พลังสร้างภูมิคุ้มกัน...ต้นทุนชีวิตเด็กไทย


พลังสร้างภูมิคุ้มกัน...ต้นทุนชีวิตเด็กไทย

นำร่องสำรวจจังหวัดอยุธยา หวังสร้างต้นแบบต้นทุนชีวิตเด็ก 

 

          ในปัจจุบันสังคมในโลกยุคโลกาภิวัฒน์มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นในสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านอาชญากรรม เศรษฐกิจ ความเสื่อมโทรมทางด้านวัฒนธรรม และสิ่งสำคัญพบว่าการแก้ไขปัญหาต่างๆนั้น มองปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นตัวตั้ง เมื่อเกิดปัญหาแล้วจึงค่อยแก้ไข ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้

            ตรงกันข้ามการเสริมสร้างให้เกิดการป้องกันน่าจะเป็นวิธีการที่มีประโยชน์และสามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้มากกว่า แม้ว่าทุกวันนี้มีหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจในการสร้างกิจกรรมเพื่อให้เยาวชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาความเสี่ยงต่างๆ ที่กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้

            อาจเป็นเพราะกิจกรรมที่มีปริมาณไม่มากพอกับจำนวนเยาวชน และชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ดังนั้นการสร้างเครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยทั่วไปจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เยาวชน ครอบครัวและสังคมเกิดภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เพื่ออนาคตของประเทศชาติต่อไป 

            แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน หรือ เด็กพลัส ได้พัฒนาเครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยทั่วไปในปีที่ผ่านมา ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยตนเอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อวัดจุดอ่อนของต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างเสริมต้นทุนชีวิตที่ดีนั้นๆ ให้แก่เด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน และสังคมในทุกระดับ ทุกชนชาติ  ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่อนาคตของประเทศที่จะลดพฤติกรรมเสี่ยง และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้

            เครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยโดยอาศัยดัชนีชี้วัดเป็นกลยุทธ์ที่เป็นวิธีง่ายๆ ที่ทำให้เยาวชนและครอบครัวทราบทิศทางของตนเองได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยความแตกต่างในวัยต่างๆ  ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และลักษณะครอบครัวสังคมโดยสิ้นเชิง  ทำให้ต้องสร้างดัชนีชี้วัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนมาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และสามารถใช้วัดต้นทุนชีวิตที่ดีของเด็กและเยาวชนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

คุณสมบัติของเครื่องมือ   

           1. ตัวชี้วัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนมีผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่าสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว

           2. ตัวชี้วัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนยังมีความเชื่อมโยงแบบบูรณาการกับพฤติกรรมที่ดีอีกหลายอย่างของเยาวชน

            3. ตัวชี้วัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนบางกลุ่มมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการก่อให้ เกิดพฤติกรรมต่างๆ

            เครื่องมือฉบับนี้เป็นเครื่องมือที่ได้พัฒนามาจากต่างประเทศซึ่งได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม  และวัฒนธรรมของประเทศ เป็นลักษณะของตัวชี้วัดที่ดีที่มีคุณสมบัติของพลังสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่  ต้นทุนภายในตัวของเด็กเอง และต้นทุนภายนอก ซึ่งประกอบด้วย เพื่อนและกิจกรรม โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน

            ดัชนีชี้วัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนประกอบด้วย

            ดัชนีชี้วัดต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน 40 ดัชนีชี้วัด โดยแบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่ กล่าวคือ  หมวดต้นทุนชีวิตภายนอก (External Assets) และหมวดต้นทุนชีวิตภายในตัวบุคคล (Internal Assets) ดังนี้

            หมวดต้นทุนชีวิตภายนอก (External Assets)

             1. พลังครอบครัว

                         1.1 ครอบครัวให้การสนับสนุนด้วยความรักและผูกพัน

                        1.2 สมาชิกในครอบครัวให้กำลังใจซึ่งกันและกันและปรึกษาได้ทุกเรื่อง     

                        1.3 มีผู้ใหญ่นอกเหนือจากครอบครัวที่ให้การสนับสนุน

                        1.4 ครอบครัวมีวินัย กรอบกติกาที่เหมาะสม และติดตามสมาชิกในครอบครัว

                        1.5 รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยในการใช้ชีวิตที่บ้าน

                        1.6 ได้รับการสนับสนุนรวมทั้งบรรยากาศที่ดีจากโรงเรียน

                        1.7 ได้รับการติดตามเรื่องการเรียนเป็นอย่างดีจากผู้ปกครองทั้งคำแนะและติดตามประเมิน

            2. พลังชุมชน

                        2.1 ผู้ใหญ่ที่อยู่ในชุมชนเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญ

                        2.2 ได้รับมอบหมายกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

                        2.3 บำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชน

                        2.4 รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยในการใช้ชีวิตในชุมชน

                        2.5 ได้รับแรงใจที่ดีจากเพื่อนบ้าน

                        2.6 ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี

                        2.7 ชุมชนแวดล้อมมีวินัย และขอบเขตที่เหมาะสมและติดตามสมาชิก

            3. พลังสร้างปัญญา

                        3.1 รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยในการใช้ชีวิตที่ โรงเรียน

                        3.2 สัมฤทธิ์ผลทางการเรียน

                        3.3 ความกระตือรือร้นในกิจกรรมการเรียน

                        3.4 ความผูกพันกับโรงเรียน

                        3.5 รักการอ่านหนังสือ

                        3.6 โรงเรียนมีวินัยและขอบเขตที่เหมาะสมและติดตามผลงานและพฤติกรรมของเด็ก

                        3.7 ให้กำลังใจและกระตุ้นในการเรียนหรือกิจกรรมที่ดีจากผู้ปกครองและครู

            4. พลังเพื่อนและกิจกรรม

                        4.1 เยาวชนมีกิจกรรมสันทนาการนอกหลักสูตร

                        4.2 เยาวชนมีการเล่นกีฬาออกกำลังกาย

                        4.3 กิจกรรมทางศาสนา ≥ 1 ชม./ สัปดาห์

                        4.4 การมีนัดกับเพื่อนในกิจกรรมที่ดี

                        4.5 กลุ่มเพื่อนที่เป็นแบบอย่างที่ดี

                        4.6 ได้รับแรงใจที่ดีจากเพื่อน

                        4.7 วินัยในกลุ่มเพื่อน

            หมวดต้นทุนชีวิตภายในตัวบุคคล (Internal Assets)

            1. การช่วยเหลือผู้อื่น

            2. การมีจุดยืนที่ชัดเจน รักความยุติธรรม ไม่แบ่งแยกชนชั้น 

            3. ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ

            4. วินัยในตนเองที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยง 

            5. มีทักษะในการตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลดีและผลเสียจากการตัดสินใจนั้น 

            6. มีทักษะในการคบเพื่อน

            7. มีทักษะในการคบค้าสมาคมกับเพื่อนต่างวัยต่างเพศต่างสังคมตลอดจนต่างวัฒนธรรม

            8. มีทักษะในการปฏิเสธ

            9. มีทักษะในการแก้ปัญหาขัดแย้งด้วย สันติวิธี

            10. ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง

            11. ความรู้สึกว่าชีวิตยังมีความหวัง

            12. มีเป้าหมายของชีวิตและมองโลกในแง่ดี

            และจากรายงานการวิจัยนำร่อง ของนพ.สุริยเดว ทรีปาตี หัวหน้าคลินิกเยาวชน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับเอแบ็คโพล และสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.เรื่องคุณภาพเยาวชน : กรณีศึกษานักเรียนสายสามัญ-สายอาชีพในเขตกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา  และสงขลา โดยอาศัยเครื่องมือ ตัวชี้วัดต้นทุนชีวิตของเยาวชน (Developmental Assets) พบว่า     5 ลำดับแรกของต้นทุนที่เยาวชนประเมินตัวเองมีมากที่สุด

            ลำดับที่ 1. ได้รับความรักและการสนับสนุนจากครอบครัว (93.7%)

            ลำดับที่ 2.  พ่อแม่หรือผู้ปกครองมีส่วนช่วยเหลือฉันให้ประสบความสำเร็จในการเรียน(91.1%)

            ลำดับที่ 3. พ่อแม่หรือผู้ปกครองและครู  ช่วยผลักดันให้ทำในสิ่งที่ดี (89.5%)

            ลำดับที่ 4. ชอบที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (88.4%)

            ลำดับที่ 5. ต้องการรับผิดชอบการเรียนให้ดีที่สุด (88.1%)

  5 ลำดับแรกของต้นทุนที่เยาวชนประเมินตัวเองมีน้อยที่สุด

            ลำดับที่ 1. ได้ร่วมกิจกรรมในชุมชนอย่างน้อย 1 ชม. ต่อสัปดาห์ (28.2%)

            ลำดับที่ 2. ได้รับมอบหมายหน้าที่ ที่มีประโยชน์และคุณค่าที่ดีต่อชุมชน (29.1%)

            ลำดับที่ 3. เพื่อนบ้านมีส่วนรับผิดชอบที่จะติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรม          (ให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม) (41.2%)

            ลำดับที่ 4. มีกิจกรรมทางศาสนาหรือทางจิตวิญญาณ(เช่นกิจกรรมวัด สวดมนต์ ฟังธรรม นั่งสมาธิ) อย่างน้อย 1 ชม. ต่อสัปดาห์(41.5%)

            ลำดับที่ 5. พูดความจริงเสมอ ถึงแม้ว่าบางครั้งมันจะไม่ง่ายก็ตาม(51.9%)

            3 ลำดับแรก สิ่งที่เยาวชนอยากปรับปรุงตนเองมากที่สุด

            ลำดับที่ 1. ขยันเรียนหนังสือ / ขยันทำงาน / แก้ความขี้เกียจ

            ลำดับที่ 2. การควบคุมอารมณ์ของตนเอง / การมีสติ

            ลำดับที่ 3. เชื่อฟังพ่อแม่  /ทำให้พ่อแม่มีความสุข / ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ /ทำให้ผู้ปกครองยอมรับ /รักครอบครัว

            เห็นได้ว่าต้นทุนชีวิตของเยาวชนไทยนั้น ขาดจิตสาธารณะ ชุมชนอ่อนแอไม่สนใจกัน ขาดกิจกรรมส่วนร่วมห่างเหินศาสนา และขาดความซื่อสัตย์

            งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  จากการศึกษาของ  PAULA DUNCAN, MURPHEY ET AL J (2004) พบว่า 7 ตัวชี้วัดที่สำคัญในการสร้างเสริมต้นทุนชีวิตของเยาวชนที่มีอิทธิผลต่อ ประสิทธิภาพของเยาวชน ครอบครัว โรงเรียนและชุมชน (Relationships of a Brief Measure of Youth Assets to Health-promoting and Risk Behaviors) ได้แก่

            1. ความสัมฤทธิ์ผลทางการเรียน (Academic achievement)

            2. ได้รับการติดตามเรื่องการเรียนเป็นอย่างดี จากผู้ปกครองทั้งคำแนะนำสื่อการเรียนสั่งสอน ติวและติดตามการประเมิน  (Parental connectedness)

            3. วัยรุ่นมีกิจกรรมสันทนาการนอกหลักสูตร ≥ 3 ชม. / สัปดาห์ วัยรุ่นมีการเล่นกีฬาออกกำลังกาย ≥ 3 ชม. / สัปดาห์  (Youth program participation: non school program)

            4. บำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชน ≥  1 ชม. / สัปดาห์ (Volunteer in the community)

            5. ผู้ใหญ่ที่อยู่ในชุมชนเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญและได้รับมอบหมายกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ( Empowerment : Value by community )

           6. สร้างทักษะในการตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลดีและผลเสียจากการตัดสินใจนั้น(Planning decision making)

            7. สมาชิกในครอบครัวให้กำลังใจซึ่งกันและกันและปรึกษาได้ทุกเรื่อง(Positive family communication)

             ตัวชี้วัดต้นทุนชีวิตทั้ง 7 เป็นฉบับย่อที่ต้องการติดตามพฤติกรรมของเยาวชนแบบง่ายไม่ซับซ้อนพบว่าเยาวชนที่มีต้นทุนชีวิตมากจะมีพฤติกรรมที่ดีมากขึ้นและลดพฤติกรรมเสี่ยงลง ดังรูปภาพที่4. และ5.

 

 

 

 

           รูปภาพที่ 4 : Risk behaviors decline with number of assets.แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ว่ายิ่งมีต้นทุนชีวิตของเยาวชน มากขึ้นเปอร์เซ็นต์ที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงยิ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

 

 

            รูปภาพที่5 : Healthy behaviors increase with number of assets.แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ว่ายิ่งมีต้นทุนชีวิตของเยาวชนมากขึ้น เปอร์เซ็นต์ที่จะมีพฤติกรรมที่ดียิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา        จากการสำรวจนำร่องในเด็กกลุ่มอายุ 12-15 โดยส่วนใหญ่ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างปิดภาคเรียนเดือนเมษายน 2551 จำนวน 371 คน ทั้ง5 พลังสร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนไทย โดยการสำรวจต้นทุนตามแบบสอบถามที่สร้างขึ้นมา พบว่า พลังชุมชน มีความอ่อนแอมากที่สุดพอๆกับพลังเพื่อนและกิจกรรม แต่ในขณะที่ พลังตัวตนและพลังครอบครัวยังมีความเข้มแข็งที่ดีอยู่ กล่าวโดยสรุปพลังต่างๆที่อ่อนแอมากที่สุด คือ  

            ลำดับแรกที่อ่อนแอมากที่สุด คือ พลังชุมชน  ฉัน...ร่วมทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในชุมชนเป็นประจำทุกสัปดาห์ (24.0)

            ฉัน...ได้รับมอบหมายบทบาทหน้าที่ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน(29.4)                              

            ฉัน...มีเพื่อนบ้านคอยสอดส่องและดูแลพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม  (58.5)

            ลำดับถัดไปคือ พลังเพื่อนและกิจกรรม ขาดทั้งพื้นที่ โอกาสและการมีส่วนร่วม

            ฉัน...ร่วมกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำทุกสัปดาห์ (39.4)

            ฉัน...เที่ยวนอกบ้านตอนกลางคืนน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ (44.5)

            ฉัน...ได้เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมของชมรมที่ฉันสนใจในสถาบันการศึกษาหรือกิจกรรมของชุมชนเป็นประจำทุกสัปดาห์(60.4)

 

            ลำดับที่ 3 คือ พลังสร้างปัญญา ซึ่งอ่อนแอด้านความมุ่งหวังด้วยตนเองมากที่สุด

           ฉัน...ทำการบ้านหรือทบทวนบทเรียนทุกวัน     (57.1)

            ฉัน...อ่านหนังสือด้วยความเพลิดเพลินเป็นประจำ (71.4)

            ในขณะที่เมื่อเทียบความแตกต่างระหว่างเพศ ชาย หญิงและเพศทางเลือก พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ เพศทางเลือกมีความมั่นใจต่อตนเองสูง แต่ต้นทุนในภาพรวมกลับอ่อนแอกว่าทั้งเพศชายและหญิงหรือแม้แต่ต้นทุนในแต่ละด้านยังมีค่าต่ำกว่าทั้งชายและหญิงยกเว้นความมุ่งมั่นและมั่นใจในตนเองเท่านั้นที่มีค่าสูงกว่า

            ฉะนั้นการสำรวจต้นทุนนำร่องในรายงานนี้แม้ว่าทำด้วยเวลาที่จำกัด ปริมาณผู้ตอบแบบสำรวจที่ไม่เพียงพอรวมทั้งการกระจายตัวของข้อมูลในแง่ระดับอายุ(โดยส่วนใหญ่คือวัย อายุ 12-15 ปี ที่ยังขาดเด็กและเยาวชนกลุ่มอายุที่มากขึ้นจึงยังสรุปเป็นข้อมูลทั้งจังหวัดได้ไม่แม่นยำแต่พอจะบอกจุดอ่อนแอคร่าวๆเพื่อสร้างเสริมต้นทุนที่กำลังย่ำแย่หรือพร่องไปด้วยพื้นที่ กลไกด้านเด็กและเยาวชนรวมทั้งกิจกรรมเพื่อเสริพลังที่อ่อนแอต่อไป

 

            ข้อแนะนำมาตรการการสร้างต้นทุนชีวิตที่เร่งด่วนจากเด็กและเยาวชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

            มาตรการเร่งด่วนที่สุด คือ

            1. กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ โครงการจิตอาสา (ช่วงบ่าย หรือ นอกเวลาเรียน)

            2. กิจกรรมร่วมกับชุมชนที่ตัวเองอาศัยเช่น ทำความสะอาดหมู่บ้าน รักษาต้นไม้ แหล่งน้ำ กำจัดยุงลาย

            3. กิจกรรมวัฒนธรรมและศาสนาเช่น โครงการอบรมแหล่งประวัติศาสตร์ มัคคุเทศก์ ทำความสะอาดวัด ฟังธรรมะ ผ่านวิทยุชุมชนทั้งจังหวัด (กระจายเสียงตามรอบเวลา)

            4. กิจกรรมสัปดาห์ปิดที่วีร่วมกิจกรรมเช่น รณรงค์การปิดที่วี อินเตอร์เน็ต (สร้างกิจกรรม เกณฑ์ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ครอบคลุมเด็กด้อยโอกาสด้วย)

 

            มาตรการด่วนถัดไป

            1. ติดตามทบทวนบทเรียน เผยแพร่กระจายเสียงทักษะเด็ดในแต่ละวิชาจากผู้ชำนาญการในการสอน

            2. โครงการตาวิเศษ (เฝ้าระวังภัยต่างๆ  คนแปลกหน้า และการพูดคุยทักษะแก้ปัญหากับน้องๆเยาวชน)

            3 รณรงค์ออกกำลังกาย และเล่นกีฬาในทุกกลุ่มอายุ

            4. ชมรมในโรงเรียน ร่วมกับชุมชนเพื่อกิจกรรมที่หลากหลายทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน

 

           มาตรการที่รอได้

            1. กิจกรรมสร้างมิตรรอบบ้าน 

            2. ฟื้นฟูกิจกรรมพื้นเมืองของอยุธยาที่มีเด็กเยาวชนและครอบครัวร่วมกัน (ประจำหมู่บ้านหรือตำบล)

            3. ความปลอดภัย ระดับบ้าน โรงเรียนและชุมชน ระบบเฝ้าระวัง จัดการ กำหนดเกณฑ์ ดูแลต่อเนื่อง

            4. โครงการปิยวาจาระดับ บ้าน โรงเรียน ชุมชน 

 

คำสำคัญ (Tags): #ต้นทุนชีวิต
หมายเลขบันทึก: 297852เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดี ค่ะ ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเพราะเป็นเรื่องใหม่ และดิฉันกำลังศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา กำลังศึกษากลุ่มวัยรุ่น และคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์มาก ดิฉันต้องการแบบสอบถามเพ่อนำมาใช้ในการเรียนได้หรือไม่

แบบสอบถาม ที่ใช้ เป็นการประเมินต้นทุนชีวิตเด็ก และเยาวชนไทย ที่เสนอโดย อ.นพ.สุรยเดว ทรีปาตี ครับ ผมเคยเห็นหนังสือ ที่พิมพ์โดย สสส. ชื่อ ต้นทุนชีวิตเด็ก และเยาวชนไทย ส่วนแบบสอบถาม ติดต่อไปตามเมล์ของผม

สุพัฒน์

วิจัยได้เจาะลึก จะติดตามอ่านต่อไปครับ

งานวิจัยดี ๆ อย่างนี้ควรเผยแพร่

หนูเป็นครูแนะแนวที่เคยได้รับการอบรมกับคุณหมอสุริยเดว และคิดจะนำไปใช้ประเมินและพัฒนานักเรียนด้วยค่ะ

ขอแบบประเมินจากคุณสุพัฒน์ พร้อมการแปลความหมายด้วยได้มั้ยคะ ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ช่วยส่งemail address ไปให้ผมและผมจะส่งมาให้ครับ

ไม่ได้กลับมาดูตั้งนานแล้ว ขอบคุณล่วงหน้านะคะที่จะส่งแบบประเมินไปให้email ของหนู

[email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท