ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

เกณฑ์ตัดสินคุณค่าของพุทธจริยศาสตร์


ระบบพุทธจริยศาสตร์มีพื้นฐานมาจากหลักสัจธรรมและศีลธรรม สัจธรรมคือส่วนที่เป็นความจริงโดยธรรมชาติที่พระองค์แสดงไว้โดยหลักแห่งไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความเป็นธรรมฐิติ ธรรมธาตุ และธรรมนิยามแห่งสรรพสิ่งโดยความเป็นอยู่เองตามธรรมชาติ ส่วนศีลธรรมนั้นมีรากฐานอยู่บนสัจธรรม เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา คือการเข้าถึงพระนิพพาน โดยมีเกณฑ์หลักในการตัดสินการกระทำคือความเป็นกุศลและอกุศล และเกณฑ์รองคือมโนธรรมความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่อสังคม

       ปัญหาหลักที่พุทธจริยศาสตร์กล่าวถึงและอภิปรายกันมากคือ  การกระทำที่มีค่าทางจริยะที่กล่าวว่าดี ถูก  หรือควรนั้นเป็นอย่างไร ใช้เกณฑ์อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า การกระทำเช่นนี้ถูกและการกระทำเช่นนั้นผิดหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการศึกษาปทัฏฐานหรือมาตรการทางจริยะในการตัดสินการกระทำที่ถูก ผิด ดี หรือชั่วของมนุษย์นั่นเอง

         หลักพุทธธรรมในระบบพุทธจริยศาสตร์มี ๒ อย่าง  คือสัจธรรมและศีลธรรม สัจธรรมเป็นส่วนที่แสดงให้เห็นว่าสรรพสิ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตาบ้าง ปฏิจจสมุปบาทบ้าง  ธรรมนิยามบ้าง สิ่งนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่และสูญสลายไปตามกฎไตรลักษณ์  ไม่ว่าจะมีผู้ค้นพบหรือไม่ก็ตาม ธรรมชาตินั้นก็มีอยู่อย่างนั้น  ดังพระพุทธดำรัสว่า 

           ตถาคตจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม  ธาตุนั้น  คือธรรมฐิติ(ความตั้งอยู่ตามธรรมดา)  ธรรมนิยาม(ความเป็นไปตามธรรมดา)  อิทัปปัจจยตา(ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้)  ก็คงมีอยู่อย่างนั้น  ตถาคตครั้นรู้ธาตุนั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ  กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย และกล่าวว่า เธอทั้งหลายจงดูเถิด เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย  สังขารจึงมี…ภิกษุทั้งหลาย   ตถตา(ภาวะที่เป็นอย่างนั้น) อวิตถตา(ภาวะที่ไม่คลาดเคลื่อนไปได้)  อนัญญถตา(ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่น)  อิทัปปัจจยตานี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท[1]

        หลักสัจธรรมนี้เองเป็นฐานรองรับหลักศีลธรรมในพระพุทธศาสนา  และการที่พระพุทธองค์ไม่ทรงสอนสัจธรรมโดยตรงแก่ผู้ฟัง(ในบางครั้ง)เพราะสัจธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมีเนื้อหาละเอียดลึกซึ้ง  ยากแก่การทำความเข้าใจของปุถุชน  ดังนั้น เพื่อให้สัจธรรมนั้นมีคุณค่าต่อมนุษย์  พระองค์จึงสอนศีลธรรมหรือจริยธรรมปูพื้นฐานจิต อบรมอินทรีย์ของเวไนยสัตว์ให้แก่กล้าก่อน  ต่อจากนั้นพระองค์จึงทรงแสดงสัจธรรมภายหลัง

             ศีลธรรมเป็นส่วนที่กล่าวถึงการกระทำทางไตรทวารที่มีค่าทางจริยะตามหลักพุทธจริยศาสตร์ว่าต้องดำเนินไปเพื่อการเข้าถึงเป้าหมายอันเป็นสัจธรรมนั้น  เพราะถ้าไม่มีเป้าหมายในการกระทำ  การกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ก็ไม่อาจจะบอกได้ว่าการกระทำดังกล่าวนี้ถูกหรือผิดได้   เป็นแต่สักว่าทำแล้ว กำลังทำ หรือทำอยู่เท่านั้น หามูลเหตุจูงใจเบื้องต้นและเป้าหมายอันเป็นที่สุดมิได้ แต่เมื่อบุคคลเชื่อว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต เช่น เห็นว่าความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นต้น  การกระทำต่าง ๆ ซึ่งกล่าวว่าดี ถูก และควร ย่อมนำไปสู่ความสุขอันเป็นเป้าหมายนั้น

             เกณฑ์ตัดสินคุณค่าทางจริยะที่จะตัดสินว่าสิ่งนี้ถูก ผิด ควร ไม่ควร จึงต้องอาศัยเป้าหมายเป็นแนว เปรียบเหมือนไม้บรรทัดซึ่งมีปลายข้างหนึ่งเป็นเป้าหมายของการวัด และมาตราวัดบนไม้บรรทัดเป็นเครื่องวัดว่าการกระทำนั้นนำไปสู่เป้าหมาย หรือเข้าไปใกล้ภาวะสุดท้ายแห่งการกระทำมากน้อยแค่ไหน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามาตรการวัดและตัดสินคุณค่าทางจริยะเหล่านี้ในพุทธจริยศาสตร์คืออะไร และมีอะไรบ้าง นี้คือปัญหาที่จะต้องศึกษาวิเคราะห์ต่อไป

             สิ่งที่เป็นมาตรการทางจริยธรรมที่จะตัดสินว่า การกระทำใดเป็นกุศลกรรมและเป็นอกุศลกรรม คือ สิ่งที่เป็นมาตรการทางจริยธรรมที่จะตัดสินความเป็นกุศลกรรม คือกุศลมูล ๓ ได้แก่ ความไม่โลภ  ความไม่โกรธ ความไม่หลง และสิ่งที่เป็นมาตรการทางจริยธรรมที่จะตัดสินความเป็นอกุศลกรรม คืออกุศลมูล ๓ ได้แก่ ความโลภ  ความโกรธ   ความหลง[2] นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ศาสนาพุทธเป็นสัมบูรณนิยมในแง่ที่ว่า กุศลมูล ๓ กับอกุศลมูล ๓ เป็นเกณฑ์ตัดสินการกระทำและเกณฑ์นี้เป็นสิ่งตายตัวแน่นอน[3] พระพุทธศาสนาถือว่าการกระทำทั้งที่ถูกและผิดนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่เป็นไปอย่างเสรี แต่เป็นเสรีภาพที่สัมพันธ์กับกฎของเหตุและผล  และที่สำคัญคือความตั้งใจหรือเจตนาอันแรงกล้าของบุคคลที่มีต่อการกระทำนั้น ๆ

            โดยนัยนี้ กล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเชื่อว่า  มนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการทำกรรมซึ่งเป็นเจตจำนงเสรีที่สัมพันธ์กับเหตุผล กล่าวคือความเป็นเหตุเป็นผลกันทางศีลธรรม เพราะถ้าหากบุคคลไม่มีเจตจำนงเสรีในการทำกรรม กรรมนั้นย่อมไม่เป็นอันทำ และไม่อาจจะกล่าวได้ว่าถูกหรือผิด เพราะเป็นเพียงการกระทำทางกาย ทางวาจาและทางใจเท่านั้น ความดี ชั่ว ถูก หรือผิดตามเจตจำนงผู้กระทำย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลมีเจตจำนงเสรีในการกระทำ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมประกอบด้วยความจงใจหรือเจตนาที่เป็นอารัพภธาตุ(คือธาตุแห่งการริเริ่ม) อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ การกระทำที่ประกอบด้วยความจงใจหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งนี้เอง พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม  เจตนาหรือความจงใจในการทำกรรมที่เป็นเจตจำนงเสรีนี้เป็นผู้กระทำให้การกระทำที่ถูกต่างจากการกระทำที่ผิด และเป็นมาตรการตัดสินการกระทำที่มีค่าทางจริยธรรม

             เจตนาเป็นมาตรการตัดสินการกระทำตามหลักพุทธจริยศาสตร์ แต่เจตนาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับตัดสินการกระทำของมนุษย์  ดังนั้น  พระพุทธศาสนาจึงมีเกณฑ์หลักและเกณฑ์รองเพื่อร่วมในการตัดสินอีก  ดังที่พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงเกณฑ์ตัดสินคุณค่าเชิงจริยธรรมในพระพุทธศาสนาไว้ ๒ ระดับคือ เกณฑ์หลักและเกณฑ์รอง เกณฑ์หลักสำหรับตัดสินความที่กรรมเป็นกุศลหรืออกุศล โดยใช้เจตนาและสภาวะแห่งธรรมนั้นที่ส่งผลต่อจิต และเกณฑ์รองคือใช้มโนธรรมของตนเอง  การยอมรับของบัณฑิต  และพิจารณาลักษณะและผลของการกระทำ ดังนี้

                 ๑. เกณฑ์หลัก   

                 เกณฑ์หลัก คือเกณฑ์ที่ตัดสินด้วยความเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล  โดยพิจารณามูลเหตุว่า เป็นเจตนาเกิดจากกุศลมูล  หรือเกิดจากอกุศลมูล และพิจารณาตามสภาวะว่า เป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ ทำให้จิตสบาย ไร้โรคปลอดโปร่งผ่องใสสมบูรณ์หรือไม่  ส่งเสริมหรือบั่นรอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต  ช่วยให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายลดน้อยลง หรือทำให้กุศลธรรมลดน้อยลง  อกุศลธรรมทั้งหลายงอกงามขึ้น ตลอดจนมีผลต่อบุคลิกภาพอย่างไร 

             เกณฑ์หลักฝ่ายอกุศลพิจารณาการกระทำที่เกิดจากอกุศลมูลซึ่งเกิดจากโลภะ  โทสะ   โมหะ  เมื่อการกระทำเกิดจากกิเลสเหล่านี้ตัวใดตัวใดตัวหนึ่ง  ย่อมส่งผลต่อจิต  ทำให้จิตขุ่นมัวเศร้าหมอง  เมื่อจิตขุ่นมัวเศร้าหมองก็ปิดกั้นแสงสว่างแห่งปัญญา  กลายเป็นคนเห็นผิด  ไม่มีโยนิโสมนสิการในการกระทำ  ทำให้บุคคลทำอกุศลกรรมอย่างอื่นได้มากมาย ดังพระพุทธพจน์ว่าจิตที่เห็นผิดย่อมทำความชั่วได้มากมาย[4]     และว่า จิตที่บุคคลไม่คุ้มครองรักษาย่อมนำไปสู่ความพินาศใหญ่หลวง[5] จึงตัดสินได้ว่าเมื่อเริ่มต้นด้วยการกระทำที่เป็นอกุศลย่อมนำไปสู่ความเสื่อมแน่นอน

             ส่วนเกณฑ์หลักฝ่ายกุศลพิจารณาการกระทำที่เกิดจากกุศลมูลซึ่งเกิดจากอโลภะ  อโทสะ   อโมหะ  เมื่อการกระทำเกิดจากกุศลมูลเหล่านี้ตัวใดตัวใดตัวหนึ่ง  ย่อมส่งผลต่อจิต  ทำให้จิตผ่องใส  เมื่อจิตผ่องใสก็เปิดโอกาสแห่งการพัฒนาปัญญา  กลายเป็นคนเห็นถูกต้อง  มีโยนิโสมนสิการในการกระทำ  ทำให้บุคคลทำกุศลกรรมอย่างอื่นได้มากมาย ดังพระพุทธพจน์ว่าจิตที่เห็นถูกต้องย่อมทำความดีได้มากมาย[6] และว่า จิตที่บุคคลคุ้มครองรักษาย่อมนำไปสู่ความเจริญใหญ่หลวง[7] จึงตัดสินได้ว่าเมื่อเริ่มต้นด้วยการกระทำที่เป็นกุศลย่อมนำไปสู่ความเจริญแน่นอน

            ๒.  เกณฑ์รอง

            เกณฑ์รอง คือเกณฑ์ที่ตัดสินด้วยการใช้มโนธรรมคือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองพิจารณาว่า การที่กระทำนั้นตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่  เสียความเคารพตนเองหรือไม่  และพิจารณาความยอมรับของบัณฑิตชน ว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับกันหรือไม่ บัณฑิตชื่นชมสรรเสริญ  หรือตำหนิติเตียน  รวมทั้งพิจารณาลักษณะ (วิธีการในการกระทำ)  และผลของการกระทำต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ว่าเป็นการเบียดเบียนตนและผู้อื่นหรือไม่  เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข หรือเป็นไปเพื่อโทษทุกข์ ทั้งแก่ตน และผู้อื่นหรือไม่[8] 

             เกณฑ์รองตัดสินโดยถือมโนธรรมสำนึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดี  เป็นเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาร่วมกับเกณฑ์หลักเพื่อให้การตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมเป็นไปด้วยความละเอียดขึ้น  โดยพิจารณาว่าการกระทำที่เป็นอกุศลนั้นเกิดจากการขาดมโนธรรมสำนึก ทำไปแล้วบัณฑิตติเตียน  เป็นการเบียดเบียนตนและคนอื่น  และเป็นไปเพื่อทุกข์  เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมส่งผลให้จิตขุ่นมัวเศร้าหมอง  และนำไปสู่การกระทำที่เป็นอกุศลได้อีกมากมาย

             เกณฑ์รองฝ่ายกุศลนี้ พิจารณาว่าการกระทำที่เป็นกุศลนั้นเกิดจากการมีมโนธรรมสำนึก ทำไปแล้วบัณฑิตสรรเสริญ  เป็นการเกื้อกูลตนและคนอื่น  และเป็นไปเพื่อสุข  เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมส่งผลให้จิตผ่องใส สงบเย็น  และนำไปสู่การกระทำที่เป็นกุศลได้อีกมากมาย

            ความสอดคล้องของเกณฑ์หลักและเกณฑ์รอง คือการใช้ความเป็นกุศลมูลและอกุศลมูลและสภาวะที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น ความปลอดโปร่ง บริสุทธิ์ สงบ ความกระวนกระวาย ความเร่าร้อน เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสิน ส่วนเกณฑ์อื่น ๆ ที่กล่าวถึงได้แก่ เรื่องที่เกี่ยวกับผลของการกระทำนั้น แม้ศาสนาพุทธจะไม่ถือว่าเป็นหลักในการตัดสินการกระทำ แต่ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย[9]

           โดยนัยนี้ เกณฑ์ในการตัดสินค่าทางจริยะของการกระทำนั้น ต้องอาศัยทั้งเกณฑ์หลักและเกณฑ์รอง เกณฑ์หลักกล่าวคือการพิจารณาความเป็นกุศลและอกุศลโดยเจตนาและสภาวะที่การกระทำนั้นมีต่อสภาวะแห่งจิตนั้น เป็นเกณฑ์แรกที่จะใช้เป็นเกณฑ์ เนื่องจากในการกระทำของมนุษย์มีจิตเป็นผู้สั่งการและเป็นใหญ่ในการกระทำทั้งหมด และมีผลมากกว่าการกระทำที่เกิดทางกายและทางวาจา ทั้งในการกระทำดีและกระทำชั่ว[10] เมื่อบุคคลคิดและทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง กระบวนการทำงานของจิตและเจตนาตามหลักจิตนิยามและกรรมนิยามย่อมดำเนินควบคู่กันไป โดยการอาศัยกันและกัน  แต่แยกกันโดยความเป็นกฎธรรมชาติที่ต่างกัน  ดังที่พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวว่า “เรื่องจิตกับเจตจำนงของมนุษย์เป็นกฎธรรมชาติคนละด้าน แม้ว่ากฎทั้งสองจะทำงานสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด อุปมาเหมือนกัปตันที่ขับเรือยนต์ จิตเป็นเหมือนเรือพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องยนต์ทั้งหมด เจตจำนงหรือกรรมเป็นเหมือนกัปตันที่จะชักนำเรือไปทำอะไร ๆ ที่ไหน ๆ และอย่างไร”[11]

            ส่วนเกณฑ์รอง ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับตัดสินการกระทำหรือพฤติกรรมที่มีความซ้ำซ้อนไม่ว่าจะโดยมโนธรรมต่อสังคม การยอมรับของบัณฑิต วิธีการในการกระทำ และผลของการกระทำที่มีต่อตนเองและสังคม ซึ่งการกระทำหรือพฤติกรรมที่มีความซ้ำซ้อนกันนี้ จะใช้เจตนาเพียงอย่างเดียวตัดสินนั้นเป็นการไม่เพียงพอ และรู้ได้ยากในระดับสังคมดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนที่เกี่ยวกับการแสวงหาเกณฑ์ตัดสิน หรือมาตรการทางจริยะของพุทธจริยศาสตร์  ดังนั้น เพื่อให้การตัดสินว่าการกระทำอย่างนี้ ถูก ผิด ควร ไม่ควรอย่างไร จึงต้องอาศัยเกณฑ์รองเป็นมาตรการทางจริยะอีกประการหนึ่งในการตัดสินร่วมด้วย

            ความจำเป็นที่จะต้องใช้เกณฑ์ถึง ๒ อย่างเป็นเกณฑ์ในการตัดสินนี้ ในระดับเกณฑ์รอง อาจพิจารณาได้จากข้อเท็จจริงในสังคมในปัจจุบันประการหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลำพังการกระทำบางอย่างทางกาย ทางวาจา เมื่อพิจารณาโดยการกระทำ (วิธีการ) และผลของการกระทำย่อมวินิจฉัยได้ไม่ยาก สิ่งที่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจารู้ได้โดยง่าย โดยวินิจฉัยว่า ตนเองติเตียนการกระทำตนเองหรือไม่ บัณฑิตยอมรับหรือติเตียนหรือไม่ เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือสังคม หรือเบียดเบียนตนและสังคมหรือไม่ อาศัยเกณฑ์ตัดสินเท่านี้ก็ทราบได้ว่า การกระทำเช่นนี้ ดี ชั่ว ถูก ผิด ควรหรือไม่ควรอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำ แต่ไม่ได้หมายความว่า การกระทำนั้นบุคคลปราศจากเจตนา  เพราะเมื่อไม่ประกอบด้วยเจตนา  การกระทำย่อมไม่เป็นอันทำและไม่จัดเป็นกรรม

           กล่าวโดยสรุป ระบบพุทธจริยศาสตร์มีพื้นฐานมาจากหลักสัจธรรมและศีลธรรม สัจธรรมคือส่วนที่เป็นความจริงโดยธรรมชาติที่พระองค์แสดงไว้โดยหลักแห่งไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความเป็นธรรมฐิติ ธรรมธาตุ และธรรมนิยามแห่งสรรพสิ่งโดยความเป็นอยู่เองตามธรรมชาติ   ส่วนศีลธรรมนั้นมีรากฐานอยู่บนสัจธรรม เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา คือการเข้าถึงพระนิพพาน  โดยมีเกณฑ์หลักในการตัดสินการกระทำคือความเป็นกุศลและอกุศล  และเกณฑ์รองคือมโนธรรมความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่อสังคม

 

 


       [1] สํ.นิ.(บาลี) ๑๖/ ๒๐/ ๒๕–๒๖. และดูเพิ่มเติมใน มหานิทานสูตรและอุปปาทสูตร ที.ม.(บาลี) ๑๐/๙๕–๑๑๖/๔๙–๕๖, องฺ.ติก.(บาลี) ๒๐/๑๓๗/๒๗๘. ตามลำดับ

      [2]  องฺ.ติก.(บาลี). ๒๐/๑๑๒/๒๕๖–๒๕๗.

      [3] วิทย์  วิศทเวทย์   “บทวิเคราะห์พุทธจริยศาสตร์เถรวาท”,  พุทธศาสน์ศึกษา, ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑(มกราคม-เมษายน ๒๕๓๘) : ๕๔.

      [4] ขุ.ธ.(บาลี) ๒๕/๔๓/๒๔.

      [5] องฺ.เอกก.(บาลี) ๔๐/๗.

      [6] ขุ.ธ.(บาลี) ๒๕/๔๒/๒๓.

      [7] องฺ.เอกก.(บาลี) ๓๙/๗.

      [8] สรุปความจาก พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม,  หน้า,  ๑๗๙.

      [9] วิทย์ วิศทเวทย์ , “บทวิเคราะห์พุทธจริยศาสตร์เถรวาท”, พุทธศาสน์ศึกษา,  หน้า ๕๔.

      [10] ดูเพิ่มเติมใน อุปาลิวาทสูตร ม.ม.(บาลี) ๑๓/๕๗/๓๘–๓๙, ขุ.ธ.(บาลี) ๒๕/๑-๒/๑๕.

      [11] พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์, (กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  ๒๕๓๖),  หน้า ๑๐๖.

หมายเลขบันทึก: 299106เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 03:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการพระคุณเจ้า

มาขอความรู้เจ้าค่ะ

อากาศเย็น หวังว่าพระคุณเจ้าจะมีสุขภาพดีนะเจ้าคะ

_/|\_

กราบเรียนครับพระอาจารย์ กระผมกำลังเรียน พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พระพุทธศานา) ม.มจร.สุรินทร์ รุ่น ๑ เทอม ๒ ครับ

พระศรีวิสุทธิคุณ กำลังให้ทำรายงานเป็นเอกสารวิจารณ์ปัญหาเชิงพุทธจริยศาสตร์พอดีครับ ให้ ๖ หัวข้อ

อยากเรียนมั่งจัง ยังรอเรียนทางไปรษณีย์อยู่นะเจ้าคะ

โยม ณัฐรดา

สนใจไหม หลักสูตรพระอภิธรรมทางไกลซึ่งมจร. เปิดการเรียนการสอนอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท