สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 1 ความอาย


“ความละอาย ไม่อยากทำตามแบบโบราณ ไม่เต็มใจที่จะทำแบบเก่า” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขาดความสนใจในเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปอย่างน่าเป็นห่วง

สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจ

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 1)

ความอายที่จะต้องปฏิบัติตามแบบโบราณ

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

          ชีวิตของคนเราเกิดต่างถิ่นต่างที่ ด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ความคิดเห็นของแต่ละคนแตกต่างกัน ต่างครอบครัวก็แตกต่างกัน บางคนอยู่ในครอบครัวเดียวกันยังมีความประพฤติ การปฏิบัติตนที่แตกต่างกันถึงแม้ว่าจะเกิดมาจากพ่อแม่เดียวกันก็ตาม เราไม่อาจที่จะทำให้คนเราทุกคนมีความคิดเห็น มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน หรือเห็นคล้อยตามกันได้ทั้งหมด

          สิ่งหนึ่งที่เราต้องหวนกลับมาคิดคือ เรามีที่มาจากอะไร เรามาจากไหน เรายืนอยู่บนแผ่นดินใคร แผ่นดินไทยที่เราถือกำเนิดเกิดมานี้มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาที่ยาวนาน ผ่านความเจริญงอกงามมาเป็นลำดับจนมีความเป็นปึกแผ่น มีเอกราชของชาติไทย อย่างหนึ่งที่เรามิอาจที่จะลืมได้คือ วัฒนธรรม (วิถีชีวิตของหมู่คณะ) แสดงถึงความเจริญงอกงาม ในแต่ละท้องถิ่นมีของดีเป็นหลักอยู่และมีอยู่มานาน จะมีใครบ้างหยิบขึ้นมาโชว์ แสดงให้ผู้อื่นได้เห็นว่า เป็นของดีจริง ๆ และมีความยั่งยืนมานาน เป็นสิ่งที่เราคนรุ่นหลังต้องรักษาเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

         

          มีรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ช่อง 10ทีวี. แต่เดิมใช้ชื่อรายการว่า “การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน” และอีกช่องหนึ่ง ช่องโชว์ (SHOW) รายการ “พื้นบ้านพื้นเมือง” เป็นรายการโทรทัศน์ดาวเทียว/เคเบิลทีวี เขามีสโลแกนว่า “ช่องที่คุณจะไม่ลืมความเป็นไทย”

          อีกรายการหนึ่ง รายการนี้นำเสนอต้นแบบ รากเหง้าของวงแผ่นดินตัวจริง เพิ่งที่จะเริ่มต้นรายการมาได้ไม่นานยังไม่ครบ 1 ปี แต่คนที่รักภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างผมติดตามดูมาตลอด วันใดพลาดก็เปิดดูทีวีย้อนหลัง ที่ช่องทีวีไทย (ไทย PBS) รายการไทยโชว์ โดย คมสันต์ สุทนต์ โดยมีสโลแกนว่า”

          ผมหวังว่า รายการอย่างนี้หากสามารถนำเอาไปให้ถึงนักเรียนหรือเยาวชนโดยวิธีการทางตรง วิธีการผสมผสาน หรือเพียงเป็นการสอดแทรกความรู้เริ่มต้นทีละน้อย น่าที่จะทำให้เยาวชนได้ตระหนักในปัญหาและเกิดความหวงแหนในเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ผมได้สำรวจความเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ผมสอน เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2552 ว่า นักเรียนคิดว่า มีสาเหตุใดที่ทำให้เยาวชนไม่สนใจเอกลักษณ์ของถิ่น คำตอบที่ได้รับทราบคือ มีความละอาย  ไม่อยากทำตามแบบโบราณ  ไม่เต็มใจที่จะทำแบบเก่า

        

         นั่นคือ เกิดความอับอายที่จะต้องปฏิบัติตามแบบโบราณ เด็ก ๆ มองว่าการสวมเสื้อผ้าแบบเก่า เช่น สวมเสื้อคอกลมสีสด ๆ มีลายดอกโต ๆ เชย ไม่กล้าสวมใส่ ยิ่งถ้าจะให้แกนุ่งโจงกระเบนนุ่งแบบทับชายเสื้อแล้วคาดเอวด้วยผ้าขาวม้า เดินไปเดินมาในที่คนมาก ๆ ทำไม่ได้ ผิดกับผมซึ่งเคยนุ่งโจงกระเบน (กว่าที่จะฝึกนุ่งได้ใช้เวลาหลายสัปดาห์) แต่งตัวเล่นลิเกมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.5 จะเดินทางไปแสดงที่ไหนก็แต่งตัวไปจากโรงเรียน บางวันสวมชุดลิเก (แบบเก่า) ทั้งวัน จนกว่าจะเลิกแสดงจึงจะถอดออก

         จนมาถึงเมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปแสดงที่ไบเท็ค งานสำคัญระดับชาติงานหนึ่ง ผมและคณะจะต้องขึ้นไปร้องบนเวที เวทีละ 3 – 7 นาที ร้องวันละ 5- 7 เวทีเสวนารวมทั้งเวทีกลาง ผมก็สวมชุดนักแสดงอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งวัน จะมีขยับนุ่งใหม่ให้เรียบร้อยบ้างเมื่อเราเดินไปมาบ่อย ๆ เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม (รุ่นผมอายุ ย่าง 59 ปีแล้ว ทำได้) แต่เด็ก ๆ เขาไม่กล้าอย่างเรา

          อีกสถานการณ์หนึ่ง เช่น สวมชุดนักแสดงเต็มรูปแบบ แต่สวมเสื้อคลุมทับเอาไว้ภายใน แถมเวลาแสดงก็ไม่ถอดเสื้อคลุมออก ยังคงแต่งตัวแบบนั้นไปจนการแสดงจบ ผมเคยเห็น มองดูยังไง ๆ ชอบพิกลนะ ไม่เข้ากันกับรูปแบบการแสดงที่ตนเองทำหน้าที่ ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงอากาศหนาวก็ต้องทนได้ ต่อให้หนาวอย่างไร แค่ไหน ผมแนะนำเด็ก ๆ ในวงว่าจะต้องอยู่ในสภาพของผู้แสดงมิใช่บุคคลธรรมดาทั่วไป

          ผมก็เห็นด้วยกับสาเหตุนี้ที่เด็ก ๆ เขาเสนอความคิดว่า “ความละอาย  ไม่อยากทำตามแบบโบราณ  ไม่เต็มใจที่จะทำแบบเก่า” เป็นเหตุผลหนึ่ง หรือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขาดความสนใจในเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปอย่างน่าเป็นห่วง

          ที่ว่าน่าเป็นห่วงก็เพราะการที่คนเราจะกระทำความดี กลับมองว่า เป็นความน่าละอาย กลายเป็นตรงกันข้ามไปเลย แล้วเราจะหาวิธีใด ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ซึ่งก็คงจะช่วยให้เยาวชนมีความกล้าที่จะแสดงความเป็นตัวตนมากยิ่งขึ้น

(ติดตามตอนที่ 2  สาเหตุที่เยาวชนไทยไม่สนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

หมายเลขบันทึก: 298356เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2009 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กสนุกกับชีวตที่เป็นรากเหง้าตนเอง โดยประยุกต์ให้เข้ากับสมัย โดยเริ่มจากผู้ใหญ่เองที่ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น ดนตรี ภาษาพื้นเมือง การละเล่นต่างๆ เป็นต้น รัฐก็ต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมด้วยเช่นกัน จะเห็นว่าตอนนี้เราเสียเอกราชทางวัฒนธรรมให้กับเกาหลี ญี่ปุ่นไปแล้ว ผมคิดว่ารัฐของเขาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้พอสมควร จนสามารถส่งออกวัฒนธรรมมาขาวได้

  • ขอบคุณ คุณดวงกมล ที่ให้ข้อคิดเห็นมา
  • ยังมีทางแก้ไขได้บ้าง (แต่ว่ามีไม่มีเวลามากนัก)

ตอบความเห็นที่ 2 คุณไทเลย-บ้านแฮ่

  • เป็นความคิดเห็นที่ให้แสงสว่างมาก ครับ ปัญหานี้จะต้องมีผู้นำ (นำให้ถูกทาง)
  • ในประเด็นสุดท้ายก็ใช่อีกนั่นแหละครับ ต้องมีผู้ที่พร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วย
  • จึงจะประสบความสำเร็จ เข้ามาช่วยส่งเสริมอย่างจริงจังและเข้าให้ถึงปัญหา

เป็นกำลังใจให้อาจารย์นะคะ

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนที่สืบทอดเพลงพื้นบ้านจากอาจารย์โดยตรง

แต่ก็ภูมิใจเป็นที่สุดค่ะ ที่มีอาจารย์เป็นไอดอล

เป็นต้นแบบ เป็นทุกอย่าง ภูมิใจจริงๆ ค่ะ

รักพ่อมากมายนะคะ

ลูกสาว

ตอบความเห็นที่ 5 Prattana

  • ก็ภูมิใจมากและดีใจที่ได้รับกำลังใจจาก Prattana (ลูกสาว)
  • พอเป็นต้นแบบได้ แต่คงไม่ถึง Ideal (แบบอย่างอันเป็นเลิศ)
  • คิดถึงลูกเช่นกัน

พูดถึงความอายเวลาแสดงออกต่อหน้าคนนี่หลายคนก็คงเป็นบ่อย

มันต้องใช้เวลาอ่ะ แต่ว่าเทพทัยปัจจุบันเวลาขึ้นเวทีก้อยังอาย ๆ

อยู่เลยอ่ะ อิอิ แบบว่ามันเขิลลลลลลล :)

  • ความอายของเทพชัยบนเวทีเป็นควาสวยงามในการแสดงออกมาอย่างสร้างสรรค์
  • แต่ความอายที่เด็ก ๆ เขาแสดงความเห็นในปัญหา หมายถึง อายที่จะรับรู้ รับการถ่ายทอดศิลปะของท้องถิ่น และอายมากถ้าจะต้องให้ฝึกหัดเล่นเพลงพื้นบ้านซึ่งเป็นมรดกของท้องถิ่นโดยแท้
  • มาไวไปเร็วมาก ผมตามคุณหนานเกียรติไม่ทัน (เหนื่อยครับ คนแก่)
  • ไปแล้ว อย่าลืมกลับมาเที่ยวอีกนะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท