ปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา  คือ ผมไม่ได้เรียนมาทางนาฏศิลป์ แต่ผมฝึกหัดการแสดงมาจากปราชญ์ท้องถิ่น ศิลปินพื้นบ้านหลายสิบท่าน ด้วยความสนใจส่วนตัว ครับ ฝึกหัดมานานตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ฝึกหัดแสดงนาฏดนตรี) เพลงพื้นบ้านหลายสิบอย่าง

       3. คำถาม : อาจารย์ค่ะ เด็ก ๆ เขาได้รับรางวัลสูงสุด ระดับประเทศไปแล้ว ต่อไปนี้ เขาจะเล่นเพลงฉ่อย หรือเพลงพื้นบ้านกันต่อไปหรือหยุดอยู่เพียงแค่นี้ ค่ะ

คำตอบ : ไม่หยุดเพียงแค่นี้หรอกครับ เพราะผมนำทางเด็ก ๆ ชุดนี้มาตั้งแต่รุ่นพี่เขา เมื่อ 18 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 มาจนถึง ปี พ.ศ. 2552  เรารับงานแสดงทั่วไปแบบศิลปินอาชีพเล่นได้หลายคืนต่อเนื่องกันและแสดงบนเวทีได้คืนละ 3 – 4 ชั่วโมง ผมไม่ได้ทำวงเพลงเฉพาะกิจ แต่ทำงานเพลงพื้นบ้านแบบส่งเสริมความสามารถให้กับเยาวชนได้สานต่อเป็นทายาททางศิลปะการแสดงของท้องถิ่นจริง ๆ ครับ

       4. คำถาม : อาจารย์คิดว่า การจัดประกวดเพลงพื้นบ้านโดยรัฐสภาในครั้งนี้ มีประโยชน์ต่อเยาวชนมากน้อยแค่ไหน 

คำตอบ : มีประโยชน์มากครับ จะเห็นได้ว่าในการประกวดครั้งนี้การนำเสนอผลงานของเพลงพื้นบ้านทุกภาค ทั้ง 4 ภาคต่างก็มีกลเม็ดเด็ด ๆ ออกมาให้เห็นถึงแม้ว่าจะอยู่ภายใต้หัวข้อและกฎเกณฑ์เดียวกันก็ตาม แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันจึงได้เห็นผลงานที่ตื่นตา เร้าใจมาก  และก่อนที่จะมาถึงตรงจุดนี้ คือ การประกวดในรอบชิงชนะเลิศ  มีการประชาสัมพันธ์ไปอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ จะเห็นได้ว่ามีสถานศึกษาให้ความสนใจส่งผลงานมาคัดเลือกเป็นจำนวนมาก ครับ  ถ้าพูดถึงเยาวชนเขาให้ความสนใจไหมก็มากนะครับ อย่างวงเพลงฉ่อยของผม เวลาฝึกซ้อมและลงไปแสดงที่หน้าศาลเจ้าที่ของโรงเรียนก็มีเด็ก ๆ ไปยืนดูกันเป็นจำนวนมาก

       5. คำถาม : อาจารย์ได้ใช้บทร้องเกี่ยวกับเรื่องของการส่งเสริมประชาธิปไตยนี้ กับกลุ่มเยาวชนบ้างไหม ที่ไหน เมื่อไร 

คำตอบ : ในความจริงผมเขียนบทร้องเกี่ยวการส่งเสริมประชาธิปไตยให้เด็ก ๆ ในวงเพลงอีแซว ร้องกันมานานและแสดงบาเวทีถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่ โรงเรียนสตรีวิทยา 2 โดย สพฐ. (กรมสามัญศึกษาเดิม) ต่อมาก็ไปแสดงที่เวทีของ ก.ก.ต.จังหวัดสุพรรณบุรีเขาจัดกิจกรรมส่งเสริมการเลือกตั้งที่ อำเภอดอนเจดีย์  ต่อมาก็ปี พ.ศ.2549 เป็นการบันทึกเสียงร้องเพลงอีแซวเชิญชวนให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง โดย ก.ก.ต.จังหวัดสุพรรณบุรี  ต่อมาปี พ.ศ. 2551 เป็นบทร้องลำตัด ส่งเสริมประชาธิปไตย เมื่อปีที่แล้ว และก็มาปีนี้ พ.ศ.2552 เป็นเพลงฉ่อยส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม  เราใช้บทบาทของเยาวชนกลุ่มนี้ส่งเสริมงานของรัฐในส่วนของโรงเรียนมานานแล้ว ครับ

        

        ส่วนการดำเนินชีวิตของทีมงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมาจากการประกวดในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งของรางวัลเป็นกำลังใจในการทำงานให้มีความเข้มแข็งต่อไป (ถึงไม่ได้รางวัลก็ทำงานนี้มานานกว่า 18 ปีแล้ว) เพียงแต่เราคงต้องออกไปรับใช้สังคมให้มากยิ่งขึ้น ใช้สิทธิในความเป็นเยาวชนของชาติเพื่อแทรกเข้าไปนำเสนอความรู้เรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่ถูกต้องให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชน คนรุ่นเดียวกันจะได้ไม่หลงผิดตกไปเป็นเครื่องมือของผู้ที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองของเราต่อไป 

        ขอขอบคุณที่ติดตามเรื่องราวของเยาวชนกลุ่มหนึ่ง ชื่อ “เพลงฉ่อยสายเลือดสุพรรณฯ” โดย นายชำเลือง  มณีวงษ์  ครูผู้ฝึกสอนเพลงฉ่อย จังหวัดสุพรรณบุรี

 

หมายเลขบันทึก: 299184เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดี ครับ เบดูอิน

  • เพียงคำกล่าวสั้น ๆ ที่ผมก็ไม่เข้าใจต้องศึกษาก่อน แต่ก็ขอบคุณในไมตรีจิตร
  • เซอรามิค ฮารี รายา อีดิ้ล ฟิติ   ขอร่วมอยู่ในความทรงจำด้วย

เพลงพื้นบ้านของอาจารย์ มีความยั่งยืนมานานถึง 18 ปี กับความสำเร็จในระดับสูงและความสามารถที่น่ายกย่อง ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์และน้อง ๆ ด้วย

  • ขอบคุณในความปรารถนาดี ที่มีต่อเยาวชนคนรักเพลง
  • จะอีกนานสักแค่ไหน เพลงพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผมตลอดไป ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท