‘Healthy Organization’ องค์กรอารมณ์ดี


 

แนวคิดของ Healthy Organization หรือแปลตรงตัวว่า องค์กรสุขภาพดี มีด้วยกันหลายคำจำกัดความ แต่โมเดลที่เข้าใจง่ายที่สุดคือการให้นิยามว่า องค์กรมีความสุข สนุกสนาน

บน 3 ปัจจัยพื้นฐานคือ พนักงานมีความพึงพอใจ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมกับองค์กร ลูกค้ามีความพึงพอใจการให้บริการ และองค์กรมีความสมดุลในฐานะทางเศรษฐกิจ สามารถเรียนรู้และเติบโตไปข้างหน้า

พจนารถ ซีบังเกิด Executive Faculty บริษัท เอพีเอ็มกรุ๊ป จำกัด และประธาน Human Capital Club หรือ HCC อธิบายว่า ในโลกของการจัดการสมัยใหม่ ทุกองค์กรประกอบด้วยกลุ่มคน 3 รุ่นด้วยกัน

กลุ่มแรก baby boom ซึ่งนับวันจะสูงวัยและใกล้เกษียณเข้าไปทุกขณะ ถัดมากลุ่ม generation X ผู้บริหารระดับกลางขององค์กร ที่หลงใหลใฝ่ฝันอยากเป็นเถ้าแก่ และสุดท้ายกลุ่ม generation Y มือใหม่หัดขับ เริ่มเข้ามาสู่ชายคาองค์กรได้ไม่ถึง 2-3 ปี เป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เกิดมาพร้อมกับรีโมท โน้ตบุ๊ค ไอพ็อด และสตาร์บัคส์

ทั้งหมดนี้อาศัยอยู่ในองค์กรเดียวกัน คำถามที่ตามมาคือ จะทำงานด้วยกันได้ไหม? คำตอบคือ ต้องได้ ถ้า HR (ทรัพยากรมนุษย์) รู้จักบริหารจัดการ และเข้าใจถึงความต้องการที่แตกต่างกัน

baby boom เกิดมาในยุคยากลำบากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลาอยากได้อะไร อยากทำอะไร ก็ขออยู่ทนอยู่นาน ขอความมั่นคงในชีวิต

generation X หรือแก่พรรษามานานระดับหนึ่ง บางคนได้เป็นผู้บริหารระดับกลาง อยากเป็นเจ้าของกิจการ แต่ไม่ค่อยอยากเรียนรู้ คิดกระโดดข้ามไปเป็นเถ้าแก่เลย

generation Y ในสายตาของใครหลายคนยิ่งไปกันใหญ่ ถูกมองว่าเป็นพวกหนักไม่เอา เบาไม่สู้ ชอบค้นหาตัวเอง แล้วก็อยากได้เงินเยอะๆ

โจทย์ของงาน HR คือทำอย่างไรให้ชนกลุ่มน้อยใหญ่เหล่านี้ ทำงานอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ภายใต้แนวคิดองค์กรสุขภาพดี มีอารมณ์ chill chill

แนวคิดของ Healthy Organization กับ High Performance Organization (องค์กรที่มีผลปฏิบัติงานเป็นเลิศ) มีจุดเน้นที่ไม่เหมือนกัน

เธอชี้ว่า ยุคสมัยหนึ่งผู้บริหารมองว่า คนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ แต่พอมาสมัยนี้เริ่มเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าคนเป็นทุน ขณะที่ High Performance Organization ถ่ายน้ำหนักไปที่มิติขององค์กร ที่มุ่งเน้นการบริหารงานเพียงอย่างเดียว ส่วน Healthy Organization มองอีกด้านที่มิติของคนว่า มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตเป็นอย่างไร มีความเครียดสะสมในที่ทำงาน จนต้องหามเข้าไอซียูหรือเปล่า

“จะ 5 โมงแล้วอยากกลับบ้าน แต่มีงานใหม่เข้ามาตอน 4 โมง 45 บางคนนั่งทำงานครึ่งวันแล้วยังไม่ได้เข้าห้องน้ำเลย ไม่เคยได้หันหน้าไปคุยกับโต๊ะข้างๆ หรือกับหัวหน้างานเลย” ประเด็นเหล่านี้ องค์กรสุขภาพดีจะเป็นตัววัดว่า ความสมดุลในชีวิตงานและชีวิตส่วนตัวยังโอเคอยู่ไหม

ดร. ดวริต ตัณฑ์ศุภศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เสริมว่า เปรียบเทียบชั่วโมงทำงานของฝรั่งกับคนไทย ในทุก 1 ปีฝรั่งจะมีวันหยุดพักร้อนติดต่อกัน 1-2 เดือน ขณะที่คนไทยหลายคนใช้วันลาไม่ถึง 5-10 วันในรอบปี

บางคนจบใหม่ไฟแรง มีสปีดการทำงานแบบเซเว่น อีเลฟเว่น สามารถเรียกใช้ได้ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง ผ่านไป 5 ปีพอแต่งงานมีครอบครัว สปีดอย่างที่ว่ายังจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ไหม สิ่งที่ต้องถามตัวเองกลับคือ ทุกวันที่ทำงาน เรายังมีสุขภาพดี และมีความสุขอยู่จริงหรือ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง อันนำมาซึ่งความสับสนวุ่นวายในชีวิต พจนารถบอกว่า คนทำงานต้องรู้จักบริหารจัดการความสำคัญก่อนหลัง (priority management) อะไรไม่สำคัญก็ต้องทิ้งไปบ้าง เพราะอาการแก่ เจ็บ ตาย หลังจากที่เราเกิดมาแล้ว มันไม่ได้เรียงมาตามลำดับ จึงต้องหัดใช้เวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้ร่างกายแข็งแรง มีจิตใจรู้ผิดรู้ชอบ และหลักคิดเป็นเหตุเป็นผลหนักแน่น

“องค์กรก็ไม่ต่างอะไรกับร่างกายคน ต้องมีโครงสร้างแข็งแรง และมีพลังใจที่จะเดินต่อไปข้างหน้า”

ตัวอย่างขององค์กรพลานามัยสมบูรณ์ เห็นได้ชัดจากธุรกิจบัตรเครดิตเอเม็กซ์ ซึ่งมีที่ทำงานอยู่ในตึกเวิลด์เทรดวันที่เจอโบอิงบอมบ์ ไม่ถึงหนึ่งวันถัดมาองค์กรแห่งนี้สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ขณะที่คู่แข่งซึ่งอยู่ตึกเดียวกันใช้เวลาหลังจากนั้นอีกมาก ซึ่งสะท้อนถึงการจัดการขวัญและกำลังใจพนักงานที่ดีเยี่ยม

“เราไม่ได้ต้องการมีชีวิตสมบูรณ์แบบแค่วันนี้ แต่ต้องการมีความสุขไปนานๆ อีกหลายสิบปีข้างหน้า หลายธุรกิจพอฉลองครบรอบ 50 ปีแล้วก็ต้องปิดตัวไป วงจรชีวิตองค์กรจะต้องเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ถึงบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็ต้องขยายต่อไปอีก”

มีหลายตัวชี้วัดที่สะท้อนว่า การจัดการองค์กรเข้าข่ายอารมณ์ดี หรือว่ายิ่งอยู่ก็ยิ่งเครียด อย่างเช่นว่า ถ้าพนักงานสามารถพูดอะไรออกมาก็ได้ คิดอะไรออกมาก็ได้ แล้วยังมีคนฟัง นั่นแปลว่าองค์กรยังแข็งแรงดี มีภูมิต้านทานที่เหมาะสม

ถ้าสามารถปลูกฝังแนวคิดว่า เวลามาทำงานแล้วเหมือนมาเล่น ทุกคนชอบ สนุกไปกับมัน แล้วอยากเป็นส่วนหนึ่ง ไอ้ความรู้สึกแบบนี้ ยิ่งพินิจดูก็ยิ่งใช่เข้าไปใหญ่

คุณลักษณะเด่นขององค์กรแข็งแรงดีไม่มีตกคือ เน้นบรรยากาศในที่ทำงาน พนักงานมีสุขภาพกาย สุขภาพใจดี และฐานะการเงินบริษัทอยู่ในสภาพคล่อง รวมถึงประเด็นที่ว่า ยุคสมัยนี้องค์กรต้องมีจิตสำนึกห่วงใยสังคม ถ้าองค์กรแข็งแรงแต่ลูกค้าไม่รัก ก็เห็นทีจะอยู่กันไม่ยืด

ดร. ดวริตกล่าวว่า หลายองค์กรเริ่มเปลี่ยนมุมมอง หันมาสร้างความสบายอกสบายใจให้กับพนักงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธรรมะบรรยาย วารีบำบัด ศูนย์สุขภาพ หรือบัตรสมาชิกสปา การบริหารจัดการเวลาเข้าทำงานก็เปลี่ยนไป บางที่ให้เช็ครอบเข้าได้เหมือนโรงหนัง หรือไม่ก็ work at home รู้แล้วรู้รอด แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งงาน แล้วเปลี่ยนวิธีวัดจากความถี่ในการเห็นหน้า มาเป็นคุณภาพในชิ้นงาน

สิ่งที่คุ้นตาที่สุดในหลายธุรกิจวันนี้คือ การสร้างสภาพแวดล้อม สร้างสีสันใหม่ๆ ในที่ทำงาน เพื่อผลักดันให้เกิดมุมคิดสร้างสรรค์ หลายองค์กรไม่ผูกไท ใส่สูท เปิดโอกาสให้สวมเสื้อโปโล นุ่งกางเกงยีนส์ ส่วนผู้หญิงก็อนุญาตให้สลัดกระโปรงทิ้งได้ เปลี่ยนลุคจากสาวผ้าพับไว้ มาเป็นสาวเปรี้ยว แต่ไม่ต้องเฉี่ยวขนาดสายเดี่ยว

ยุคทองของ HR Champion พจนารถบอกว่า ต้องเปลี่ยนจากที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับตัวเลข มาเป็นหายใจเข้าออกก็บอกเป็นตัวเลขได้ ถึงจะมีความสามารถบริหารองค์กรให้แข็งแรงและอารมณ์ดี “HR ต้องดูงบดุล กำไรขาดทุนเป็น ถือเป็นปัจจัยให้บริษัทโตได้ ต้องรู้รายได้บริษัท”

ฉะนั้นเวลาไปออกงานออกการที่ไหน ถ้ามีใครถามว่า บริษัทของคุณมีขนาดใหญ่แค่ไหน แทนที่จะตอบไปว่า มีจำนวนพนักงาน 1,000 คน ก็บอกตัวเลขเสียใหม่เป็นผลประกอบการธุรกิจเกินพันล้าน เท่านี้ก็ดูสมาร์ทกว่ากันเยอะ

แนวโน้มใหม่ๆ ในต่างประเทศ หลายธุรกิจเริ่มเอาทุนมนุษย์ เข้าไปบวกลบคูณหารอยู่ในงบดุล มีการแจกแจงรายจ่ายออกมาอย่างชัดเจน ส่วนไหนปันไว้สำหรับค่าใช้จ่ายทางด้านนวัตกรรม ค่าใช้จ่ายสำหรับการเพิ่มผลผลิต ส่วนไหนสำหรับสุขภาพ และส่วนไหนสำหรับ green management ในยุคที่ทุกคนต้องช่วยกันใส่ใจสิ่งแวดล้อม

“องค์กรจะยั่งยืนอยู่ได้อย่างไร ถ้าธุรกิจไม่มีน้ำมันใช้ หรือขาดแคลนน้ำเอามาใช้ในการผลิต”

พจนารถบอกว่า ปัญหาพวกนี้อย่าทำเป็นเล่นไป แนวโน้มของธรรมาภิบาลก็มีความสำคัญ ไม่ต่างจากที่ยุคสมัยหนึ่งองค์กรหันมาเน้นเรื่องบริหารจัดการความเสี่ยง ทุกอย่างล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด การมองไปข้างหน้า มากกว่าที่จะตักตวงประโยชน์เอาแต่ในช่วงสั้นๆ

“ทุกคนชอบมุ่งไปหายอดขาย ตัวชี้วัด KPI (Key Performance Indicator) ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น แต่ประเด็นการจัดการอย่างสุขภาพองค์กร คุณภาพชีวิตพนักงาน ทุกคนรับรู้ว่าเป็นความเสี่ยงในอนาคต แต่ก็เอาไว้ก่อน ค่อยตามแก้กันทีหลัง มีส่วนน้อยที่มองว่า เป็นประเด็นปัญหาที่ต้องเตรียมตัวจัดการตั้งแต่วันนี้”

เหมือนขับรถแล้วลืมเติมน้ำมัน

ฉันใดก็ฉันนั้น แล้วธุรกิจจะไปได้ไกลแค่ไหนกันเชียว

 

 

วรนุช เจียมรจนานนท์

 

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/2007/10/19/news_24878729.php?news_id=24878729

หมายเลขบันทึก: 299182เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท